หนังสือไกด์บุ๊กที่เราเห็นกันจนชินตาตามแผงหนังสือทั่วไป มักเป็นหนังสือที่จะพาไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ แนะนำสถานที่ที่ควรไป สิ่งที่ต้องทำเมื่อไปถึง หรือทริกอะไรบ้างที่เราต้องเรียนรู้ ซึ่งไกด์บุ๊กทั่วไปรวบรวมแค่พิกัดเที่ยว ที่พัก หรือร้านอาหารเพียงเล็กน้อย แต่คงจะดีไม่น้อยถ้ามีหนังสือสำหรับอาหารโดยเฉพาะ ที่จะทำให้เราไม่ต้องยุ่งยากแถมยังได้เจอกับร้านที่อร่อยถูกปาก
อาหารอิตาเลียนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในไทย จนมีร้านอาหาร ‘อิตาเลียน’ ผุดขึ้นมากมายในบ้านเรา แต่ร้านไหนเป็นรสอิตาเลียน ‘ของแท้’ ไม่ใส่ความฟิวชันแบบที่เราเห็น ทั้งพาสต้าเขียวหวาน สปาเกตตีขี้เมา
หอการค้าไทย-อิตาเลียน (Thai-Italian Chamber of Commerce) เปิดตัวหนังสือ A Guidebook to Italian Cuisine in Thailand หนังสือไกด์บุ๊กที่รวบรวมร้านอาหารอิตาเลียนแท้ๆ ในกรุงเทพฯ กว่า 200 แห่ง และกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศไทยที่ผ่านการตรวจสอบ และได้รับรางวัลในโครงการ Ospitalita’ Italiana โครงการที่จัดขึ้นเพื่อตรวจสอบและรับรองร้านอาหารอิตาเลียนแท้ๆ ในต่างประเทศ และจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1997
นายลอเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ มิเคเล โทเมอา (Michele Tomea) เลขาธิการหอการค้าไทย-อิตาเลียน กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดทำหนังสือไกด์บุ๊ก ว่าจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่คนไทยถึงวัตถุดิบต่างๆ ในอาหารอิตาลี รวมถึงสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศอิตาลี ให้ข้อมูลและโปรโมตแหล่งกำเนิดของอาหารและวัตถุดิบในอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าไม่น้อยที่อ้างว่ามาจากอิตาลี ด้วยการติดธงชาติอิตาลีบนตัวสินค้า
วิธีตรวจสอบและคัดเลือกร้านอาหารอิตาเลียน ไม่ได้เน้นการตรวจสอบรสชาติอาหาร แต่ใช้หลัก 10 ประการด้วยกันคือ
1. วัตถุดิบที่นำมาใช้ (Identity and Italian Distinctiveness) อาทิ ชีส เนื้อสัตว์ ฯลฯ ว่าได้คุณภาพและมาจากแหล่งที่อ้างอิงในอิตาลีดังที่ควร
2. บริการและการต้อนรับที่ดี (Reception)
3. การเตรียมวัตถุดิบก่อนนำมาปรุงอาหาร (Mise en Place) ที่ต้องถูกหลักอนามัย และจัดเก็บ ตระเตรียมอย่างเหมาะสม
4. ห้องครัว (Kitchen) ตรวจสอบความสะอาด เหมาะแก่การทำอาหารที่มีมาตรฐานเบื้องต้น โดยรวมไปถึงเตา ตู้เย็น และตู้เก็บอาหารต่างๆ ที่ต้องจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบและอย่างถูกสุขอนามัย
5. เมนู (Menu) ตรวจสอบการเขียน การใช้ภาษาอิตาลี ที่ต้องสะกดอย่างถูกต้อง โดยมีทีมงานคอยแก้ไขให้หากต้องการ
6. พนักงานในครัว (Gourmet Officer) พนักงานครัวควรรู้จักการใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องเบื้องต้น
7. ไวน์ (Wine List) เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าไวน์ที่อ้างว่ามาจากอิตาลีนั้นมาจากแหล่งที่อ้างจริง
8. น้ำมันมะกอก (Extra Virgin Olive) ตรวจสอบน้ำมันมะกอกที่ใช้ในการปรุงอาหารว่าเป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ตามฉลากที่ระบุจริง
98. มีประสบการณ์และความสามารถ (Experience and Competence) เชฟผู้ปรุงอาหารสามารถเป็นชาติใดก็ได้ แต่ต้องมีความรู้ความสามารถในการทำอาหารอิตาลี และรู้จักการใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องเบื้องต้น
10. สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากแหล่งกำเนิดอาหารที่มีตรารองรับจาก PDO และ PGI (PDO and PGI Products) ที่รับรองโดยสมาพันธ์ยุโรป หรือ European Union
ภายในหนังสือเล่มนี้ยังมีข้อมูลร้านอาหารทั้ง 44 แห่งที่ผ่านการตรวจสอบ และได้รับการรับรองจากหอการค้าไทย-อิตาเลียน ว่าเป็นร้านอาหารอิตาเลียนแท้ที่ได้มาตรฐาน ร้านที่ได้รับเลือก อาทิ Lenzi, Opus, Appia, Enortica, Peppina, Ciao, La Dolce Vita, Cioa Pizza เป็นต้น
ในหนังสือยังมีคำอธิบายเมนูจานเด็ดของแต่ละร้าน บอกส่วนผสมหลักที่มีอยู่ในแต่ละเมนูตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อย จานหลัก ของหวานและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังมีบทความพิเศษให้เห็นถึงที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ เห็นภาพรวมของการท่องเที่ยวอิตาลี และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของการรับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน
หนังสือ A Guidebook to Italian Cuisine in Thailand มีจัดจำหน่ายแล้วที่ร้าน Kinokuniya ทุกสาขา, Openhouse ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี และ Tops Supermarket ในราคา 380 บาท และจัดทำออกมาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
อ่านเรื่อง ‘พิซซ่าตำรับเนเปิลส์’ ได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์