×

Anatomy of a Fall (2023) หนังปาล์มทองสุดเข้มที่พูดถึงความตายปริศนาและการชำแหละซากชีวิตคู่ที่ล่มสลาย

19.12.2023
  • LOADING...
Anatomy of a Fall

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ภายใต้กระบวนการไต่สวนของฝรั่งเศสที่ใช้ระบบลูกขุน ภาพยนตร์ของ Justine Trier แทบไม่เคยให้คนดูได้เห็นว่ามีใครนั่งอยู่ในคอกลูกขุนบ้าง (และมีเพียงแค่ภาพระยะไกล) ทีละน้อย กลายเป็นคนดูนั่นแหละที่ต้องวินิจฉัยข้อมูลและหลักฐานเบื้องหน้า ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยของพวกเราคนดูต่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตัวละครก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
  • Anatomy of a Fall ไม่ใช่หนังที่เดินตามขนบของหนังแนว whodunit หรือ courtroom drama อย่างหน้ามืดตามัว และหยิบยืมมาเพียงแค่เค้าโครง เพราะเหตุนี้เองเป้าประสงค์ของภาพยนตร์จึงไม่ได้เป็นเรื่องใครฆ่า หรือ ‘จำเลยมีความผิดตามคำฟ้องหรือไม่’ และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป น้ำหนักของปมปัญหาดังกล่าวก็บางเบาและเจือจาง 
  • ในที่สุดแล้ว การตายอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ช่วงต้นเรื่องเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น และการพยายามไขปริศนาก็เปิดโลกทัศน์และการรับรู้ของคนดูอย่างกว้างไกล

เหตุการณ์เล็กๆ ช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ฝรั่งเศสแนว Courtroom Drama เรื่อง Anatomy of a Fall ที่ชนะรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุดและประสบความสำเร็จด้านรายได้ครึกโครมในประเทศบ้านเกิด อาจจะใช้อธิบาย ‘สถานะที่แท้จริง’ ของภาพยนตร์ได้อย่างแยบยล

 

มันคือฉากที่พยานคนหนึ่งถูกอัยการซักไซ้ไล่เลียงถึงเหตุการณ์ตึงเครียดบางอย่างที่เธอรู้สึกและสัมผัสได้ แต่ไม่ได้เกิดแบบซึ่งๆ หน้า ขยายความสั้นๆ ระหว่างที่เธอสัมภาษณ์นักเขียนหญิง ณ บ้านพักตากอากาศแบบชาเลต์บนภูเขา จู่ๆ เธอก็ได้ยินเพลงจังหวะเร่งเร้าและครึกโครมแผดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จนทั้งสองสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง และสิ่งที่ทั้งเธอและคนดูรับรู้พร้อมกันก็คือ นั่นเป็นฝีมือของคนที่เป็นสามีของนักเขียน และความรู้สึกทันท่วงทีของพยานคนดังกล่าวก็คือ บางทีสามีของนักเขียนคงต้องการขัดขวางหรือก่อกวนการพูดคุย แต่เธอก็ออกตัวว่า การพยายามอ่านเจตนารมณ์ของใครบางคนผู้ซึ่งถึงแม้เธอจะรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของเขา แต่ไม่ได้พบเจอตัวเป็นๆ เป็นสิ่งที่ฟันธงไม่ได้ง่ายๆ

 

ตรงไหนสักแห่งแถวนี้ที่อัยการเล่นมุกที่เรียกเสียงหัวเราะเบาๆ ในห้องพิจารณาคดีทำนองว่า ในฐานะตัวแทนฝ่ายฟ้องร้อง ตัวเขาถูกจ้างให้ทำหน้าที่อ่านเจตนารมณ์ของคนที่เขา (ทั้งไม่รู้จักและ) ไม่ได้พบเจอตัวเป็นๆ

 

 

มองในแง่มุมหนึ่ง คนดูก็อยู่ในสถานะเดียวกับอัยการคนนี้ด้วยเหมือนกัน เราอาจได้เปรียบมากกว่าหน่อยหนึ่งตรงที่คนทำภาพยนตร์พาเราไปรู้จักและพบเจอตัวละครที่สำคัญตามสมควร แต่จนแล้วจนรอดคนดูก็ยังคงถูกทดสอบทักษะในการอ่านเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างหนักหน่วงและเข้มข้นอยู่นั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะคนทำภาพยนตร์เว้นระยะห่างระหว่างตัวละครกับคนดู 

 

ขณะที่อีกส่วนที่น่าจะสำคัญมากกว่าก็คือ สิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกบอกเล่าเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ และการอ่านเจตนารมณ์ของโน่นนี่นั่น ที่คนทำภาพยนตร์ถ่ายทอดเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในระดับ ‘กายวิภาค’ ก็น่าจะช่วยให้เรามองเห็นว่า สุดท้ายแล้วความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้ปะทุจากปมขัดแย้งส่วนบุคคลเพียงลำพัง แต่มีประเด็นเรื่องจิตวิทยาสังคม เพศสภาพ ความเป็นผู้หญิงและผู้ชาย หรือแม้กระทั่งเรื่องเชื้อชาติมาเกี่ยวข้อง

 

 

อย่างที่คนดูสันนิษฐานได้ไม่ยาก ชื่อภาพยนตร์ Anatomy of a Fall ซึ่งแปลตรงตัวจากชื่อภาษาฝรั่งเศส Anatomie d’une Chute ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียวแน่ๆ แต่ในเบื้องต้น ‘การร่วงหล่น’ ณ ที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ที่ Samuel (Samuel Theis) สามีของนักเขียนหญิง Sandra (Sandra Hüller) ‘พลัดตก’ ลงมาจากห้องใต้หลังคา ซึ่งอยู่ชั้นสามของชาเลต์และเสียชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถ ตัวนักเขียนหญิงถูกตั้งข้อสงสัยว่า บางทีเธออาจจะเกี่ยวข้องกับการตายครั้งนี้ และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ดำเนินไปตามกรอบของภาพยนตร์ที่พูดถึงการต่อสู้คดีความในชั้นศาล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยบทสนทนาเชือดเฉือน และต่างฝ่ายต่างหักล้างและเอาชนะคะคานด้วยสารพัดตรรกะและเหตุผล

 

ข้อน่าสังเกตก็คือ ภายใต้กระบวนการไต่สวนของฝรั่งเศสที่ใช้ระบบลูกขุน Anatomy of a Fall ของ Justine Triet แทบไม่เคยให้คนดูได้เห็นว่ามีใครนั่งอยู่ในคอกลูกขุนบ้าง (และมีเพียงแค่ภาพระยะไกล) ทีละน้อย กลายเป็นคนดูนั่นแหละที่ต้องวินิจฉัยข้อมูลและหลักฐานเบื้องหน้า ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยของพวกเราคนดูต่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตัวละครก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะไม่ต่างจากภาพยนตร์ของ Alfred Hitchcock (Suspicion และ Shadow of a Doubt)

 

 

ขณะที่ในทางกลับกัน Sandra ก็ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะพูดอีกครั้ง ระหว่างคนดูกับตัวละครนี้มีระยะห่างพอสมควร หลายๆ ครั้งเราหยั่งไม่ได้ถึงตื้นลึกหนาบางที่ซุกซ่อนในห้วงคิดคำนึง บางทีมันอาจเป็นเพราะบุคลิกที่แข็งกระด้างและดูไม่สะทกสะท้านของเธอ หรืออย่างน้อยเธอก็เก็บอาการได้แน่นหนามิดชิด โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ถ้าหากเป็นคนอื่น ทำนบอารมณ์ความรู้สึกคงพังพินาศไปแล้ว ไม่มีข้อสงสัยว่านี่เป็นการแสดงที่เลอเลิศของ Sandra Hüller ผู้ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งยวดในการทำให้ปมปริศนาความตายของผู้เป็นสามีเพิ่มรสชาติของความเอร็ดอร่อยและเข้มข้นมากขึ้น

 

อีกส่วนที่เกี่ยวข้องกับคาแรกเตอร์นี้และควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ แง่มุมด้านศีลธรรมและจริยธรรมของตัวละคร พูดง่ายๆ เธอไม่เพียงถูกเปิดโปงว่าเป็นไบเซ็กชวลและมีความสัมพันธ์นอกชีวิตสมรสกับหญิงอื่น ในฐานะนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ เธอยังถูกกล่าวหาว่าขโมยทั้งไอเดียของสามีมาใช้ในงานเขียนตัวเองและลักลอบเอาชีวิตของคนรอบข้างมาเป็นวัตถุดิบในการทำมาหากิน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงมันน่าจะลดทอนคะแนนนิยมของเจ้าตัวให้ยิ่งตกต่ำมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คำถามที่ค้างคาก็คือ มาตรฐานด้านศีลธรรมและจริยธรรมที่สังคมไม่ปลื้มเกี่ยวข้องกับการชี้มูลความผิดตัวละครมากน้อยแค่ไหน เพราะเอาจริงๆ นี่ไม่ใช่การประกวดประขันเรื่องความเป็นคนดิบดี(ย์) หรืออุปนิสัยใจคอ

 

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร Anatomy of a Fall ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เดินตามขนบของภาพยนตร์แนว Whodunit หรือ Courtroom Drama อย่างหน้ามืดตามัว และหยิบยืมมาเพียงแค่เค้าโครง เพราะเหตุนี้เองเป้าประสงค์ของภาพยนตร์จึงไม่ได้เป็นเรื่องใครฆ่า หรือ ‘จำเลยมีความผิดตามคำฟ้องหรือไม่’ และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป น้ำหนักของปมปัญหาดังกล่าวก็บางเบาและเจือจาง 

 

และไหนๆ ก็ไหนๆ ประเด็นวินิจฉัยจริงๆ ได้แก่ การตั้งคำถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกันแน่’ และต้นสายปลายเหตุของมันคืออะไร ซึ่งนั่นคือตอนที่ความหมายนัยประหวัดของคำว่า ‘Fall’ ออกฤทธิ์ และมันไม่ใช่เรื่องของการร่วงหล่นอีกต่อไป แต่ได้แก่การล่มสลายของความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่จุดเริ่มต้นย้อนกลับไปถึงไหนๆ และคนดูมีเบาะแสให้สืบเสาะหลายช่วงด้วยกัน 

 

หนึ่งก็คือตอนที่ Daniel (Milo Machado Graner) ลูกชายวัยสิบเอ็ดขวบประสบอุบัติเหตุขณะที่อายุยังน้อย จนส่งผลให้เขาตาบอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ Samuel โทษตัวเองไม่เลิกรา (ลึกๆ แล้ว Sandra ก็โยนความผิดบาปนี้ให้เขาด้วยเช่นกัน) อีกหนึ่งสิ่งที่ยิ่งทำให้เจ้าตัวยิ่งรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า โยงใยอยู่กับสถานะนักเขียนที่ไปได้ไม่สวย และยิ่ง Sandra ประสบความสำเร็จในงานอาชีพของเธอมากเท่าไร มันก็ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของเขามากเท่านั้น 

 

 

แน่นอนว่าฉากที่สั่นสะเทือนความรู้สึกสุดๆ หนีไม่พ้นห้วงเวลาที่ทุกคนในห้องพิจารณาคดีย้อนฟังเสียงทะเลาะเบาะแว้งของทั้งสองคนอย่างหนักหน่วงและรุนแรงในวันก่อนเกิดเหตุ ซึ่ง Samuel แอบใช้โทรศัพท์บันทึกเอาไว้ และหัวข้อโต้เถียงก็มีทั้งเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อย (เช่น เรื่องที่ Samuel กล่าวหา Sandra ซึ่งเป็นคนเยอรมัน ว่าเธอบงการทุกอย่าง รวมถึงภาษาอังกฤษที่ใช้พูดในบ้าน) หรือการลำเลิกเบิกประจานในเรื่องที่เวลาที่มันถูกเปิดเผยในที่แจ้ง มันทั้งอัปลักษณ์และชวนให้สลดหดหู่สำหรับคนที่ได้ยิน (เช่น วิธีการร่วมเพศที่ Samuel บอกว่าเขาต้องโอนอ่อนผ่อนตามตลอดเวลา)

 

และเหตุการณ์ช่วงท้ายของคลิปเสียง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงมีการลงไม้ลงมือ ก็เปิดกว้างสำหรับการตีความของทุกคน และนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความคลุมเครือของสิ่งที่เกิดขึ้นเล่นบทบาทสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์หยิบยื่นแง่มุมหรือบทเรียนที่ชวนครุ่นคิดว่าด้วยเรื่องความเป็นจริงกับจินตนาการ เพราะในขณะที่ฝ่ายโจทก์เชื่อว่าการมีปากเสียงรุนแรงครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘การซ้อมใหญ่’ ของ Sandra ก่อนที่เธอจะลงมือ ‘ขั้นเด็ดขาด’ ในวันต่อไป คำชี้แจงของ Sandra ถึงความหมายของแต่ละสุ้มเสียงที่พวกเราได้ยิน (เสียงแก้วแตก เสียงตะโกนโหวกเหวก การทุบตี และข้าวของพังทลาย ฯลฯ) กลับพลิกผันให้เรื่องเล่าหันเหไปอีกทาง

 

 

ส่วนที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ทวีความยุ่งยากขึ้นไปอีกก็คือ ขณะที่คนดูไม่อาจปักใจเชื่อฝ่ายไหนร้อยเปอร์เซ็นต์ กลวิธีในการบอกเล่าของ Justine Triet ก็ดูมีเลศนัย สไตล์การถ่ายภาพและตัดต่อแบบภาพยนตร์สารคดีอาจจะสร้างบรรยากาศที่ดูกระฉับกระเฉงและตรงไปตรงมา 

 

แต่จนแล้วจนรอด คนทำภาพยนตร์ก็ไม่ได้วางตัวเป็นกลาง หรือจริงๆ แล้วการใช้เทคนิคย้อนอดีต หรือแฟลชแบ็ก โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ Daniel เอ่ยถึงประโยคแปลกๆ ที่ฟังเหมือนคำพูดสั่งเสียของพ่อ ก็น่าสังเกตว่ามี ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของคนทำภาพยนตร์เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ (มันคือฉากที่พ่อพูดคุยกับลูกชายระหว่างขับรถ แต่เสียงของเขากลับเป็น ‘เสียงพากย์’ ของ Daniel ที่มาจากห้องพิจารณาคดี) และมันส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของหนุ่มน้อยด้วย เพราะถ้าลองนึกทบทวนดีๆ เขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องที่เกิดขึ้นมากกว่าเพื่อน (พ่อตายไปแล้ว และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าแม่ติดคุก) เป็นไปได้หรือไม่ว่า การพูดความจริงอาจไม่สำคัญเท่ากับการจำกัดความเสียหายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

 

 

กล่าวในที่สุดแล้ว การตายอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ช่วงต้นเรื่องเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ และการพยายามไขปริศนาก็เปิดโลกทัศน์และการรับรู้ของคนดูอย่างกว้างไกล ข้อที่ควรหมายเหตุทิ้งท้ายก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of a Fall ไม่ได้สร้างจากเรื่องจริง แต่สมมติเล่นๆ ว่าคนทำภาพยนตร์จะใส่ประโยคในทำนองแอบอ้าง มันก็สอบผ่านความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากคนดูอย่างลอยนวล เพราะรายละเอียดน้อยใหญ่ที่ผู้สร้างสอดแทรกดูหนักแน่น สมเหตุผล รอบด้าน และเชื่อมโยงได้กับโลกความเป็นจริง ทั้งการตีแผ่ชีวิตสมรสในช่วงที่กำลังหายใจพะงาบๆ จนถึงการขุดคุ้ยธาตุแท้และด้านที่หม่นมืดของตัวละคร และพร้อมๆ กันนั้นเราก็ได้เห็นสัญชาตญาณของการอยู่รอด ความเปราะบางอ่อนไหวที่น่าสมเพช และบางทีห้วงเวลาที่อับแสงที่สุดของตัวละคร (มากยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีเรื่องระบบยุติธรรมที่ไม่ว่าจะแน่นหนารัดกุมแค่ไหน ก็อาจเข้าไม่ถึงความจริง และวิธีการที่ศิลปินแอบซ่อนความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงผ่านงานศิลปะของตัวเอง)

 

หรือรวมๆ แล้วมันคือการชำแหละให้คนดูได้เห็นว่าในเชิงกายวิภาค ความสัมพันธ์ที่ล่มสลายมันห่อหุ้มไว้ด้วยความบิดเบี้ยวและหักงอนานัปการ ทั้งการปิดบังอำพราง โกหกหลอกลวง ทรยศหักหลัง การตั้งข้อกล่าวหา หรือการฉกฉวย จนไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งคนสองคนที่เกลียดกันเข้ากระดูกดำขนาดนี้จะเคยผูกพันและยึดเหนี่ยวด้วยสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ความรัก’

 

Anatomy of a Fall (2023)

ผู้กำกับ:  Justine Triet

นักแสดง: Sandra Hüller, Swann Arlaud, Milo Machado-Graner, Antoine Reinartz และ Samuel Theis

 

ภาพ: Mongkol Major

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising