×

THE DUALITY ปักหมุดงานศิลปะร่วมสมัยที่จัดในความร่วมมือกับ Bangkok Art Biennale 2018 กับนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปนั่งๆ นอนๆ ‘ใน’ งานศิลปะ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
19.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • Life Asoke Hype นิทรรศการที่เอพี (ไทยแลนด์) เปลี่ยน Sales Gallery มาเป็นพื้นที่ศิลปะที่เราสามารถเข้าไปลองนั่งลองนอนบนงานศิลปะกันได้
  • The DUALITY ไม่ใช่นิทรรศการศิลปะทั่วไปที่เป็นแค่การคิวเรตงานศิลปะเข้าไปแขวนในห้อง เพราะโจทย์ที่มอบให้ศิลปินกลับไปคิดเป็นการบ้านคือจะสอดแทรกงานศิลปะเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับห้องพักอย่างไร
  • Lucas Price และ O Terawat & Tarida ดีไซเนอร์จาก projecttSTUDIO สะท้อนความ ‘สุดขั้ว’ ของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
  • สิ่งที่เอพี (ไทยแลนด์) พยายามทำมาตลอดคือการสร้าง Functional Art ในฐานะ Urban Developer เอพีเห็นความสามารถและความสำคัญของศิลปะ และนี่เป็นเหตุผลของการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุน Bangkok Art Biennale ครั้งนี้

การเกิดขึ้นของ Bangkok Art Biennale 2018 ทำให้นิยามคำว่า ‘พื้นที่ศิลปะ’ ของคนกรุงขยายตัว จากที่เคยคิดว่าศิลปะต้องอยู่ในห้องผนังขาวอย่างหอศิลป์อย่างเดียว กลายเป็นว่าทุกๆ สถานที่ในเมืองตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าไปจนถึงวัดวาอารามนั้นเป็นที่ตั้งของงานศิลปะได้ทั้งสิ้น ซึ่งเอพี (ไทยแลนด์) ได้พลิกโฉม Sales Gallery ของคอนโดมิเนียมโครงการ Life Asoke Hype รวมถึงห้องตัวอย่าง มาจัดแสดงงานศิลปะแนวใหม่เป็นนิทรรศการในความร่วมมือกับ Bangkok Art Biennale 2018 ภายใต้คอนเซปต์ ‘The DUALITY’ โลกทวิภาวะที่ความแตกต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างงดงาม

 

 

“มันเริ่มต้นตรงที่การคิดว่าอะไรคือความเป็นกรุงเทพฯ วัฒนธรรมไทยขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนช้อย ประณีต ลองนึกถึงศิลปะอย่างนาฏศิลป์หรือการประดับประดาบนฝาผนังวัดดู แต่พวกเราก็ใช้ชีวิตจริงอยู่ในเมืองสมัยใหม่ที่ทุกอย่างฉับไวไปหมด กรุงเทพฯ มีความสุดขั้ว มันเป็น Duality ในตัวมันเองอยู่”

 

สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง คิวเรเตอร์นิทรรศการ บอกกับ THE STANDARD ว่าศิลปินที่ร่วมงานกันในครั้งนี้ Lucas Price และ O Terawat & Tarida ดีไซเนอร์จาก projecttSTUDIO นั้นสะท้อนความ ‘สุดขั้ว’ ของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีวิธีการทำงานศิลปะคนละแบบกันอย่างสิ้นเชิง ลูคัส ไพรซ์ หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ Cyclops เป็นศิลปินมีบทบาทมากในช่วง 80s ยุคที่สตรีทอาร์ตของ Bristol Street ในสหราชอาณาจักรกำลังเฟื่องฟู ตรงกันข้ามกับ โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ ที่ถนัดทำงานลายเส้นวาดมือ โดดเด่นเรื่องความละเอียดลออของเส้นสาย และทำงานออกแบบภาพประกอบเป็นหลัก

 

ความน่าสนใจข้อถัดมาคือ The DUALITY ไม่ใช่นิทรรศการศิลปะทั่วไปที่เป็นแค่การคิวเรตงานศิลปะเข้าไปแขวนในห้อง เพราะโจทย์ที่มอบให้ศิลปินกลับไปคิดเป็นการบ้านคือจะสอดแทรกงานศิลปะเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับห้องพักอย่างไร “จากที่เคยเป็นคนซื้อของมาแต่งบ้าน ตอนนี้เราได้เป็นคนออกแบบของพวกนั้นด้วยตัวเอง” ธีรวัฒน์ได้รับมอบหมายให้ออกแบบห้องของผู้หญิง “ซึ่งผู้หญิงก็มีหลายแบบ เราเลยคิดไปถึงดอกไม้ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ มีหน้าตาและคาแรกเตอร์แตกต่างกันไป”

 

 

ธีรวัฒน์ตั้งชื่อห้องที่เขาออกแบบว่า Petals Room ศิลปินเล่าว่ามีผู้หญิงสองคนที่มีผลต่อการทำงานครั้งนี้ คนแรกคือผู้หญิงในจินตนาการที่เขาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ “ผู้หญิงคนนี้มีความเอ็กโซติกหน่อยๆ เป็นผู้หญิงที่มีสไตล์ชัดเจน มีความลึกลับและอ่อนหวานในคนเดียวกัน” ธีรวัฒน์บอกกับ THE STANDARD ว่าส่วนผสมของหลากหลายอารมณ์ภายในตัวผู้หญิงคนเดียวเป็นที่มาของฟอร์มกลีบดอกไม้อันหลากหลาย ทั้งนุ่มลึกและอ่อนหวาน ไปจนถึงดอกที่ร้ายแต่เย้ายวนที่กระจายไปตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลีบดอกไม้กระดาษในชามแก้ว บนปลอกหมอน รวมถึงบนพรมขนาดใหญ่กึ่งกลางห้องที่เป็นภาพโคลสอัพของกลีบดอกไม้หลากหลายฟอร์ม ดึงสายตาเราอยู่หมัดตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในห้อง

 

 

ธาริดาคือผู้หญิงอีกคนที่มีอิทธิพลต่อการทำงานครั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่าลายเซ็นการทำงานออกแบบของธาริดาคือการใช้เวกเตอร์สร้างความเป็นไปได้ของการเกิดรูปทรงใหม่ๆ ถ้าใครเคยไปดูนิทรรศการ New World Order ของธาริดา กับแกลเลอรี RMA Institute เมื่อปีที่แล้ว (ดูเพิ่ม art4d.com/2017/04/new-world-order) จะพบว่ามีกลิ่นอายบางอย่างปรากฏอยู่ในผลงานครั้งนี้ของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะความออร์แกนิกของกลีบดอกไม้ที่เหมือนมีชีวิต ค่อยๆ พัฒนากลายพันธ์ุจากกลีบดอกไม้ชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง จนกระทั่งกลายไปเป็นฟอร์มอื่นๆ ที่สื่อถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน ธีรวัฒน์ยังเสริมว่า “ผมเลือกเวกเตอร์เพราะคิดว่างานดรอว์อิงยิบๆ คงไม่เหมาะกับเอเลเมนต์ในพื้นที่อยู่อาศัยเท่าไรนัก ในโปรเจกต์นี้ผมเป็นคนลงมือออกแบบ ส่วนธาริดาจะเป็นคนคอยสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ”

 

 

ถัดมาอีกห้องคือ Domestic Vandalism โดย ลูคัส ไพรซ์ ที่เรียกได้ว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับสไตล์การทำงานของลูคัสในครั้งนี้มากทีเดียว ลูคัสเริ่มเล่าเรื่องด้วยภาพวาด Hyper-realistic รูปถังดับเพลิงในห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ทำงานศิลปะสตรีทอาร์ตบนผนังขนาดใหญ่ ก่อนจะส่งผ่านความรู้สึกรุนแรง ความดิบ และแข็งกร้าวนี้ไปทั่วห้องราวกับโดนบุกรุก หมอนและผ้าปูเตียงในห้องนอนนั้นมีรอยสเปรย์แทบทุกชิ้น ไม่เว้นแม้แต่เสื้อเชิ้ตสีขาวในตู้เสื้อผ้า ในอีกมุมมองหนึ่ง เทคนิคการทำงานที่แตกต่างกัน (Hyper-realistic Painting และ Graffiti) ก็สร้างระยะการมองที่แตกต่างกัน เราจะได้เข้าไปดูรายละเอียดฝีแปรงบนภาพวาด Hyper-realistic ใกล้ๆ และเซอร์ไพรส์กับของในห้องบางชิ้นที่ไม่คิดว่าจะถูกสเปรย์พ่น แต่ก็ไม่พ้นการถูกแต่งแต้มโดยศิลปิน

 

 

“มันอาจจะไม่ได้สวย แต่มันซื่อสัตย์และสะท้อนความเป็นเมืองอย่างตรงไปตรงมา” ลูคัสบอกกับ THE STANDARD ว่าธีม Duality เข้ากันดีกับคาแรกเตอร์การทำงานศิลปะของเขาที่มีความละเอียดลออและความฉับไวอยู่ในงานเดียวกัน (ดังจะเห็นได้จากฝีแปรงละเอียดยิบบนผิวลูกบาสในผลงาน Untitled B Ball และรอยสเปรย์หน้ายิ้มที่ลูคัสตั้งใจให้งานศิลปะของเขามีเลเยอร์รอยเพนต์ที่ดูเหมือนดิบและขโมยความสนใจ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดถูกสร้างสรรค์มาจากขั้นตอนที่ประณีต) อีกหนึ่งอย่างที่ศิลปินสะท้อนผ่านผลงานคือ ‘ความเป็นเมือง’ ลูคัสนำหลอดไฟนีออนที่มักถูกใช้ในการโฆษณาที่เห็นได้ตามท้องถนนมาอยู่ในที่พักอาศัย โดยเขาดัดเป็นคำว่า ‘In Every Dream Home’ วลีที่ว่านี้ถูกถอดมาจากเพลงฮิปฮอป ซึ่งสำหรับศิลปินแล้วมันคือ Modern Poetry หรือกวีร่วมสมัยที่สื่อถึงการไหลเวียนของความรู้สึก ความฝัน และพลังงานในเมืองได้เป็นอย่างดี ลูคัสยังบอกอีกว่าการร่วมงานกับเอพีครั้งนี้มีอิสระเกินคาด แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานในรูปแบบนี้ แต่ถือเป็นโปรเจกต์ที่เขาได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต

 

 

“Duality สำหรับผมมันคือ ‘Raw and Cooked’ การทำงานกับสเปซแบบนี้ยังเป็นโอกาสที่ผมได้ลองทำงานศิลปะในบริบทใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน” นอกจากในห้อง Domestic Vandalism ศิลปินยังมีงานอีกชิ้นเป็นสเปรย์เพนติ้งขนาด 6 เมตรที่แขวนอยู่บริเวณทางเข้าของ Sales Gallery คู่กับผลงาน Dual Petals ของ O Terawat & Tarida

 

“ในฐานะคิวเรเตอร์ ความท้าทายของการทำโปรเจกต์ครั้งนี้คืออะไร” นี่เป็นคำถามที่ THE STANDARD เก็บไว้เป็นข้อสุดท้าย และสรรพสิทธิ์ก็ตอบกลับมาเรียบๆ ว่าต่างกันตรงที่ The DUALITY อยู่กึ่งกลางระหว่างนิทรรศการศิลปะและนิทรรศการงานออกแบบ นิทรรศการนี้ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลมากเท่ากับนิทรรศการงานออกแบบ เพราะผลงานแต่ละชิ้นสื่อความหมายด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ความยากของนิทรรศการนี้คือคิวเรเตอร์และศิลปินต้องตอบให้ได้ว่าผลงานแต่ละชิ้นมีฟังก์ชันอะไร “นี่เป็นความหมายและนิยามของงานศิลปะในแบบของเรา สิ่งที่เอพีพยายามทำมาตลอดคือการสร้าง Functional Art ในฐานะ Urban Developer เอพีเห็นความสามารถและความสำคัญของศิลปะ และนี่เป็นเหตุผลของการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุน Bangkok Art Biennale ครั้งนี้” สรรพสิทธิ์ทิ้งท้าย

 

 

The DUALITY จะจัดขึ้นเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคมนี้ ไปร่วมสัมผัสประสบการณ์รับชมงานศิลปะแบบใหม่ๆ ลองนั่งๆ นอนๆ บนงานศิลปะของทั้งสองศิลปินได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่โครงการ Life Asoke Hype goo.gl/maps/xPVE9pY6Ec22

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising