×

สำรวจวัดและปราสาทเขมรยุคปลาย เมื่อเถรวาทรุ่งเรืองในเมืองพระนคร

07.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS. READ
  • เมืองพระนครนั้นไม่ได้มีแค่ปราสาทหลังใหญ่ๆ เช่น นครวัดหรือบายนเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มของศาสนสถานที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของศาสนาในกัมพูชารวมถึงไทย และช่วยทำให้เห็นว่า ทั้งไทยและเขมรนั้นมีความสัมพันธ์อย่างแนบชิดกันมานานแล้วหลายร้อยปี
  • ภายใต้แมกไม้ใหญ่ที่ปกคลุมเมืองนครธมนั้น ความจริงแล้วมีวัดเนื่องในศาสนาพุทธเถรวาทกระจายตัวอยู่มากกว่า 70 วัดด้วยกัน แต่ยังไม่ได้รับการขุดแต่ง ขุดค้น เพราะจำกัดด้วยงบประมาณ 
  • จำนวนของวัดที่มากเท่านี้สำคัญอย่างไร คือจากเดิมที่มักจะมองกันว่า หลังจากรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลงมานั้น การก่อสร้างต่างๆ ในเมืองนครธมนั้นแทบจะไม่มี และมักจะกล่าวกันว่า ปราสาทหลังสุดท้ายที่สร้างในเมืองนครธมนั้นคือ ปราสาทมังคลธะ นั้นอาจต้องมาพิจารณากันใหม่ 

นอกจากปราสาทบายนและพระราชวังหลวงที่ถือเป็นจุดเด่นของเมืองนครธมแล้ว ถ้าใครเคยไปเที่ยวจะเห็นได้ว่า ตลอดถนนสองข้างทางนั้นมีวัดพุทธอยู่หลายแห่ง ที่เห็นชัดๆ คือรอบปราสาทบายนมีวัดที่ยังมีพระสงฆ์และแม่ชีประจำวัดมากถึง 3 แห่งด้วยกัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นวัดใหม่ ก็จะละเลย ไม่ได้เข้าไปดู บ้างก็ไม่มีเวลา ไกด์ไม่พาเข้าไปบ้าง หรือไม่ ความยิ่งใหญ่ของปราสาทบายนก็บดบังความน่าสนใจของวัดพวกนี้ไปเสีย

 

ทว่า ในแง่มุมของการศึกษาโบราณคดีแล้ว วัดเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญมาก เพราะแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านทางศาสนา จากเดิมที่นับถือพุทธศาสนามหายานไปสู่ศาสนาพุทธเถรวาท และยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของอยุธยาอีกด้วย

 

บทความนี้ ผมจะพาไปสำรวจวัดเหล่านี้อย่างคร่าวๆ เผื่อโอกาสหน้าผู้อ่านมีโอกาสไปจะได้พินิจเยี่ยมชมวัดกลุ่มนี้มากขึ้น จะได้เก็บเกี่ยวอะไรมากกว่าการไปดูปราสาทนครวัด ปราสาทบายน เพียงอย่างเดียว 

 

 

ประตูทางเข้าเมืองนครธม ยอดประตูประดับด้วยใบหน้าของเทพองค์ใดองค์หนึ่ง อาจเป็นบริวารของพระอินทร์ หรือใบหน้าของพระโพธิสัตว์

 

ยุคเปลี่ยนศาสนา ทำลายรูปเคารพ ก่อนเป็นพุทธเถรวาท

ในช่วง พ.ศ. 1700-1850 นับเป็นช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นของประวัติศาสตร์แถบกัมพูชา-ไทย เพราะมีทั้งความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ และการทำลายพระพุทธรูป โดยในกัมพูชาปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจน แต่ในไทยนี่แทบจะเรียกได้ว่า เป็นช่องว่างของความรู้ นักวิชาการท่านหนึ่งถึงกับเรียกยุคนี้ว่า ‘ยุคมืด’ เลยทีเดียว 

 

ผมขอเล่าถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในกัมพูชาสักหน่อยคือ เมืองนครธม หรือเอกสารฝ่ายไทยมักเรียกว่า ‘เมืองอินทปัตถ์’ นั้นเป็นเมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724-1761) ทรงสร้างขึ้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 3 กม. กลางเมืองมีปราสาทสำคัญคือ ปราสาทบายน ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากยอดปราสาทที่ทำเป็นใบหน้าของเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งทฤษฎีเดิมกล่าวว่าเป็นพระพรหม และภายหลังมีทฤษฎีใหม่ๆ ที่เชื่อว่า อาจเป็นหน้าของพระโพธิสัตว์หรือหน้าของเหวัชระ แต่ไม่ว่าจะเป็นหน้าของเทพองค์ใด ที่แน่ๆ ปราสาทนี้สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายาน 

 

หลังจากพระองค์สวรรคต รัชทายาทของพระองค์คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ยังคงนับถือพุทธมหายานอย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 1786 ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด พระองค์ได้หันมานับถือศาสนาพราหมณ์ และเชื่อว่า เป็นช่วงเวลาที่ปราสาทหินและพระพุทธรูปจำนวนมากที่สร้างในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นถูกทำลาย ในภาษาวิชาการเรียกว่า ‘Iconoclasm’ คือลัทธิทำลายรูปเคารพ 

 

ถ้าหากผู้อ่านได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ปราสาทบายนหรือปราสาทตาพรหม ลองสังเกตกันดูจะพบว่า ภาพสลักของพระพุทธเจ้าถูกกะเทาะหายไป หรือบ้างก็พยายามแปลงให้กลายเป็นศิวลึงค์ แต่การทำลายนี้ก็จำกัดวงอยู่เฉพาะในเขตกัมพูชาเท่านั้น และยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่นอนว่าทำไม

 

 

ปราสาทบายน ศูนย์กลางของนครธม

 

ในช่วงสมัยที่พุทธมหายานกำลังรุ่งเรืองนั้น ศาสนาพุทธเถรวาทก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ เมื่อพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ทรงปฏิรูปศาสนาในลังกาเมื่อ พ.ศ. 1708 ได้ส่งผลทำให้เกิดความนิยมในศาสนาพุทธเถรวาทมากขึ้นในกลุ่มบ้านเมืองต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นศาสนาทางเลือกหนึ่ง ความนิยมนี้ถึงขั้นที่พระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไปบวชเรียนที่ลังกากันเลย

 

ด้วยหลายๆ ปัจจัยที่ยังไม่แน่ชัด พระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 หรือรู้จักกันในอีกพระนามหนึ่งคือ พระเจ้าศรีนทรวรมัน (พ.ศ. 1838-1851) ผู้เป็นลูกเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเถรวาทแทน และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศาสนสถาน เนื่องในศาสนาพุทธเถรวาทขึ้น 

 

ศาสนสถานพวกนี้ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การสร้างวิหารขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยใบเสมา มีพระประธานปางมารวิชัยเป็นประธาน และมีเจดีย์หรือปราสาทเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งสะท้อนอิทธิพลที่ได้รับจากทางลังกา ทั้งหมดนี้แตกต่างจากแนวคิดเดิมของการสร้างปราสาทในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เน้นปราสาทขนาดใหญ่ ไม่มีวิหาร และไม่มีใบเสมาประกอบ 

 

 

ปราสาทนครวัด หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งควรไปเที่ยวสักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

วัดพุทธเถรวาทใต้แมกไม้เมืองนครธม

ภายใต้แมกไม้ใหญ่ที่ปกคลุมเมืองนครธมนั้น ความจริงแล้วมีวัดเนื่องในศาสนาพุทธเถรวาทกระจายตัวอยู่มากกว่า 70 วัดด้วยกัน แต่ยังไม่ได้รับการขุดแต่งขุดค้น เพราะจำกัดด้วยงบประมาณ 

 

จำนวนของวัดที่มากเท่านี้สำคัญอย่างไร คือจากเดิมที่มักจะมองกันว่า หลังจากรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลงมานั้น การก่อสร้างต่างๆ ในเมืองนครธมนั้นแทบจะไม่มี และมักจะกล่าวกันว่า ปราสาทหลังสุดท้ายที่สร้างในเมืองนครธมนั้นคือ ปราสาทมังคลธะ นั้นอาจต้องมาพิจารณากันใหม่ 

 

เพราะความจริงแล้ว ประเพณีของการทำปราสาทนั้นยังคงสืบทอดต่อมา แต่เมื่อความเชื่อเปลี่ยน รูปแบบสถาปัตยกรรมก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น จึงพบปราสาทบางหลังที่สร้างขึ้นใหม่ แต่มีขนาดย่อม และยังสร้าง ‘วิหาร’ หรือ ‘พระวิหาร’ เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมปราสาทหลายหลังที่ถูกแปลงกลายเป็นวัดพุทธเถรวาท เช่นที่มีชื่อเสียงสุดที่คือ ปราสาทนครวัด 

 

แอนดูว แฮร์รีส นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโทรอนโต ได้สำรวจบุกป่าฝ่าดง จนพบวิหารสมัยเมืองพระนครช่วงปลายเป็นจำนวนมาก โดยพบว่า วัดพวกนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม 

 

กลุ่มแรก เป็นวัดที่มีปราสาทเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่มีใบเสมา พบจำนวน 12 แห่ง วัดกลุ่มนี้ถูกเรียกในภาษาวิชาการว่า Terrace Structure 

 

กลุ่มที่สอง เป็นวิหารที่มีใบเสมาปักล้อมรอบ เรียกว่า วิหาร (Vihar) วัดทั้งสองกลุ่มมักตั้งอยู่ใกล้กับแนวถนนโบราณ โดยเฉพาะเส้นจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ และกระจุกตัวในเขตพระราชวังหลวงทางด้านเหนือและทิศตะวันออก พบจำนวน 59 แห่ง ถ้าดูจากแผนที่ สังเกตได้ว่า พื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองนครธมนี้ไม่ค่อยพบวัด นั่นเป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชวังหลวงนั่นเอง

 

 

แผนที่ตำแหน่งของวัดหรือปราสาทเนื่องในพุทธศาสนาเถรวาทในเมืองนครธม (ที่มาของแผนที่ Google Earth)

 

ในบรรดาวิหารและปราสาทกว่า 70 แห่งนี้ ผมมีปัญญาสำรวจได้เพียงแค่บางแห่งที่เข้าถึงได้ง่ายๆ เท่านั้น เพราะแค่ต้องการเข้าใจรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้นๆ เท่านั้น ขืนถ้าต้องสำรวจแบบบุกป่าฝ่าดงทั้งหมด นอกจากจะเสี่ยงแล้ว ยังอาจทำให้เขียนวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จสักที งานงอกนั่นแหละครับ 

 

กลุ่มวัดที่ผมสำรวจเป็นอันดับต้นๆ คือ กลุ่มที่อยู่ทางเหนือของพระราชวังหลวง ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทวัดป่าเลไลยก์ วัดเทพพนม และปราสาทพระพิธู จากนั้นคือกลุ่มที่อยู่ตามแนวถนนโบราณและรอบปราสาทบายน ซึ่งเป็นวิหารขนาดเล็กๆ

 

วัดป่าเลไลยก์ถึงจะอยู่ในแผนที่การท่องเที่ยว แต่น้อยคนจะเข้าไป เพราะปราสาทค่อนข้างเล็กและไม่สมบูรณ์ เรียกว่าถ้าคนไม่สนใจก็จะเฉยๆ แต่ถึงจะเป็นปราสาทขนาดเล็ก แต่มีของดีซ่อนอยู่ ที่โคปุระ (ประตูทางเข้า) ของวัดมีภาพสลักหินที่บอกเล่าพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยมีด้านหนึ่งทำเป็นปางปาลิไลยก์คือ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปอยู่ที่ป่าเลไลยก์ แล้วมีช้างและลิงถวายการปรนนิบัติ ก่อนเดินเข้าโคปุระจะมีวิหารขนาดย่อมอยู่หลังหนึ่ง ที่ท้ายของวิหารนี้มีพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นของเก่า และตั้งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิม วิหารนี้เดิมคงสร้างด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง แต่พังทลายลงมาหมด 

 

 

ปราสาทประธานวัดป่าเลไลยก์ นักวิชาการบางคนเสนอว่า มีลักษณะร่วมกับปรางค์วัดราชบูรณะ ที่ทำเป็นฐานสูงเช่นเดียวกัน

 

 

ช้างกำลังถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้า ภาพสลักที่โคปุระของวัดป่าเลไลยก์

 

วัดเทพพนมเป็นวัดที่มีวิหารขนาดใหญ่มาก เท่าที่กะด้วยสายตาคงมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 40 เมตร มีใบเสมาคู่ล้อมรอบ ที่ท้ายของวิหารมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งปางมารวิชัย ความสูงประมาณ 5 เมตร นอกจากนี้ด้านท้ายของวิหารยังมีพระพุทธรูปประทับยืนทำจากหิน 1 องค์ เป็นศิลปะแบบหลังบายน หรือเราอาจเรียกว่าเป็นศิลปะพุทธเถรวาท 

 

วัดนี้น่าสนใจตรงที่รอบวิหารมีเจดีย์ขนาดเล็กอยู่รายรอบจำนวน 27 องค์ ซึ่งรูปแบบของแผนผังแบบนี้คล้ายคลึงกับที่วิหารวัดพระพายหลวง เมืองเก่าสุโขทัย เรื่องนี้ผมได้ข้อสังเกตมาจากอาจารย์ของผมที่ลอนดอนคือ ดร.แอชลีย์ ทอมป์สัน ซึ่งเป็นไปได้ที่ทั้งสองแห่งนี้จะมีความสัมพันธ์กันไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งก่อนที่รับอิทธิพลกัน แต่อย่างน้อยที่สุดแสดงว่าในช่วงราว พ.ศ. 1800-1850 นั้นคงมีพระสงฆ์และกลุ่มช่างเดินทางถึงกันระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองนครธมนั้น 

 

 

เจดีย์รายทำจากหินที่อยู่รอบวิหารวัดเทพพนม คล้ายคลึงกับที่วัดพระพายหลวง

 

 

วิหารขนาดใหญ่ของวัดเทพพนมทำจากหินทราย ด้านหน้ามีสิงห์และพญานาคประดับ

 

 

สมุดบันทึกภาคสนามของผู้เขียน วาดแผนผังของวัดเทพพนม ซึ่งประกอบด้วยวิหาร เจดีย์รายรอบวิหาร และวิหารต่างๆ ในพื้นที่ ตัวเลขด้านบนนั้นเป็นพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS)

 

 

เจดีย์รายทำจากศิลาแลงที่วัดพระพายหลวง ประดับอยู่รอบวิหาร ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์กับวัดเทพพนมที่กัมพูชา

 

ปราสาทพระพิธู ปราสาทนี้เดินเข้าไปค่อนข้างไกลหน่อยจากแนวถนน ปราสาทหลังนี้ปัจจุบันมีป้ายปักด้านหน้าในชื่อ Ta Tuot Temple ซึ่งทำให้ผมหลงทางอยู่สักพักหนึ่งเลย แต่โชคดีที่เจอกับชาวกัมพูชาที่กำลังเก็บฟืน จึงบอกว่าคือที่นี่ ปราสาทพระพิธูมีความน่าสนใจตรงที่ห้องโถงภายใน

 

ห้องโถงภายในของปราสาทประธานมีการแกะสลักภาพพระพุทธเจ้า 31 องค์ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว การจัดวางองค์ประกอบเช่นนี้คล้ายกับจิตรกรรมในปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น เช่น ปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี นอกจากนี้มีบางองค์ที่มีเปลวรัศมีเป็นเปลวเพลิงแบบสุโขทัย แสดงว่าจะต้องมีความสัมพันธ์กันในทางศิลปะและศาสนา และอาจกำหนดอายุให้อยู่ในช่วง พ.ศ. 1800-1900 เช่นกัน 

 

 

ภาพสลักหินพระพุทธรูปที่ประดับในปราสาทประธานของปราสาทพระพิธู สะท้อนความสัมพันธ์กับศิลปะอยุธยา

 

ถัดจากกลุ่มปราสาทพวกนี้ ผมขอข้ามไปสู่การสำรวจวิหาร โดยเลือกยกตัวอย่างเพียงวัดเดียวเท่านั้น ซึ่งผมว่าน่าสนใจคือ วัดพระง็อก วัดนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทบายน ติดกับแนวถนนใหญ่ และเป็นทางที่สามารถเดินไปปราสาทบาปวนได้ วัดนี้มีจุดน่าสนใจอยู่ 3 สิ่งด้วยกัน

 

อย่างแรกมีวิหารขนาดใหญ่ มีทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ขนาดของวิหารยาวสัก 20 เมตร เห็นจะได้ รอบวิหารปักใบเสมาคู่ขนาดใหญ่ ลักษณะเด่นของใบเสมาเขมรคือ การทำกลีบบัวเป็นยอดอยู่บนหัวของเสมา ท้ายวิหารมีพระประธานทำจากหินทรายขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ด้านท้ายของวิหารมีฐานของอาคารอยู่หลังอาจเป็นเจดีย์ ถ้าพิจารณาจากแผนผังของวัดในสมัยอยุธยาที่มักจะทำเจดีย์ไว้ท้ายวิหาร 

 

 

ใบเสมาคู่ขนาดใหญ่หน้าวิหารวัดพระง็อก

 

อย่างที่สอง โลงศพหิน โลงศพหินนี้วางอยู่หลายใบที่ด้านทิศตะวันตกของฐานเจดีย์ ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน แต่คงจะเป็นของในวัดนี้ เพราะไม่พบในวัดอื่น ที่มองว่าเป็นโลงศพไม่ใช่อ่างล้างเท้า เพราะมีการเจาะรูเอาไว้ ไม่แน่ใจว่าเดิมใส่ศพจริงๆ หรือไม่ หรือใส่เพียงอัฐิ ประเพณีการใช้โลงศพนี้ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่พบในสมัยก่อนหน้านั้น เช่น ปราสาทบันทายสำเร โลงศพพวกนี้คงมีไว้สำหรับชนชั้นสูงหรือเจ้านาย และต่อมาโลงพวกนี้ก็คงแปลงกลายเป็นโกศแบบหนึ่งที่นิยมนำไปฝังไว้ใกล้กับฐานของเจดีย์

 

กลุ่มของโลงศพท้ายฐานเจดีย์ที่วัดพระง็อก

 

อย่างที่สามคือ สถูปหรือเจดีย์ ที่อยู่ใกล้กับฐานเจดีย์ มีอยู่ 2 องค์ สภาพเกือบสมบูรณ์ 1 องค์ จากรูปแบบลวดลายที่องค์ระฆังของเจดีย์คาดว่าคงสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ทรวดทรงของเจดีย์แบบนี้อาจเทียบเคียงได้กับเจดีย์ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น เจดีย์องค์หนึ่งที่วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี และคล้ายกับกลุ่มของเจดีย์ในสายสุพรรณภูมิที่นิยมทำเจดีย์ทรงระฆังรองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยม 

 

เจดีย์ที่อยู่หลังวิหารวัดพระง็อกมีรูปแบบร่วมสมัยกับเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนอยุธยา

 

บทความนี้ค่อนข้างยาวสักนิด แต่คิดว่าคงช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นว่า เมืองพระนครนั้นไม่ได้มีแค่ปราสาทหลังใหญ่ๆ เช่น นครวัดหรือบายนเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มของศาสนสถานที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของศาสนาในกัมพูชารวมถึงไทย และช่วยทำให้เห็นว่า ทั้งไทยและเขมรนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบชิดกันมานานแล้วหลายร้อยปี พูดอีกแบบคือ การจะเข้าใจพัฒนาการของศาสนาพุทธไทยนั้นต้องทำให้ความเข้าใจศาสนาพุทธเขมรด้วยครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising