×

เปิดพระราชประวัติพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร

06.05.2023
  • LOADING...

ผู้คนนับล้านทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศเครือจักรภพ ตลอดจนประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างเฝ้าติดตามชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ณ กรุงลอนดอน โดยถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษครั้งแรกในรอบ 70 ปี

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชมารดาคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 โดยตลอดระยะเวลาที่ดำรงพระยศองค์รัชทายาท พระองค์ทรงมีบทบาทในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญทั้งในสหราชอาณาจักรและต่างประเทศ และเป็นผู้อุปถัมภ์องค์กรการกุศลและองค์กรอื่นๆ กว่า 800 แห่ง ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

และนี่คือพระราชประวัติของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร

 


 

ชีวิตขณะทรงพระเยาว์และการศึกษา

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ประสูติที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอัยยิกา โดยทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์ และพระขนิษฐา 1 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายแอนดรูว์, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และเจ้าหญิงแอนน์ 

 

หลังประสูติได้ 1 เดือน เจ้าชายชาร์ลส์ได้รับการตั้งพระนามเต็มว่า ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ โดย ดร.จอฟฟรีย์ ฟิชเชอร์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

 

ในขณะที่พระชนมายุ 3 พรรษา พระองค์ทรงกลายเป็นรัชทายาท ภายหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 ขณะที่มีพระชนมายุ 25 พรรษา เนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชมารดามีขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 4 พรรษา

 

เมื่อพระชนมายุครบ 5 พรรษา ทรงได้รับการดูแลด้านการศึกษาในพระราชวังบักกิงแฮม ก่อนจะเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียน Hill House ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ในปี 1956 โดยพระองค์ยังทรงเป็นรัชทายาทพระองค์แรกของราชวงศ์อังกฤษที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนแทนการเรียนกับครูส่วนพระองค์ และไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากผู้ก่อตั้งหรืออาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแต่อย่างใด

 

เพื่อฝึกฝนให้พระองค์เป็นคนเข้มแข็ง พระราชบิดาทรงส่งเจ้าชายชาร์ลส์เข้าศึกษาต่อในฐานะนักเรียนประจำที่โรงเรียนเก่าของพระองค์ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน Cheam ณ เมืองเบิร์กเชียร์ ในปี 1958 และโรงเรียน Gordonstoun ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ในปี 1962 ซึ่งต่อมาสื่อหลายสำนักรายงานว่า พระองค์ไม่มีความสุขนักในการศึกษาที่ Gordonstoun เนื่องจากถูกพระสหายร่วมชั้นเรียนกลั่นแกล้ง

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1966 เจ้าชายชาร์ลส์ทรงใช้เวลา 2 ภาคเรียนในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่วิทยาเขตสหศึกษา Timbertop ของ Geelong Church of England Grammar School ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยเมื่อพระองค์เสด็จกลับมาศึกษาต่อชั้นปีสุดท้ายที่ Gordonstoun ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองโรงเรียน (School Guardian) ที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของเด็กนักเรียนชาย

 

ปี 1967 พระองค์เข้าศึกษาระดับปริญญาที่ Trinity College, มหาวิทยาลัย Cambridge โดยในตอนแรกทรงศึกษาสาขาวิชาโบราณคดีและมานุษยวิทยา ก่อนจะทรงเปลี่ยนไปศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ จนได้เป็นรัชทายาทพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญา

 

พระอิสริยยศและอาชีพทหาร

 

เจ้าชายชาร์ลส์ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์ในปี 1958 ก่อนที่จะมีการจัดพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1969 ที่ปราสาทแคร์นาร์ฟอน โดยพระองค์มีพระราชดำรัสในพิธีเป็นภาษาเวลส์และภาษาอังกฤษ

 

จากนั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1970 พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งในสภาขุนนาง (House of Lords) หรือสภาสูงในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร

 

ในเดือนมีนาคม 1971 ระหว่างศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัย Cambridge พระองค์ทรงเข้ารับราชการทั้งในกองทัพอากาศและกองทัพเรืออังกฤษ โดยผ่านการฝึกเป็นนักบินและได้รับมอบปีกของกองทัพอากาศ

 

จากนั้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน หลังผ่านการเดินขบวนพาเหรดในพิธีสำเร็จหลักสูตรการฝึกของกองทัพ พระองค์ทรงเริ่มอาชีพทหารเรือตามรอยพระบิดา พระอัยยิกา และพระปัยกา 

 

โดยทรงเข้าเรียนหลักสูตร 6 สัปดาห์ที่ Royal Naval College Dartmouth และได้เข้าประจำการบนเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี HMS Norfolk ตั้งแต่ปี 1971-1972, เรือฟริเกต HMS Minerva ปี 1972-1973 และเรือฟริเกต HMS Jupiter ในปี 1974 

 

นอกจากนี้เจ้าชายชาร์ลส์ยังทรงผ่านคุณสมบัติเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ในปี 1974 ก่อนเข้าร่วมฝูงบินนาวิกโยธิน 845 ซึ่งปฏิบัติการจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Hermes 

 

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1976 พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการเรือกวาดทุ่นระเบิด HMS Bronington โดยทรงประจำการอยู่ 9 เดือน ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของการรับราชการในกองทัพเรือ 

 

ชีวิตรักและการอภิเษกสมรส

 

ในวัยหนุ่ม เจ้าชายชาร์ลส์ทรงเป็นหนุ่มโสดที่หญิงสาวหมายปองมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ขณะที่ทรงผูกพันกับหญิงสาวหลายคนด้วยความรัก 

 

หนึ่งในหญิงสาวที่พระองค์ใกล้ชิดและผูกพันด้วยคือ ไดอานา สเปนเซอร์ บุตรสาวของ จอห์น สเปนเซอร์ หรือ เอิร์ล สเปนเซอร์ที่ 8 ขุนนางและอดีตองครักษ์ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 

 

โดยพระองค์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเลดี้ไดอานาในวันที่ 29 กรกฎาคม 1981 ก่อนที่จะทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี 

 

ในระหว่างการสมรส เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ และปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายร่วมกันในสหราชอาณาจักร

 

แต่ชีวิตสมรสของทั้งสองพระองค์สิ้นสุดลงในวันที่ 28 สิงหาคม 1996 หลังตัดสินพระทัยที่จะแยกทางกัน โดยเจ้าหญิงไดอานายังคงได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกราชวงศ์ และยังอาศัยอยู่ที่พระราชวังเคนซิงตัน รวมทั้งปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการกุศลมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาจากอุบัติเหตุรถชนในปารีส เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1997 เจ้าชายชาร์ลส์ได้เสด็จไปยังกรุงปารีสพร้อมกับพี่สาวอีก 2 คนของเจ้าหญิงไดอานา เพื่อนำพระศพกลับไปยังกรุงลอนดอน โดยเจ้าชายชาร์ลส์ยืนกรานให้จัดพระราชพิธีพระศพแก่เจ้าหญิงไดอานาอย่างสมพระเกียรติตามธรรมเนียมราชวงศ์อังกฤษ

 

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาส่งผลให้ราชวงศ์อังกฤษต้องเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเจ้าชายชาร์ลส์ที่ทรงแสดงความเป็นพระบิดาและเข้าหาประชาชนมากขึ้น ผ่านการเสด็จออกงานการกุศลและปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ 

 

โดยหลังพระราชพิธีพระศพเจ้าหญิงไดอานา เจ้าชายชาร์ลส์ทรงขอให้สื่อมวลชนเคารพความเป็นส่วนตัวของพระโอรสทั้งสอง เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนตามปกติ และหลายปีหลังจากนั้นพระโอรสทั้งสองทรงมีโอกาสได้เสด็จตามพระบิดาไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในสหราชอาณาจักรและต่างประเทศหลายครั้ง

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 เจ้าชายชาร์ลส์ทรงประกาศหมั้นกับ คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ หญิงสาวที่พระองค์มีความสัมพันธ์ทางใจมาตลอดนับตั้งแต่พบกันครั้งแรกในปี 1970

 

หลังจากนั้นในวันที่ 9 เมษายน 2005 ทั้งสองได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่ศาลากลางเมืองวินด์เซอร์ โดยเจ้าชายชาร์ลส์ทรงเป็นสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าพิธีสมรสในแบบพลเมืองอังกฤษทั่วไป ซึ่งหลังจากนั้นพาร์กเกอร์ โบลส์ ได้รับการสถาปนาเป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ และขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี ภายหลังพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์

 

พระราชกรณียกิจ

 

ตลอดระยะเวลาที่ทรงเป็นองค์รัชทายาท เจ้าชายชาร์ลส์ทรงมีบทบาทในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายทั้งส่วนพระองค์และเป็นตัวแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เช่น พระราชกรณียกิจด้านการกุศล, เกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, สถาปัตยกรรม, การศึกษา, การแพทย์และการทหาร ตลอดจนงานพิธีการ การแข่งขันกีฬาและกิจกรรมสาธารณะ ทั้งในสหราชอาณาจักรและต่างประเทศ อาทิ พิธีส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในปี 1997 ซึ่งพระองค์เสด็จไปในฐานะตัวแทนของพระราชมารดา

 

โดยช่วงระหว่างปี 2002-2022 พบว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากถึง 10,934 งาน

 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทและสวัสดิการต่างๆ ของกองทัพ ทหารผ่านศึก และครอบครัว ทั้งในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ขององค์กรการกุศลและองค์กรต่างๆ มากมายด้วย

 

กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์นับตั้งแต่ปี 1066 

 

พสกนิกรทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพ ตลอดจนดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ ต่างเฝ้ารอชมพระบารมีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ในการประกอบพระราชพิธี ด้วยการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณและสวมพระมหามงกุฎ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการถึงพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นและแน่วแน่จริงจังต่อพันธกิจหรือบทบาทหน้าที่ของพระองค์ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน

 

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ในรอบเกือบ 1 ศตวรรษนี้ มีแขกที่ได้รับเชิญจำนวนกว่า 2,200 คน รวมทั้งสมาชิกราชวงศ์และผู้แทนจาก 203 ประเทศ และประมุขแห่งรัฐราว 100 คน

 

ขั้นตอนในพระราชพิธีส่วนใหญ่ยังคงยึดถือตามขนบธรรมเนียมโบราณ ซึ่งยังถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นรัชสมัยใหม่ของสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริงด้วย

 

ภาพ: Alastair Grant – WPA Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising