×

แก่เกิน 25 ปี จบสูงกว่า ป.ตรี ห้ามอยู่หอพัก! เมื่อกฎหมายขัด รธน. ผู้ประกอบการลูกค้าหาย กำไรหด

10.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins read
  • พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 ที่กำหนดเกณฑ์ผู้พัก ทั้งเรื่องอายุที่ต้องไม่เกิน 25 ปี และการศึกษาที่ต้องเรียนไม่เกินปริญญาตรี กลายเป็นเงื่อนไขและภาระสำหรับผู้ประกอบกิจการหอพัก รวมทั้งผู้พักและมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้ยากต่อการจัดการและสร้างปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพที่เกินจำเป็น เลือกปฏิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบตามโครงงานหลักวิชาชีพนักกฎหมาย นำความรู้จากทฤษฎีในห้องเรียนมาสู่การปฏิบัติจริงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีนี้

     20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558’ มีผลใช้บังคับจนถึงเวลานี้ก็ประมาณเกือบ 2 ปีแล้ว แต่เงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้ในกฎหมายกลับสร้างผลกระทบให้กับหอพักเอกชน ผู้พัก และมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะเกณฑ์เรื่องผู้พักที่ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และเรียนไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรี

 

 

     กระทั่งเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวได้รวมตัวกันเข้ามาหารือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งอาสาเข้ามาช่วยเหลือและดำเนินการให้ภายใต้ ‘โครงงานหลักวิชาชีพนักกฎหมายเพื่อการบริการสังคม’ ที่มี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา

     THE STANDARD ขออาสาพาไปทำความเข้าใจถึงเรื่อง ‘หอพัก’ กับแง่มุมกฎหมายที่เป็นเรื่องไม่ไกลตัวพวกเราทุกคนผ่านกระบวนการเรียนรู้นี้

 

 

ทุกข์ของหอพักเอกชน ผู้พัก และมหาลัยเอกชน เมื่อกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ

     คนึงจันทร์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจหอพักเอกชน อธิบายให้ THE STANDARD ฟังว่า หอพักที่ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้ความหมายของพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 จุดสังเกตก็คือจะมีคำว่า ‘หอพัก’ ติดอยู่ด้านหน้าชื่อ แต่ที่เราเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่าหอนั้นอาจเป็นอพาร์ตเมนต์หรือชื่อเรียกอื่น ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นหอพักตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด

     “บางหอพักที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ปฏิบัติดีมาตลอด ส่วนหอพักที่จดทะเบียนทำธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ก็ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง ปัจจุบันนี้คนเข้าพักก็ไม่ได้เต็ม แล้วยังจะต้องมาเจอเงื่อนไขทางกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้าพักอีก ซึ่งก็รู้สึกว่าไม่แฟร์”

 

 

     เธอยังบอกอีกว่ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้โดยที่ไม่มีส่วนร่วมของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

     เมื่อกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เข้าหารือต่อคณะนิติศาสตร์ จากการศึกษาและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพบว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลให้ไม่สามารถใช้บังคับได้

 

 

  1. ผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอกชน

     กฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 36 กำหนดให้ ‘หอพักเอกชน’ รับผู้พักได้เฉพาะคนที่กำลังเรียนระดับอุดมศึกษาไม่สูงไปกว่าระดับปริญญาตรี

     ส่วนคำว่า ‘ผู้พัก’ มาตรา 4 เขียนเกณฑ์ไว้ว่าต้องเป็นคนที่อยู่ระหว่างเรียนหนังสือในสถานศึกษา ต้องเรียนไม่เกินปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี

     เมื่อเขียนเกณฑ์แบบนี้ เจ้าของหอเดือดร้อนแน่ๆ เพราะกลุ่มลูกค้าถูกจำกัดให้แคบลง จะรับคนที่เรียนสูงกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกิน 25 ปีเข้ามาพักไม่ได้เลย หรือในทางกลับกันคือต่อให้เรียนต่ำกว่าปริญญาตรี แต่อายุเกิน 25 ปี ก็รับเข้าพักไม่ได้เหมือนกัน

     แถมวันหนึ่ง ถ้าหากเคยอยู่หอพักนี้มานาน แต่พอเรียนจบปริญญาตรีแล้วอยากอยู่ต่อเพื่อเรียนปริญญาโทก็ให้อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะอาจจะผิดกฎหมาย

     แล้วผลที่ตามมาคืออะไร? ตอบง่ายๆ ก็คงไม่มีเจ้าของหอคนไหนอยากจะเอาธุรกิจตัวเองมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะติดขัดเงื่อนไขเหล่านี้

     พูดให้ง่ายก็คือแบบนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเจ้าของหอ แถมเป็นเรื่อง ‘เกินจำเป็น’ ด้วยสำหรับกฎเกณฑ์แบบนี้ ซึ่งพอกางรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อันเป็นกฎหมายแม่บทก็ถือว่าขัดมาตรา 40 และมาตรา 26

     การจำกัดคุณสมบัติคนจะมาเช่าหอพักไว้แคบแบบนี้แล้วใครจะกล้าลงทุน หรือที่ลงทุนกู้เงินมาแล้วก็ต้องขาดทุนแบบไม่ต้องเดาแน่นอน

 

 

  1. ผลกระทบต่อผู้พัก

     อย่างที่แจกแจงไปแล้วว่าเกณฑ์เรื่อง ‘ผู้พัก’ ไม่ได้ส่งผลแค่ในเชิงธุรกิจของเจ้าของหอ แต่เดือดร้อนต่อคนทั่วๆ ไปอย่างพวกเราที่เป็นนิสิตนักศึกษาด้วย เพราะจะอยู่หอพักได้คือต้องเรียนไม่สูงกว่าปริญญาตรี และอายุต้องไม่เกิน 25 ปี

     ทีนี้ถ้าขยันจะต่อปริญญาโท ปริญญาเอก อายุไม่เกิน หรืออายุเกิน แต่ยังเรียน แค่ปริญญาตรีก็ไม่สามารถจะอยู่หอต่อไปได้ ถ้าเจอเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบก็เป็นอันต้องใช้คำว่า ‘ซวย’

     การมาจำกัดสิทธิ์แบบนี้โดยเอาเกณฑ์เรื่องอายุและการศึกษาของคนมาจับจึงถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรค 3

     แถมเกณฑ์ที่กำหนดมายังอธิบายไม่ได้อีกว่าจะสามารถคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างไร

 

 

  1. ผลกระทบต่อหอพักมหาวิทยาลัยเอกชน

     เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์อายุและการศึกษา แถม มาตรา 4 ที่เขียนให้สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความรวมถึงสถาบันหรือมหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

     อ่านแล้วงงไหม? เฉลยก็คือทุกที่ที่จัดให้มีการเรียนการสอนแล้วมีหอพักด้วยต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่กลับยกเว้นให้ ‘มหาวิทยาลัยของรัฐ’ ไม่ต้องใช้เกณฑ์นี้

     เพราะฉะนั้น ‘มหาวิทยาลัยเอกชน’ จึงต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ของกฎหมายนี้ไปเต็มๆ ดูแล้วก็ประหลาดอยู่เหมือนกัน ในเมื่อจัดการเรียนการสอนเหมือนกัน แต่การจัดการหอพักกลับต่างกัน แล้วถ้ามีการเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือ นักศึกษาที่ไม่รีบจบ อยู่ปริญญาตรี แต่อายุเกิน 25 ปี ก็กลายเป็นว่าต้องย้ายที่อยู่ไปทันที นี่ยังไม่นับรวมอาจารย์และบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

     “อาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะปัจจุบันได้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกิจการเรื่องของหอพัก ก็จะถูกตีความว่าเป็นการดำเนินการโดยเอกชน ถามว่าแล้วต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้หรือไม่” ผศ.ดร.ปริญญาอธิบายถึงข้อสังเกตเพิ่มเติม

 

 

เมื่อการเรียนไม่ได้หยุดอยู่ที่ทฤษฎี แก่กว่า 25 ปี เรียนสูงกว่าปริญญาตรี ต้องได้อยู่หอ

     พิมพ์ปราง บุณยสมิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษา ‘โครงงานหลักวิชาชีพนักกฎหมายเพื่อการบริการสังคม’ บอกกับ THE STANDARD ถึงการเริ่มต้นเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในเรื่องนี้ว่า เรามีการรวมตัวเป็นกลุ่มนักศึกษาขึ้นมาในชั้นเรียน และมองเห็นปัญหาร่วมกันในขั้นต้นว่าเรื่องของหอพักค่อนข้างจะมีปัญหาเกี่ยวกับค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งมักจะได้รับการร้องเรียนจากประชาชน

     ต่อมามีการประสานเข้ามาเกี่ยวกับผู้ประกอบการหอพักผ่านทางคณะนิติศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงงาน จึงได้นำเรื่องนี้เข้ามาศึกษาดูและพบว่ามีปัญหาที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ไม่เพียงสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ แต่ยังกระทบถึงผู้พักและหอพักของมหาวิทยาลัยเอกชนอีกด้วย

     “เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ เพราะจะเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟได้ก็ต้องมีผู้พักอาศัย แต่เมื่อมีเกณฑ์เรื่องอายุและการศึกษาเข้ามา ทำให้หอพักมีจำนวนห้องว่างเพิ่มขึ้น รายได้หายไปจำนวนมาก”

 

 

     ปัญหานี้ได้รับการยกขึ้นมาพูดคุยต่อ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ ‘การแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้พักและผู้ประกอบกิจการหอพัก อันเกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558’ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     ในวันนั้นกลุ่มนักศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ภาครัฐต้องดำเนินการในการตรวจสอบหอพักที่ไม่จดทะเบียนด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายกับทั้งฝ่ายผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบหอพักอย่างถูกต้องและหอพักที่ไม่จดทะเบียน

     ผลจากการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักได้แจ้งว่า ทางคณะกรรมการได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้มีการพูดคุยกันเพื่อจะแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวโดยการตัดเงื่อนไขด้านวุฒิการศึกษาออกไปให้คงเหลือแต่เกณฑ์อายุเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ให้นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกเข้าพักได้

 

 

     อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอให้ทางคณะกรรมการพิจารณาความเป็นไปได้ถึงการแก้ไขเกณฑ์อายุด้วย และให้คงเหลือเพียงแต่เงื่อนไขที่ว่า

     ‘หอพักที่ถูกต้องตามกฎหมายคือหอพักที่แยกชาย-หญิงเท่านั้น’

     ซึ่งผู้แทนฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอทางวิชาการจากกลุ่มนักศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำไปให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาต่อไป

 

 

     วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มเจ้าของหอพักและนักศึกษาได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนยังกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับโอนอำนาจมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการบังคับใช้กฎหมายหอพักในเขตกรุงเทพมหานคร

     แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับบังคับใช้แต่เพียงกับหอพักเอกชนที่จดทะเบียนเท่านั้น มิได้มีการไปจับกุมหอพักที่ไม่จดทะเบียน หรือหอพักเถื่อน ซึ่งมีเป็นจำนวนมากกว่า ส่งผลให้หอพักที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้รับผลกระทบโดยตรง และไม่อยากที่จะอยู่ในระบบต่อไป

     ปัจจุบันหอพักที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากที่มีเกือบ 20,000 แห่งทั่วประเทศกลับลดลงจนแทบไม่เหลือ และคาดว่าในอนาคตอาจไม่มีหอพักที่ดีเหลืออยู่ในระบบอีกต่อไป

     ในวันเดียวกันก็ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.​ 2558 อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรายละเอียดข้างต้น

     และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเข้าร้องเรียนต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

     อำพล พูลธนพงษ์ หนึ่งในนักศึกษาโครงงานนี้บอกกับ THE STANDARD ว่า สิ่งสำคัญก็คือเราสามารถทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะยืนขึ้นเพื่อต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความกังวล และต่อจากนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นประการใดจะได้ติดตามต่อไป ถือว่าเราได้นำความรู้มาช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว

 

 

ทำความรู้จัก ‘พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558’ เบื้องต้น

     พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา สรุปมีผลบังคับใช้จริงๆ ก็คือตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา

     เหตุผลที่มีการร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ขึ้นมาก็เพราะว่า กฎหมายหอพักฉบับเดิมบังคับใช้มานานมากตั้งแต่ พ.ศ. 2507 (หลายคนอาจยังไม่เกิด) บวกกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจึงต้องเขียนกฎหมายใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และมีหัวใจสำคัญ ‘เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการศึกษา’

     ยังมีอีกเหตุผลที่สำคัญก็คือ มีการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยให้โอนอํานาจการกํากับดูแลหอพักไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ก็ขึ้นกับ สำนักงานเขตต่างๆ

     กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ 104 มาตรา ใช้บังคับกับทุกหอพักที่มีผู้พักเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาไม่สูงกว่าปริญญาตรี มีอายุไม่เกิน 25 ปี และมีการเรียกเก็บค่าเช่าหอ

     กฎหมายฉบับนี้กำหนดลักษณะหอพักไว้ 2 แบบคือ

     ‘หอพักสถานศึกษา’ คือหอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ถามว่าได้แก่อะไรบ้าง คำตอบก็คือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนที่จัดการเรียนการสอน ถือว่าอยู่ในข่ายนี้หมด

     ส่วนอีกแบบคือ ‘หอพักเอกชน’ คือหอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่หอพักของสถานศึกษานั่นเอง

     แถมยังแบ่งประเภทย่อยของหอพักทั้ง 2 แบบให้มีหอพักชายและหอพักหญิงแยกออกจากกันด้วย

     กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ทุกหอพักต้องมี ‘ผู้จัดการหอ’ คอยดูแลไม่ให้มีการดื่มเหล้าหรือเล่นการพนัน และต้องคอย ‘แจ้งผู้ปกครอง’ หากผู้พัก (ที่เป็นนักเรียนหรือเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่) ย้ายไปพักที่อื่น

     ถือว่ามีรายละเอียด เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเคร่งครัด

(คลิกอ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับเต็มที่นี่)

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising