×

กลิตเตอร์คือเทรนด์ใหม่สุดแวววาวในอาหาร กินได้และปลอดภัยจริงหรือ

24.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • “กลิตเตอร์ที่ปลอดสารพิษเหล่านั้นต่างผลิตมาจากส่วนผสมที่มีส่วนประกอบของพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งเราสามารถกินได้ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย” คำกล่าวของแอนดรูว์ สตอลบาคช์ (Andrew Stolbach) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยาและผู้ช่วยศาสตรจารย์ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จาก Johns Hopkins University School of Medicine ต่อเทรนด์การตกแต่งอาหารด้วยกลิตเตอร์
  • ล่าสุดมีประกาศจากทางคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ถึงกลุ่มผู้ผลิตอาหารว่าพวกเขาต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุอย่างชัดเจนว่ากลิตเตอร์นี้ปลอดสารพิษหรือใช้สำหรับการตกแต่งเท่านั้น

จะเกิดอะไรขึ้นหากอาหารที่คุณกินจะส่องแสงประกายแวววาวไปด้วยกลิตเตอร์หลากสีสัน เมื่อสิ่งนี้กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่มวลอินสตาแกรมเลิฟเวอร์ในต่างแดนจากแฮชแท็ก #glitterfood ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้อาหารโรยกลิตเตอร์เกิดฮิตขึ้นมาก็เพราะมันทำให้ ‘ถ่ายรูปอาหารได้สวยขึ้น’ ไหนจะเครื่องดื่มยูนิคอร์นแสนเก๋ กาแฟกลิตเตอร์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนดวงดาวในอวกาศ หรือชูโรสเคลือบน้ำตาลที่ใช้กลิตเตอร์เปลี่ยนภาพเดิมๆ ให้ ‘น่าทาน’ ขึ้น ล่าสุดทางคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกมาระบุเกี่ยวกับเทรนด์ดังกล่าวว่า คุณควรจะต้องเลือกใช้กลิตเตอร์ที่ระบุว่า ‘กินได้’ เท่านั้น ซึ่งทาง FDA เองก็หวั่นต่อความปลอดภัยในการเลือกใช้ชนิดของกลิตเตอร์ในการประกอบอาหารของผู้ผลิต และการเลือกทานของผู้บริโภค

 

 

กลิตเตอร์ที่สามารถ ‘กินได้’ จริงๆ นั้นผลิตมาจากแป้งข้าวโพด น้ำตาล และสีผสมอาหารแบบแวววาว โดยจะมีลักษณะเป็นเหมือนสีมุก มีความเงางามและดูเกินจริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกลิตเตอร์เหล่านั้นล้วนปลอดภัยและกินได้จริงๆ แต่มันควรเป็นเรื่องของการตกแต่งเพื่อความสวยงามมากกว่าจะ ‘ต้องการ’ หรือ ‘อยาก’ จะกินกลิตเตอร์เข้าไปเพื่อสัมผัสรสชาติหรือความอร่อย

 

“กลิตเตอร์ไม่ใช่อาหาร” คำกล่าวของแอนดรูว์ สตอลบาคช์ (Andrew Stolbach) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยาและผู้ช่วยศาสตรจารย์ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จาก Johns Hopkins University School of Medicine ได้ให้เหตุผลถึงการนำกลิตเตอร์มาตกแต่งอาหารว่าเทรนด์ใหม่นี้ปลอดภัยจริงหรือไม่? “กลิตเตอร์ที่ปลอดสารพิษเหล่านั้นต่างผลิตมาจากส่วนผสมที่มีส่วนประกอบของพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งเราสามารถกินได้ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เพราะบางครั้งพลาสติกดังกล่าวมักปนเปื้อนโลหะ ซึ่งหากรับประทานบ่อยๆ อาจส่งผลเสียระยะยาวต่อร่างกายได้ในอนาคต”

 

 

ถึงแม้จะมีอาหารมากมายที่เลือกใช้กลิตเตอร์ชนิด ‘ปลอดสารพิษ’ มาตกแต่ง แต่กลิตเตอร์เหล่านั้นก็ไม่ได้ปลอดสารพิษสมชื่อ หรือจะไม่ส่งผลกระทบด้านใดด้านหนึ่งต่อร่างกายของผู้กิน เนื่องจากกลิตเตอร์นั้นมีขนาดเล็ก บางเบา เพราะฉะนั้นมันอาจจะเผลอหลุดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจของคุณ ส่งผลให้ปอดระคายเคือง เกิดอาการไอ หรือทำให้คุณหายใจติดๆ ขัดๆ ได้

 

คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างให้ความสำคัญและเข้มงวดอย่างมากกับเทรนด์อาหารรูปแบบใหม่นี้ ดังนั้น บริษัทห้างร้านผู้ผลิตอาหารก็ต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ด้วยการเลือกใช้กลิตเตอร์ที่ได้รับการตรวจสอบหรือมีส่วนประกอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ล่าสุดมีการแจ้งประกาศจากทาง FDA ถึงกลุ่มผู้ผลิตอาหารว่าพวกเขาควรตรวจสอบวัตถุดิบในการใช้อย่างรอบคอบ และต้องชี้แจงว่ากลิตเตอร์ที่นำมาใช้นั้นปลอดภัยจริงๆ ซึ่งหมายถึงกลิตเตอร์ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกัมอะคาเซีย (gun arcacia) มอลโทเดกซ์ทริน (maltodextrin) แป้งข้าวโพด หรือสีที่ใช้ได้กับอาหารเท่านั้น และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุอย่างชัดเจนว่ากลิตเตอร์นี้ ‘ปลอดสารพิษ’ หรือ ‘ใช้สำหรับการตกแต่งเท่านั้น’ ดังนั้นหากอยากลองอาหารกลิตเตอร์ คุณอาจจะลองมองหาเมนูจากร้านอาหารหรือร้านที่เชื่อถือได้ เพื่อความปลอดภัยของคุณเองในเบื้องต้น

 

Photo: Hangry Asians (ซ้าย) และ jahnvi_chasmawala 

 

“แท้จริงแล้วมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับร่างกายของคุณ เพราะมันเข้าไปสู่ด้านในร่างกายโดยตรง และออกมาทางอุจจาระ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้แนะนำให้คุณตั้งใจกินกลิตเตอร์เข้าไป” ดร.สตอลบาคช์กล่าว หากคุณเผลอกินมันเข้าไปและร่างกายปกติดี ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากทานเข้าไปแล้วเกิดรู้สึกไม่ดีขึ้นมา ให้คุณรีบพบแพทย์โดยด่วน และถึงแม้ว่า ‘กลิตเตอร์’ จะช่วยสร้างภาพใหม่เรื่องอาหารการกินยุคนี้ ทำให้อาหารดูสวยงามขึ้นก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ปลอดภัย 100% ทางที่ดีควรเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยไว้ก่อนจะดีที่สุด

 

หรือจะเลือกใช้แอปพลิเคชันที่มีฟิลเตอร์แวววาวมาแต่งรูปอาหารของคุณทดแทนก็ ย่อมได้ เราไม่ว่ากัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X