×

‘การกลับมาของตระกูลมาร์กอส’ ทำความรู้จัก ‘บองบอง มาร์กอส’ ลูกชายเผด็จการผู้คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

10.05.2022
  • LOADING...
Bongbong Marcos

ผ่านมากว่า 36 ปีที่ประชาชนฟิลิปปินส์ทั่วประเทศลุกฮือขึ้นประท้วงโค่นอำนาจของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จากปมทุจริตและใช้ความรุนแรงกำจัดฝ่ายตรงข้าม จนทำให้ครอบครัวมาร์กอสต้องลี้ภัยไปยังฮาวาย และสิ้นสุดยุคเผด็จการอันยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ก่อนที่ประธานาธิบดีมาร์กอสจะถึงแก่อสัญกรรมในปี 1989

 

มาวันนี้นามสกุลมาร์กอสกลายเป็นที่พูดถึงของชาวฟิลิปปินส์อีกครั้ง หลัง ‘เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์’ หรือ ‘บองบอง’ วัย 64 ปี บุตรชายเพียงคนเดียวของอดีตผู้นำเผด็จการ สามารถคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้แบบ ‘ถล่มทลาย’ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 30 ล้านเสียง ทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 2 เท่า พาตระกูลมาร์กอสกลับคืนสู่จุดสูงสุดแห่งอำนาจของรัฐบาลมะนิลาได้สำเร็จ

 

ที่ผ่านมา บองบอง มาร์กอส ทำอะไรบ้างกว่าจะมาถึงเป้าหมายและล้างภาพลักษณ์เผด็จการอันอื้อฉาวของครอบครัวได้ในวันนี้ เขามีนโยบายหาเสียงอะไรบ้าง ที่ทำให้ประชาชนยอมเทคะแนนให้แบบไม่สนใจอดีต และตั้งความหวังกับภารกิจนำพาประเทศในยุคใหม่ หลังเข้ารับตำแหน่งเดือนมิถุนายนนี้ไว้อย่างไร

 

ใครคือ ‘บองบอง มาร์กอส’?

 

  • บองบอง มาร์กอส คือบุตรชายเพียงคนเดียวของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่ปกครองฟิลิปปินส์ช่วงปี 1965-1986 

 

  • เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อในปี 2017 ว่าพ่อของเขาต้องการให้เขาเข้าสู่เวทีการเมือง โดยบังคับและผลักดันให้เขาเดินในเส้นทางนี้

 

  • การเป็นทายาทของนักการเมืองรุ่นใหญ่ที่ยังมีผู้คนจำนวนมากนิยม ส่งผลดีต่ออนาคตทางการเมืองของเขา ในวัยเพียง 23 ปี เขาได้กลายเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เต (Ilocos Norte) ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของมาร์กอสผู้พ่อ ที่อยู่ห่างกรุงมะนิลาไปทางตอนเหนือราว 440 กิโลเมตร โดยลงสมัครในนามพรรค Kilusang Bagong Lipunan ของบิดา

 

ความสำเร็จและข้อครหา?

 

  • หลังลี้ภัยที่ฮาวายและกลับมายังฟิลิปปินส์ในปี 1991 บองบองกลับสู่เวทีการเมืองด้วยการได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขต 2 ของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต ตั้งแต่ปี 1992-1995 ก่อนจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอีโลโคสนอร์เต และได้รับเลือกในปี 1998 

 

  • จากนั้นช่วงปี 2007-2010 เขาได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกครั้ง ก่อนจะกลายเป็นวุฒิสมาชิกในสังกัดพรรค Nacionalista ตั้งแต่ปี 2010-2016 และได้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2015 แม้จะพ่ายแพ้คู่แข่งคือ เลนี โรเบรโด ไปอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียงตามหลังเพียง 0.64% 

 

  • อย่างไรก็ตาม ภูมิหลังของบองบองก็เป็นที่ครหาของฝ่ายตรงข้าม โดยประวัติเบื้องต้นในวุฒิสภาระบุว่า เขามีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่าวุฒิการศึกษาที่เขามีนั้นเป็นเพียงอนุปริญญาพิเศษ (Special Diploma) ที่ไม่ใช่ระดับปริญญาตรีจริงๆ ซึ่งในเดือนตุลาคมปีที่แล้วทางออกซ์ฟอร์ดออกมายืนยันว่า บองบองนั้นไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีการแก้ไขข้อมูลในเว็บไซต์แล้ว

 

ภาพลักษณ์อื้อฉาวของครอบครัว

 

  • หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการโค่นอำนาจมาร์กอสผู้พ่อนั้น คือการใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972 ซึ่งทำให้มีประชาชนและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก ทรมาน สังหาร หายสาบสูญ หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนหลายพันคน

 

  • มีการประเมินจากทางการฟิลิปปินส์ว่า ตระกูลมาร์กอสยักยอกเงินจากกองทุนสาธารณะไปราว 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ โดยอาศัยช่องทางจากครอบครัว เพื่อนฝูง และคนใกล้ชิด ซึ่งจนถึงปี 2020 พบว่าทางการฟิลิปปินส์สามารถติดตามเงินดังกล่าวคืนมาได้เพียงประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์

 

  • ภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ท่ามกลางการทุจริตและยักยอกเงินในยุคอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ยิ่งถูกตอกย้ำและวิพากษ์วิจารณ์ จากภาพลักษณ์การใช้ชีวิตอันหรูหราของ อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลข 1 

 

  • ภายหลังการลี้ภัยของครอบครัวมาร์กอสไปยังฮาวาย ในปี 1986 กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในพระราชวังมาลากันยัง ซึ่งเป็นที่พักและที่ทำงานของประธานาธิบดี และต้องตกตะลึงเมื่อพบคอลเล็กชันรองเท้าหรูกว่า 3,000 คู่ ถูกทิ้งไว้ในตู้เสื้อผ้า

 

  • ปัจจุบันรองเท้าบางส่วนของอิเมลดายังถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อย้ำเตือนถึงการคอร์รัปชันในยุคประธานาธิบดีมาร์กอส

 

  • นอกจากนี้ทางการฟิลิปปินส์ยังสามารถตรวจค้นและยึดทรัพย์สินจำนวนมากของอิเมลดา ทั้งสินค้าแบรนด์เนม อัญมณี และผลงานศิลปะราคาแพง ที่ซุกซ่อนไว้ในหลายสถานที่ 

 

ใครสนับสนุนเขาบ้าง?

 

  • บองบองตัดสินใจประกาศตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 2021 ภายใต้สังกัดพรรค Partido Federal ng Pilipinas (PFP) โดยมีคู่ชิงรองประธานาธิบดี คือ ซารา ดูเตร์เต บุตรสาวของ โรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน 

 

  • การจับมือกับซาราลงชิงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อใช้ประโยชน์จากความนิยมของประธานาธิบดีดูเตร์เตที่ยังคงอยู่

 

  • แรงสนับสนุนของบองบองยังมาจากหลายภาคส่วน โดยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก เขาได้ช่วยผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลท้องถิ่นหลายฉบับ 

 

  • บองบองให้คำมั่นต่อประชาชนระหว่างการหาเสียงว่า จะเป็นผู้นำที่สร้างความปรองดองในประเทศ และจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด

 

  • นอกจากนี้เขายังสัญญาว่าจะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในกรุงมะนิลา เช่น การจราจรที่แออัด ตลอดจนผลักดันนโยบายพลังงานหมุนเวียน และต่อสู้กับการก่อความไม่สงบของกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงที่มีมาช้านาน

 

  • อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนกังวลว่าการที่บองบองคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี จะส่งผลให้การทวงถามความรับผิดชอบจากตระกูลมาร์กอสและการติดตามทรัพย์สินที่ครอบครัวมาร์กอสยักยอกไปนั้นหยุดลง

 

เขาชนะได้อย่างไร?

 

  • ครอบครัวมาร์กอสอยู่ในเวทีการเมืองและการครองอำนาจรัฐบาลมายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ได้รับความนิยมและมีฐานเสียงจากประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเกิดอย่างจังหวัดอีโลโคสนอร์เต ซึ่งมีการตั้งชื่อเขตเทศบาลว่ามาร์กอส และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเทศบาลดังกล่าวว่า เฟอร์ดินานด์ 

 

  • ช่วงหลังกลับจากลี้ภัย อำนาจของครอบครัวมาร์กอสลดลงและไปไม่ถึงระดับประเทศ โดยอิเมลดาลงสมัครชิงประธานาธิบดี 2 ครั้ง แต่พ่ายแพ้ 

 

  • อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่นักการเมืองสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น หรือที่เรียกว่า ‘ตระกูลนักการเมือง (Political Dynasty)’ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้ตระกูลมาร์กอสสามารถสร้างฐานอำนาจทางการเมืองขึ้นใหม่ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับนักการเมืองหัวแถวหลายราย รวมถึงประธานาธิบดีดูเตร์เต ซึ่งยินยอมให้นำศพอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสกลับมาฝังในสุสานวีรบุรุษ

 

  • ถึงแม้บองบองจะหลีกเลี่ยงการโต้แย้งกับคู่แข่ง โดยปฏิเสธการโต้วาทีทางโทรทัศน์หลายครั้ง แต่อิทธิพลของครอบครัวมาร์กอสยังได้รับการสนับสนุนและลบล้างภาพลักษณ์เผด็จการ ด้วยเครื่องมือแห่งยุคสมัยอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube และ TikTok 

 

  • โพสต์ข้อความและคลิปวิดีโอมากมายที่สนับสนุนบองบอง บอกเล่าประวัติศาสตร์ในยุคของเผด็จการมาร์กอส โดยยกย่องว่าเป็นยุคทองของฟิลิปปินส์ ซึ่งหลายคลิปได้รับความนิยมและกลายเป็นไวรัล ช่วยสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของบองบองได้อย่างมาก ขณะที่บองบองปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อโพสต์ต่างๆ ที่เชียร์เขา

 

  • สำหรับคู่แข่งหลักอย่าง เลนี โรเบรโด แม้ในช่วงปลายของการหาเสียงจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น แต่เธอก็เผชิญอุปสรรคที่บั่นทอนคะแนนเสียง ทั้งการบิดเบือนข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย และการเผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องที่เธอมีชู้ ซึ่งเป็นคนในกลุ่มพันธมิตรของลัทธิคอมมิวนิสต์ ตลอดจนภาพของลูกสาวคนโตของเธอที่ปรากฏในคลิปวิดีโอขณะมีเพศสัมพันธ์

 

นโยบายต่างประเทศ ‘รักษาสัมพันธ์มหาอำนาจ’

 

  • นโยบายสำคัญของว่าที่ประธานาธิบดีใหม่ของฟิลิปปินส์ที่ทั่วโลกจับตามอง หนีไม่พ้นนโยบายต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพันธมิตรสำคัญ โดยเฉพาะด้านการทหารของฟิลิปปินส์ หนีไม่พ้นสหรัฐฯ

 

  • แต่ในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีดูเตร์เต บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้น จากการที่ดูเตร์เตเคยขู่จะยุติข้อตกลงทางทหารที่สำคัญกับสหรัฐฯ ก่อนจะตัดสินใจคงข้อตกลงต่อไปเมื่อปีที่แล้ว

 

  • สำหรับบองบองนั้นให้คำมั่นในการหาเสียงว่า จะมุ่งมั่นรักษาการเป็นพันธมิตรกับชาติมหาอำนาจ โดยเขาเคยกล่าวในการประชุมเมื่อต้นปีว่า “การเป็นพันธมิตรนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ” และ “สหรัฐฯ สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อช่วยฟิลิปปินส์”

 

  • ในขณะเดียวกันบองบองยังมีแผนที่จะเจรจาข้อตกลงกับรัฐบาลจีน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ที่มีมายาวนานด้วย โดยท่าทีของเขาในเรื่องนี้คล้ายกับประธานาธิบดีดูเตร์เต ซึ่งพยายามใกล้ชิดจีนมากขึ้น ในขณะที่ต้องการให้จีนสนับสนุนเงินลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

 

  • ส่วนประเด็นร้อนอย่างกรณีรัสเซียทำสงครามในยูเครนนั้น บองบองปฏิเสธที่จะแสดงท่าที แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยพูดเรื่องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่เขายืนยันในแถลงการณ์หลังจากนั้นว่า “เคารพในเสรีภาพของยูเครน”

 

ภาพ: Photo by Ezra Acayan / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising