Little Monster เพจเฟซบุ๊กลายเส้นการ์ตูนเจ้าเด็กในชุดปีศาจสีเขียวสุดน่ารักที่ไปโดนใจใครหลายคนจนปัจจุบันมียอดติดตามเกือบ 2 ล้านไลก์มีที่มาจากคุณแม่ตุ๊ก หญิงสาวที่เคยมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ได้นำสิ่งที่ชอบนั่นคือการวาดรูปมาระบายความในใจลงไดอะรีช่วยบำบัดจนกลายเป็นงานที่รักและยอมทุ่มเททุกลมหายใจ
ซินดี้ สิรินยา ชวน ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ เจ้าของเพจ Little Monster มาคุยเรื่องการบาลานซ์ตัวเองระหว่างความเป็นแม่และการทำงานที่ขนานเป็นส่วนเดียวกับชีวิตครอบครัวใน Balanced Mama Podcast
คุณแม่ขี้นอยด์
เราเป็นแม่ประเภทขี้กังวล นอยด์ง่าย เวลามีปัญหาอะไรจะเสิร์ชศึกษาข้อมูลไว้ก่อน คนใกล้ตัวก็จะรู้ว่ามีอะไรสามารถปรึกษาเราได้ เพราะเรารู้ข้อมูลเยอะ
อาการซึมเศร้าหลังคลอด
เราเคยมีภาพจินตนาการในหัวไว้ว่าแม่ที่ดีจะต้องเป็นแบบไหน แต่ในชีวิตจริง สิ่งเหล่านั้นมันเพอร์เฟกต์มากจนจับต้องไม่ได้ เคยคิดว่าแม่ที่ดีต้องอาบน้ำให้ลูกเอง แม่ที่ดีต้องรู้ทุกอย่าง แม่ที่ดีต้องไม่พลาด สัปดาห์แรกเลยรู้สึกกดดันมากจนมีอาการซึมเศร้า
อย่างเรื่องอาบน้ำให้ลูก ด้วยความที่ตอนนั้น น้องจิน (ลูกสาวคนโต) ตัวเล็กมาก มือเราก็เล็ก กลัวทำเขาจมน้ำ สุดท้ายเลยต้องให้แฟนเป็นคนอาบ ส่วนเราได้แต่รู้สึกผิด อาการมันหนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่เราไม่อยากยิ้ม ไม่อยากเจอคน บางครั้งยืนมองท้องฟ้าแล้วร้องไห้ สามีก็เริ่มบอกว่าอาการตุ๊กไม่ปกติแล้วนะ สุดท้ายพอได้ไปหาหมอ ถึงได้รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เป็นอาการของโรคชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน (Postpartum depression) เราก็ค่อยๆ รักษาเยียวยาตัวเอง โชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจ คอยให้กำลังใจ
จนกระทั่งวันที่พร้อม เราพาลูกออกไปซูเปอร์มาร์เก็ตกันแค่สองคน จำได้ว่าตื่นเต้นมาก จากที่เคยกลัวว่าถ้าลูกร้องไห้แล้วจะทำยังไง แต่พอถึงเวลาน้องจินร้องไห้แล้วเราเอาเขาอยู่ มันทำให้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
บำบัดตัวเองด้วยการทำสิ่งที่ชอบ
โชคดีที่ระยะเวลา 4-5 เดือนที่อยู่แต่ในบ้านได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร เราชอบเขียนไดอะรี ชอบวาดรูปการ์ตูนที่ถ่ายทอดความรู้สึกตัวเองลงไป ช่วงนั้นเฟซบุ๊กเพิ่งเริ่มมีได้ไม่กี่ปี เลยลองเสิร์ชหาเพจที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกคนเป็นแม่ที่มันไม่ได้สวยหรู เพราะอยากแชร์ แต่พอไม่มี แฟนเลยแนะนำให้ทำเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นของ แฟนเพจ Little Monster
ลายเส้นการ์ตูนถ่ายทอดชีวิตที่ไม่ได้สวยหรูของคนเป็นแม่
เพจ Little Monster ตั้งใจนำเสนอมุมที่ไม่สวยหรูของการเป็นแม่ แต่อยากให้ทุกคนมองเห็นด้านบวกจากเหตุการณ์เหล่านั้น เรื่องแรกๆ ที่ทำให้เพจเป็นที่รู้จักและมีคนมาติดตามคือ เวลาคุณแม่กำลังนั่งโถส้วมแล้วมีลูกตัวน้อยนั่งจ้องหน้าอยู่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับคุณแม่แทบทุกคน คนก็ชอบกันและเริ่มจดจำลายเส้นการ์ตูนเราได้
แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าเพจจะมาถึงจุดนี้ จำได้ว่าตอนที่เพจมียอดคนติดตามถึง 2,000 ไลก์ เราคิดว่ามันเยอะมากจนต้องชวนแฟนกินสุกี้ฉลองแล้ว เพราะเราไม่เคยคาดหวังอะไรในจุดนี้ จนมันมาถึงวันที่เราต้องขึ้นไปพูดบนเวที ครั้งแรกนี่ทั้งตื่นเต้น ทั้งเครียดจนนอนไม่หลับเลย เพราะเราเป็นคนขี้อาย แต่พอเริ่มออกไปข้างนอก ได้เจอลูกเพจมากขึ้น มีคนที่เดินเข้ามาปรึกษาปัญหาของเขา มันทำให้เรารู้สึกดีที่อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง
ความสุขของลูกเริ่มต้นจากตัวแม่
การที่เราจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอารมณ์ดีมีความสุข ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากตัวแม่ก่อน ไม่ว่าคนอื่นในครอบครัวจะเป็นยังไงก็ไม่สำคัญเท่าแม่ ถ้าแม่แข็งแรงก็จะสามารถเติมเต็มในใจลูกได้เพียงพอ
มันมีวันที่ฝืนตัวเองพาลูกออกไปเที่ยว ทั้งที่ใจเราอยากพักผ่อนนอนอยู่บ้าน
เพราะทำงานมาหนักมาก วันนั้นก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าลูกงอแง เริ่มต้นวันได้ไม่ดี เพราะเด็กรู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้อยากพาไป แต่ทำไปเพราะหน้าที่ความเป็นแม่
ถามลูกทุกครั้งก่อนลงรูป
ไม่ว่าจะลงคลิปหรือรูปอะไรที่เกี่ยวกับลูก ตุ๊กมักถามเขาก่อนเสมอ อาจเพราะเราเคยไปเรียนเมืองนอกตอนมัธยมปลาย ทำให้ได้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กัน อันไหนถ้าลูกบอกว่าโอเคเราถึงลง แต่ถ้าอันไหนลูกบอกไม่โอเคจริงๆ อาจจะแค่เรื่องเล็กน้อยอย่างผมเปียเบี้ยว เราก็จะไม่ลง เพราะเราต้องให้เกียรติเขา นั่นจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเชื่อใจเราได้จริงๆ
ถามลึกเข้าไปในรายละเอียด
ในยุคที่คุณแม่ควบคุมทุกอย่างไม่ได้ ถึงแม้เราจะพยายามตรวจเช็กและกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกให้ลูกแล้ว แต่ก็อาจมีบางคลิปวิดีโอที่เด็กไม่สมควรดูเล็ดลอดไปถึงเขา สิ่งที่เราพอจะทำได้คือทำให้ลูกเชื่อว่าเขาสามารถคุยกับเราได้ทุกเรื่อง หรือถ้าเรื่องไหนไม่สะดวกใจคุยกับแม่ก็ยังมีคนอื่นในครอบครัวที่เขารู้สึกเชื่อใจไว้คอยรับฟัง แค่นี้ก็เป็นเกราะป้องกันให้ลูกในขั้นแรกแล้ว
หลายครั้งคนเป็นแม่อาจแค่บอกลูกว่า “มีอะไรพูดกับแม่ได้นะ” แต่จริงๆ เวลาอยากชวนลูกคุยหรืออยากให้เขาเล่าเรื่องไม่สบายใจให้เราฟัง คุณแม่ต้องถามเจาะจงลงไปในรายละเอียด เช่น ลูกเล่นกับใคร เล่นของเล่นอะไร ตอนกลางวันกินอะไร วันนี้คุณครูได้ทำอะไรพิเศษหรือเปล่า เพื่อให้เขาตอบสิ่งที่คิดอยู่ และคุณแม่ต้องตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกตอบด้วย เพื่อให้เขาเชื่อว่าเราให้ความสำคัญกับบทสนทนาตรงหน้าจริงๆ
วิธีแบ่งหน้าที่ดูแลลูกตามฉบับของครอบครัว Little Monster
ครอบครัวเราไม่ได้แบ่งชัดเจนว่าใครทำอะไร แต่เหมือนช่วยๆ กันมากกว่า และไม่ได้มีกฎระเบียบมากมาย จะค่อนข้างสบายๆ ส่วนใหญ่เราดูแลเรื่องระเบียบวินัย ส่วนสามีออกตัวชัดเจนว่าขอเป็นฝ่ายเล่นกับลูก แต่ครอบครัวเราต้องมีกฎร่วมกันว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ เช่น ห้ามกินช็อกโกแลตเป็นอาหารเช้า ดังนั้นไม่ว่าลูกกำลังใช้เวลาอยู่กับพ่อหรือแม่ สิ่งนี้ก็จะห้ามทำเสมอ
บางครั้งเรากับสามีอาจทะเลาะกันเรื่องงานบ้าง ด้วยความที่ครอบครัวและงานเป็นสิ่งเดียวกัน แต่กับเรื่องลูก เราจะพยายามไม่ทะเลาะกัน เพราะสามีมีเวลาน้อย งานเขาหนัก พอมีเวลาแค่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เราก็อยากให้เขามีเวลาดีๆ กับลูก ไม่อยากให้ลูกต้องมาเห็นเราเถียงกัน
แนะนำคุณแม่ที่อยากทำธุรกิจเสริมหรือกำลังมองหาโอกาสตรงนี้
ถ้าเราอยากทำธุรกิจที่มาจากความเป็นแม่ หรืออยากทำงานที่ได้ใช้เวลากับลูกไปด้วย ต้องถามตัวเองก่อนเลยว่าเราสามารถอยู่กับสิ่งนั้นได้ขนาดไหน อย่างตุ๊กสร้างแบรนด์ Little Monster ทุกลมหายใจเข้าออกของเรากลายเป็นสิ่งนี้ แม้แต่วันที่เราเหนื่อย เราก็ยังทำมันได้ เช่น อาจต้องรอลูกหลับแล้วค่อยมาทำงานตรงนี้ ไม่ว่าจะแตกไลน์ธุรกิจไปเป็นหนังสือทำอาหาร ขายเสื้อผ้าเด็ก หรือธุรกิจใดๆ เราต้องใช้เวลากับการทำการตลาดและรีเสิร์ชข้อมูลต่างๆ การสร้างแบรนด์และดูแลมันอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้ามั่นใจว่าทุ่มเทได้ก็ลงมือทำได้เลย
โชคดีที่สามีตุ๊กสามารถช่วยซัพพอร์ตเรื่องนี้ ถึงจะไม่ได้เรียนจบสายนี้โดยตรง แต่เขามีเซนส์พอที่จะแนะนำเราได้
ตอนที่จะขึ้นแบรนด์ใหม่ สามีถามเลยว่าสินค้าเราจะขายใคร ทำไมกลุ่มเป้าหมายถึงต้องซื้อ แบรนด์เราแตกต่างกับแบรนด์อื่นในตลาดตรงไหน และสุดท้าย เราพร้อมจะอดหลับอดนอนทุ่มเทเพื่อมันได้มากแค่ไหน
บทเรียนสำคัญที่สุดจากการเป็นคุณแม่
การควบคุมตัวเองเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับตุ๊ก เพราะตุ๊กเคยควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนเราสติหลุดแล้วเผลอตีเขา เพราะกำลังรีบแต่งหน้าอยู่ แล้วน้องจินมางอแง พอทำลงไปแล้วเรากลับมานั่งร้องไห้เลย หรืออย่างเรื่องลูกทำแก้วแตกแล้วเราปรี๊ดมาก ลูกก็อาจจะคิดว่าแค่ทำแก้วแตก ทำไมแม่ต้องโมโหขนาดนั้น ช่วยกันเก็บก็ได้ มันทำให้เราย้อนกลับมานึกถึงตัวเองว่าเราโมโหเพราะแก้วมันแตก หรือเพราะลูกทำให้เราสาย
มันสอนให้เรารู้ว่าถ้าเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วลูกจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ยังไง เมื่อไรที่เราสติแตก ลูกก็สามารถสติแตกตามได้ทุกเมื่อ หลังจากนั้นทุกอย่างจะแย่ไปหมด และมันจะเป็นแผลในใจลูกไปจนโต
ติดตาม BALANCED MAMA PODCAST ได้ทางหน้าเว็บไซต์ที่ TheStandard.Co/Podcast หรือถ้าคุณฟังพอดแคสต์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วย iOS หรือ Android ไม่ว่าจะใช้แอปฯ อะไรฟังอยู่ ใช้แอปฯ นั้นๆ เสิร์ชได้เลยว่า Balanced Mama หรือเสิร์ช THE STANDARD ก่อน แล้วดูลิสต์รายการพอดแคสต์ทั้งหมดในเครือ เมื่อเจอแล้วก็ Follow หรือ Subscribe เอาไว้ได้เลย
Credits
The Host ซินดี้ บิชอพ
The Guest นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์
Show Creator ซินดี้ บิชอพ
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic