×

กทม. กางแผนปลดล็อกระบบการศึกษา เริ่มปรับตั้งแต่วิสัยทัศน์ผู้บริหาร จนถึงทักษะวิชาชีพหลังเรียนจบ เชื่อ 4 ปีคุณภาพการเรียนต้องดีขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2022
  • LOADING...
ระบบการศึกษา

วานนี้ (4 กรกฎาคม) ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ พร้อมมอบนโยบายด้านการศึกษา โดยมี เกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และศึกษานิเทศก์ จำนวน 700 คน ร่วมประชุม 

 

ศานนท์กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการศึกษา มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามแผนการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนากรุงเทพฯ โดยขับเคลื่อนตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ซึ่งมีนโยบายด้านการศึกษา ประกอบไปด้วย 21 นโยบายในความรับผิดชอบหลัก 8 นโยบายสนับสนุน รวมไปถึงนโยบายปลอดภัยดี และนโยบายบริหารจัดการดี ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา 

 

โดยกำหนดจุดเน้นด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาทั้ง 29 นโยบาย เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้กับ 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งประกอบด้วย 6 จุดเน้นสำคัญ ได้แก่

 

จุดเน้นที่ 1 การจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สติปัญญา และสังคม (Holistic Learning) 

 

จุดเน้นที่ 2 เน้นหลักสูตรคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น อ่านออกเขียนได้ 

 

จุดเน้นที่ 3 พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ทักษะภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยี (Digital Skill) 

 

จุดเน้นที่ 4 ปรับสถานศึกษาให้เป็นองค์การจัดการความรู้ (Learning School) ฝึกอบรมทักษะอาชีพยุคใหม่ (Reskill, Upskill, New Skill) 

 

จุดเน้นที่ 5 การเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่หลากหลาย 

 

จุดเน้นที่ 6 เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น เป็นโรงเรียนปลอดการบ้าน (No Homework School) เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร อันจะส่งผลให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. มีศักยภาพ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทักษะในการดำรงชีวิต พร้อมก้าวสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป 

 

ศานนท์กล่าวต่อว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญและเป็นวันแรกที่ได้มาประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ศึกษานิเทศก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ 

 

สำหรับตนเองเคยเรียนในโรงเรียนเอกชนตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีเพื่อนๆ หลายคนที่เรียนโรงเรียนทั้งเอกชน ทั้งของภาครัฐ ทั้งต่างประเทศ ซึ่งเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาตั้งแต่เด็ก คิดว่าปัญหาของเด็กนักเรียนเป็นต้นตอของหลายๆ ปัญหา ฉะนั้นการที่ได้มาทำเรื่องการศึกษาของกรุงเทพมหานครนับว่าเป็นภารกิจสำคัญของชีวิต เป็นสิ่งที่น่าดีใจและภูมิใจมากที่จะได้ทำงานร่วมกับทุกท่าน 

 

โดยเรื่องที่จะพูดวันนี้แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 เป้าหมายของการขับเคลื่อนด้านการศึกษา เรื่องที่ 2 ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญกัน เรื่องที่ 3 นโยบายที่เรากำลังจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน และเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของสิ่งที่เราทำมาแล้ว และจะเดินต่อไปอย่างไร 

 

เริ่มจากเรื่องที่ 1 โรงเรียนและระบบการศึกษาเราเป็นอย่างไร เป้าหมายของการศึกษาไม่ใช่การพัฒนาโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เป้าหมายที่สำคัญคือต้องพัฒนาคน เพราะฉะนั้นนักเรียนทั้งหมดที่เราดูแล เราต้องเข้าถึงเขาทั้งหมด

 

เรื่องที่ 2 ปัจจุบันความท้าทายของการศึกษาคือการปรับตัว ทุกวันนี้เรามีการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น มีสื่อการเรียนการสอนที่อยู่นอกห้องเรียนที่ล้ำสมัย เด็กนักเรียนหลายคนรู้สึกว่าในห้องเรียนเริ่มล้าสมัยสำหรับเขา เพราะฉะนั้นความท้าทายเรื่องแรกคือ เราต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวอย่างไร จะอยู่ในนโยบายที่เราจะพูดต่อไป ความท้าทายเรื่องที่ 2 คือเรื่องของจำนวนนักเรียนที่ลดลง แน่นอนว่าการแข่งขันที่จะเข้าสู่โรงเรียนทั้งหมดจึงต้องแข่งขันกันสูง การที่ผู้ปกครองจะเลือกโรงเรียน กทม. นั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ปกครอง เราต้องเก่งขึ้น และต้องพัฒนาให้มากขึ้น อันนี้ก็เป็นความท้าทายที่หลีกหนีไม่พ้นที่ทางผู้บริหารทุกท่านต้องช่วยกันทำให้ดียิ่งขึ้นไปให้ได้ ต้องปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างตามความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง เชื่อว่าเราไม่ได้ปรับตัวครั้งแรก ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทุกท่านได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโรงเรียนของเรา การศึกษาของ กทม. สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ 

 

ส่วนตัวเชื่อว่าความท้าทายทั้ง 2 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Digital Transformation เรื่องของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าครั้งนี้เราจะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เหมือนเดิม 

 

สำหรับเรื่องของเป้าหมายและนโยบาย แบ่งออกเป็น 3 เป้าหมาย 3 นโยบาย

 

เป้าหมายแรกคือ การพัฒนาคน ส่วนนโยบายแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ เรื่องที่ 1 เรื่องของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน ซึ่งพื้นฐานสำคัญในการสร้างการศึกษาที่ดี เราจะสร้างการศึกษาที่ดีไม่ได้ ถ้าสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะโรงเรียนยังไม่ดี จะมีนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กนักเรียน เรื่องที่ 2 เรื่องของครู หากโรงเรียนดีแล้ว แต่ว่าคุณภาพชีวิตของครูเรายังไม่ดี ก็ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดี การศึกษาจะดีไม่ได้ ปัจจุบันเรามีครูประมาณ 14,535 คน ครูคือกำลังหลักสำคัญ เพราะว่าใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนที่สุด ครูต้องลดภาระพวกงานเอกสาร ลดงานโครงการ เอาเทคโนโลยีมาช่วย และต้องมีสวัสดิการที่ดีขึ้น เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องของหลักสูตร ปัจจุบันเรามีนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประมาณ 261,160 คน มีหลักสูตรที่มีความเหมาะสม แต่อาจจะต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักสูตรที่เริ่มต้นปีนี้อาจจะไม่เหมาะสมในเดือนหน้า ในปีหน้า และในอนาคต หลักสูตรต้องเป็นอะไรที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ในอนาคตหลักสูตรจะยิ่งสำคัญมากขึ้น ครูอาจจะต้องลดบทบาทจากการเป็นผู้สอน มาเก็บเกี่ยวความรู้เข้ามาในหลักสูตรของระบบการศึกษาให้เร็วยิ่งขึ้น หลักสูตรที่แข็งตัวจะต้องอ่อนลง พร้อมปรับตัวรับกับความรู้ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่ง 3 เรื่องนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน 

 

ศานนท์กล่าวว่า กทม. มี 21 นโยบายหลัก และ 8 นโยบายสนับสนุน รวมเป็น 29 นโยบาย ทั้งนี้ผู้ว่าฯ กทม. พูดย้ำเสมอว่า นโยบายมีชีวิต นโยบายปรับเปลี่ยนขึ้นและลงได้ 

 

ในส่วนของหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่ง 3 ระยะนี้สำคัญมากๆ ในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ระยะที่ 1 เรียกว่าระยะของการปลดล็อก ระยะที่ 2 คือระยะของการปรับปรุง ระยะที่ 3 เป็นระยะของการเปลี่ยนแปลง จาก 21+8 นโยบาย วันนี้เพิ่มมาเป็น 32 นโยบายแล้ว ซึ่งทั้ง 32 นโยบายจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสำนักการศึกษาโดยตรง และนโยบายที่อาจจะต้องไปบูรณาการ อย่างเช่น ผ้าอนามัยฟรี ก็ต้องบูรณาการกับสำนักอนามัยหรือศูนย์สาธารณสุข ระยะแรกที่จะพูดถึงคือปลดล็อก ปลดล็อกที่ 1 คือเรื่องครู มีนโยบายคืนครูให้กับนักเรียน ลดภาระงานของครู ซึ่งเรื่องนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทางสำนักการศึกษาก็ได้จัดสรรมาแล้ว จะมาเป็นเครื่องมือหลักที่จะลดภาระของครูให้มีเวลาว่างมากขึ้นในการดูแลเด็กนักเรียน 

 

ปลดล็อกที่ 2 การเลื่อนวิทยฐานะ อาจจะมีเกณฑ์ที่ยังไม่สามารถเลื่อนขั้นได้ ต้องมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เราได้เลื่อนวิทยฐานะ โดยมีบุคลากรที่มาช่วยดูแลเด็กนักเรียนได้มากขึ้น 

 

ปลดล็อกที่ 3 จะเป็นเรื่องของการเพิ่มสวัสดิการของคุณครู จะมีโครงการที่พยายามทำบ้านพักครูอยู่ใกล้โรงเรียนมากขึ้น ต่อมาเป็นกลุ่มนโยบายเกี่ยวกับหลักสูตร ที่จะนำมาเพิ่มให้เป็นการเรียนรู้ครบวงจรขึ้น คือนโยบาย After School Program หรือว่ากิจกรรมหลังเลิกเรียน เพราะบางทีผู้ปกครองก็จะมารับเด็กค่อนข้างช้า กว่าจะมาก็ช่วงเย็น เราอาจจะจัดคล้ายๆ ว่าเป็น After School Program ขึ้นมา จะเป็นสอนการบ้าน หรือเล่นกีฬา หรือเล่นดนตรี ในช่วงรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน อีกส่วนหนึ่งอาจจะเปิดพื้นที่วันเสาร์-อาทิตย์ในการเรียนการสอนนักเรียน อาจจะร่วมมือกับภาคีที่เขาทำมาแล้ว หรืออาจจะไปร่วมมือกับศูนย์สร้างสุขทุกวัยของ กทม. 

 

ในการบูรณาการการเรียนรู้เพิ่มเติมอาจจะไม่ต้องทำเอง ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู แต่ว่าบูรณาการร่วมกับศูนย์สร้างสุขทุกวัยซึ่งทำร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว ภายในสัปดาห์หน้าในเดือนกรกฎาคมนี้ ตั้งเป้าจะนำร่อง 50 โรงเรียนที่จะมี After School Program ซึ่งมีหลายๆ เขตที่ทางคณะกรรมการการศึกษาได้เลือกไว้แล้ว คิดว่าจะนำร่องได้ทันที ซึ่งจะมี 2 แบบ แบบที่ 1 คือหลังเลิกเรียน แบบที่ 2 คือเสาร์-อาทิตย์ รวมถึง 9 โรงเรียนที่จะจัดสรรผ้าอนามัยให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งมีหลายเขตได้เริ่มทำแล้ว เพราะการปลดล็อกจะต้องทำทันที ต้องรีบปรับปรุง ถ้าปลดล็อกแล้วปล่อยไว้ก็จะกลับไปเข้าสู่ระบบเดิม จะไม่มีความสำคัญอะไร 

 

ต่อมาเป็นการปรับปรุง ปัจจุบันคนไม่ได้ทำงานตรงสายที่เรียนมา คนทำงานตรงสายจะเหลือไม่ถึงครึ่งแล้ว ส่วนใหญ่แล้วในตลาดแรงงานโลกเปลี่ยนไปมาก ผู้ว่าฯ กทม. ชอบพูดว่า เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้เขาไม่ได้สมัครงานแล้ว เขาสร้างงานด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจบไปตลาดแรงงานต่างๆ จะเปลี่ยนไปหมดเลย อาจจะต้องปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 

 

นอกจากนี้จะเพิ่มนโยบายการศึกษาอีกข้อหนึ่งที่เป็นแนวทางสนับสนุนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา อาจจะเป็นการศึกษาคู่ขนานที่อยู่นอกระบบกับในระบบ ซึ่ง กทม. ไม่ได้โดดเดี่ยวและทำคนเดียว ปัจจุบันได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นอีกนโยบายที่เพิ่มเข้ามา ที่จะทำให้ กทม. เป็นต้นแบบของการดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบ ดูแลนอกห้องเรียน ซึ่งเรายังมีห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ดูแลห้องสมุดอยู่หลายที่ อาจร่วมมือกับ Professional อย่างเช่น TK Park ที่เขาดูแลเรื่องห้องสมุด ซึ่งจะมีองค์ความรู้ที่จะมาให้กับ กทม. ไม่ใช่แค่ให้อย่างเดียว แต่ยังมาร่วมทำกับ กทม. ด้วย เราก็จะไม่โดดเดี่ยว มีภาคีที่เป็น Professional ในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมกันจัดกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มเติมกับเด็กในชุมชนหรือเด็กนอกระบบการศึกษา 

 

สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีคือวิสัยทัศน์ที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิม ซึ่งนโยบายในกลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นนโยบายที่เป็นความฝันของหลายๆ คน ทางผู้ว่าฯ กทม. และทีมงานเคยเขียนเรื่องพวกนี้ไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. อย่างเช่น โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นคำที่ฟังดูง่ายๆ แต่แปลว่าเราต้องการพัฒนานักเรียนส่งพลเมืองโลก และอยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กนักเรียนอยากที่จะมาเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นในเวลาเรียนหรือนอกเวลาเรียน เรามีต้นแบบอยู่แล้วคือ โรงเรียนวัดหัวลำโพง และโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ที่ร่วมมือกับคณะครุศาสตร์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบ จะต้องถอดบทเรียนเพื่อขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป 

 

ศานนท์กล่าวว่า ความสำเร็จของการศึกษาที่เราทำมาตลอด 1 เดือนนั้น สำนักการศึกษาถือว่าเป็นสำนักแรกที่เตรียมเอานโยบายของผู้ว่าฯ กทม. มาใช้และประกาศให้ทุกคนทราบว่าพร้อมที่จะทำงานกับผู้บริหารของ กทม. ยุคใหม่ อีกทั้งเป็นสำนักและเป็นทีมบริหารที่เข้มแข็ง เชื่อว่าอีก 32 นโยบายที่เพิ่มเข้ามา เพราะเราอยากสร้างการศึกษาที่ดีให้กับลูกหลาน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปกครอง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. เราต้องทำแบรนดิ้งของการศึกษา กทม. ยกระดับคุณภาพด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นใน 4 ปี

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising