×

เปิดตัวหนังสือ ‘กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’ อ่านสยามจากมุมตะวันตก

28.11.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่จักรพงษ์วิลล่า สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ โดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ จัดสนทนาเปิดตัวหนังสือในงาน Chakrabongse Antique & Culture Fair ครั้งที่ 5 เปิดตัวหนังสือ ‘กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’ แปลจาก The King and the Consul A British Tragedy in Old Siam 

 

ร่วมสนทนาโดย ไทรมั่น ลัญฉน์ดี ผู้เขียน และ สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล ทั้งนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย 

 

ไทรมั่นกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มจากการได้พูดคุยกับ บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในขณะนั้น เมื่อปี 2561 ที่งานเลี้ยงบ้านพักทูตอังกฤษ ถนนเพลินจิต อายุเกือบร้อยปี โดยตนเองบอกกับจอห์นสันว่า คนไทยและคนอังกฤษจำนวนมากกังวลเรื่องการขายสถานทูตอังกฤษ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะอนุรักษ์บ้านหลังนี้และสินทรัพย์ทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ไว้ แต่ได้รับคำตอบจากจอห์นสันที่พูดถึงอาคารหลังใหม่ 

 

อย่างไรก็ตาม ไทรมั่นไม่ได้รู้สึกผิดหวัง เพราะไม่ได้คาดหวังอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากข้อตกลงการขายสถานทูตนั้นจบแล้ว สถานทูตที่ตั้งบนหัวมุมถนนเพลินจิตและถนนวิทยุถูกขายไปแล้ว

 

ที่ดินดังกล่าวเป็นสถานทูตอังกฤษในทศวรรษ 2463 ในยุคที่บริเวณนี้เป็นชานเมืองชายขอบรอบนอก โดยก่อนหน้านั้นอังกฤษเคยตั้งสถานกงสุลบนที่ดินริมน้ำในเขตบางรัก ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้รับพระราชทานที่ดินริมน้ำจากรัชกาลที่ 4 ในปี 2399 ต่อมากรรมสิทธิ์คืนสู่รัฐบาลสยาม ซึ่งเคยใช้เป็นที่ตั้งไปรษณีย์กลาง และปัจจุบันคือที่ตั้งสำนักงานใหญ่การสื่อสารแห่งประเทศไทย 

 

 

สำหรับการพระราชทานที่ดินริมน้ำในเขตบางรักให้เป็นสถานกงสุลอังกฤษในยุครัชกาลที่ 4 เกิดขึ้นหลังความตายของ ‘แสง’ ลูกจ้างสถานกงสุลอังกฤษ ที่ถูกโบยด้วยหวาย และความตายของ ‘ชาร์ลส์ บัทเทิน ฮิลเลียร์’ กงสุลอังกฤษในยุคสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งการที่สยามให้อังกฤษใช้ที่ดินริมน้ำเป็นสถานกงสุลนั้นเป็นไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับสยามจากฝ่ายสยามเอง

 

ส่วนการตั้งสถานทูตที่ถนนเพลินจิต เกิดจากการเสนอของ เลิศ เศรษฐบุตร ที่เสนอมอบที่ดินถนนเพลินจิตให้อังกฤษโดยไม่คิดเงิน เพื่อแลกสิทธิที่เลิศจะซื้อที่ดินริมน้ำในเขตบางรักจากอังกฤษ 

 

เมื่อเลิศได้ที่ดินริมน้ำแล้ว ก็ได้ขายที่ดินริมน้ำให้กับรัฐบาลสยาม (ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง) โดยเลิศได้กำไรทันที

 

สำหรับการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษถนนเพลินจิต ใน 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 นี้ การขายแบ่งเป็น 2 ส่วน แปลงแรกถูกขายไปในปี 2549 ด้วยราคา 3.4 พันล้านบาท หรือ 50 ล้านปอนด์ ให้กลุ่มเซ็นทรัล ต่อมาที่ดินอีกส่วนถูกขายในปี 2561 ให้กลุ่มทุนเดิม ในราคา 1.8 หมื่นล้านบาท หรือ 425 ล้านปอนด์ โดยครั้งที่ 2 ได้รับการรายงานว่าเป็นการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงสุดที่เคยมีในประเทศไทย

 

ข้อแลกเปลี่ยนในศตวรรษที่ 19 คือ เพื่อปลดเปลื้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแลกกับสิทธิถือครองที่ดิน ส่วนศตวรรษที่ 21 ข้อแลกเปลี่ยนกลับเป็นการปลดเปลื้องสิทธิถือครองที่ดินให้เป็นเงินสด

 

ไทรมั่นมองว่าการเจรจาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตบรรลุผลในศตวรรษที่ 20 แต่สิทธิการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติยังค้างอยู่ศตวรรษที่ 19 และถูกจำกัดมากกว่าเมื่อครั้งอยู่ภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริงปี 2398 ในบางมุม 

 

สุภัตรากล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์เรื่องที่ดินในประเทศไทยที่ไทรมั่นได้สืบค้นข้อมูลโดยละเอียด อ่านแล้วจะเห็นปัญหาการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวต่างชาติในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือ ‘คิงมงกุฎ’ หากอ่านเล่มนี้จะเข้าใจว่าทั้งคิงมงกุฎและขุนนางเสนาบดีทั้งหลายมีความไม่ธรรมดาในการเจรจาต่อรอง มีความเข้าใจและมีลูกล่อลูกชนในการเจรจาตลอดเวลา ไม่ได้ตกเป็นเบี้ย เพราะเรื่องไหนที่ถือไพ่เหนือก็จะถือไพ่นั้น เรื่องไหนที่ต้องยอมก็จะยอม ขณะที่พม่าจะแตกต่างออกไป เนื่องจากปล่อยให้อังกฤษเข้าไปในประเทศมากแล้ว ทั้งกษัตริย์และเสนาบดีพม่าไม่ได้มีความเข้าใจความต้องการของอังกฤษในการเจรจาต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายราชสำนักในประเทศภูมิภาคแถบนี้เรื่องที่ดินจะมีลักษณะเช่นเดียวกันคือ ให้ชาวต่างชาติออกไปอยู่ข้างนอกเมือง เหมือนราชสำนักมัณฑะเลย์ พม่าก็เช่นกัน ให้สร้างรั้วไม่ให้สูงเกิน เพื่อไว้สอดส่อง ส่วนในสยาม ถ้าอนุญาตให้ต่างชาติอยู่ก็ให้อยู่ใกล้ๆ บ้านมหาเสนาบดี เพื่อที่จะดูแลได้ ขณะที่ชาวต่างชาติก็นำไปซุบซิบกันว่า กษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดให้ชาวต่างชาติไปอยู่ท่ามกลางสยาม เพราะเดี๋ยวจะรู้ความลับว่าปกครองอย่างไร หรือมีการกดขี่ข่มเหงอย่างไร แล้วจะนำไปขยายความต่อ 

 

 

สุภัตรากล่าวว่า ขอบคุณคุณหญิง (ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์) ที่เปิดโอกาสให้คนได้อ่านเรื่องนี้ เพราะเวลาชาวตะวันตกคุยต่อหน้ากษัตริย์จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาเขาบันทึกคุยกันก็จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ความปรานีเช่นกัน มีการเล่าตรงๆ ฉะนั้นไม่เฉพาะเสนาบดี แต่กษัตริย์ก็ถูกวิจารณ์อย่างมาก

 

ชาญวิทย์กล่าวว่า เรื่องรัชกาลที่ 3-4 เป็นต้นมา เป็นเรื่องที่คุยกันสามวันสามคืนก็ไม่จบ เมื่อนั่งฟังสนทนาวันนี้ที่มีการกล่าวถึงบางตอนในหนังสือที่อ่านแล้วก็ยังเหมือนสถานการณ์ปัจจุบัน จึงคิดว่ากี่รัชกาลมาแล้ว ไทยยังเป็นประเทศไม่เปลี่ยนแปลง หากใครพยายามหาเกณฑ์ที่แน่นอนว่าสิ่งไหนต้องเป็นอย่างไร ก็จะพบว่าจริงๆ แล้วมันไม่มี เพราะจะเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มาแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจ เพราะฉะนั้นบางจุดเมื่อฟังแล้ว รัชกาลที่ 4 คงไม่โปรด ‘ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย’ เพราะในแง่อุดมการณ์อุดมคติคนก็ไม่ควรเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย แต่ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนก็เป็นแบบนั้น คือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน 

 

ชาญวิทย์กล่าวถึงสถานการณ์นโยบายต่างประเทศของไทยปัจจุบันว่า เช่นเดียวกับสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้ง 2 คนนี้เป็นนักปฏิวัติและเป็นนักการเมืองด้วย ทั้ง 2 คนจึงคิดว่า ฝ่ายไหนชนะ เราก็เข้าข้างนั้น เป็น Bamboo Diplomacy ขึ้นอยู่กับว่าใครชนะ ทุกอย่างสามารถกลับได้ตลอดเวลา ดังนั้นการหาเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่มีคำตอบที่กำลังตามหา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising