×

ทำไมพนักงาน 2 ใน 3 คน ไม่รู้สึกอินกับงานอีกแล้ว จนเกิดกระแส Quiet Quitting ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ

05.05.2023
  • LOADING...
กระแส Quiet Quitting

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาเผยว่า โดยเฉลี่ยแล้วในปี 2022 พนักงาน 3 คน จะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ยังรู้สึกตั้งใจและมีส่วนร่วมกับงานที่ทำอย่างเต็มที่ ในขณะที่อีกประมาณ 2 นั้นไม่เป็นแบบนั้น
  • 30% ของพนักงานรู้สึกว่าภาระความรับผิดชอบไม่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ บวกกับความคาดหวังที่มากเกินไปในตัวของพวกเขาเป็นสาเหตุของ Quiet Quitting 
  • Gallup พบว่า ทั้งความเครียดและความกังวลของคนไทยเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022
  • ในแต่ละปี Gallup ประเมินว่าทั่วโลกสูญเสียมูลค่ากว่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับการซื้อ iPhone 13 ให้กับชาวอเมริกันทุกคนคนละ 23 เครื่อง
  • เทรนด์ Quiet Quitting มีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อทั้งในด้านบริษัทที่หาบุคลากรได้ยากมากขึ้น ในขณะที่พนักงานบางกลุ่มยังจำเป็นต้องพึ่งพารายได้และไม่อยากเสี่ยงกับงานใหม่

ปี 2022 นับเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกถูกท้าทายหลายด้านจากทั้งสถานการณ์โควิดที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และสงครามในยุโรประหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลลบต่อความสามารถในการผลิตและขนส่งสินค้าสำคัญหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหรือสินค้าโภคภัณฑ์อาหารต่างๆ ผลักค่าครองชีพในหลายพื้นที่ทั่วโลกพุ่งสูง ด้านของตลาดแรงงานเองก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกัน จากการปรับตัวหาจุดสมดุลของการทำงานรูปแบบใหม่ที่คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับตั้งแต่เกิดการระบาด

 

เราคงได้ยินถึงการลาออกครั้งใหญ่หรือ The Great Resignation เมื่อปี 2021 จากความไม่พอใจของพนักงานในสภาพแวดล้อมการทำงาน กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บริษัทบังคับใช้ หรือค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมในสายตาของพวกเขาเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับ ปัจจัยเหล่านี้นำมาสู่การตัดสินใจลาออกเป็นจำนวนมากของพนักงานทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปี 2022 เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสที่สะเทือนแวดวงธุรกิจการทำงานนั่นคือ ‘Quiet Quitting’ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นความกังวลอยู่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การมาของเทรนด์ Quiet Quitting

สำหรับ Quiet Quitting การลาออกแบบเงียบๆ หรือสภาวะหมดไฟไร้แรงทำงาน เริ่มเกาะกระแสและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 จากคลิปวิดีโอใน TikTok โดย Zaid Khan วิศวกรวัย 24 ปีที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก โดยเนื้อหาในวิดีโอพูดถึงกระแส Quiet Quitting ว่า “ผมไปได้ยินเกี่ยวกับเทรนด์ Quiet Quitting มา เทรนด์ที่พนักงานยังเลือกจะทำงานให้กับบริษัทแต่ไม่ได้ทุ่มเทให้กับงานอีกแล้ว ไม่อินกับวัฒนธรรมที่ต้องทำงานแบบสุดตัว เราแค่ทำตามหน้าที่ แต่งานไม่ใช่สิ่งที่มากำหนดว่าชีวิตเรามีค่าหรือไม่” หรือสรุปสั้นๆ ก็คือ “วิถีการทำงานแบบให้พอรอดผ่านไปวันๆ” กำลังเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของตัวพนักงานเอง บริษัทต่างๆ รวมถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่จะถูกกระทบหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

การที่พนักงานมีทัศนคติทำงานแบบขอให้ผ่านไปวันๆ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่ปี 2000 บริษัท Gallup ที่ปรึกษาและวิจัยสำหรับองค์กรชั้นนำ เริ่มเก็บข้อมูลและเผยว่า สัดส่วนของพนักงานชาวอเมริกันที่ ‘รู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับงานเลย’ อยู่ในกรอบช่วง 13-20% ขึ้นอยู่กับแต่ละปี โดยข้อมูลล่าสุดของปี 2022 แสดงให้เห็นว่า มีพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 18% ‘รู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับงานเลย’ และ 32% ที่ ‘รู้สึกมีส่วนร่วมกับงาน’ นั่นแปลว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดคือบุคลากรที่เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรไปข้างหน้าได้ แต่อีก 2 ใน 3 อยู่ในกลุ่มที่ไม่มุ่งมั่นกับงานมากเท่าที่ควร

 

การเปลี่ยนเทรนด์ของพนักงานที่เจตนาไม่ใส่ใจกับงานที่รับผิดชอบ (เส้นสีแดง) ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ในขณะที่เทรนด์ของพนักงานที่ตั้งใจทำงานลดลงหักหัวลงในช่วงเวลาเดียวกัน (เส้นสีเขียว)

 

ชนวนความกดดันที่นำไปสู่ Quiet Quitting

สาเหตุที่สถานการณ์ตลาดแรงงานกำลังเผชิญกับปัญหานี้มากขึ้น มาจากการที่พนักงานรู้สึกถูกถาโถมด้วยแรงกดดันและความคาดหวังที่มากเกินไป “ในโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ผู้คนต่างมองหาความหมายของงาน ไม่ใช่การทำงานที่น่าเบื่อและทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่งในสายการผลิตขนาดใหญ่” Thomas Roulet ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว เขามองว่าการที่ผู้นำไม่สามารถทำให้พนักงานรู้สึกมีแรงจูงใจกับงานที่เกิดจากการขาดอิสระที่เพียงพอและข้อจำกัดในการต่อรองปริมาณงานและความรับผิดชอบที่ต้องดูแล มีส่วนทำให้พนักงาน Burnout และนำไปสู่ Quiet Quitting ในที่สุด

 

ข้อมูลแบบสำรวจปี 2021 จาก SHRM สมาคมบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลพบว่า พนักงานจำนวนกว่าครึ่งต้องแบกรับภาระที่มากขึ้นจากการที่คนในทีมลาออก ในขณะที่ 3 ใน 10 คนอยู่ในภาวะกระเสือกกระสนเพื่อเร่งปั่นงานให้เสร็จทันเวลา และรู้สึกผูกพันกับองค์กรของตนน้อยลง ท่ามกลางความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบในการบริหารจัดการนี้ ผนวกกับ ‘ความคาดหวังที่สูงเกินไปขัดแย้งกับทรัพยากรที่มี’

 

ความรู้สึกลบต่างๆ ไม่ว่าจะเครียด กังวล โกรธ เศร้า ของพนักงานทั่วโลก พุ่งสูงในทุกมิติตามรายงานประจำปี 2022 ของ Gallup

 

นอกจากนี้ เรายังสามารถเห็นถึงความเห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนในคะแนนประเมินเรื่องการดูแลเอาใจใส่สุขภาพโดยรวมของพนักงานในองค์กร ในมุมของฝ่ายทรัพยากรบุคคลบริษัทที่เห็นด้วยว่า ‘องค์กรตนใส่ใจความสุขของพนักงาน’ มีอยู่ถึง 92% แต่เมื่อถามพนักงานในเรื่องเดียวกันผลกลับกลายเป็นว่ามีเพียง 52% เท่านั้นที่เห็นด้วย ในขณะที่พนักงานอีก 48% รู้สึก ‘เฉยๆ’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ 

 

ความต่างนี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของพนักงานต่อองค์กรที่กำลังลดลง ซึ่งหมายถึงแนวโน้มในแง่ของการมีส่วนร่วมกับองค์กรหรือประสิทธิภาพในการทำงานก็จะต่ำลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

 

ผลสำรวจพนักงานและผู้บริหารทรัพยากรบุคคลเสียงแตกเกี่ยวกับเรื่องความสุขในที่ทำงาน 

 

แนวโน้ม Quiet Quitting ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นแม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่าสังคมไทยกำลังประสบปัญหา Quiet Quitting อยู่หรือไม่ แต่ตามรายงานประจำปี 2022 ของ Gallup อาจส่งสัญญาณความน่าเป็นห่วง เนื่องจากผลสำรวจเผยว่าคนไทยอยู่ใน 3 อันดับแรกของประเทศที่มีทั้งภาวะความเครียดและความกังวลสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

มากไปกว่านั้น หากเราดูการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ จะพบว่าคนไทยมีอัตราความเครียดและความกังวลเพิ่มขึ้นถึง 5% และ 4% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ต้นตอปัญหา เพราะมันสามารถทำให้พนักงานรู้สึกหมดไฟกับงานจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่ Quiet Quitting ได้

 

ข้อมูลลำดับและการเปลี่ยนแปลงระดับความเครียดและความกังวลของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

Quiet Quitting หนึ่งในอุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การที่พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรน้อยลงตั้งแต่หลังโควิด และเทรนด์ Quiet Quitting ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล้วนมีส่วนทำให้ผลิตภาพของพนักงาน (Employee Productivity) ลดลง และนั่นเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้าม เพราะมันไม่เพียงแค่ส่งผลเสียกับผลกำไรของบริษัทและอัตราค่าแรงของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวฉุดรั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

 

Gallup ประเมินว่าในแต่ละปีนั้นเศรษฐกิจโลกสูญเสียมูลค่าถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 11% ของ GDP ทั่วโลก จากผลิตภาพที่หายไป ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการซื้อ iPhone 13 ให้กับคนอเมริกันประมาณ 23 เครื่องต่อคน โดยมีถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ที่เป็นสัดส่วนมูลค่าความเสียหายจาก Quiet Quitting การสูญเสียนี้นำไปสู่การขึ้นค่าแรงที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ หรืออัตราว่างงานที่สูงขึ้นจากการที่บริษัทไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เพียงพอ

 

ผลิตภาพของพนักงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการบ่งชี้สุขภาพทางเศรษฐกิจ โดยดูว่าผลผลิตที่ได้ออกมานั้นคุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไปหรือไม่ ข้อมูลโดย BLS องค์กรเก็บสถิติแรงงานของสหรัฐฯ เผยว่า ค่าเฉลี่ยผลิตภาพของพนักงานในปี 2022 ลดลงไปต่ำที่สุดในรอบ 49 ปีที่ -1.7% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 1974 ในช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลกที่สร้างความเสียหายอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการทรุดลงของผลิตภาพในปี 2022 จึงเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไรกับสภาพเศรษฐกิจในอนาคต

 

แนวโน้มการเกิด Recession ในอนาคตกับปัญหา Quiet Quitting 

ปี 2023 ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจซบเซา (Recession) เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความสำคัญและมองว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยปกติแล้วสภาวะเศรษฐกิจซบเซามักทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่หากมองถึงตลาดแรงงานปัจจุบันที่อยู่ในสภาวะตึงตัว หมายความว่าบริษัทต่างๆ ไม่มั่นใจที่จะเลิกจ้างพนักงานของตนจากความไม่มั่นใจว่าจะสามารถหาพนักงานใหม่ที่มีความสามารถเท่าเดิมมาทดแทนได้หรือไม่

 

ในขณะเดียวกันตัวพนักงานเองก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากงานที่ทำอยู่และไม่อยากเจอความเสี่ยงกับการเปลี่ยนงานใหม่ จึงจำเป็นต้องแบกรับภาระที่หนักฝืนธรรมชาติ ในสภาวะแบบนี้พนักงานบางคนอาจใช้ Quiet Quitting เป็นเครื่องมือในการรักษาจิตใจตัวเองจากที่ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจมากขึ้น และยังสามารถทำงานต่อและสร้างรายได้ให้ตัวเองได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนว่าพนักงานจะมีแต้มต่อบ้างจากการที่บริษัทหลายแห่งยังคงเก็บรักษาพนักงานของตัวเองไว้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ Matt Notowidigdo แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ออกมาเตือนว่า เพราะเรายังไม่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจซบเซาแบบเต็มตัว พนักงานจึงยังไม่ถูกเลิกจ้าง แต่หากในอนาคตเมื่อถึงเวลานั้น การเลิกจ้างครั้งใหญ่อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ท่ามกลางความท้าทายข้างหน้าของความเสี่ยงเศรษฐกิจซบเซา ดูเหมือนว่าเทรนด์ Quiet Quitting คงจะอยู่เป็นปัญหาไปอีกสักระยะในระหว่างที่เศรษฐกิจยังพอเดินไปข้างหน้าได้ สำหรับบางคนเมื่อการลาออกไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด การยอมทนทำงานแบบให้พอไปได้แต่ยังมีรายได้จึงอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือก แม้จะเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้แค่ในระยะสั้น 

 

ฉะนั้น ความท้าทายข้างหน้าคือการหาจุดสมดุลระหว่างพนักงานและบริษัทในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างในปัจจุบัน สุดท้ายแล้วความสุขและความใส่ใจของพนักงานไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับองค์กร แต่รวมไปถึงการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X