สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ในสหรัฐอเมริกา ออกร่างข้อกำหนดใหม่ เปิดทางให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มข้าวโอ๊ต-อัลมอนด์ใช้คำว่า ‘นม’ แทนตัวผลิตภัณฑ์ได้ ท่ามกลางข้อถกเถียงหวั่นสร้างความสับสน และควรมีไว้ใช้กับผลิตภัณฑ์นมวัวเท่านั้น
The Washington Post รายงานว่า กลุ่มสินค้าข้าวโอ๊ตและอัลมอนด์จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช ไม่สามารถใช้คำว่านม (Milk) ทำการตลาดได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตาม Standard of Identity ที่ FDA กำหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘นมโอ๊ต’ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ ‘เจ๋งจริง’ หรือแค่เวทมนตร์ทางการตลาด?
- Oatly บริษัทนมข้าวโอ๊ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเคยได้รับทุนจาก โอปราห์ วินฟรีย์ และ เจย์-ซี เตรียม IPO ในอเมริกา คาดระดมทุนได้ 5.2 หมื่นล้าน
- กระแส Plant-Based Milk มาแรง! Oatly บริษัทนมข้าวโอ๊ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เข้า IPO แล้วในอเมริกา แถมหุ้นพุ่งแรงจนมูลค่าบริษัทเพิ่มเป็น 4.3 แสนล้านบาท
แต่ล่าสุด FDA ได้ออกร่างข้อกำหนดใหม่ เตรียมให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ และถั่วเหลือง สามารถใช้คำว่านมทำการตลาดได้
แม้ก่อนหน้านี้จะมีการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มที่บริโภคนมและกลุ่มที่บริโภคข้าวโอ๊ต กังวลว่าผู้บริโภคจะสับสนหากอนุญาตให้กลุ่มสินค้าที่ทำจากพืชใช้คำว่านมทำการตลาด เพราะในความเป็นจริง นมที่ทำจากพืชไม่มีส่วนผสมของนมวัว
ขณะที่ FDA ระบุว่า จากการทำแบบสอบถามความเห็นของผู้บริโภค ส่วนใหญ่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ตและอัลมอนด์ไม่ได้ทำจากนม และผู้บริโภคมากกว่าครึ่งเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มนมจากพืช มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ต่างจากนมวัว และที่สำคัญทุกๆ แบรนด์จะต้องติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ ระบุความแตกต่างทางโภชนาการอย่างชัดเจน
ปัจจุบันข้อกำหนดดังกล่าวร่างขึ้นหลังรวบรวมความคิดเห็นมากกว่า 13,000 รายการ และเตรียมที่จะหาข้อมูลเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้นำมาใช้อย่างเป็นทางการ จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์การอาหารและยา หลังจากก่อนหน้านี้ในยุคของ Donald Trump ที่เคยออกมาแสดงจุดยืนว่าอัลมอนด์ไม่ใช่นม
ด้าน Paul Shapiro ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท BetterMeat ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการทวีตข้อความบน Twitter ว่า ‘ความมีสติสัมปชัญญะมีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด’
เช่นเดียวกับ Jim Mulhern หัวหน้าสหพันธ์ผู้ผลิตนมแห่งชาติ ระบุว่า คำศัพท์หรือชื่อเรียกที่เกี่ยวกับนม ควรมีไว้สำหรับผลิตภัณฑ์นมจริงๆ ไม่ใช่นำผลิตภัณฑ์จากพืชเข้ามาแอบอ้างว่าเป็นนม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มผลิตภัณฑ์นมจากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ทุกครัวเรือนในอเมริกาต้องมี ซึ่งตามข้อมูลของ FDA ตั้งแต่ปี 2016-2021 ผลิตภัณฑ์นมจากพืชมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับการบริโภคนมวัวที่กลับเริ่มลดลง
Indrawati Oey ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารแห่งมหาวิทยาลัย Otago ของนิวซีแลนด์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่คนส่วนใหญ่เริ่มลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ สิ่งสำคัญที่ FDA ต้องทำ คือการเน้นย้ำถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์และพืชอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าใจมากขึ้น
อ้างอิง: