×

“เหมืองแร่คือความหลังที่ผมหวงแหน เพราะมันได้เอาอดีตส่วนหนึ่งของผมไปครอบครองไว้” อาจินต์ ปัญจพรรค์ บรมครูผู้ให้กำเนิด ‘เหมืองแร่’

11.10.2019
  • LOADING...
อาจินต์ ปัญจพรรค์

“ผมเอาชีวิตไปหั่นไว้ในเหมืองแร่ถึง 4 ปีเต็ม เป็น 4 ปีที่คนธรรมดาจะเรียนจบมหาวิทยาลัยได้สบายๆ แต่ที่เหมืองแร่สำหรับผมแล้วมันไม่มีใบคู่มือรับรองใดๆ เลย นอกจากแผลคู่มือที่คนอื่นไม่มีทางรู้เลยว่ามันเกิดจากอะไร” 

 

ย้อนกลับไปในวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 วันที่ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin Mine) ภาพยนตร์แนวดราม่ากรุ่นกลิ่น Coming of Age ผ่านฝีมือการกำกับและเขียนบทโดย เก้ง-จิระ มะลิกุล เข้าฉายเป็นวันแรก และวันนั้นเองที่เรื่องราววัยหนุ่มของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้ถูกนำมาเล่าใหม่ในฉบับภาพยนตร์ให้หนุ่มสาวรุ่นต่อๆ มาได้สัมผัสและซึมซาบถึงอดีตอันสมบุกสมบัน โดยดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน 

 

เนื้อหาว่าด้วยช่วงชีวิตสุดพลิกผันของอาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อนั้นเองที่อาจินต์ต้องนำพาชีวิตเดินทางไกลจากเมืองหลวง แล้วไปสิ้นสุดลงที่เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา เหมืองแร่ดีบุกในยุคที่กิจการเหมืองแร่ในไทยยังฟื้นฟู เพื่อเริ่มต้นลงทะเบียนเรียนรู้ ณ สถานศึกษาแห่งใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตที่อาจินต์ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการทำงาน 

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีที่ข้ามผ่าน คือวิชาที่ไม่เคยมีตำราเล่มไหนบอกสอน แบบฝึกหัดที่ต้องใช้แรงกาย ลมหายใจ และหัวใจเข้าแลก สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิตและมิตรภาพจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิงไม่มีใบปริญญามอบให้ มีเพียงเกียรติยศและความภาคภูมิใจส่วนตัวมอบไว้ให้เมื่อหันหลังจากมา… 

 

ปี 2496 อาจินต์เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่เหมืองกระโสมนาน 3 ปี 11 เดือน ต่อมาในปี 2497 เขากลั่นประสบการณ์เกือบ 4 ปี ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ พิมพ์ในนิตยสาร ชาวกรุง ตลอด 30 ปี อาจินต์เขียนเรื่องสั้น เหมืองแร่ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 142 ตอน ก่อนที่ในเวลาต่อมา เก้ง-จิระ มะลิกุล ซึ่งเป็นแฟนหนังสือ จะนำเรื่องราวชีวิตของอาจินต์มาถ่ายทอดอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม หลังจากเรียนจบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจินต์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะถูกรีไทร์ในปีที่ 2 ของการเรียน 

 

ซึ่งจุดจบจากรั้วสถาบันการศึกษานี้เองที่ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นแห่งชีวิต จุดเริ่มต้นซึ่งได้หล่อหลอมเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้กลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ 

 

ในปีที่หนังเข้าฉาย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 77 ปี บอกเล่าเหตุผลที่เขายอมให้งานเขียนสุดรักซึ่งกลั่นออกมาจากความทรงจำวัยหนุ่มถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

เหมืองแร่ เป็นหนังสืออีโมชัน มันเกิดจากมันสมองและความโฮมซิกของผม ไม่มีแอ็กชันทางการแสดง แต่เก้งเขาบอกว่ามี ผมถามเขาว่าแอ็กชันคืออะไร เขาบอกผมว่า ฝนตก 7 วัน 7 คืน แอ็กชันของมันคือถนนขาด สะพานพังต้องทำใหม่ และเรือขุดจมนั่นคือสุดยอดแอ็กชัน ทันทีที่ผมได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเล็งลึก ไอ้ผมมันเล็งแต่ตัวหนังสือ เขาเล็งการกระทำ เขามองอย่างนัยน์ตานักสร้างหนัง” 

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

หลังจากถ่ายทำนานกว่า 3 เดือน โดยใช้งบประมาณการสร้างสูงถึง 70 ล้านบาท ที่สุดภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ ก็เสร็จสมบูรณ์และออกฉายในเดือนพฤษภาคม 2548 

 

ผลงานที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์คืองานโปรดักชันที่ละเอียด ละเมียด สมจริง ผ่านทีมนักแสดงที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดี โดยได้ พิชญะ วัชจิตพันธ์ นักแสดงหน้าใหม่เข้ามาสวมบทบาท อาจินต์ ปัญจพรรค์ และได้นักแสดงสมทบชั้นดีอย่าง สนธยา ชิตมณี, ดลยา หมัดชา, แอนโทนี, ฮาร์เวิร์ด โกล, นิรันต์ ซัตตาร์ ฯลฯ 

 

ในแง่ผลตอบรับด้านรายได้ แม้ว่า มหา’ลัย เหมืองแร่ จะเป็นหนังที่ล้มเหลว โดยเมื่อจบโปรแกรมฉายหนังทำรายได้เพียง 30 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้นหนังกลับได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีเยี่ยม ในปีนั้น มหา’ลัย เหมืองแร่ กวาดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15 ไปได้ถึง 6 รางวัล โดยเฉพาะสาขาหลักอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม มากไปกว่านั้น แม้เวลาจะผ่านมาถึง 13 ปี แต่หนังยังคงถูกจดจำและยกย่องในฐานะภาพยนตร์ไทยชั้นเยี่ยมที่หยิบขึ้นมาดูกี่ครั้งก็ยังลึกซึ้ง กินใจอยู่เสมอ 

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

ขณะเดียวกันชีวิตหลังจากเดินทางออกจาก ‘เหมืองแร่’ ที่ภาพยนตร์ไม่ได้เล่านั้นก็น่าสนใจ อาจินต์เดินทางกลับมากรุงเทพมหานครเพื่อเริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่ โดยใช้ ‘ตัวอักษร’ เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต ผลงานอันโดดเด่นของเขาตลอดช่วงชีวิตคืองานเขียนนวนิยายทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวมากมาย ซึ่งตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร โดยเฉพาะหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ พิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสาร ชาวกรุง

 

นอกจากนี้อาจินต์ยังได้รับการยกย่องยอมรับในบทบาท ‘บรรณาธิการ’ โดยเขาเริ่มต้นเส้นทางนี้จากการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองด้วยแนวคิดสุดก้าวหน้าคือ เขียนเอง พิมพ์เอง และขายเอง ในชื่อ ‘โอเลี้ยงห้าแก้ว’ อีกทั้งยังได้ร่วมก่อตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และสร้างนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ รวมถึงนิตยสารในเครือที่เกิดขึ้นตามมาอีกหลายฉบับทั้ง ฟ้าเมืองทอง, ฟ้านารี, ฟ้าอาชีพ และ ฟ้า 

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

ซึ่งถ้าเปรียบว่าผลงานเหล่านั้นถือเป็น ‘ตำรา’ และโรงพิมพ์คือมหาวิทยาลัยก็คงไม่ผิด เพราะในเวลาต่อมาตัวอักษรเหล่านั้นได้ผลิตนักเขียนและบุคลากรในสายงานสร้างสรรค์ตามออกมาอีกจำนวนมาก 

 

และถึงแม้ปัจจุบัน อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนระดับบรมครู ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 และรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2535 จะได้ลาจากบรรณพิภพไปแล้ว วันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 

 

แต่เพราะเราเชื่อว่า ‘ชีวิตนั้นบอบบางและแสนสั้น’ ผลงานและการกระทำต่างหากที่ฝาก ‘ค่าแห่งชีวิต’ ให้ผู้คนได้จดจำ เช่นเดียวกับค่าของผลงานที่อาจินต์ได้ฝากไว้นั้นเป็นดั่ง ‘สายแร่’ ที่ทั้งสอนชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจวบจนวาระสุดท้ายว่า ‘ชีวิตนั้นล้มแล้วก็สามารถจะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ’ 

 

น้อมคารวะบรมครู เนื่องในวันคล้ายวันเกิด อาจินต์ ปัญจพรรค์ 11 ตุลาคม 2470  

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์

 

อ้างถึงและเรียบเรียงขึ้นใหม่อีกครั้งจาก:

 

ขอบคุณภาพจาก: www.facebook.com/gdh559/

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising