×

นครวัดจำลองที่บุรีรัมย์ ปมประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา และกำเนิดสัญลักษณ์ของชาติ

09.07.2021
  • LOADING...
นครวัดจำลองที่บุรีรัมย์

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ประวัติศาสตร์ของกัมพูชากับไทยนั้นถูกสร้างขึ้นมาให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นศัตรูกัน
  • การเข้ามาของฝรั่งเศสทำให้ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของกัมพูชาถือกำเนิดขึ้น ดังเห็นได้จากการเลือก ‘นครวัด’ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ดังเห็นได้จากธงชาติในสมัยแรกสุด ระหว่าง ค.ศ. 1863-1948 ได้มีนครวัดเป็นสัญลักษณ์ที่กึ่งกลางของธง (ไม่ต่างจากกรณีของไทยที่เลือกช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์)
  • เหตุผลที่นครวัดถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ประจำชาตินั้นส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับการยกย่องจากชาวตะวันตกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สะท้อนความรุ่งเรืองของอารยธรรมโบราณขั้นสูง และนครวัดคือนครอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในทางศาสนาและการเมือง สะท้อนความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรกัมพูชาสมัยโบราณที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
  • มิติทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะสมัยโบราณหรือสมัยปัจจุบันว่าผู้คนนั้นมีการเดินทางแลกเปลี่ยนกันโดยตลอด การหยิบยืมศิลปะสถาปัตยกรรมหนึ่งที่เห็นว่าสวยและดีงามมาใช้มาสร้าง ถือเป็นเรื่องปกติมาก โดยสิ่งเหล่านี้เรียกว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง มีเพียงความรู้สึกที่ปลูกฝังด้วยลัทธิชาตินิยมเท่านั้นเองที่สร้างให้เรา/เขารู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ จนก่อให้เกิดความสับสนระหว่างสมบัติส่วนตัวกับสมบัติสาธารณะ (Private Property vs. Public Property)

นครวัดถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของกัมพูชา การพยายามจำลองปราสาทหินที่บุรีรัมย์ที่เป็นข่าวในตอนนี้จึงเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะความรู้สึกชาตินิยมของคนกัมพูชา (เขมร) ซึ่งความรู้สึกชาตินิยมนี้มันก็ฝังกันอยู่ในตัวคนทุกประเทศ เรื่องนี้มันคงไม่ต่างกันถ้าหากประเทศใดประเทศหนึ่งจำลองวัดพระแก้วไป

 

ความจริงจีนก็ได้จำลองปราสาทบายนหรือเมืองนครธมไปสร้างขึ้นที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี เมื่อไม่นานมานี้ แต่กรณีนี้มันต่างกัน เพราะปราสาทบายนไม่ได้ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเทียบเท่ากับนครวัด และอำนาจอิทธิพลทางการเมืองของจีนในตอนนี้ไม่อยู่ในสถานะที่กัมพูชาเองจะสามารถต่อรองได้เช่นกัน

 

 

ที่สำคัญด้วยคือ ชาวกัมพูชาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าจีนเป็นศัตรูทางการเมือง (แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ) แบบที่รู้สึกกับไทย เพราะประวัติศาสตร์ของกัมพูชากับไทยนั้นถูกสร้างถูกเขียนขึ้นมาให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นศัตรูกัน ไทยเองมีประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งคือเรื่อง ‘ขอมแปรพักตร์’ เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แล้วถูกนำมาใช้มากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เพราะเรามีปัญหาเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศส

 

ในขณะที่เขมรเองมีประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นปมในใจคือ เรื่องที่สมเด็จเจ้าสามพระยา กษัตริย์อยุธยา ยกกองทัพไปตีเขมรที่เมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) เมื่อปี 1974 ส่งผลทำให้หลังจากนั้นไม่กี่ปี กษัตริย์เขมรต้องทิ้งเมืองพระนครแล้วไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่พนมเปญในท้ายที่สุด

 

นักประวัติศาสตร์สมัยหลังวิพากษ์ปัญหาของวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ข้างต้นว่าส่งผลต่อการสร้างศัตรูกัน เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่เน้นปัจจัยด้านสงครามโดยขาดการมองเชิงบริบทและความซับซ้อนทางการเมืองในรัฐโบราณไป ตัวอย่างเช่น การย้ายเมืองหลวงของกัมพูชามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยในการตัดสินใจ คือการขยายตัวของการค้าทางทะเล ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังพนมเปญจึงย่อมได้ประโยชน์กว่าการตั้งที่เมืองพระนคร

 

ในกรณีของขอมแปรพักตร์นั้นเนื่องจากปัญหาการมองว่ากัมพูชาเป็นของสยามอย่างถาวร แต่ในระบบการเมืองของรัฐโบราณและกัมพูชานั้นเป็นระบบการเมืองที่อิงอยู่กับการพึ่งอำนาจรัฐใหญ่เพื่อรักษาดุลอำนาจ เพราะในขณะที่กัมพูชาส่งบรรณาการให้กรุงเทพฯ กัมพูชาก็ส่งให้เวียดนามเช่นกัน และการเข้ามาของมหาอำนาจฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้จึงย่อมเปิดช่องต่อการพึ่งพิงอำนาจใหม่ กัมพูชาจึงเลือกอยู่กับฝรั่งเศสเพื่อหวังว่าจะช่วยปลดปล่อยให้ตนเป็นอิสระจากกรุงเทพฯ และเวียดนาม นี่คือช่องทางหนึ่งของการเป็นอิสรภาพนั่นเอง แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดคิดก็ตาม

 

แต่ผลจากการเข้ามาของฝรั่งเศสนี้เองที่ทำให้ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของกัมพูชาถือกำเนิดขึ้น ในกระบวนการเลือกเฟ้นสัญลักษณ์ประจำชาติ กัมพูชาได้เลือกนครวัดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ดังเห็นได้จากธงชาติในสมัยแรกสุด ระหว่าง ค.ศ. 1863-1948 เมื่อตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสแล้วได้มีนครวัดเป็นสัญลักษณ์ที่กึ่งกลางของธง (ไม่ต่างจากกรณีของไทยที่เลือกช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์) เหตุผลที่นครวัดถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ประจำชาตินั้นส่วนหนึ่งเนื่องจากนครวัดได้รับการยกย่องจากชาวตะวันตกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สะท้อนความรุ่งเรืองของอารยธรรมโบราณขั้นสูง

 

แต่ก็แอบแฝงไปด้วยการยกย่องแบบเจ้าอาณานิคมอยู่ คือไม่เชื่อว่าบรรพบุรุษของชาวเขมรเป็นผู้สร้างขึ้น เห็นได้จากบันทึกของ อองรี มูโอต์ ที่เชื่อว่าลูกหลานของชาวกรีกสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นผู้สร้างขึ้นโดยใช้แรงงานที่เป็นชาวเขมร อีกส่วนหนึ่งในการรับรู้ของชาวกัมพูชา (กระทั่งคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ไม่เว้นแม้แต่สยาม) เองก็ถือว่านครวัดคือนครอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในทางศาสนาและการเมือง ดังนั้นจึงย่อมสะท้อนความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรกัมพูชาสมัยโบราณที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

 

 

ดังนั้นนครวัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจหรือจิตวิญญาณของคนในชาติเขา ก็คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมชาวกัมพูชาบางส่วน ย้ำนะครับว่าบางส่วน จึงรู้สึกไม่พอใจและตั้งคำถามในโลกโซเชียลที่ไทยกำลังสร้างอาณาจักรสีหนครที่วัดภูม่านฟ้า ซึ่งทำให้คนกัมพูชาเข้าใจไปว่าเป็นการสร้างนครวัดจำลองขึ้นมา เพราะเขากำลังรู้สึกว่าสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของเขากำลังถูกนำไปใช้โดยประเทศที่ถูกปลูกฝังว่าเป็นศัตรูผ่านวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ อันนี้เราต้องเข้าใจเขา เพราะความเข้าใจคือทางออกหนึ่งของการลดความขัดแย้ง แต่จะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่งครับ เรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา

 

ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าชาวกัมพูชาเองก็อาจต้องพลิกมุมมองใหม่ด้วย ถ้าเปลี่ยนจากมองว่าประเทศอื่นยังสร้างปราสาทหินขึ้นใหม่หรือยังสร้างนครวัดจำลอง แสดงว่าประเทศเพื่อนบ้านยอมรับในความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมรโบราณ หรือยอมรับสัญลักษณ์ของชาติของเพื่อนบ้าน ถ้ามองแบบจีนทั้งหมดนี้คือ Soft Power แบบหนึ่ง

 

อีกทั้งชาวกัมพูชาเองก็ต้องเข้าใจมิติทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะสมัยโบราณหรือสมัยปัจจุบันว่าผู้คนนั้นมีการเดินทางแลกเปลี่ยนกันโดยตลอด การหยิบยืมศิลปะสถาปัตยกรรมหนึ่งที่เห็นว่าสวยและดีงามมาใช้มาสร้าง ถือเป็นเรื่องปกติมาก ไม่ต่างจากที่พระราชวังเขมรินทร์ของกัมพูชาเองที่หยิบยืมสถาปัตยกรรมจากพระบรมมหาราชวังของสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 ไปเช่นกัน

 

ทั้งหมดเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง มีเพียงความรู้สึกที่ปลูกฝังด้วยลัทธิชาตินิยมเท่านั้นเองที่สร้างให้เรา/เขารู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ จนก่อให้เกิดความสับสนระหว่างสมบัติส่วนตัวกับสมบัติสาธารณะ (Private Property vs. Public Property)

 

ที่สำคัญด้วยคือในยุคปัจจุบันนี้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และ/หรือเป็นสัญลักษณ์ของชาติได้ถูกแปลงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้สถานะของปราสาทหินเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งหมดย่อมมีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมเสมอครับ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising