×

กลุ่มแบงก์ฟันกำไรไตรมาส 3 ปีนี้สูงถึง 5.57 หมื่นล้านบาท อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น คาดแบงก์กรุงเทพ-กรุงไทยกำไรหรูสุด

02.10.2023
  • LOADING...
ตู้ ATM

กลุ่มแบงก์ฟันกำไรไตรมาส 3/66 สูงถึง 5.57 หมื่นล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน ดอกเบี้ยขาขึ้นช่วยหนุนและชดเชยการตั้งสำรองและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โบรกเกอร์ชูแบงก์กรุงเทพ (BBL) – แบงก์กรุงไทย (KTB) เป็นดาวเด่นของกลุ่ม เหตุสินทรัพย์มีคุณภาพแข็งแกร่งที่สุด

 

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มแบงก์จะทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/66 กลางเดือนตุลาคมนี้ โดยมีการประเมินว่า กำไรสุทธิโดยภาพรวมน่าจะออกมาดีเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน คาดแบงก์ที่อยู่ในการดูแลจำนวน 7 แห่งจะมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 5.14 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จากการเพิ่มขึ้นของ Yield on Loan 

 

แต่กำไรจะลดลง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) เพราะการลดลงของเงินลงทุนค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) แบงก์ที่มีกำไรเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ BBL, KTB และ TTB

 

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดกำไรทั้งกลุ่มแบงก์ (8 แห่ง) ไว้ที่ 5.57 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 5.8% จากงวดเดียวของกันปีก่อน แต่ลด 8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้วยปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเทียบ QoQ คาดการตั้งสำรองจะเพิ่มขึ้นทำให้กำไรของกลุ่มลดต่ำลง

 

ทั้งนี้ ยกให้ BBL จะเป็นแบงก์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเด่นที่สุด YoY โดยคาดว่าจะมีกำไร 9.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 29.1% ถึงแม้สินเชื่อจะหดตัวลง แต่รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากและการตั้งสำรองที่ลดลงทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วน KKP จะเด่นสุดเมื่อเทียบ QoQ มีกำไร 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และผลขาดทุนรถยึดที่คาดว่าจะลดต่ำลง

 

นอกจากนี้ คาดกำไร TTB ระดับ 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%YoY ถึงแม้สินเชื่อจะหดตัวลง แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และคุณภาพสินทรัพย์จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และตั้งสำรองจะลดลงด้วย แม้คาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม TTB สามารถลดระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลงมาได้ 2 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว และทำให้การตั้งสำรองในปีนี้ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญนอกเหนือจากรายได้

 

และคาดว่า BAY กำไรจะลดลง 3.9%YoY และ 7.9%QoQ มาที่ 7.8 พันล้านบาท แม้รายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่รายได้ค่าธรรมเนียมจะลดต่ำลง และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ตามอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นและการคาดการตั้งสำรอง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรลดลง 

 

สินเชื่อของ BAY ในไตรมาสนี้อาจจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับ QoQ คาดว่า NPL อาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ต่อจากที่มีอยู่ 2.31% ทำให้ยังคาดว่าการตั้งสำรองของ BAY ในไตรมาสนี้จะยังคงสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

 

โดยยังคงน้ำหนักกลุ่มแบงก์ ‘ลงทุนมากกว่าตลาด’: จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคารต่อ เลือก BBL (ราคาพื้นฐาน 191) เป็น Top Picks ของกลุ่ม

 

ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรทั้งกลุ่มแบงก์ที่ 4.87 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%YoY เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) สูงขึ้น แต่ลดลง 7%QoQ เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ลดลง และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

ประเมิน NIM ของธนาคารทั้งกลุ่มเติบโต QoQ ในไตรมาส 3/66 ผลตอบแทนจากสินเชื่อและการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงขึ้น คาดว่า BBL จะมีโมเมนตัมกำไรเชิงบวกมากที่สุด เนื่องจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเหลือ 0.35% ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

โดย BBL และ TTB มีแนวโน้มรายงานกำไรต่อหุ้น (EPS) เติบโตดีที่ 38% และ 26%YoY ตามลำดับ ตามการเติบโตของ NII ที่แข็งแกร่งและต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง ในแง่ลบ คาดว่ากำไร KKP จะลดลง 34%YoY เนื่องจาก NIM ลดลงและผลขาดทุนจากการขายรถยนต์ยึดที่สูงขึ้น ขณะที่ SCB มีแนวโน้มที่จะรายงานกำไรที่หดตัว YoY และ QoQ จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการตั้งสำรองที่สูงขึ้น

 

ประเมิน KBANK ว่า สินเชื่อมีแนวโน้มจบต่ำกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ 5-7% สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันชะลอตัว ขณะที่การบริหาร NPL เป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในครึ่งหลังปีนี้ แต่มีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อน แต่มองในแง่บวก การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะช่วยหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง

 

โดยเลือก BBL และ KTB เป็น Top Picks ของกลุ่มธนาคารไทย เนื่องจากมี NIM ที่สูงกว่าและคุณภาพสินทรัพย์ที่มั่นคง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising