×

บอยคอตปักกิ่ง 2022 สงครามการเมืองที่ร้อนระอุบนสังเวียนโอลิมปิกฤดูหนาว

14.12.2021
  • LOADING...
โอลิมปิกฤดูหนาว

โอลิมปิกฤดูร้อน 2021 ที่ผ่านมา ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ พบเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่จากสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อย่างโรคโควิดที่ทำให้มหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกต้องปรับตัวมาแข่งขันแบบปิดจนไม่มีแฟนกีฬาจากต่างประเทศ 

 

แต่ในโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในช่วงต้นปี 2022 กำลังพบเจอกับคลื่นมรสุมทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างรุนแรง เมื่อหลายประเทศทยอยบอยคอตทางการทูต ไม่ส่งตัวแทนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและการทูตเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศจีน เพื่อเป็นการประกาศการต่อต้านรัฐบาลจีนต่อการก่ออาชญากรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

 

การตัดสินใจของประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนของสงครามทางการทูตระหว่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีตระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980 กับ 1984 มาถึงวันนี้สงครามทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายคนให้คำนิยามว่าเป็นสงครามเย็น 2.0 

 

– ประเทศที่ร่วมบอยคอตทางการทูตแล้วมีใครบ้าง 

 

6 ธันวาคม สหรัฐ​อเมริกาคือประเทศมหาอำนาจประเทศแรกที่ประกาศบอยคอตทางการทูตด้วยข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลจีนที่ทำการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ซินเจียง  

 

7 ธันวาคม ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศต่อมาที่ตัดสินใจบอยคอตทางการทูตตามสหรัฐฯ​ ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันต่อรัฐบาลจีน แต่ยืนยันว่าออสเตรเลียพร้อมที่จะพูดคุยกับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ 

 

8 ธันวาคม บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้กล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเช่นเดียวกัน 

 

ในวันเดียวกัน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ก็ประกาศว่าแคนาดาจะร่วมบอยคอตทางการทูตโอลิมปิกฤดูหนาวเช่นเดียวกัน 

 

วันที่ 9 ธันวาคม ได้มีจดหมายจาก International Tibet Network ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มาจาก ทิเบต, อุยกูร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน และอีกหลายกลุ่ม ถึงกลุ่มผู้นำของสหภาพยุโรป เรียกร้องให้พวกเขาเข้าร่วมการบอยคอตทางการทูตโอลิมปิกฤดูหนาวอีกด้วย 

 

นอกเหนือจากทั้ง 4 ประเทศข้างต้นบอยคอตแล้ว ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานจาก Bloomberg ว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้แจ้งกับรัฐบาลจีนว่าจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ทางการทูตเข้าร่วมการแข่งขัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด และความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน 

 

สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้จากการตัดสินใจของกลุ่ม 4 ประเทศแรกที่ตัดสินใจบอยคอตทางการทูตก็คือ มีรายงานจากสื่อต่างประเทศออกมาอย่างต่อเนื่องว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนมาอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศได้ประกาศข้อตกลงด้านความมั่นคงที่มีชื่อว่า AUKUS ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามในการคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 

 

เช่นเดียวกับแคนาดาที่จับกุมตัว เมิ่งหว่านโจว ซีเอฟโอ และบุตรสาวของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยของจีน ที่สนามบินเมืองแวนคูเวอร์ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อมาดำเนินคดีทุจริตหลายข้อหาตามหมายจับของสหรัฐฯ

 

แต่ทั้ง 4 ชาติยืนยันผ่านการแถลงการณ์ว่า การบอยคอตทางการทูตครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลจีนตามข้อกล่าวหาว่า การแข่งขันโอลิมปิกจะไม่สามารถดำเนินไปเหมือนปกติ หากพวกเขายังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคซินเจียง

 

– การตอบโต้จากจีน และฝรั่งเศสเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2024 ที่จะไม่ร่วมบอยคอต 

 

Wang Wenbin โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้ออกมาชี้แจงว่า การที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อังกฤษ และแคนาดา ออกมาใช้โอลิมปิกฤดูหนาวเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น 

 

“สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือชักใยทางการเมือง” Wang Wenbin กล่าว 

 

รวมถึงได้ยืนยันว่า ประเทศเหล่านี้จะต้องชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้น และจีนไม่ได้มีแผนที่จะชักชวนนักการเมืองสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่ปลุกกระแสบอยคอตมาเข้าร่วมการแข่งขันอยู่แล้ว 

 

ในขณะที่ฝรั่งเศสที่เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024 และเป็นหนึ่งในชาติที่มีความตึงเครียดทางการทูตกับทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จากกรณีความตกลงด้านการสนับสนุนการผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์  

 

ทาง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่ร่วมการบอยคอตโอลิมปิกฤดูหนาว เนื่องจากเขามองว่าจะเป็นเพียงแค่การแสดงสัญลักษณ์เท่านั้น 

 

“ผมขอกล่าวให้เกิดความชัดเจนว่า คุณต้องบอยคอตอย่างเต็มรูปแบบ และไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม หรือคุณต้องพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์” มาครงกล่าว 

 

“ผมไม่คิดว่าเราควรทำให้เรื่องนี้เป็นหัวข้อทางการเมือง โดยเฉพาะขั้นตอนที่ไม่มีประโชยน์ และเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์” 

 

ทางด้านอิตาลี ก็ไม่มีแผนที่จะบอยคอตการแข่งขัน ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซียได้ตอบรับการเชิญเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว แม้ว่ารัสเซียจะยังถูกแบนจากการแข่งขัน เนื่องจากกรณีการใช้สารกระตุ้นในโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2014 ที่เมืองโซชิ รัสเซีย 

 

– การละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถึง เผิงไซว่ ข้อกล่าวหาที่ทำให้เกิดการบอยคอตในโลกกีฬา 

 

กลุ่มรัฐบาลในโลกตะวันตกได้กล่าวหารัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องว่า พวกเขาได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพื้นที่ซินเจียง ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด และได้ยืนยันว่าค่ายกักกันต่างๆ ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นค่าย Re-education ให้กับชาวอุยกูร์

 

แต่อีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมา คือการหายตัวไปของ เผิงไซว่ นักเทนนิสสาวของจีนอ้างว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศโดย จางเกาลี่ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

 

โดยก่อนหน้านี้ เผิงไซว่ ได้ออกมาเปิดโปงถึงปัญหาชีวิตด้วยการโพสต์บน Weibo ว่า เคยถูกจางเกาลี่ ซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงของประเทศบีบบังคับให้ร่วมหลับนอนด้วยเมื่อ 10 ปีก่อน ก่อนจะถูกบีบบังคับอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว 

 

แต่โพสต์ดังกล่าวถูกลบภายใน 30 นาที และถูกรัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ไม่ให้มีการสืบค้นข้อมูลของเผิงไซว่ และแบนไม่ให้มีการส่งภาพถ่ายของโพสต์บน Weibo โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของจีนด้วย 

 

โดยกรณีของเผิงไซว่ แม้ว่าเธอจะปรากฏตัวในสื่อจีน และการให้สัมภาษณ์กับประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แต่เนื่องจากทางสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง (WTA) ยังเรียกร้องขอพูดคุยกับเผิงไซว่โดยตรง และให้เกิดการสอบสวนต่อข้อกล่าวอย่างจริงจัง 

 

จนสุดท้าย ได้นำไปสู่การตัดสินใจของ สตีฟ ไซมอน ซีอีโอ และซีโอโอของ WTA ที่ประกาศแบนการจัดการแข่งขันเทนนิสทุกรายการในประเทศจีน รวมถึงฮ่องกง เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อรัฐบาลจีนที่นิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างจริงจังกับข้อกล่าวหาของเผิงไซว่ 

 

การตัดสินใจของ WTA ถือว่ามีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของการเมืองกับโลกกีฬาเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดกีฬาใประเทศจีนถือเป็นสิ่งที่กีฬาอาชีพหลายชนิดทั่วโลกต้องการเข้ามาเจาะตลาด เพื่อดึงส่วนแบ่งของกลุ่มแฟนกีฬาในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 

 

กรณีที่ถูกยกมาเปรียบเทียบกับการตัดสินใจของ WTA คือ บาสเกตบอล NBA ที่ก่อนหน้านี้ ดาริล มอเรย์ ผู้จัดการทั่วไปของทีมฮูสตัน ร็อกเก็ตส์ ได้ทวีตข้อความ “ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ยืนหยัดพร้อมกับฮ่องกง” เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ชุมนุมในฮ่องกง จนนำไปสู่กระแสต่อต้านทีม และลีก NBA ในประเทศจีน

 

ซึ่งท่าทีของทาง อดัม ซิลเวอร์ ประธาน NBA คือการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน แต่ขอโทษแฟนกีฬาชาวจีนที่ทำให้เสียความรู้สึก ซึ่งช่วงเวลานั้น NBA เหมือนกับมีท่าทีในความพยายามที่จะรักษาสมดุล ระหว่างการป้องกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กับการรักษาฐานแฟนกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศจีนไว้ 

 

ในทางกลับกัน WTA องค์กรกีฬาที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1970 ในช่วงที่กีฬาอาชีพหญิงยังไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้าง ได้ตัดสินใจถอนทุกรายการแข่งขันออกจากจีน เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ที่พร้อมจะปกป้องความเป็นอยู่ของนักเทนนิสอาชีพหญิงที่ออกมาเปิดเผยข้อกล่าวหาที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

 

การตัดสินใจของ WTA ถือเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญของโลกกีฬาที่จะแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียรายได้ในบางครั้ง ก็คุ้มค่ากับการเรียกร้องให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความปลอดภัย สำหรับกลุ่มคนที่พวกเขาก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งนั่นก็คือนักกีฬาเทนนิสหญิงนั่นเอง 

 

– บอยคอตทางการทูต มิติใหม่ของสงครามเย็น 2.0 ในโอลิมปิก 

 

สงครามการเมืองครั้งนี้ที่ดูเหมือนกับว่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนใช้คำว่า สงครามเย็น 2.0 เมื่อคู่แข่งของชาติมหาอำนาจทางการเมืองโลก เปลี่ยนแปลงจากสหรัฐฯ​ vs. สหภาพโซเวียต มาเป็น สหรัฐฯ vs. จีน ทั้งการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและขนาดเศรษฐกิจ เริ่มแผ่ขยายการแข่งขันไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ จนถึงกีฬา 

 

โอลิมปิกถือเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองมาตลอด เมื่อชาติมหาอำนาจต้องการแสดงศักยภาพของผู้คนในประเทศด้วยการผลักดันให้พวกเขากลายเป็นเจ้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือการแสดงศักยภาพของประเทศด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 

 

แต่เช่นเดียวกันก็เคยใช้สังเวียนโอลิมปิก เป็นสัญลักษณ์การตอบโต้ทางการเมืองมาแล้วในปี 1980 

 

เมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตรบอยคอตการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ด้วยเหตุผลที่สหภาพโซเวียตส่งกองกำลังบุกรุกอัฟกานิสถาน และตามติดด้วยสหภาพโซเวียตบอยคอตการแข่งขันปี 1984 ที่นครลอสแอนเจลิส โดยสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1980 กลายเป็นบทเรียนสำหรับชาติมหาอำนาจ เมื่อผลกระทบที่แท้จริงตกอยู่กับนักกีฬา เมื่อการรอคอยการแข่งขันที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี 4 ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการบอยคอตด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ 

 

มาในครั้งนี้ สหรัฐฯ ประเทศแรกที่ประกาศการบอยคอตจึงได้ยืนยันว่า ครั้งนี้จะเป็นการบอยคอตทางการทูต ที่ยังคงสนับสนุนให้นักกีฬาไปร่วมแข่งขันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ความพยายาม ความฝัน และความทุ่มเทที่ผ่านมาของนักกีฬาทุกคนต้องสูญเปล่า 

 

แต่เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมของชาติเจ้าภาพ เจ้าหน้าที่ทางการเมืองทั้งหมด จึงจะไม่เข้าร่วมการแข่งขัน 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นการฉายภาพครั้งสำคัญไปสู่มหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ 2 รายการในปี 2022 ทั้งโอลิมปิกฤดูหนาว และฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และการรักร่วมเพศถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในกาตาร์

 

เมื่อผู้นำของแต่ละประเทศ ทีมชาติ และองค์กรกีฬาระดับสากล พบเจอกับการตัดสินใจที่ต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง ที่ยึดมั่นในคุณค่า ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน

 

พวกเขาจะมีท่าทีและการแสดงออกอย่างไร 

 

เพราะการตัดสินใจของพวกเขา จะกลายเป็นภาพสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงที่คุณยึดมั่นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในและนอกสนามแข่งขันกีฬา 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising