×

เปิดรายงาน กนง. ที่ประชุมแนะรัฐเตรียมมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่ม หากไม่เป็นตามคาด ห่วงการฟื้นตัวล่าช้า

07.04.2021
  • LOADING...
เปิดรายงาน กนง. ที่ประชุมแนะรัฐเตรียมมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่ม หากไม่เป็นตามคาด ห่วงการฟื้นตัวล่าช้า

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • กนง. ประเมินการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ กระทบเศรษฐกิจไทยจำกัด เนื่องจากภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ออกหุ้นกู้ระยะสั้นและยังระดมทุนได้ปกติ
  • เศรษฐกิจไทยระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และมีลักษณะ Uneven Recovery ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ 
  • กรณีเลวร้ายหรือสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด ภาครัฐควรเตรียม Policy Package เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยในปีนี้น้อยกว่าคาด
  • ภาครัฐควรเร่งผลักดันนโยบายเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

วันนี้ (7 เมษายน)​ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)​ ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนั้น กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% พร้อมกับได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 เหลือเติบโต 3% จากคาดการณ์เดิม 3.2% สาเหตุเพราะการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2564 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ผ่อนคลายน้อยกว่าคาด

 

อย่างไรก็ตาม การประมาณการของ กนง. ในการประชุมครั้งนี้ มีขึ้นก่อนที่สถานการณ์โรคโควิด-19 จะกลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา

สำหรับการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ประเด็นที่อภิปรายกันหลักๆ ในที่ประชุม เป็นเรื่องความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งมาตรการที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป ตลอดจนแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน

 

โดย กนง. ประเมินว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ระยะยาวของไทยที่ปรับสูงขึ้นเร็วตามบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ระดมทุนในระยะสั้นและยังสามารถระดมทุนได้ปกติ อีกทั้งส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างหุ้นกู้กับพันธบัตรรัฐบาล (Corporate Credit Spread) ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์รัฐบาลระยะยาวของไทยเริ่มทรงตัวและเคลื่อนไหวตามอัตราบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ น้อยลงในระยะหลัง แต่ กนง. จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด

 

นอกจากนี้ กนง.​ ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (Uneven Recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ หรือผลกระทบที่มีต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (Scarring Effects) ในระบบเศรษฐกิจ โดยควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ กนง. มีความเห็นว่ามาตรการการคลังควรเร่งเบิกจ่ายการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับภาคครัวเรือน

 

ส่วนมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ รวมถึงเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และลดภาระการจ่ายเงินต้น-ดอกเบี้ยชั่วคราวให้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

 

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด กนง. เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (Policy Package)​ เพิ่มเติมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด

 

รายงานระบุด้วยว่า กนง. ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเห็นว่าศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลงต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้เลวร้ายลง

 

นอกจากนี้ กนง. ยังได้อภิปรายถึงแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะสั้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดย กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องและมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุด จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

 

ส่วนมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (Microprudential) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกัน กนง. เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งผลักดันและเร่งดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising