×

ดีเดย์! แบงก์ชาติออกประกาศฯ-เปิดให้บริษัทฯ ยื่นเรื่องเข้ากองทุน BSF ย้ำเป็น รพ.สนาม ไม่ได้ช่วยทุกราย

29.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (29 เมษายน) วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น

 

“กองทุน BSF เปรียบกับการตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้มี Last Resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี” 

 

ทั้งนี้ตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดมูลค่ารวม 3.6 ล้านล้านบาท โดย 90% เป็นระดับบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) และส่วนใหญ่ตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ระดมทุนมาจากประชาชนทั่วไป กองทุนรวมต่างๆ 

 

ขณะที่จะแตกต่างจากตราสารที่เป็น Non-investment Grade ส่วนใหญ่จะขายให้กลุ่มนักลงทุนเฉพาะ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการดูแลผ่านการพูดคุยกับผู้ถือหุ้นกู้เก่า มีทั้งการยืดเวลาออกไป รวมถึงการขายออก ซึ่งตัวบริษัทจะหาทางออกด้วยตนเอง เช่น มีการหาทุนใหม่ หรือการขอความช่วยเหลือจากธนาคารอยู่แล้ว

 

 

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ออกประกาศเรื่องนโยบายแนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF นั้น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้นต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น Investment Grade เช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทดังกล่าวต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น 

 

 

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ สามารถยื่นเรื่องต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุความจำเป็นและเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป Rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของ และผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising