×

ชำแหละนโยบาย ‘คุมมาเฟีย เคลียร์กลิ่นลูกปืน’ โอกาสทองที่ท้าทายภูมิใจไทย

27.12.2023
  • LOADING...
มาเฟีย

HIGHLIGHTS

10 min read
  • ‘ปราบผู้มีอิทธิพล’ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทุกรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงจนปัจจุบันให้ความสำคัญ และมุ่งที่จะขจัดให้หมดไป แต่ก็ยังไม่หมด มิหนำซ้ำยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอยู่
  • ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 มอบเจ้าพ่อ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ปราบมาเฟีย
  • สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ระบุกระทรวงมหาดไทยภายใต้พรรคภูมิใจไทย ต้องปราบผู้ที่มีอิทธิพลอย่าง ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ และ ‘มีมาตรฐานเดียวกัน’
  • ปัญหาปืนเถื่อน ‘เป็นเรื่องใหญ่’ เกินกว่าแค่ ‘ควบคุมใบอนุญาต’

‘ปราบผู้มีอิทธิพล’ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทุกรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงจนปัจจุบันให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นที่จะขจัดให้หมดไปในสังคมไทย แต่เหตุไฉนจึงยังไม่หมดไป มิหนำซ้ำยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน และยังต้องปราบปรามจนถึงทุกวันนี้

 

ก่อนหน้านี้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศปราบปรามผู้มีอิทธิพล กวาดล้างปืนเถื่อนและอาวุธสงครามภายใน 6 เดือน แต่งตั้ง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ หรือย้อนไปนานกว่านั้น ในสมัยรัฐบาล คสช. ก็มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ขณะนั้น) เป็นหัวเรือใหญ่ในการปราบปราม

 


 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

หรือย้อนนานไปกว่านั้นอีกในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่พ่วงไปด้วยการประกาศทำสงครามยาเสพติดก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งยังสร้างความนิยมให้เขาอีกด้วย

 

จากซ้าย ดรีมทีมรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย 

เกรียง กัลป์ตินันท์, ชาดา ไทยเศรษฐ์, อนุทิน ชาญวีรกูล และทรงศักดิ์ ทองศรี 

ภายหลังสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเข้าทำงานวันแรก 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

กลับมาในยุคปัจจุบัน ปี 2566 เมื่อ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นช่วงคาบเกี่ยวที่เกิดเหตุอุกอาจ กรณีลูกน้องกำนันที่จังหวัดนครปฐมได้ก่อเหตุสังหาร ‘นายตำรวจน้ำดี’ จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

 

‘อนุทิน’ ในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ประกาศถอนรากถอนโคนปราบปรามเจ้าพ่อและมาเฟีย พร้อมกับสั่งการให้เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ได้โชว์ฝีมือและพิสูจน์ผลงาน

 

พร้อมทั้งได้ลงนามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 2739/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีตนเองในฐานะเจ้ากระทรวงเป็นประธาน มี ‘ชาดา’ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เป็นรองประธาน และมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการอีก รวมทั้งสิ้น 20 ตำแหน่ง 

 

แน่นอนว่าคณะกรรมการชุดนี้ สปอตไลต์ส่องแสงไปอยู่ที่ ‘ชาดา’ ในตำแหน่งรองประธานฯ เนื่องจากเขาถูกขนานนามว่า เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นผู้มากบารมีในจังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นคนที่ความรู้ ความสามารถ และเคยผ่านสมรภูมิเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับผู้มีอิทธิพลมาก่อน

 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ที่มีฉากหลังเป็น ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ขณะกำลังสวมใส่รองเท้า ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

คณะกรรมการทั้ง 20 ตำแหน่ง มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล รวมถึงบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ 

 

ทั้งยังมีหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลและการข่าวเกี่ยวกับบุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล เร่งรัด กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล 

 

กระทรวงมหาดไทยยังได้ระบุลักษณะ 16 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งปราบปรามให้หมด 

 

  1. นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ 
  2. ฮั้วประมูลงานราชการ 
  3. หักหัวคิวรถรับจ้าง 
  4. ขูดรีดผู้ประกอบการ 
  5. ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี 
  6. เปิดบ่อนการพนัน 
  7. ลักลอบค้าประเวณี 
  8. ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย 
  9. ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 
  10. แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว 
  11. มือปืนรับจ้าง 
  12. รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 
  13. ลักลอบค้าอาวุธสงคราม/ปืนเถื่อน 
  14. บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 
  15. เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ 
  16. ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 

เปิดห้องทำงานภายในกระทรวงมหาดไทย

ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ​ ภักดีอาสา

 

อนุทิน’ ในฐานะเจ้ากระทรวงมหาดไทย บอกกับ THE STANDARD ว่า ได้สั่งการให้ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ไปกำกับดูแลเป็นพิเศษแล้ว

 

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้ดำเนินการไปหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องการขึ้นบัญชี รวมถึงการส่งสัญญาณไปยังเจ้าตัว (ผู้มีอิทธิพล) ว่าขอให้ยุติการกระทำในลักษณะที่ข่มเหงรังแกประชาชน 

 

อนุทินได้นิยามคำว่า ‘ผู้มีอิทธิพล’ ว่าเป็นใช้อิทธิพลของตนเองไปข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า โดยเน้นทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบมากขึ้น  

 

“หนีกันหัวซุกหัวซุน ไม่มีที่อยู่อย่างปกติได้อีกต่อไป ถูกจับดำเนินคดี ถ้าต่อสู้ตำรวจ บางคนก็ถูกยิงเสียชีวิต บางคนหนีหัวซุกหัวซุน อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นผลพวงจากการดำเนินการปราบปราม เราไม่ได้ปล่อยให้ใครอยู่ได้อย่างเป็นปกติ แม้จะมีตำแหน่งแห่งหนทางราชการ ยิ่งทำก็ยิ่งโดน โดนดำเนินคดีเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความชัดเจนที่เห็นและจับต้องได้ในงานของกระทรวงมหาดไทยในยุคนี้” เขากล่าว

 

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า 

ภาพ: พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

 

8 เต็ม 10 คะแนน

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ความคืบหน้านโยบายปราบผู้มีอิทธิพลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 ‘อนุทิน’ จากพรรคภูมิใจไทย ว่า ‘ขึงขัง’ และ ‘แอ็กทีฟดี’

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยก็มี ‘ชาดา’ เป็นจุดขายในปราบปรามผู้มีอิทธิพลอีก และสไตล์การทำงานของพรรคภูมิใจไทยก็เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสไตล์บ้านใหญ่อยู่แล้วด้วย หากดูจากภาพลักษณ์แล้ว ‘ภูมิใจไทย’ คือพรรคการเมืองที่เข้าใจบทบาทของผู้มีอิทธิพลมากที่สุดแล้ว

 

สำหรับการประเมินการทำงานการปราบปรามผู้มีอิทธิพลตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ‘สติธร’ ให้คะแนน ‘8 เต็ม 10’ เขาบอกว่าไม่อยากให้น้อย และไม่อยากให้มาก 

 

เพราะหากจะถามหาความเป็นรูปธรรมกับนโยบายดังกล่าวเร็วเกินไปที่จะให้คะแนนมาก ขณะเดียวกัน ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นผลอะไร ณ วันนี้เห็นเพียงการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลเท่านั้น 

 

แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่ากระทรวงมหาดไทยยุคนี้ ‘เอาจริงเอาจัง’ กับการปราบผู้มีอิทธิพล ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมจะต้องมีการพิสูจน์ไปอีกสักระยะ พร้อมตั้งคำถามต่อว่า เมื่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลแล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

ดรีมทีมรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย 

3 คนเดินเท้าจากวัดราชบพิธฯ ถึงถนนอัษฎางค์ ด้านหน้ากระทรวงมหาดไทย

เนื่องในโอกาสเข้าทำงานวันแรก 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ที่ผ่านมานโยบายการปราบผู้มีอิทธิพลถูกหลายคนมองว่าเป็นนโยบาย ‘ผักชีโรยหน้า’ เมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นแต่ละครั้งก็เอาจริงเอาจังขึงขังกันไป แล้วเรื่องก็จะเงียบไป

 

สติธรบอกอีกว่า สิ่งที่สำคัญในการเดินหน้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลครั้งนี้ ‘อนุทิน’ และ ‘ชาดา’ จากพรรคภูมิใจไทย ต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลหนนี้แตกต่างจากการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในอดีต

 

‘ผู้มีอิทธิพล’ เปรียบเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน เหรียญด้านแรก ผู้มีอิทธิพลก็ถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ในสังคมไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่คนมีบารมี มีฐานะทางสังคม หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะเข้าไปดูแลคนในพื้นที่ ซึ่งคนในพื้นที่ก็ยินดีที่จะอาศัยพึ่งพากันในลักษณะนี้ 

 

แต่อีกด้านที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับระบบใหญ่ เช่น ปัญหาวิ่งเต้นเส้นสาย โยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม กอบโกยผลประโยชน์ ประมูลโครงการภาครัฐไว้กับตนเองจนนำไปสู่การทุจริต หรือทำบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ต้องรับโทษในกระบวนการทางกฎหมาย 

 

สติธรจึงบอกว่า กระทรวงมหาดไทยต้องดำเนินการให้ผู้มีอิทธิพลด้านลบนี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ตนเองจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว และทำอย่างต่อเนื่อง

 

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นผักชีโรยหน้า วันนี้ผมจึงตั้งคำถามว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้มีการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลแล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะแค่ทำความเข้าใจใช่ไหม หรืออย่างไร เพราะเรายังไม่เห็นภาพที่กระทรวงมหาดไทยแอ็กชันเต็มที่ หรือ มท.1 ลงพื้นที่ไปดำเนินการกวาดล้างด้วยตนเองเลย” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้ากล่าว 

 

อย่างน้อยที่สุด กระทรวงมหาดไทยต้องให้ความรู้สึกว่า ผู้มีอิทธิพลสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างประโยชน์กับสังคม หรือมากกว่านั้น ต้องไม่สร้างอิทธิพลในเชิงลบที่ไม่เป็นธรรมกับผู้คน จนรู้สึกว่าผู้มีอิทธิพลนั้นยิ่งใหญ่และแตะต้องไม่ได้ 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ผู้สมัคร สส. อุทัยธานี (ขณะนั้น) 

ในฐานะผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคเหนือ โบกธงชัยพรรคภูมิใจไทย 

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

สติธรบอกกับ THE STANDARD อีกว่า ภาพลักษณ์ของภูมิใจไทยถือว่าเป็นอีกพรรคการเมืองที่มีบ้านใหญ่จำนวนมาก เช่น บ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ของชาดาในจังหวัดอุทัยธานี, ตระกูลช่างเหลาที่ขอนแก่น, บ้านใหญ่โพธิ์สุแห่งนครพนม, บ้านใหญ่ไตรสรณกุล-ตระกูลสรรณ์ไตรภพแห่งศรีสะเกษ, บ้านใหญ่รัชกิจประการแห่งแดนใต้, บ้านใหญ่ซารัมย์, บ้านใหญ่ทองศรี หรือแม้แต่ ‘บ้านใหญ่ชิดชอบ’ แห่งบุรีรัมย์ เมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย 

 

สติธรจึงมองว่า ‘ภูมิใจไทย’ น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เข้าใจผู้มีอิทธิพล และเป็นโอกาสที่ดีในการปรับภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองที่มีบ้านใหญ่ให้ดีขึ้น เพราะภาพลักษณ์บ้านใหญ่และผู้มีอิทธิพลเป็นเรื่องอยู่คู่กันแล้ว 

 

สังคมจึงมองไม่ออกว่า ‘ภูมิใจไทย’ จะดำเนินการจัดการบ้านตัวเองอย่างไร หรือจะดำเนินการจัดการพวกตัวเองด้วยหรือไม่ ดังนั้น หนทางเดียวของพรรคภูมิใจไทยในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เข้าข่ายคือ ‘ต้องไม่เลือกปฏิบัติ’ และ ‘มีมาตรฐานเดียวกัน’

 

‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ แถลงเปิดใจหลังลูกเขยถูกจับรับสินบน 

หลังเข้าชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการปราบปรามผู้มีอิทธิพลต่อคณะกรรมาธิการปกครอง รัฐสภา 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

สติธรยังยกตัวอย่างกรณีการจับกุมตัว ‘วีระชาติ รัศมี’ นายกเทศมนตรีตำบลตลุกดู่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีศักดิ์เป็น ‘ลูกเขย’ ของชาดา ที่ถูกจับดำเนินคดีข้อหารับสินบน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และการดำเนินการของชาดาที่ให้ลูกเขยของตนเองลาออกจากตำแหน่งภายในวันนั้น เรื่องนี้สำหรับตนเองมองว่าเป็นการกระทำเป็นที่ ‘โอเค’ 

 

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แต่หลายฝ่ายไม่ทราบว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร อาจเป็นการไม่ถูกกันอยู่แล้วหรือไม่ หรือความเป็นจริงแล้ว ‘ชาดา’ ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นใคร ใช่คนในครอบครัวหรือตระกูลเดียวกับตนเองหรือไม่ 

 

หาก ‘ผิด’ ก็คือ ‘ผิด’ นั่นหมายความว่าพรรคภูมิใจไทยดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘ยกน่ายกย่อง’

 

สติธรย้ำกับ THE STANDARD ว่า สำคัญที่สุดในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล คือ ‘มาตรฐาน’ ในการดำเนินการและเอาผิดกับผู้มีอิทธิพลอย่าง ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ และ ‘ไม่เข้าข้างพวกตัวเอง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ต่อสังคมว่ากระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ ‘อนุทิน’ และ ‘ชาดา’ จากพรรคภูมิใจไทยจะดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

 

รื้อกฎหมาย เคลียร์กลิ่นลูกปืนเถื่อน 

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ในช่วงคาบเกี่ยวที่อนุทินเข้ามารับตำแหน่ง มท.1 คนที่ 52 เกิดกรณี ‘ปืนเถื่อน’ ออกมาก่อเหตุคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเหตุกราดยิงภายในศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

 

กระทรวงมหาดไทยเตรียมรื้อกฎหมายควบคุมอาวุธปืน-สิ่งเทียมอาวุธปืน อนุทินได้ประกาศว่า จากนี้ต่อไปบุคคลที่จะสามารถถือครองอาวุธปืนได้อนุญาตเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานบุคคลที่เป็นคนของราชการที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 

ภายหลังให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ​ ภักดีอาสา

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ห้ามออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 – 19 ธันวาคม 2567 

 

อนุทินได้กล่าวกับ THE STANDARD ว่า มหาดไทยยุคภายใต้การนำของเขาจะงดต่อใบอนุญาตการพกพาอาวุธปืน ใครที่ฝ่าฝืน ยังพกปืนโดยที่ไม่มีใบอนุญาต นั่นหมายความว่าตั้งใจทำผิดกฎหมายและมีเจตนาที่ไม่ดี ผิดกฎหมาย ผิดนโยบาย ผิดทุกเรื่อง พร้อมทั้งเชื่อว่าการงดต่อใบอนุญาตฯ จะทำให้สังคมดีขึ้น

 

รวมถึงเตรียมที่จะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมอาวุธปืนและอาวุธปืนสิ่งเทียมต่อไปในรัฐสภา รัฐบาลมีเสียงถึง 314 เสียง หากแก้ไขแล้วเพียงพอก็แก้ไข ส่วนไหนที่แก้ไขแล้วไม่เพียงพอก็ต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. อุทัยธานี ขณะกำลังสนทนากับ อนุทิน ชาญวีรกูล, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, ทรงศักดิ์ ทองศรี 3 สส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย 

ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อขอทบทวนมติเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม​ 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

แต่ ‘สติธร’ กลับมองปัญหาพกพาอาวุธปืนว่า ‘เป็นเรื่องใหญ่’ เกินกว่าแค่ ‘ควบคุมใบอนุญาต’ แล้วเรื่องจะจบ แต่กระทรวงมหาดไทยต้องกระทำการระบบจัดใบอนุญาตเสียใหม่ 

 

หาก ‘ปืนเถื่อน’ ยังคงอยู่ อาจนำไปสู่การตั้งคำถามของสังคมได้ว่า การงดต่อใบอนุญาตการพกพาอาวุธปืนไม่ใช่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง 

 

“หลายคนไม่รู้สึกว่าการงดต่อใบอนุญาตเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายฝ่ายหลายคนก็ไม่ได้ปรารถนาที่จะครอบครองปืนอยู่แล้ว” 

 

บรรยากาศภายหลังเยาวชนชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุใช้ปืนยิงประชาชนในศูนย์การค้าสยามพารากอน 

ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวจีนและสาวชาวเมียนมา 

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

หากมองลึกลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่าการก่อเหตุคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ในช่วงที่ผ่านมาล้วนเป็นการครอบครอง ‘ปืนเถื่อน’ ทั้งสิ้น เมื่อมีการงดต่อใบอนุญาตให้ถือครองปืนไปแล้ว หากหลังจากนี้ยังมีกรณีในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก นั่นหมายความว่ามาตรการการงดต่อใบอนุญาตให้ถือครองปืนใช้ไม่ได้ผลใช่หรือไม่ 

 

ทั้งนโยบาย ‘คุมมาเฟีย’ และ ‘เคลียร์กลิ่นลูกปืน’ ของกระทรวงมหาดไทย จะสัมฤทธิผลประสบความสำเร็จ ‘เหมือน’ หรือ ‘ต่าง’ จากรัฐบาลในอดีต อนุทินในฐานะเจ้ากระทรวงต้องรีบใช้โอกาสตลอด 4 ปี โชว์ฝีมือและพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนที่เฝ้าติดตาม  

 

หากประสบความสำเร็จก็ถือเป็นโอกาสทองของพรรคภูมิใจไทยที่จะกวาดคะแนนความนิยมจากประชาชนสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2570

 

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเมื่อกลางปีผ่านมา แม้ภูมิใจไทยจะได้ สส. ถึง 71 ที่นั่ง ได้เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล แต่หากมองลึกลงไปก็จะเห็นว่า คะแนนมหาชน (สส. แบบบัญชีรายชื่อ) มีเพียงล้านนิดๆ เท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising