×

นักวิเคราะห์มองข่าวแบงก์ไทยติดโผต้องสงสัยฟอกเงินไม่กระทบมาก ชี้หนี้เสียเสี่ยงกว่า

22.09.2020
  • LOADING...

แหล่งข่าวธุรกิจการเงินกล่าวถึงกระแสข่าวธนาคารของไทยติดโผสงสัยฟอกเงินที่เกิดขึ้นว่า ต้องติดตามว่าข้อมูลเท็จจริงแค่ไหน ในกรณีผลกระทบต่อธนาคารไทย เป็นข้อมูลธุรกรรมในปี 2012-2013 มูลค่าธุรกรรมเกือบ 1,000 ล้านบาท หากมีข้อกล่าวหาว่าทำผิดอาจเป็นกรณีการรายงานต่อผู้กำกับอาจจะมีการฟ้องร้อง และจ่ายค่าปรับบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะด้านทางการเงิน ไม่กระทบกำไรของธนาคารเพราะอาจจะใช้เวลานานในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

ทั้งนี้มองว่าธนาคารไทยไม่ได้รับผลกระทบสูงมาก อย่างธนาคารในต่างประเทศที่มีการฟ้องร้องมูลค่าสูง จะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่เกิดธุรกรรมในฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีการฟ้องร้องและจ่ายค่าปรับ ในส่วนของไทยเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศไม่ใหญ่นัก

 

ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำนักวิจัย บล. ทิสโก้ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ว่า จากข่าวเอกสารข้อมูลธุรกรรมธนาคารที่อาจผิดกฎหมายมองว่า เบื้องต้นเซนติเมนต์หุ้นจะแย่ลง เมื่อวานนี้ (21 กันยายน) ราคาหุ้นธนาคารในไทยลดลงราว 1% แต่มองว่าจะไม่กระทบมากนัก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารลดลง 2.39% โดยธนาคารที่ราคาลดลงมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (-3.37%) ธนาคารกสิกรไทย (-3.16%) ธนาคารกรุงเทพ (-2.99%)

 

ธนวัฒน์เล่าต่อว่า ช่วงนี้ธนาคารในไทยเจอข่าวลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 ที่จะออกมา รวมถึงสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นมองว่าระยะสั้นราคาหุ้นแบงก์ยังได้รับผลกระทบ แต่หากมองระยะยาวยังสามารถลงทุนได้ 

 

ทั้งนี้สถานการณ์หนี้เสียในไทยยังต้องจับตามองทั้งไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 โดยมาตรการพักหนี้ของรายย่อย และกลุ่ม SMEs คาดว่าจะหมดลง ดังนั้นคาดว่าหนี้เสียน่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี หรือราวไตรมาส 1/2564

 

“สิ้นปี 2563 นี้คาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการพักหนี้ทยอยหมดลง โดยทิสโก้มองว่า NPL ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 3.98% (ไม่รวม Inter Bank) และคาดว่าทั้งปี 2563 NPL จะอยู่ที่ 4.27% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ 3.75%” ธนวัฒน์กล่าว

 

ขณะที่หากดูหนี้เสียตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไตรมาส 2/63 (รวม Inter Bank) อยู่ที่ 3.09% แบ่งเป็นรายย่อย 3.12% SME 6.31% และรายใหญ่ 2.46%

 

ทั้งนี้มองว่ามาตรการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย​จะยืดเวลาในการเกิดหนี้เสียออกไป เพื่อให้เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ลูกหนี้จะสามารถปรับตัวในการจ่ายชำระได้ อย่างไรก็ตามต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising