เรื่องของสุขภาพจิตใจสำคัญไม่แพ้กับสุขภาพกาย หากมีเรื่องที่กระทบใจบ่อยครั้ง ความเครียด ความอ่อนแอ จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตที่ขาดความมั่นใจและลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานลง ซึ่งโรงพยาบาลเปาโลมีการเปิดเผยว่า โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบันและพบได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตบอกว่า มีคนไทยมากกว่า 1 แสนคน ป่วยด้วยโรควิตกกังวลที่เป็นมากกว่าอาการคิดมากและมันเริ่มส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรมก็ได้ รวมถึงอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู หรือการเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวลมีหลายประเภท ต่อไปนี้คือ 5 โรควิตกกังวลที่มักพบได้บ่อยในวัยทำงาน ได้แก่
🔹 โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) เกิดจากเรื่องกังวลต่างๆ ในชีวิตประจำ หากยังรู้สึกวิตกอยู่นานเกิน 6 เดือน ควรพบแพทย์
🔹 โรคแพนิก (Panic Disorder) เกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนก กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้หรือตาย มีอาการเจ็บป่วยนิดหน่อยก็กลับมีความกังวล เช่น กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย อาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ร้อนวูบวาบ แน่นหน้าอก วูบเหมือนจะเป็นลม อาการแบบนี้อาจทำให้เสียสุขาพจิตและอาจนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด
🔹 โรคกลัวสังคม (Social Phobia) คือความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรที่น่าอาย ต้องคอยหลบ รู้สึกประหม่า สาเหตุของอาการนี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดทักษะการเข้าสังคม หรือเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม
🔹 โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) คือความวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องบางเรื่อง หรือบางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสุนัข เป็นต้น แม้ว่าจะรู้สึกกลัวไม่สมเหตุสมผลแต่ก็ไม่สามารถห้ามความกลัวได้
🔹 โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คือความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ แม้ว่าอาการแบบนี้จะไม่รุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก แต่ทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้กลับพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อกประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อกหรือยัง คิดว่าลืมปิดก๊อกน้ำต้องกลับไปเช็กอีกครั้ง
โรควิตกกังวลรักษาอย่างไร?
ทั้ง 5 โรคที่กล่าวมานี้สามารส่งผลให้รู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิดใจ เกิดความเครียด หากสังเกตตัวเองว่าเข้าข่าย 5 โรคนี้ สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการพูดคุย สอบถามอาการ และประวัติความเจ็บป่วย พร้อมทั้งตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคว่าแท้จริงแล้วอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากร่างกายหรือจิตใจ หากมาจากจิตใจ แพทย์จะทำการพูดคุย พร้อมใช้เครื่องมือในการประเมินโรคทางจิต ก่อนวางแผนการรักษา ซึ่งการรักษาโรควิตกกังวลจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรค
ปัจจุบันการพบจิตแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเขินอายหรือกลัวการเข้าพบจิตแพทย์ เนื่องจากการเข้าพบไม่ต่างอะไรกับการหาที่ปรึกษา หาเพื่อนช่วยคิด เพียงแต่เพื่อนในที่นี้คือแพทย์ที่มีหลักการรักษา โดยจะพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจ และให้คำอธิบาย หรือมีกิจกรรมให้ทดลองทำ เป็นการทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy: CBT) หันมาดูแลให้ความสำคัญกับตัวเอง เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการทำสมาธิ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบางรายแพทย์อาจทำการรักษาด้วยยาเพื่อลดอาการวิตกกังวล
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
- โรคแพนิก (Panic Disorder)
- โรคกลัวสังคม (Social Phobia)
- โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia)
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)
วิธีแก้ไขหรือรักษา
- พบจิตแพทย์ สอบถามอาการ ตรวจเช็กร่างกายเพื่อแยกโรค
- ให้แพทย์วางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับประเภทของโรค
- ลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับจิตบำบัด
- ปรับความคิดและพฤติกรรมของตนเอง
- ให้ความสำคัญกับอาหาร การออกกำลังกาย และการนอนหลับที่เพียงพอ
- ทำสมาธิ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
- หากอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยการให้ยาเพื่อลดอาการวิตกกังวล