×

เก็บทิปส์ แงะวัตถุดิบ และส่องสูตรเด็ดจาก MasterChef Thailand Season 2 EP.12

24.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • แนวคิดเรื่อง ‘อาหารสุขภาพ’ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยนักคิดชาวกรีกเชื่อว่าการจะมีสุขภาพที่ดีนั้น ร่างกายจะต้องปรับสมดุล 4 อย่างของร่างกาย อันได้แก่ เลือด น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง และเสมหะ ให้พอดิบพอดี
  • ราตาตูย (Ratatouille) คืออาหารพื้นเมืองของชาวฝรั่งเศส เป็นสตูผักที่เสิร์ฟกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 1700’s มีส่วนประกอบเป็นผักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มะเขือม่วง ซูกินี (แตงกวาฝรั่ง) ซึ่งจะเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงก็ดี หรือว่าจะทานคู่กับข้าวหรือขนมปังเป็นมื้อหลักก็ได้
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการปรุงแซลมอนที่ถูกต้องไว้ด้วยการใช้อุณหภูมิราว 62 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงจากสารพิษหรือแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่หากแซลมอนสุกไม่มากพอ

ถึงเวลาของการกลับมาประลองฝีมือและรสชาติเพื่อเฟ้นหาคนที่มีใจรักในการทำอาหารเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘มาสเตอร์เชฟ’ คนที่สองของประเทศไทยกันอีกสัปดาห์แล้ว และในเอพิโสดลำดับที่ 12 นี้ก็เหลือผู้เข้าแข่งขันเพียง 8 คนเท่านั้น ซึ่งเราถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือ ‘ตัวเต็ง’ ที่ต่างมีความสามารถและฝีมือการทำอาหารที่ยอดเยี่ยม ถึงแม้ ‘หมอตั้ม’ ที่ดูจะฝีมืออ่อนที่สุดในบรรดาผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ แต่ในเอพิโสดนี้เอง เขาได้แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างน่าชื่นชม โดดเด่นเสมือนเดือนในหมู่ดาวไปเลยค่ะ!

 

 

ที่บอกว่าหมอตั้มนั้นทำผลงานได้โดดเด่นอาจเป็นเพราะโจทย์ในสัปดาห์นี้เหมือนโยนอ้อยเข้าปากช้าง โยนก้างปลาให้แมวกิน กับโจทย์ ‘Healthy Food’ หรือ อาหารสุขภาพ ในรอบภารกิจแบบทีม (Team Challenge) ที่เข้าทางหมอตั้มสุดๆ และสัปดาห์นี้ยังได้รับเกียรติจากสองบุคลากรแถวหน้าในวงการบันเทิงอย่าง ‘ป้าตือ-สมบัษร ถิระสาโรช’ และ ‘ม้า-อรนภา กฤษฎี’ รวมถึงนางแบบหุ่นเลิศอีก 29 ชีวิตมาเป็นกรรมการในการตัดสินอาหารสุขภาพที่ถูกปากและดีต่อรูปร่าง ส่วนอีกโจทย์ที่หินสุดๆ ในรอบทดสอบความละเอียดและความแม่นยำ (Pressure Test) นั้นก็คือการทำ ‘เค้กลาวาสังขยาใบเตย’ ที่ยากและกดดันจนทำให้ผู้เข้าแข่งขันถึงกับเหงื่อตก

 

 

ถึงเวลาที่ THE STANDARD จะขอพาคุณไปไล่เลียงชมวัตถุดิบ ที่มาที่ไปของโจทย์ ทิปส์เด็ด และสูตรลับที่น่าสนใจว่าในสัปดาห์นี้เราพอจะหยิบจับอะไรในครัว มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง

 

 

เราเชื่อว่าผู้ชมส่วนหนึ่งก็ต่างค่อนขอดในความสามารถของคุณหมอมาเสมอ บ้างก็ว่าฟลุก บ้างก็ว่าห้อยพระดีถึงยังไม่ตกรอบสักที เหตุผลก็เพราะว่าเขาแทบจะไม่เคยมีผลงานดีๆ เข้าตากรรมการเลยสักครั้ง (ละเว้นสัปดาห์ที่แล้วไว้หนึ่งเทป เพราะเขาทำได้ดีมากจริงๆ) และในสัปดาห์นี้กับโจทย์ ‘อาหารสุขภาพ’ เขาพิสูจน์ให้ผู้ชมได้เห็นแล้วว่า เขามีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการทำอาหาร แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการวางแผนการทำงาน และการบริหารเวลาในครัวอีกด้วย และยังได้ใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโภชนาการของตัวเอง ตีโจทย์ ‘อาหารสุขภาพ’ ให้ออกมาน่าสนใจ มีหลักการ น่าเชื่อถือ และสมเหตุสมผล เราจึงรู้สึกยินดีไปกับเขาด้วยที่พัฒนาตัวเองมาได้ทัดเทียมคนอื่นๆ สักที

 

 

อาหารสุขภาพ เฮลตี้กันมาตั้งแต่ยุคกรีก

ยุคนี้ไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘อาหารสุขภาพ’ ที่เป็นเหมือนอาหารอีกประเภทหนึ่งที่รอคอยให้นักชิมผู้ห่วงใยเรื่องน้ำหนักตัวได้ไปสรรหามาทานกัน วัตถุดิบในอาหารสุขภาพที่คุ้นหูกันอยู่บ่อยๆ ก็อย่าง อกไก่ ควินัว หรือผักออร์แกนิกต่างๆ เองก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นที่รู้จักและฮิตอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพ

 

แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแนวคิดเรื่อง ‘อาหารสุขภาพ’ เหล่านี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นมาเมื่อปีกลายเสียเมื่อไร เพราะแนวคิดที่ว่านั้นเขามีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่น นักคิดชาวกรีกเชื่อว่าการจะมีสุขภาพที่ดีนั้น ร่างกายจะต้องปรับสมดุล 4 สิ่งของร่างกายอันได้แก่ เลือด น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง และเสมหะ ให้พอดิบพอดี การเลือกทานอาหารที่ดีก็จะสามารถช่วยปรับสมดุลของ 4 สิ่งในร่างกายดังกล่าวได้ โดยมีหลักฐานเป็นงานเขียนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพเป็นครั้งแรกๆ ของโลก นอกจากนี้จากงานศึกษาของนักโบราณคดีอาหาร ฟรองซีน ซีกัล (Francine Segal) ยังพบหลักฐานเกี่ยวกับเทคนิคการเลือกรับประทานอาหารของเหล่านักกีฬาโอลิมปิกในช่วงปีคริสต์ศักราช 200 โดยพวกเขาจะรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์ งดรับประทานอาหารจำพวกแป้งก่อนลงแข่งขัน-รักสุขภาพ before it was cool มากๆ!

 

 

เก็บทิปส์: ไก่บดกับแซลมอน อยู่ด้วยกันได้หรือไม่?

หนึ่งเรื่องที่คณะกรรมการทั้งเชฟเอียนและหม่อมหลวงภาสันต์ ต่างกังวลในโจทย์อาหารสุขภาพสัปดาห์นี้คือการที่ทีมสีแดงเลือกเสิร์ฟเมนูหลักเป็น ‘ไก่บด’ รวมกับ ‘ท้องปลาแซลมอน’ ซึ่งฟังแล้วดูน่าประหลาดใจ เหตุก็เพราะโปรตีนทั้งสองชนิดนี้ต่างมีอุณหภูมิของความสุกไม่เท่ากันอย่างเช่นที่หม่อมหลวงภาสันต์กล่าวอย่างเป็นห่วงว่า ‘กว่าไก่จะสุก ปลาก็แห้ง’

 

 

โดยปกติแล้วในการประกอบอาหารด้วยเนื้อไก่นั้น อุณหภูมิที่จะทำให้ไก่สุกพอดีอยู่ที่ราว 75 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ปลอดภัย และจงจำไว้เสมอว่าเนื้อไก่ไม่สุก ‘ไม่ควรทาน’ นั่นก็เพราะมันล้วนแต่อุดมไปด้วยแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเช่นที่เราอธิบายไว้เมื่อเอพิโสดลำดับที่ 7 ส่วนทางด้านแซลมอนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการปรุงแซลมอนที่ถูกต้องไว้ด้วยการใช้อุณหภูมิราว 62 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงจากสารพิษหรือแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่หากแซลมอนสุกไม่มากพอ เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิที่จะทำให้โปรตีนสองชนิดนี้สุกนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน และวลีที่ว่า ‘กว่าไก่จะสุก ปลาก็แห้ง’ ของหม่อมหลวงภาสันต์จึงเป็นการนิยามที่เห็นภาพที่สุด

 

 

แงะวัตถุดิบ: ควินัว 101

หันมามองทางฝั่งทีมสีน้ำเงินของหมอตั้มที่เลือกเสิร์ฟ ‘ควินัว’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆ ในจานอาหารสุขภาพ แต่ไม่เคยยักจะรู้ว่าแท้จริงแล้วควินัวนั้นคืออะไร? และมีที่มาที่ไปอย่างไร?

 

เจ้าธัญพืชเม็ดจิ๋วหลิวนี้เดินทางมาไกลจากแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ และคุณรู้หรือไม่ว่า ควินัวอยู่คู่โลกใบนี้มาตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนแล้ว! โดยชาวอินคาเรียกธัญพืชชนิดนี้ว่าเป็น ‘The Mother of Grains’ และในยุคที่ชนชาวอินคายังเจริญรุ่งเรือง พวกเขาได้จัดพิธีกรรมการปลูกควินัวอย่างจริงจัง โดยจะให้จักรพรรดิของพวกเขาเป็นผู้หว่านเมล็ดควินัวเป็นลำดับแรกของทุกๆ ปีเพาะปลูกเสมอ

 

 

ความพิเศษของควินัวในเรื่องโภชนาการนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะมันอุดมไปด้วยไฟเบอร์ โปรตีน และยังมีคอเลสเตอรอลต่ำ รวมไปถึงมีกรดอะมิโนและแร่ธาตุที่จำเป็นหลากหลายชนิด โดยในควินัวปริมาณ 100 กรัมนั้นมีปริมาณไฟเบอร์ราว 2.8% ซึ่งเป็นปริมาณมากกว่าที่พบในข้าวกล้อง (1.8%) ดังนั้นมันจึงฮอตมากๆ ในกลุ่มคนที่ทานอาหารสุขภาพ เพราะนอกจากจะอิ่มท้องสบายๆ แล้ว ปริมาณไขมันที่น้อยมากๆ ของควินัว ก็เหมาะจะเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตันเส้นเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ – อ่อ ควินัวเป็นอาหารกลูเตนฟรีด้วยนะ ประโยชน์รอบด้านจริงๆ!

 

 

ส่องสูตรเด็ด: ราตาตูย สตูผักฝรั่งเศสเลื่องชื่อ

หนึ่งเมนูที่ทีมฝ่ายสีแดงซึ่งนำทีมโดย ‘จ๋า’ เลือกที่จะทำเป็นเมนูที่น่าสนใจมากๆ กล่าวคือเมนู ‘ราตาตูย’ (Ratatouille) ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นชื่อก็คงจะงงเหมือนที่กะปอมงงเป็นไก่ตาแตก แต่ถ้าคุณคุ้นเคยกับภาพยนตร์แอนิเมชันจากค่ายพิกซาร์ชื่อเรื่องเดียวกันที่มีหนูท่อเป็นตัวละครนำ คุณคงร้องอ๋อขึ้นมาทันที

 

 

เจ้าราตาตูยที่ว่านี้คืออาหารพื้นเมืองของชาวฝรั่งเศส เป็นสตูผักที่เสิร์ฟกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 1700’s มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบเมืองโพรวองซ์และนีซทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ราตาตูยนั้นมีส่วนประกอบเป็นผักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มะเขือม่วง ซูกินี (แตงกวาฝรั่ง) กระเทียม มะกอก พริกไทยดำ โดยจะนำไปอบกับซอสที่มีส่วนประกอบของหัวหอมใหญ่และพริกหยวกแดง ซึ่งจะเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงก็ดี หรือว่าจะทานคู่กับข้าวหรือขนมปังเป็นมื้อหลักก็ได้ โดยความพิเศษของเจ้าสตูผักนี้คือเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ดังนั้นการเลือกเสิร์ฟเมนูนี้ของทีมสีแดงจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในโจทย์สัปดาห์นี้ เหมาะจะลองเอาไปทำกินเองที่บ้านด้วยนะ

 

สัปดาห์หน้าจะมีวัตถุดิบ เมนู สูตรลับ และทิปส์ดีๆ อะไรจาก มาสเตอร์เชฟประเทศไทยบ้าง ต้องติดตาม

 

ชมย้อนหลัง EP.12 ได้ที่นี่

 

อ้างอิง:

FYI
  • MasterChef คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออกอากาศครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 28 ปี เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญ ผู้ชนะจะได้มี Cookbook หรือตำราทำอาหารเป็นของตัวเองด้วย โดยรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X