×

‘กรุงศรี-กรุงเทพ’ อวดผลประกอบการ 9 เดือนแรกสุดหรู ฟันกำไรทะลุ 2 หมื่นล้าน อานิสงส์สินเชื่อโต-ตั้งสำรองลด

21.10.2022
  • LOADING...

กรุงศรีเปิดกำไร 9 เดือน 2.3 หมื่นล้านบาท โต 21.3% หลังตั้งสำรองกลับเข้าสู่ระดับปกติ รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มตามการเติบโตของสินเชื่อ ด้านแบงก์กรุงเทพไม่น้อยหน้า โชว์กำไร 9 เดือนแรกที่ 2.17 หมื่นล้านบาท โต 7.7% จากอานิสงส์สินเชื่อโตและตั้งสำรองลดเช่นกัน

 

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนปี 2565 จำนวน 21,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 18.7% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.28% สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 21.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4.2% จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49% 

 

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 24,733 ล้านบาท ลดลง 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

 

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,796,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวม ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.5% ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 240.1%

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จำนวน 3,165,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% จากสิ้นปี 2564 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 88.4% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 18.5%, 15.2% และ 14.4% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

 

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 2.33 หมื่นล้านบาท เติบโต 21.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่แข็งแกร่ง และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภายในประเทศ ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจของกรุงศรีเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เพิ่มขึ้น 6.0% และ 6.2% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวที่ 1.6% สะท้อนกลยุทธ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและรอบคอบระมัดระวัง ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.9% กอปรกับการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเชิงรุก เป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.44% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565

 

ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติของธนาคารอยู่ที่ 43.4% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 43.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 หากไม่รวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อ

 

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.38% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 จากนโยบายการจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เชิงคุณภาพของธนาคาร ตอกย้ำนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง

 

โดยอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 175.0% เมื่อเทียบกับ 184.2% ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.62% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 2564

 

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำกว่าคาด เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3.1% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ยังสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในภาคธุรกิจและรายได้ครัวเรือน กรุงศรีคาดว่าเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารจะเติบโตได้ตามขอบบนของกรอบเป้าหมายที่ 3-5% ของปีนี้

 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทย จากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.97 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.71 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.59 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ที่ 297.13 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.62% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.99%

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising