×

เผยผลสอบกระทรวงยุติธรรม พบกำไล EM ไร้ประสิทธิภาพ ถอดออกได้ ไม่ต้องตัด เตรียมเอาผิดคู่สัญญา

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2019
  • LOADING...
กำไล EM

(26 ส.ค.) ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาเปิดเผยกรณีปรากฏข่าวทางสื่อสาธารณะว่ากำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ที่มีไว้ใช้ในการควบคุมผู้ถูกคุมประพฤติตามคำสั่งของศาลซึ่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมคุมประพฤติไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางกรณีนั้น และต่อมากระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2562 โดยให้ พันตำรวจเอก สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ และกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 สิงหาคม 2563 นั้น

 

บัดนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวมายังกระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยมีข้อค้นพบดังนี้

 

1. อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) สามารถถอดออกจากข้อมือได้โดยไม่ต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอด และสามารถสวมใส่กลับเข้าไปได้นั้นเป็นความจริง

 

2. มีผู้ถูกคุมความประพฤติที่สวมใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หลายรายเกิดอาการแพ้ โดยบางรายเกิดผื่นสีแดงขึ้นบริเวณข้อมือ หรือมีผิวหนังแห้งบริเวณข้อมือ หรือมีแผลติดเชื้อบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (Term of Reference – TOR) ข้อ 4.1.1 ระบุว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่าเมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้โดยง่าย (Hypo-allergenic)

 

3. อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มีการแจ้งเตือนบ่อยครั้ง และอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสัญญาณแจ้งเตือนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้ารับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในแต่ละเดือนอยู่ที่ 200-700 คน แต่มีการแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ถูกทำลายสูงกว่า 1,000-100,000 ครั้งต่อเดือน หรือไม่มีสัญญาณสูงกว่า 20,000-170,000 ครั้งต่อเดือน 

 

กระทรวงยุติธรรมจะได้แจ้งกรมคุมประพฤติทราบข้อค้นพบและพิจารณาดำเนินการในฐานะคู่สัญญาตามอำนาจหน้าที่โดยเร็วต่อไป รวมทั้งจะได้ดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุในเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไปอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising