×

กลุ่มแบงก์ตั้งการ์ดสูง ฉุดกำไรไตรมาส 2/63 ทรุดมากกว่าคาด

โดย efinanceThai
20.07.2020
  • LOADING...

กลุ่มแบงก์ทยอยประกาศงบไตรมาส 2/63 กำไรออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด เหตุตั้งสำรองสูง รองรับเอ็นพีแอลส่อแววพุ่ง KBANK หนักสุดกำไรต่ำคาด 66% ตามด้วย TISCO 14% และ TMB แม้กำไรโตแต่ยังต่ำกว่าคาด 6% ด้าน ‘เอเซียพลัส’ เตือนโค้ง 2 จับตาหนี้เน่า และลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้  

 

กสิกรไทย กำไรไตรมาส 2/63 ลดลง 78% YoY

 

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ที่ 2,175 ล้านบาท ลดลง 78% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,928 ล้านบาท  ส่งผลงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิ 9,550 ล้านบาท ลดลง 52.18% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 19,973 ล้านบาท เหตุตั้งสำรองเพิ่มขึ้นรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมติดตามคุณภาพหนี้ใกล้ชิด

       

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่
ว่า งวดครึ่งปีแรกธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และภาษีเงินได้จำนวน 45,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 6.50% 

       

แต่ธนาคารใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) เพิ่มจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 16,937 ล้านบาท หรือ 111.97% ทำให้กำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2563 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 10,423 ล้านบาท หรือ 52.18% แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,142 ล้านบาท หรือ 8.12% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ 
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/63 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และภาษีเงินได้จำนวน 25,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 4,806 ล้านบาท หรือ 23.37% แต่สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มจำนวน 8,320 ล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 2,175 ล้านบาท 

 

NPL งวดครึ่งปีอยู่ที่ 3.92% จากสิ้นปี 2562 ที่ 3.65%

 

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,585,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 291,911 ล้านบาท หรือ 8.86% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (% NPL Gross) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.92% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% โดยธนาคารได้มีการติด
ตาม ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

       

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 155.68% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารอยู่ที่ 18.09% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.38%

 

ทหารไทย กำไรไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 61% 

 

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 3,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,917 ล้านบาท ส่งผลงวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 7,258.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,496 ล้านบาท

     

ไตรมาสนี้รายได้รวมลดลง 8.9% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากการชะลอตัวของกิจกรรมทางธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19 และตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มเติม 4,972 ล้านบาท จากแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ในปัจจุบัน และสภาพเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้รอบ 6 เดือน ECL อยู่ที่ 9,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

      

ไตรมาสนี้มีการตั้งสำรองสูงขึ้น เนื่องจากการตั้ง ECL เพิ่มเติม 1.6 พันล้านบาท สำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 3.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของพอร์ตเงินลงทุนทั้งหมดของธนาคาร

     

ไตรมาส 2/63 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 13,045 ล้านบาท ลดลง 6.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แต่เพิ่มขึ้น 105.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 2.88% ลดลง 24 bps จากไตรมาส 1/63 จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ และการปรับลดการคำนวณดอกเบี้ยแท้จริง (EIR) ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

    

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,523 ล้านบาทในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรอบ 6 เดือน 2563 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 7,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.6% จาก 4,828 ล้านบาทช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการรวมงบการเงินของธนาคารธนชาต

     

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 สินทรัพย์รวมของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,893,152 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิลดลง 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และทรงตัวจากสิ้นเดือนธันวาคม 2562

    

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ 2.34% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ลดลงจากสิ้นเดือนมีนาคม 2563 และร้อยละ 2.35 ณ สิ้นปี 2562 ขณะเดียวกันอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพตามงบการเงินเฉพาะอยู่ที่ 2.21%

 

TISCO กำไรไตรมาส 2/63 ลดลง 25.84%  

 

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 มีกำไร 1,333.38 ล้านบาท หรือ 1.67 บาทต่อหุ้น ลดลง 25.84% เทียบ YoY ที่มีกำไร 1,798.15 ล้านบาท หรือ 2.25 บาทต่อหุ้น 

     

ส่วนงวด 6 เดือนปี 2563 มีกำไร 2,819.44 ล้านบาท หรือ 3.52 บาทต่อหุ้น ลดลงจากงวดครึ่งปีแรกปี 2562 ที่มีกำไร 3,527.75 ล้านบาท หรือ 4.41 บาทต่อหุ้น  

     

ทั้งนี้ หากแยกกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 จะมีกำไร 988.93 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้เงินปันผล และรายได้ค่าธรรมเนียมบริการ ส่วนกำไรที่ลดลงมาจากผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19
    

 

ไตรมาส 2/63 มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาสเดียวกันปี 2562 แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 19.9% ด้านสินเชื่อ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีจำนวน 2.28 แสนล้านบาท ลดลง 9.7 พันล้านบาท หรือ 4.1% จากไตรมาส 1/63 จากการหดตัวของสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ

       

ไตรมาส 2/63 บริษัทมีสินเชื่อด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ทั้งหมด 7.48 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.39 พันล้านบาทหรือ 23% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า ส่วน NPL อยู่ที่ 3.28% เพิ่มขึ้นจาก 2.56% ในไตรมาส 1/63 เพิ่มขึ้นจากลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ-สินเชื่อจำนำทะเบียน 

 

กำไรกลุ่มแบงก์ต่ำกว่าที่โบรกฯ คาดไว้มาก กำไรที่ธนาคารประกาศออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะ KBANK กำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 66% ตามด้วย TISCO 14% และ TMB ต่ำกว่าที่คาด 6% 

       

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า KBANK รายงานกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 66% โดย Bloomberg Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 109.22 บาท เช่นเดียวกับ TMB กำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 6% โดย Bloomberg Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 1.12 บาท  
      

 

บล.ทรีนี้ตี้ คาดกำไร KBANK 6,787 ล้านบาท ดีขึ้น 3% QoQ, ลดลง 32% YoY 
      

 

บล.ฟิลลิป คาดกำไร KBANK 8,600 ล้านบาท ดีขึ้น 30.2% QoQ, ลดลง 13.7% YoY 
      

 

บล.กรุงศรี กล่าวว่า กำไร KBANK แย่กว่าที่ Consensus คาดไว้ 59% (5.3 พันล้านบาท) ส่วน TMB ต่ำกว่าที่ Consensus คาด 9.8% 
      

 

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า กำไรไตรมาส 2 ของ TISCO ต่ำกว่าที่ดีบีเอสฯ และตลาดคาดไว้
ที่ 1.7 พันล้านบาท และ 1.5 พันล้านบาท ตามลำดับ แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 87 บาท
      

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า กำไร TISCO ต่ำกว่าที่โนมูระฯ และตลาดคาด 14% กดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองมากกว่าคาด และสินเชื่อหดตัวกว่าคาด โดย TISCO จัดชั้นลูกหนี้เข้มงวดกว่ามาตรการผ่อนผันของ ธปท. เป็นผลให้ Gross NPLs ในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 23% QoQ NPL Ratio เพิ่มเป็น 3.3% และ Credit Cost เป็น 149bps  
 

 

เอเซียพลัส เตือนไตรมาส 2 ต้องจับตาตัวเลข NPL   

 

บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักและติดตามสำหรับงบการเงินกลุ่มแบงก์ในงวดไตรมาส 2/63 ประกอบด้วย ตัวเลข NPL และสินเชื่อที่ถูกจัดชั้นเป็น Stage 2 ของแต่ละธนาคาร ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ของแต่ละธนาคาร ตามด้วยมูลหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ (Loan Payment Holiday) ของแต่ละธนาคาร หากคิดเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อ และยังไม่ได้จัดชั้นตาม TFRS 9 อาจทำให้งบการเงินยังไม่สะท้อนความจริง เป้าหมายทางการเงินปี 2563 ของแต่ละธนาคาร รวมถึงผลกระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) และการจ่ายเงินปันผลในปี 2563 
    

 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising