×

จะอยู่กันอย่างไรในเมืองเปื้อนฝุ่น?

02.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • ‘PM 2.5’ เป็นหนึ่งในฝุ่นหลายๆ ชนิดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนเรา ด้วยฝุ่นดังกล่าวมีขนาดที่เล็กจิ๋วจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง
  • มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็งจึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด ฯลฯ

ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่าประชากรกว่า 80% ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับระดับคุณภาพมลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐาน ซึ่งแนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ด้วยสาเหตุการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ยิ่งคุณภาพของอากาศในเมืองแย่ลง คนเมืองยิ่งเสี่ยงต่อโรคทางสุขภาพต่างๆ อย่างเมื่อไม่นานที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็เพิ่งถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกมลพิษ​ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะกลับมาอีกเมื่อไร นอกจากนี้ยังมีหัวเมืองตามต่างจังหวัดที่กำลังเจริญเติบโต คนเมืองควรจะรู้อะไร และควรจะตั้งรับอย่างไร

 

PM 2.5 ฝุ่นพิษที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนไทย

รายงานดัชนีเรื่องคุณภาพอากาศของกรีนพีซที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กล่าวถึง ‘PM 2.5’ หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (หมายถึงฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์) ซึ่งเป็นหนึ่งในฝุ่นของฝุ่นหลายๆ ชนิดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนเรา ฝุ่นชนิดนี้อันตรายกว่าฝุ่นชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะด้วยขนาดเล็กจิ๋วจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังหลายอย่าง PM 2.5 แบ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน PM 2.5 ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดน และปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบใดๆ เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ในปี พ.ศ. 2556

 

PM 2.5 มาจากไหน?

คำตอบคือจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยหลักๆ มาจากสาเหตุ 5 ประการดังนี้ 1.การคมนาคมขนส่ง 2. การผลิตไฟฟ้า 3. อุตสาหกรรมการผลิต 4. ที่อยู่อาศัย/ธุรกิจการค้า 5. การเผาในที่โล่ง

 

ใครที่ได้รับผลกระทบบ้าง?

แน่นอนว่าทุกคนที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งต้องหายใจสูดอากาศเข้าไปในร่างกาย แต่องค์กรอนามัยโลกยังระบุอีกว่า เมื่อเมืองเต็มไปด้วยอากาศพิษ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีฐานะยากจน ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน

 

ผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ

จากการศึกษาโดย The Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME), University of Washington สนับสนุนโดยธนาคารโลกพบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง สำหรับก๊าซโอโซนเป็นสารระคายเคืองปอด ทำให้ปอดติดเชื้อง่าย จึงเป็นปัจจัยร่วมอันก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

จะอยู่กันอย่างไรในเมืองอากาศมีพิษ

เมืองที่น่าอยู่ปลอดจากมลพิษทางอากาศคือเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี มีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่ก็อย่างที่เราทราบกันว่าเมืองใหญ่ในประเทศนี้โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ได้เติบโตไปในทิศทางเช่นนั้น แม้เราจะเรียกร้องหาพื้นที่สีเขียว แต่นโยบายรัฐกลับไม่เอื้อ และทุนนิยมก็ทำให้เรากลับมีห้างให้ซื้อของมากขึ้นเรื่อยๆ แถมระบบขนส่งมวลชนก็ยังไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ในเร็วๆ นี้

 

เมื่อไม่นานที่กรุงเทพฯ ก็เพิ่งถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกมลพิษ​ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะกลับมาอีกเมื่อไร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะวันที่มีหมอกหรอกที่มีมลพิษทางอากาศ แต่เราต้องอยู่กับควันพิษกันทุกเมื่อเชื่อวัน ในกรณีนี้ THE STANDARD จึงได้พูดคุยกับคุณหมอ นายแพทย์อภิรักษ์ ปาลวัฒน์วิไชย ผู้อำนวยการแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 (สนามเป้า) แพทย์เฉพาะทาง โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ, อนุสาขาเวชบำบัดวิกฤต ถึงผลกระทบและข้อควรปฏิบัติในการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเปื้อนฝุ่น  

 

Q: ฝุ่นและควัน อากาศมีพิษจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนเราอย่างไรบ้าง

การจะเกิดอันตรายต้องอาศัยหลายปัจจัย คือ 1. ต้องสูดอากาศพิษเข้าไปเป็นปริมาณมาก และ 2. สะสมอยู่นานพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพฯ ของเราเวลาอากาศนิ่งไม่มีลมพัดก็จะเกิดการตกค้างของฝุ่นควันพิษ​ แต่ก็เป็นระยะเวลาไม่นานนัก ซึ่งก็อาจส่งผลกับคนบางกลุ่ม เช่น คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คนที่เป็นหอบหืด ก็อาจจะทำให้มีอาการไอได้ถ้าสูดฝุ่นควันเข้าไปมาก และกลุ่มคนที่เป็นโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ล้วนถูกสิ่งที่เป็นภูมิแพ้ (ฝุ่น ควัน) กระตุ้นเข้าไปก็อาจจะทำให้เหนื่อย แล้วอาจจะกระตุ้นให้โรคที่มีอยู่เดิมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

Q: คนเมืองจะป้องกันสุขภาพได้อย่างไร ในเมื่อยังต้องอยู่อาศัยในเมือง

นอกจากการป้องกันโดยแก้ไขที่ต้นตอซึ่งปล่อยควันแล้ว การป้องกันตัวเราเองก็มีส่วนสำคัญ โดยในช่วงที่มีฝุ่นควันเราก็ควรหลีกเลี่ยงในบริเวณที่มีฝุ่นควันเยอะ เช่น บริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น งดหลีกเลี่ยงกิจกรรมออกกำลังกาย หรืออะไรที่จะทำให้ต้องหายใจเยอะๆ ในบริเวณที่มีฝุ่นควันมาก การสวมใส่หน้ากากอนามัยก็พอจะช่วยกรองฝุ่นขนาดใหญ่ๆ ได้ แต่ฝุ่นเล็กๆ ก็สามารถเข้าไปในปอดได้อยู่ดี แต่ก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง ยังดีกว่าไม่ใส่อะไรป้องกันเอาไว้เลย แต่เราก็พบว่ามีหลายคนซึ่งยังไม่รู้วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องครับ

ในกลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด หรือแพ้อากาศ พบว่าในบริเวณที่มีกลุ่มควันเยอะมากเกินปกติจะกระตุ้นให้โรคเดิมรุนแรงขึ้น จึงต้องระวังเป็นพิเศษกว่าคนอื่น แนะนำว่าอย่าออกไปในที่ที่มีกลุ่มควันเยอะ หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปข้างนอกก็ควรเดินทางให้สั้นที่สุด

Q: การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเป็นอย่างไร

หน้ากากอนามัยมีหลายชนิด แบบที่ปิดหน้าไม่ให้อากาศเข้าข้างๆ ได้เลยนั้นดีกว่า แต่ข้อเสียคือเมื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะเหนื่อย เพราะทำให้หายใจลำบาก คนทั่วไปส่วนใหญ่จึงมักจะใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากกระดาษ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป สังเกตวิธีการใส่ที่ถูกต้องได้อย่างง่ายๆ คือ เวลาหายใจ ลมส่วนใหญ่จะผ่านตัวกรองก่อนถึงจมูกเรา ดังนั้นจึงต้องใส่ให้ปิดทั้งข้างบนและข้างล่าง เมื่อเราหายใจเมื่อไรลมออกไม่ได้ผ่านกระดาษหรือตัวกรองออกมาด้านข้างหรือเหนือจมูกขึ้นไปก็แสดงว่ามีรู อากาศข้างนอกจึงผ่านเข้าไปไม่ผ่านตัวกรอง ซึ่งก็จะไม่ช่วยในการกรอง ดังนั้นจึงต้องใส่ให้ปิดทั้งข้างบนและข้างล่าง และปรับหน้ากากให้เข้ากับใบหน้า อากาศส่วนใหญ่ต้องผ่านทางหน้ากากเท่านั้น และต้องไม่ใช้ซ้ำข้ามวัน

 

Q: คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคประจำตัวต้องมีวิธีการดูแลตัวเองเป็นพิเศษอย่างไร

ในกลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด หรือแพ้อากาศ พบว่าในบริเวณที่มีกลุ่มควันเยอะมากเกินปกติจะกระตุ้นให้โรคเดิมรุนแรงขึ้น จึงต้องระวังเป็นพิเศษกว่าคนอื่น แนะนำว่าอย่าออกไปในที่ที่มีกลุ่มควันเยอะ หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปข้างนอกก็ควรเดินทางให้สั้นที่สุด แล้วเวลาที่ออกไปนอกอาคารก็ต้องใช้แรงให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเราต้องหายใจเยอะก็จะนำฝุ่นควันเข้าไปในร่างกายเยอะเช่นกัน ถ้าติดตามข่าวแล้วรู้ว่าวันไหนหรือที่ไหนมีกลุ่มควันเยอะก็ควรจะหลีกเลี่ยง

 

Q: จะสังเกตได้อย่างไรว่าเราสูดฝุ่นควันเข้าไปมากจนต้องมาพบแพทย์

ในคนที่ถูกฝุ่นควันเยอะ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว หลังออกจากพื้นที่ซึ่งมีฝุ่นควันก็อาจจะมีอาการไอเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็จะหายไปในที่สุด แต่คนกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยขึ้นมาหลังออกมาจากสถานที่ที่มีฝุ่นควันแล้ว และพักสักระยะอาการก็ยังไม่ดีขึ้นก็ควรมาพบแพทย์ เพราะในบางคนอาการอาจจะแย่ลง

 

คนทั่วไปถ้ามีอาการไอหลังออกจากพื้นที่ที่มีฝุ่นควันแล้วค่อยๆ ลดลงภายใน 24 ชั่วโมงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไอเป็นวันๆ ก็ควรไปพบแพทย์ คนเป็นหอบหืดถ้ามีอาการหอบเหนื่อยใช้ยารักษาประจำตัวเดิม (ยาพ่น) แล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรจะไปพบแพทย์ ส่วนคนไข้กลุ่มหัวใจถ้ายังมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ และถ้าทานยาประจำตัวแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอให้ถึง 24 ชั่วโมง

 

Q: ถ้าในอนาคตมีกรณีหมอกควันพิษเกิดขึ้นอีก และกินระยะเวลานานกว่านี้จะมีผลอย่างไร

ก็ต้องมีฝุ่นควันในระดับสูงนานๆ เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาลเยอะขึ้น แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า คนกรุงเราก็เจอกับภาวะอากาศเช่นนี้เป็นระยะๆ อยู่แล้ว อย่างในช่วงอากาศอบอ้าวไม่มีลมพัดผ่าน ซึ่งก็เป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงไม่ต้องตกใจมาก ขอให้ทราบกันว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในชีวิตประจำวันหากหลีกเลี่ยงได้ก็จะดีครับ

 

ก็ได้แต่หวังว่าการเติบโตของเมืองใหญ่ จะเป็นไปในทิศทางที่ดีและยั่งยืน ชาวเมืองจะได้ไม่ต้องหายใจเอามลพิษทางอากาศเข้าไปจนเจ็บป่วย ทั้งสุขภาพกายและใจของประชาชนชาวเมืองคงดีมีความสุขขึ้น

FYI
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising