×

แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการระยะยาวดูแลเงินบาท ‘แข็งเร็ว แข็งนำ แข็งนาน’

06.01.2021
  • LOADING...
แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการระยะยาวดูแลเงินบาท ‘แข็งเร็ว แข็งนำ แข็งนาน’

เข้าสู่ปี 2564 แล้ว แต่สถานการณ์เงินบาทแข็งค่ายังเป็นที่จับตามองอย่างต่อเนื่อง วันนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าทะลุต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าค่อนข้างเร็วนับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง 

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยระยะที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวในลักษณะแข็งค่าเร็ว แข็งค่านำประเทศอื่น และบางครั้งยังแข็งค่านาน โดย 5 ปีที่ผ่านมาแข็งค่ากว่า 10% ส่วนหนึ่งแม้จะเกิดขึ้นจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอกมากว่า 85% แต่ยังเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

 

ทั้งนี้ทาง ธปท. มองแนวการออกนโยบายเพื่อดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าผ่านโครงการ FX Ecosystem หรือการปรับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน โดยจะมุ่งการออกมาตรการระยะยาว เช่น การเปิดให้ลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น การทบทวนหลักการโอนเงินไปยังต่างประเทศ และหากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้นที่ตรงจุดก็พร้อมประกาศใช้ 

 

ทั้งนี้นโยบายที่ ธปท.จะออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างสมดุลทั้งอัตราแลกเปลี่ยนขาเข้า-ขาออก จากปัจจุบันที่ขาเข้าค่อนข้างเสรี แต่ขาออกค่อนข้างเข้มงวด, การให้ใบอนุญาตต่างๆ อาจขยายขอบเขต หรือเปิดให้มีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดเพื่อเพิ่มการแข่งขัน

 

ส่วนมาตรการการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ที่ประกาศแล้วขณะนี้ มีกระบวนการและหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่อยู่ระหว่างการเตรียมระบบ คาดว่าจะเริ่มเห็นในช่วงปลายไตรมาส 1/64 หรือต้นไตรมาส 2/64 

 

ขณะที่วันนี้ (5 มกราคม) ทาง ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์ด้านค่าเงินผ่านโครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) ซึ่งเปิดให้ให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (Onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ก็เป็นหนึ่งในมาตรการปรับ FX Ecosystem ของไทย ซึ่ง NRQC จะช่วยให้ ธปท.สามารถติดตามและเห็นธุรกรรมด้านค่าเงินได้รอบด้านขึ้น จากเดิมที่ธุรกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะสอดคล้องไปกับสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าใน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

  • การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และไม่สามารถสร้างสมดุลในการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งภาคเอกชนและบุคคลธรรมดา โดยไทยมีดัชนี Home Bias สูงถึง 95%
  • ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอกมากว่า 85% ส่วนหนึ่งมาจากธุรกรรมเงินบาทในต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 2562 สัดส่วนอยู่ที่ 61% เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่อยู่ราว 21% ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมามาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจากข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเอื้อให้บรรยากาศการค้าการลงทุนโลกดีขึ้น ข่าวการพัฒนาวัคซีนช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนออกมาแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 
  • ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง เมื่อมีรายได้เข้ามาจำต้องแลกเงินบาทเพื่อหมุนเวียน ทำให้การบริหารค่าเงินได้ยากกว่ากลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่เลือกจะไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน 
  • ธุรกรรมเกี่ยวกับค่าเงินมีต้นทุนสูง ทำให้ไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 6% ต่างประเทศอยู่ที่ 2-3% การทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ฯลฯ ซึ่งทำให้ธุรกรรมการเงินบางส่วนไปอยู่ในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ 

 

คลิป ‘แถลงข่าวการปรับระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทในระยะยาว’

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising