×

แมน-อมร นิลเทพ ลมใต้ปีกที่ส่งให้ บาส นัฐวุฒิ บินไกลได้อย่างทุกวันนี้

09.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • บาสรู้จักกับแมนครั้งแรกตั้งแต่สมัยไปเรียนที่นิวยอร์กด้วยกัน และสถานที่แรกที่พวกเขาพบกันคือในครัวของห้องอาหารแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก และกลายมาเป็นเพื่อนและพาร์ตเนอร์คู่ใจที่ทำงานด้วยกันมาตลอดระยะเวลา 6 ปี
  • ในช่วงเวลาที่บาสกำกับหนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง เขาต้องหยุดรับงานโฆษณาเป็นเวลา 2 ปีเต็มเพื่อโฟกัสกับการทำหนังให้ได้มากที่สุด และแมนในฐานะโปรดิวเซอร์คู่ใจก็ต้องหยุดงานของตัวเองไปด้วยโดยอัตโนมัติ

สำหรับวงการภาพยนตร์และโฆษณา ณ เวลานี้ ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ส่งให้หนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง บินไกลไปถึงต่างประเทศ พร้อมกวาดคำชม รางวัล และรายได้ จนส่งให้เขาก้าวขึ้นทำเนียบ ‘ผู้กำกับพันล้าน’ คนล่าสุด และยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำให้หนัง ฉลาดเกมส์โกง เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 ได้มากถึง 15 สาขาจากทั้งหมด 16 สาขาในปีนี้

 

เราเชื่อว่าในเรื่องความสำเร็จและความคิดในการทำงานทั้งหมด หลายคนคงเคยได้ยินผู้กำกับหนุ่มคนนี้เปิดเผยให้ฟังตามสื่อต่างๆ กันมาพอสมควรแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือบาสจะไม่มีทางบินมาได้สูงขนาดนี้ ถ้าขาด แมน-อมร นิลเทพ คนที่เป็นทั้งเพื่อนสนิท พี่ชาย และกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์คู่ใจที่คอยดูแลเขาตลอดระยะเวลาการทำงาน 6 ปี ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้

 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในช่วงที่บาสทำหนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง เขาต้องหยุดรับงานโฆษณาเพื่อโฟกัสกับการทำหนังให้ได้มากที่สุด และแน่นอนว่าพาร์ตเนอร์อย่างแมนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้ก็ต้องหยุดรับงานไปด้วย

 

ถ้าโครงการ ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ของตูน บอดี้สแลม มีเพื่อนๆ อีก 4 คนยอมไม่รับงานและขาดรายได้หลายสิบล้านบาทเพื่อส่งให้ตูนวิ่งจากใต้สุดจนถึงเหนือสุดของประเทศได้ สำหรับในกรณีนี้ แมนก็คือเพื่อนร่วมวงของบาสที่คอยซัพพอร์ตและเฝ้าดูความสำเร็จของบาสอยู่ห่างๆ เพื่อส่งให้น้องรักคน ‘ก้าว’ และ ‘บิน’ ไปได้ไกลอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน

 

และครั้งนี้ในนาม Houseton Film พวกเขาพร้อมแล้วที่จะกลับมาผนึกกำลังกันสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ร่วมกันในฐานะโปรดักชันเฮาส์ขนาดเล็กที่คุณภาพเกินตัว พร้อมกับความคาดหวังลึกๆ ของบาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการโฆษณาในโอกาสต่อไป

 

เขาเรียกเราว่า ‘Tiny Doll’ ตัวอย่างผลงานจากบาสและแมนในนาม Houseton Film

 

 

ทั้งสองคนเริ่มรู้จักกันครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร

บาส: เจอกันในครัวของร้านอาหารตอนไปเรียนที่นิวยอร์กด้วยกัน

 

แมน: ผมไปก่อนบาสประมาณ 1 ปี ก็ไปทำงานร้านอาหารเพื่อหารายได้พิเศษตามสไตล์เด็กที่ไปเรียนที่โน่น วันหนึ่งบาสไปทำงานที่ร้านแล้วได้คุยกัน จนได้รู้ว่าทำงานสายเดียวกัน ผมทำงานเอเจนซีโฆษณา เป็นครีเอทีฟ อาร์ตไดเรกเตอร์ ส่วนบาสเป็นช่วยผู้กำกับมาก่อน คุยกันเล่นๆ ว่าเดี๋ยวมาทำหนังสั้นสนุกๆ กันดีกว่า หลังจากนั้นก็เรียนหนังสือ ใช้ชีวิตกันไป สนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนผมเรียนจบก็กลับมาทำงานโปรดักชันเฮาส์เกี่ยวกับโฆษณาเหมือนเดิม ทำได้ประมาณปีกว่าๆ บาสกลับมาบอกว่า พี่เก้งชวนทำหนังว่ะ ระหว่างรอเราก็เปิดบริษัทรับทำงานโฆษณากันขำๆ เริ่มจากงานเล็กๆ ไปก่อนดีกว่า

 

บาส: โห ตอนนั้นตื่นเต้นมากๆ เลยนะ แต่จริงๆ จ็อบแรกของออฟฟิศคืออะไรรู้ไหม วิดีโอพรีเซนเทชันทางด่วน ทางด่วนเลย พี่แมนไปรับจ็อบมาจากไหนไม่รู้ ถ่ายฟุตเทจ สัมภาษณ์คนขึ้นทางด่วน ผมเขียนสคริปต์ พี่แมนเป็นโปรดิวเซอร์ มีน้องอีก 2 คนเป็นตากล้อง ตอนนั้นพี่แมนเพิ่งมีลูก เพิ่งคลอดเลย กลางคืนนัดคุยงาน พี่แมนแม่งอุ้มลูกลงมาจากคอนโดฯ ป้อนนมลูกแล้วคุยงานกันไปด้วย (หัวเราะ)

 

เริ่มรู้สึกว่าคุยกันถูกคอ สามารถเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมงานกันได้ตั้งแต่เมื่อไร

แมน: ตั้งแต่เจอกันที่ร้านอาหารเลยนะ พวกเราตารางงานชนกันบ่อย เวลาทำงานด้วยกันก็สนุก แล้วนิสัยผมเป็นคนง่ายๆ สบายๆ บาสก็เป็นคนสนุกสนานเหมือนกัน บางทีก็ชอบให้บาสไปขอเบอร์ผู้หญิงให้ (หัวเราะ)

 

บาส: พี่แมนเขามีสาวๆ เยอะ (หัวเราะ) แต่ช่วงที่ผมคอนเน็กต์กับพี่แมนจริงๆ คือตอนถ่ายหนังสั้นประกวดเรื่อง The Laundry Room ด้วยกัน แล้วต้องถ่ายถึงดึกมากๆ เหมือนในหนังสยองขวัญที่แก๊งเพื่อน 7-8 คนค่อยๆ ตายไปทีละคน ไอ้นี่หลับ ไอ้นี่ไปซื้อข้าวกิน จนสุดท้ายเหลือแค่คนที่อยู่กันจริงๆ คือผมกับพี่แมน แล้วก็นักแสดงไม่กี่คน สิ่งที่ผมเห็นคือพี่แมนเดินไปจัดพร็อพ กลับมาตั้งกล้อง ผมบรีฟนักแสดง เสร็จแล้วพี่แมนก็มาเป็นตากล้องถ่ายภาพ เขาทำของเขาเงียบๆ ไม่พูดมาก พี่แมนไม่บอกให้คนอื่นทำ หรือไม่แม้แต่บอกคนอื่นว่ากูจะทำด้วยซ้ำนะ เขาตัดขั้นตอนพวกนั้นออกไปหมดแล้วลงมือทำเลย

 

แมน: อธิบายก่อนว่ามันเป็นงานประกวดหนังสั้นของ Apple ที่โหดมาก คือเขาโพสต์โจทย์พร้อมบอกไอเท็มที่เราต้องใช้ล่วงหน้าแค่ 24 ชั่วโมง ซึ่งเราต้องคิดบท เลือกตัวแสดง เตรียมโปรดักชัน ตัดต่อ ส่งประกวดภายใน 24 ชั่วโมง

 

บาส: ตอนแรกสนุกมากเลยนะ ตื่นเต้น ได้รวมตัวแก๊งเพื่อนทำโน่นนี่ แต่สุดท้ายผมได้คำตอบว่าสิ่งที่ทำให้ผมกับพี่แมนอยู่ด้วยกันได้นานคือพวกเราแม่งเป็นคนโปรดักชัน ในขณะที่คนอื่นในกองไม่ใช่เลย สายการแสดง สวยงาม ทำกราฟิก คือเขาคงพยายามต่อสู้แล้วแหละ แต่หลับก่อน จนเหลือแค่พวกเรา 2 คน แล้วพอทำงานหนักด้วยกันมาทั้งคืนเลยรู้สึกว่าพี่แมนสามารถเซิร์ฟความต้องการของเราได้ทุกอย่างเลย เขาเข้าใจเราแบบไม่ต้องพูดอะไรมากเลย

 

หนังสั้นเรื่อง The Laundry Room

 

นิยามของคำว่า ‘คนโปรดักชัน’ ในแบบของพวกคุณคือคนแบบไหน

บาส: พูดอย่างง่ายที่สุดเลยก็คือคนถึก (หัวเราะ)

 

แมน: ไม่รู้ว่ามันมีนิยามตายตัวขนาดนั้นหรือเปล่านะ แต่สิ่งที่ผมคิดตลอดในฐานะคนทำโปรดักชันเฮาส์คืออยากทำหนังออกมาให้คนดูแล้วได้กำไร สนุก บันเทิง พวกเราเลยรู้สึกว่าทำหนังโฆษณา 30 วินาที คนดูยังไม่ค่อยรู้สึก เลยชอบทำหนังที่ยาวและเล่าเรื่องได้มากกว่านั้นหน่อย

 

บาส: ส่วนของผมคือคนที่ต้องมีแพสชันในการทำงานด้านโปรดักชันสูงมากๆ เอาจริงๆ มันเป็นงานที่หารค่าตัวเวลาทำงานแล้วได้นาทีละ 1 สตางค์เองมั้ง (หัวเราะ) ไม่คุ้มหรอก ทำงานสายอื่นเหนื่อยน้อยกว่า เงินน้อยกว่า แต่ที่เราอยู่กันแบบนี้ หรือเพื่อนร่วมวงการเขาทำกันอยู่เพราะเขามีความเชื่อ มีความชอบในการทำงานตรงนี้ พอมารวมกันแล้วมันมีความสวยงามของคนร่วมอุดมการณ์เดียวกันภายใต้ความหน้ามัน เหงื่อตก วิ่งกันขาขวิดเวลาออกกองอยู่ ทุกคนตั้งใจทำงานกันฉิบหายเลยเพื่อทำในสิ่งที่ผมอยากได้ ให้ความงี่เง่าของผมเกิดขึ้นให้ได้ ภายใต้ความซาดิสต์นั้นทำให้ผมเห็นความงดงาม เออ ทำไมเขาถึงยอมเหนื่อยเพื่อเราขนาดนั้นน่ะ มันเป็นความตื้นตันใจมากๆ อย่างหนึ่งเลยนะ

 

 

ในสายตาของแมน บาสเป็นผู้กำกับแบบไหน และในสายตาของบาส แมนเป็นโปรดิวเซอร์แบบไหน

แมน: ถ้ามองในฐานะผู้กำกับนะ บาสเก่ง พูดจริงๆ ต้องใช้คำนี้เลย ผมเจอผู้กำกับมาเยอะนะ ผมว่าบาสมีไดเรกชันที่ไม่เหมือนใคร เขาพยายามมองหาสิ่งใหม่ตลอดเวลา เสพสิ่งแปลกใหม่ หามุมมองใหม่ๆ เพื่อเสริมไอเดีย หนังของเขาจะไม่ค่อยซ้ำคนอื่น ผมจะชอบไปพูดกับน้องอีกคนเสมอว่า เชี่ย แม่งคิดได้ยังไงวะมุมนี้ แล้วเขาเข้าใจความเป็นมนุษย์ ลงลึกในรายละเอียด ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จๆ ไป แต่ถ้ามองในฐานะโปรดิวเซอร์ เรื่องธุรกิจนี่…

 

บาส: ฉิบหาย อาจจะเหี้ยเลยนะ (หัวเราะ)

 

แมน: (หัวเราะ) แต่ผมเข้าใจเขานะ โชคดีที่ผมเคยเป็นผู้กำกับมาก่อน รู้ว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้เขามีตัวตนยืนอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจก็คือผลงานของเขา มันเลยทำให้เขาโฟกัสและตั้งใจกับการทำผลงานให้มันออกมาดีที่สุดมากๆ สิ่งที่ผมทำคือการพยายามเซิร์ฟเขาทุกอย่าง ช่วงแรกๆ ทำงานไม่ได้กำไร ควักเนื้อกันบ้าง ไม่เป็นไร เอาผลงานไว้ก่อน อะไรที่ทำให้หนังดี ไปได้สุดทาง ผมจะไม่ค่อยขัดเขานะ ซึ่งเอาจริงๆ เป็นโปรดิวเซอร์คนอื่นเขาคงขัดนะ บางทีก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราตามใจมันเกินไปหรือเปล่าวะ แต่สุดท้ายสิ่งที่บาสต้องการก็ทำให้หนังดีขึ้นจริงๆ เขาทำให้เราเชื่อในทิศทางที่อยากจะไปได้

 

บาสเป็นผู้กำกับที่เอาแต่ใจมากขนาดไหน

แมน: ไม่นะ อะไรที่มันจะไม่คุ้มจริงๆ ถ้าเตือนไปเขาก็เชื่อ

 

บาส: เออ ตั้งแต่ทำงานมา พี่แมนตามใจผมหมดเลย (หัวเราะ) ซึ่งไม่ใช่แค่กับผมด้วยนะ กับคนอื่นเขาก็ใจดีมาก ถึงหน้าจะเหี้ยมมากก็ตาม (หัวเราะ)

 

ต้องอยู่กับสภาวะที่บอกว่าต้องควักเนื้อ หรือทำงานแบบไม่ได้กำไรในช่วงแรกๆ อยู่นานเท่าไร สถานการณ์ถึงเริ่มดีขึ้น

แมน: ก็ปีแรกที่ทำแบบเต็มๆ เลยนะ (หัวเราะ) งานแรกๆ หักต้นทุนทุกอย่าง เหลือกำไรเกินหมื่นให้ทีมงานก็ดีใจแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นเราควักเนื้อส่วนที่เป็นค่าตัวเอามาใช้ถ่ายทำเยอะมาก เพราะตอนนั้นทำอะไรก็สนุก โดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอที่ไม่มีโปรดักต์นี่ยิ่งสนุกเลย บาสก็จะชอบมาก อยากทำเอ็มวีทุกเดือน ซึ่งเอ็มวีมันได้เงินน้อยไง อยากสนุกกันนักก็ควักเงินกันไป ค่าตัวไม่เอา (หัวเราะ) บางทีปฏิเสธที่จะไม่ทำพวกคอมเมอร์เชียลด้วยซ้ำ

 

บาส: แต่ผมคิดว่ามันไม่ก็สูญเปล่านะ เพราะเป็นการฝึกฝนและพัฒนาแนวทางของเราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนตอนที่ทำ My Beautiful Woman เป็นหนังสั้น 3 เรื่องที่ถ่ายกันเยอะมาก 6-7 วัน คิวแหกกระจาย

 

แมน: แต่พอหนังเสร็จ มันออกมาดีจริงๆ พวกเราแฮปปี้ คนดูก็แฮปปี้ ลูกค้าก็แฮปปี้ เป็นหนังยุคแรกๆ ของออนไลน์ฟิล์มที่มันคลิกจริงๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถูกเรียกว่าออนไลน์ฟิล์มด้วยซ้ำนะ แต่บาสเขาทำหนังสั้นมาใช้ในงานโฆษณาแล้ววงการเปลี่ยนเหมือนกันนะ หลังจากนั้นก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะงานตัวนั้นเลย

 

หนังสั้นเรื่อง My Beautiful Woman

 

ถ้าดูจากผลงานของพวกคุณจะเห็นว่าเป็นหนังสั้นที่มีความยาวมากกว่าโฆษณาทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน ลูกค้าส่วนหนึ่งก็ยังอยากได้โฆษณาสั้นๆ หรือคำพูดทำนองว่า ‘ขอไวรัลปังๆ’ พวกคุณรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรกันบ้าง

แมน: เมื่อก่อนมีเยอะนะ แต่หลังๆ รู้สึกว่าตัวลูกค้าเองเข้าใจระบบอุตสาหกรรมโฆษณาตรงนี้มากขึ้น เมื่อก่อนพอพูดถึงออนไลน์ฟิล์ม ข้อแรกคือเงินมันต้องน้อยนะ ไม่ต้องใช้คนเยอะ เพราะไม่ต้องใช้ทุนในการถ่ายทำ

 

บาส: ซึ่งไม่จริงเลยนะ มันใช้เยอะกว่าด้วยซ้ำ ยังเคยงงอยู่เลยว่าทำไมงาน 30 วินาทีมันถึงใช้เงินเยอะกว่าออนไลน์ฟิล์มหลายๆ นาทีวะ แต่สุดท้ายก็มาเข้าใจว่าหนังแต่ละแบบมันคือคนละสปีชีส์กัน ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเขาจะทรีตมันยังไง เพราะผมก็มีเพื่อนผู้กำกับหลายคนที่ทุกวันนี้ทำงาน 15, 30, 45 วินาที แล้วคนดู ลูกค้า แบรนด์ รวมทั้งตัวเขาแฮปปี้ อันนี้เป็นเรื่องของการใช้คนให้ถูกงาน

 

สนิทและรู้ใจกันถึงขั้นว่าต้องทำงานด้วยกันทุกชิ้น ถ้าบาสกำกับ แมนจะต้องเป็นโปรดิวเซอร์คอยดูแลงานแบบนั้นเลยหรือเปล่า

บาส: ทุกชิ้นนะ ยกเว้นหนังใหญ่ อย่างตอนทำ ฉลาดเกมส์โกง ตั้งแต่ตกลงกับพี่เก้ง สิ่งที่พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล – ผู้บริหารค่าย GDH) ขอคือให้ออฟฟิศเราลดการทำโฆษณาลง มันควรจะเป็นอย่างนั้นนะ เพราะไม่อย่างนั้นโฟกัสเราจะหลุด ซึ่งตัวผมไม่มีปัญหา เพราะตัวคนเดียว ภาระก็ไม่มี แต่พอต้องหยุด สิ่งที่กลัวก็คือเรื่องออฟฟิศ โดยเฉพาะพี่แมน ที่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำหนังใหญ่ กลายเป็นเวลา 2 ปีที่บริษัทผมแทบไม่ได้รับงานเลย เหลือแค่ปีละตัวเลยมั้ง ตอนนี้ก็เป็นผมอีกที่ขอมาทำด้วย เพราะรู้สึกว่าเหงาเกินไปแล้ว (หัวเราะ) ต้องขอบคุณพี่แมนจริงๆ ที่เข้าใจ พี่อยู่มาได้ยังไงวะ (หัวเราะ)

 

แมน: มันยังพอมีงานหมุนเวียนมาให้หล่อเลี้ยงชีวิตและออฟฟิศได้แหละ โชคดีที่ส่วนตัวผมเป็นคนชอบหาเงิน ทำธุรกิจโน่นนี่นั่นกระจุกกระจิกอยู่บ้าง เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่ได้ซึ้งอะไรขนาดนั้น (หัวเราะ) แล้วอันนี้พูดจริงๆ เลยนะ วันที่เขามาบอกว่าจะกลับไปทำหนัง ผมดีใจกับเขาเลยนะ สนับสนุนเลย เพราะเราทำโฆษณามาติดๆ กันประมาณ 3 ปีแล้ว หยุดไปทำหนังใหญ่บ้างเถอะ

 

มันมีความรู้สึกเสียดายบ้างไหม เพราะพอ ฉลาดเกมส์โกง เข้าฉายก็ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายกลายเป็นหนังพันล้านแบบนั้น ทั้งที่จริงๆ คุณเองก็น่าจะได้มีส่วนร่วมในนั้นด้วย

แมน: ไม่นะ อันนี้พูดกันแบบจริงๆ เลยนะ เราเข้าใจทุกอย่างเลย โปรเจกต์นี้ GDH เขาต้องการแค่ผู้กำกับคนเดียว อันนี้เรารู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหา พอกระแส ฉลาดเกมส์โกง ดังมากๆ ผมยังบอกน้องในออฟฟิศเลยว่า พี่บาสแม่งได้ทำหนังไปไกลแน่เลยว่ะ แล้วผมบอกบาสตลอดว่าไม่ต้องห่วงทางนี้เลย เพราะเขาเคยมาบอกว่าเดี๋ยวจะคิดเรื่องหรือฉากให้มันถ่ายทำได้ในประเทศไทยดีกว่า เพราะพวกที่ออฟฟิศจะได้ยังทำงานได้อยู่ เฮ้ย อย่า ถ้าจะไปทางนั้นแล้วก็ไปให้สุดทางเลย ไม่ต้องเป็นห่วงเรา

 

 

หลังจากนั้นตัวบาสเองก็พ่วงนามสกุล ‘ผู้กำกับพันล้าน’ ติดมาด้วย นามสกุลนี้มีผลกับการทำงานของคุณมากแค่ไหน ในฐานะที่เริ่มกลับมาทำงานโฆษณาแบบเต็มตัวอีกครั้งหลังจบจากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง

บาส: เอาจริงๆ ก็ช่วยได้นิดนึง แต่ไม่ได้เยอะมาก คือทำให้ลูกค้าเหมือนจะฟังเรามากขึ้น เชื่อในเรามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ทำงานยากขึ้นนะ สำหรับผม บางทีการเผด็จการเสร็จสรรพในตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องดี การคอมเมนต์งานของลูกค้าบางอันก็งดงามและทำให้งานดีขึ้น ก่อนหน้านี้จะเป็นการตีปิงปองกันไปมาระหว่างผม เอเจนซี ลูกค้า โปรดักต์ สุดท้ายทำให้งานทุกอย่างกลมและทุกคนแฮปปี้ แต่พอลูกค้าเริ่มเชื่อเรามากขึ้น พอพูดอะไรไปก็เชื่อหมด ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราพูดอาจจะไม่ดีที่สุดก็ได้ แล้วพอฟรีสไตล์มากขึ้น เราเอ็นจอยมากๆ ทำให้การทำงานขาดแง่มุมที่เรานึกไม่ถึง ทำให้ผมต้องคอนโทรลตัวเองและรีเช็กกับทีมบ่อยๆ ว่าเรามาถูกทางใช่ไหม ไม่ใช่สปอยล์ตัวเองมากเกินไปใช่ไหม

 

ก่อนหน้านั้นเชื่อว่าคอมเมนต์ของลูกค้าเป็นสิ่งงดงามอยู่แล้วหรือเปล่า

บาส: เพิ่งมาค้นพบ แต่ไม่ใช่ทุกคอมเมนต์นะ เออ บางอันมันก็ปวดใจอยู่ดี (หัวเราะ)

 

แมน: ต้องยอมรับว่าด้านความเข้าใจโปรดักต์ ฝั่งลูกค้าเขาดีกว่าเรา ถ้าเขาเชื่อเรามากๆ เราจะลืมพาร์ตโปรดักต์ของเขา เมื่อก่อนเขาจะมีคอมเมนต์เรื่องโปรดักต์ตามไบเบิลของเขา ซึ่งช่วยให้เราระวังตรงนี้ รับมือกับมันได้ ได้ทำหนังที่โอเค โปรดักต์แฮปปี้ เราแฮปปี้ แฮปปี้ด้วยกันทุกฝ่าย

 

นอกจากการทำงานโฆษณาให้ออกมาอย่างที่พวกคุณและลูกค้าต้องการแล้ว มันมีความคิดที่ไปไกลถึงขั้นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อพัฒนาวงการโฆษณาให้ดียิ่งขึ้นด้วยหรือเปล่า

บาส: ผมคิดนะ แต่ไม่อยากใช้คำว่าพัฒนาวงการ มันดูยิ่งใหญ่ไปนะ ผมคิดแค่ว่าเราจะทำยังไงเพื่อพัฒนาตัวเองไม่ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมที่เราอยู่มา 3-4 ปี เอาจริงๆ การอยู่ในคอมฟอร์ตโซนเป็นเรื่องสบายมากเลยนะ ผมสามารถทำหนังเล่นกับ Emotional หรือพวก Sadvertising ไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องคิดมากด้วย แต่รู้สึกว่าจะทำไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายไม่มีใครได้อะไรใหม่จากสิ่งนี้เลย หลังๆ เลยพยายามที่จะทำอะไรหนีจากสิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนาตัวเองด้วย แล้วหวังว่าถ้ามันเวิร์ก ทำออกมาแล้วเห็นช่องทางว่า เออ มาทางนี้ก็ดีว่ะ ทำหนังโฆษณาด้วยท่าทีแบบนี้ก็ได้นี่หว่า แล้วมันอาจจะต่อยอดในการทำงานของคนอื่นได้โดยอัตโนมัติ มันเป็นผลต่อเนื่องที่ผมอยากให้เกิดขึ้นนะ

 

 

ทำงานด้วยกันมาเยอะขนาดนี้ ยังมีโปรเจกต์ในฝันอันไหนที่คิดว่าอยากทำด้วยกันให้ได้สักครั้งอยู่อีกไหม

บาส: สมัยอยู่นิวยอร์ก ผมเคยเขียนบทหนังสั้นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเด็กไทย 2 คนที่ทำงานร้านอาหารเหมือนกัน วันหนึ่งรถไฟใต้ดินไม่วิ่ง แล้วต้องใช้เวลาทั้งคืนในการเดินกลับบ้านด้วยกัน อยากถ่ายมาก แล้ววางตัวพระเอกไว้คือพี่แมนคนนี้ ตอนนั้นเขาคือตัวท็อปของนิวยอร์กเลยนะครับ (หัวเราะ) แต่ด้วยเวลา ด้วยเงิน และหลายๆ อย่างเลยไม่ได้ถ่าย เอาไหมพี่ อีกสักรอบ

 

แมน: พอก่อนๆ แก่แล้วเว้ย (หัวเราะ) ผมว่าพอมาอยู่ในวงการนี้ ปลายทางก็ยังอยากทำหนังใหญ่อยู่นะ อยากเป็นโปรดิวเซอร์หนังใหญ่สักเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองทำดู

 

บาส: ได้นะพี่ แต่ต้องลดความใจดีลงหน่อย ส่วนผมต้องลดความเอาแต่ใจลงอีกนิด (หัวเราะ)  

 

อยากเห็นบาสกำกับงานอะไรมากที่สุด

แมน: โห เราทำมาเยอะแล้วนะ น่าจะมีงานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เคยทำ ตอนนี้น่าจะยาก เพราะโฆษณาไม่ได้แล้ว แต่คิดว่าบาสน่าจะดึงอะไรดีๆ ออกมาได้ ถ้าเขาได้ทำงานเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อะไรพวกนี้

 

บาส: เพราะผมกินเหล้าเก่งใช่ไหม (หัวเราะ)

 

 

BOYd KOSIYABONG – The Lost Hour ในคืนที่เราเจอะเจอกันครั้งแรก อีกหนึ่งผลงานของบาสและแมนในนาม Houseton Film

FYI
  • ก่อนหน้านี้บาสและแมนเปิดบริษัทโปรดักชันเฮาส์ร่วมกันในชื่อ Superuber ตั้งแต่ 6 ปีก่อน แล้วมักจะถูกถามและแซวอยู่เสมอว่าเป็นบริษัทเกี่ยวกับแท็กซี่หรือเปล่า เลยตัดสินใจเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Houseton Film อย่างที่เห็นในตอนนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising