×

แรงขายพันธบัตรดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี พุ่งทะลุ 2% นักลงทุนหวั่น Fed เข้มนโยบายการเงินมากขึ้น

14.03.2022
  • LOADING...
แรงขายพันธบัตรดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี พุ่งทะลุ 2% นักลงทุนหวั่น Fed เข้มนโยบายการเงินมากขึ้น

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (EM) ทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนเทขายเพราะคาดการณ์กันว่าอัตราเงินเฟ้อจะได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน และจะกระตุ้นให้ Fed ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น 

 

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาล อายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.06% จนมาอยู่ระดับสูงกว่า 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.04% เป็น 2.04% 

 

แอนดรูว์ ไทซ์เฮิร์สต์ (Andrew Ticehurst) นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ Nomura Inc. สาขาซิดนีย์ กล่าวว่า ตลาดพันธบัตรอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างชัดเจน โดยให้ผลตอบแทนระยะยาวเพิ่มขึ้น 0.25-0.30% ในสัปดาห์ที่แล้วทั่วทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และยุโรป 

 

“ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั่วโลก และจะมีผลกระทบต่อการเติบโต แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างไม่สบายใจในหลายประเทศ ธนาคารกลางมักจะถูกบังคับให้ตอบสนองต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น” แอนดรูว์กล่าว 

 

Breakeven Rate ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นดัชนีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.60% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 นักลงทุนจึงมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์นี้ และ 80% เชื่อว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกในการประชุมครั้งต่อไปอีก 6 ครั้งในปีนี้

 

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นเกือบ 1.75% ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2019 หลังจากที่ปรับลดลงช่วงสั้นๆ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม 

 

การคาดการณ์เงินเฟ้อที่วัดโดยตลาดตราสารหนี้อายุ 2, 5 และ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่การสำรวจความเชื่อมั่นล่าสุดของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 5.4% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981

 

นักวิเคราะห์จำนวนมากขึ้นได้เริ่มคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่ Fed จะเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย Morgan Stanley เห็นว่า Fed น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในปีนี้ และอีก 4 ครั้งในปี 2023 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปี 2023 น่าจะอยู่ที่ 2.625% ขณะที่นักยุทธศาสตร์จาก Bank of America กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยยังคงคาดการณ์ว่า Fed จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ 

 

“สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้ง ไม่ได้ทำให้เราอยู่ในอัตราที่เป็นกลาง อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากและยังสามาถปรับขึ้นได้อีก โดยเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจเน็ต เยลเลน ก็ยังเปลี่ยนน้ำหนักความเชื่อ โดยล่าสุดได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อระดับสูงจะคงอยู่อย่างน้อยในปีหน้า แม้ว่าเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเยลเลนเพิ่งจะนิยามอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วว่าสูงขึ้นชั่วคราว” นักยุทธศาสตร์จาก Bank of America กล่าว 

 

และถึงแม้การดำเนินการของ Fed จะเป็นตามคาดการณ์ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 และ 10 ปีเริ่มแคบลง แต่ยังไม่ถึงกับเป็นภาวะ Invert หรือ ‘กลับด้าน’ ซึ่งจะเป็นสัญญาณสะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า ส่วนต่างอัตราตผลตอบแทนระยะกลาง (2 ปี) และระยะยาว (10 ปี) ที่เริ่มแคบลง สะท้อนมุมมองนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยทางทฤษฎีแล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวควรจะสูงกว่าระยะกลางหรือระยะสั้น ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยในอนาคตควรจะสูงกว่าดอกเบี้ยในปัจจุบัน 

 

ส่วนกรณีที่อัตราผลตอบแทนเริ่มต่างกันไม่มาก หรือส่วนต่างเริ่มแคบลง ก็สะท้อนภาพที่กลับกัน นั่นคือนักลงทุนเริ่มมองว่าเศรษฐกิจอาจจะกำลังจะชะลอตัว ทำให้ดอกเบี้ยในอนาคตใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นมักจะตอบรับเชิงลบต่อสัญญาณดังกล่าว แต่จะไม่ตอบรับในทันที โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เปลี่ยนแปลงไปมักจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่า และตลาดหุ้นค่อยตอบรับเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นจริง 

 

โดยจากข้อมูลในอดีตเมื่อปี 2007 ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเคยแคบลง หลังจากนั้นในปี 2008 ตลาดหุ้นจึงปรับลดลงตอบรับวิกฤตซับไพรม์ หรือในปี 2019 ที่ส่วนต่างแคบลงเช่นกัน ตลาดหุ้นได้ปรับลดลงจริงในปี 2020 ซึ่งครั้งล่าสุดอาจจะนำมาอ้างอิงหรือใช้ทำนายเหตุการณ์ไม่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยโควิดเข้ามากระทบตลาดการลงทุนทั่วโลกด้วย  

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising