ทำไม SMEs ไทย ซึ่งส่วนมากมีรากฐานการเติบโตมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัว ควรคิดถึงการเติบโต และฝันที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กร (Corporate) ขนาดกลางและขนาดใหญ่ แล้วอะไรคือ Key Success Factors ที่ SMEs ควรเตรียมตัวเองให้พร้อม
THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดแรกของซีซั่น 7 นี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด มาช่วยฉายภาพให้เห็นถึงความท้าทายของธุรกิจ SMEs ในไทย ซึ่งส่วนมากแล้วเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัว รวมทั้งแชร์แนวทางในการพัฒนาธุรกิจ และกรณีศึกษาจากธุรกิจที่ก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ความท้าทายของการทำธุรกิจครอบครัวในช่วงเวลานี้
ถ้าดูจากข้อมูลจะพบว่าธุรกิจครอบครัวมีอยู่กว่า 1 ล้านราย มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทประมาณ 3 แสนราย ซึ่งสิ่งที่ท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล หรือแม้แต่วิกฤตโลกใหม่อย่างโควิด-19 ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะเจอ และมันก็กระทบธุรกิจครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีเรื่องของภูมิศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งรัสเซีย-ยูเครน จีน-อเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเศรษฐกิจของจีนที่เชื่อมโยงมาถึงไทย ถ้านักท่องเที่ยวจีนไม่เข้า ธุรกิจบริการของไทยก็กระทบ เพราะพลังที่ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาคบริการ เช่น โรงแรม การท่องเที่ยว
ส่วนภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังๆ ก็มีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องของกฎกติกาการค้าโลก หรือภาษี ESG ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายๆ ธุรกิจครอบครัวของไทยที่ยังมีขนาดเล็กอาจไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะวันนี้ SMEs ไทยส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นควรต้องเรียนรู้ ปรับตัว หรืออาจจะเป็นการทรานส์ฟอร์ม เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปเลย
โอกาสหรือจุดเด่นของธุรกิจครอบครัว SMEs ที่ทำให้มีแรงขับเคลื่อนได้มากกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น
แน่นอนว่าธุรกิจครอบครัวดีกว่าธุรกิจอื่นตรงที่มีเจ้าของคนเดียว หรืออาจจะเป็น 2-3 คน ตรงนี้ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจได้รวดเร็ว แต่คำถามคือเจ้าของ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นมีความพร้อมแค่ไหนที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ทุกวันนี้เราจะเห็นธุรกิจครอบครัวหลายๆ แบรนด์ที่มีพัฒนาการมาอย่างน้อย 20-30 ปี เริ่มมีลูกหลานเข้ามาทรานส์ฟอร์มและดูแลต่อ ซึ่งพวกเขาก็ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ ซึ่งตรงนี้ถ้าเจ้าของหรือลูกหลานสามารถนำโนว์ฮาวหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับได้ก็นับว่าเป็นโอกาส เพราะมันสามารถเปลี่ยนง่าย ไม่ต้องไปขอผู้ถือหุ้น ไม่ต้องเข้าประชุม อยากเปลี่ยนก็ทำได้เลย นี่คือโอกาส
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าธุรกิจครอบครัวไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ปรับตัว เอาแต่ทำเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เขาก็จะรอดยาก เพราะวันหนึ่งอาจจะมีคู่แข่งหรือบริษัทใหญ่ๆ ไปตั้งอยู่ข้างๆ ฉะนั้นการปรับตัวให้เร็วเพื่อคว้าโอกาสให้ทันเป็นเรื่องสำคัญมาก
ความจริงแล้วธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความชัดเจนในแง่การทำธุรกิจ ต้องทำเรื่องบัญชีการเงินให้ถูกต้อง เสียภาษีให้ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเติบโตได้
ธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความชัดเจน
Key Success ของธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ มีอะไรบ้าง
- เป้าหมาย สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันในสิ่งเดียวกัน
- ผู้ก่อตั้งหรือรุ่นส่งมอบ ที่กำลังปล่อยมือจากธุรกิจเพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน จะต้องไม่ทำตัวเป็นจักรพรรดิที่ออกคำสั่ง โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ถ้าพ่อแม่ไม่ปล่อยวางให้เด็กรุ่นใหม่ทดลองที่จะทำอะไรใหม่ๆ มันก็ไปต่อได้ยาก
- สื่อสารกันบ่อยๆ ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในโลกนี้เกิดจากการร่วมมือของคนในครอบครัวที่จะทำธุรกิจร่วมกัน ถ้าครอบครัวไหนเริ่มแตกแยก ทะเลาะกัน เราก็จะเริ่มเห็นความเสื่อมของธุรกิจนั้นทันที หรือธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่จมหายไปก่อนจะเติบโตได้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งของครอบครัวเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้แต่ละรุ่นสามารถเชื่อมธุรกิจครอบครัวให้ไปต่อได้ ในช่วงของการส่งมอบธุรกิจไปสู่เจเนอเรชันถัดไป
สิ่งสำคัญคือการเปิดใจที่จะรับความรู้ใหม่ๆ เปิดใจที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของครอบครัว ซึ่งหลักๆ เป็นเรื่องของการสื่อสารกัน ธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวเร็วและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะลองหามืออาชีพเข้ามาช่วยแนะนำในเรื่องการวางแผน โครงสร้างทุน การระดมทุน การหาหุ้นส่วน หรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง
แต่การจะคัดเลือกมืออาชีพเข้ามาช่วยสานต่อกิจการ ก็ต้องหาคนที่เข้ากันได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถหาได้จากสังคม จากเพื่อนในกลุ่มธุรกิจ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือสถาบันการเงินเขาจะมีเครือข่ายที่ช่วยเราได้เยอะมาก เพราะสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็อยากผลักดันให้เราเติบโตเช่นเดียวกัน
ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในโลกนี้ เกิดจากการร่วมมือของคนในครอบครัว
สูตร 6C เพื่อคนทำธุรกิจครอบครัวที่กำลังมองหาโอกาสในโลกที่มีแต่ความท้าทาย
- Corporate Structure จัดโครงสร้างให้ดี ทำเอกสารกฎหมายให้ครบ เสียภาษีให้ถูกต้อง เพราะโครงสร้างดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
- Compensation กำหนดความเป็นเจ้าของและผลตอบแทนให้ลูกหลานอย่างให้ชัดเจน ทั้งการแบ่งหุ้น เงินเดือน โบนัส เงินปันผล
- Communication คนในครอบครัวต้องมีการสื่อสารกันบ่อยๆ ทั้งในแง่นโยบายและการทำธุรกิจ
- Conflict Resolution การทำธุรกิจย่อมต้องมีความขัดแย้ง แต่ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ไม่ควรมีการฟ้องร้องเป็นคดีมรดกจนอาจทำให้ธุรกิจล่มสลาย ควรใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องขึ้นศาล
- Care Compassion มีความเอื้ออาทรและความกรุณา เป็นครอบครัวเดียวกันต้องยอมให้กันบ้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา
- Change เพราะความเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เกิดขึ้นเร็วมาก เจ้าของธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็ว ทั้งในแง่ของความคิดและการทำงาน
สิ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ในวันที่รุ่นส่งมอบต้องตัดสินใจว่าจะส่งต่อธุรกิจให้ใคร ระหว่างลูกหลานหรือมืออาชีพ
ถ้าธุรกิจไม่ได้ใหญ่มาก คนที่ควรจะส่งมอบให้คือลูกหลาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องถามความสมัครใจก่อนว่าลูกหลานอยากทำไหม ต้องเริ่มด้วยการสื่อสารกัน ถ้าอยากให้ลูกหลานสืบต่อก็ต้องปล่อยวาง แล้วทำหน้าที่แค่กำกับดูแลอยู่ห่างๆ เพราะถ้าพ่อแม่เผด็จการ สั่งโน่นสั่งนี่ ก็คงไม่มีใครอยากทำ
แต่ถ้าหากลูกหลานไม่อยากทำ เราสามารถให้มืออาชีพมาช่วยจัดการ แล้วจัดสรรหุ้นให้กับลูกหลานเพื่อสืบทอดธุรกิจต่อ แต่สิ่งสำคัญคือต้องคุยกันให้มากๆ ระหว่างทั้งสองรุ่น ก่อนที่จะเอามืออาชีพเข้ามาจัดการ
ตัวชี้วัดที่บอกว่าธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จคืออะไร
ตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งคือความยั่งยืน ลองสังเกตดูว่าธุรกิจครอบครัวไทยที่มีอายุเกินร้อยปีนั้นมีไม่ถึง 10 บริษัท และในจำนวนนี้ ครึ่งเดียวเป็นเจ้าของเดิม ส่วนที่เหลือถูกเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว เช่น โรงแรมโอเรียนเต็ล หรือเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
การที่ธุรกิจครอบครัวอยู่มาได้อย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้ คุณอาจจะเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตอยู่แล้ว หรือเป็นธุรกิจขนาดกลางที่มีคนสานต่อในรุ่น 3 รุ่น 4 และธุรกิจก็ยังสร้างรายได้ให้กับลูกหลานที่ทำต่อ สิ่งนี้นับว่าเป็นความสำเร็จแล้ว
Credits
Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน
Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน
Proofreader Team
THE STANDARD Webmaster Team
THE STANDARD Archive Team