×

โควิด-19 ระลอก 3 ทำผู้บริโภคหมดอารมณ์จับจ่ายใช้สอย กดดันธุรกิจร้านอาหารที่ยังรอการฟื้นตัว

08.06.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ระลอก 3

เป็นเวลากว่า 16 วัน ที่ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด ถูกสั่งห้ามไม่ให้ลูกค้านั่งทานในร้าน เหลือเป็นซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรีเพียง 2 ช่องทางเท่านั้น ทว่าการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 ที่ครั้งนี้หนักกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็ทำให้ช่องทางเดลิเวอรีที่เคยคึกคัก ทุกแบรนด์จัดเต็ม กลับเจือจางลง อันเป็นผลจากอารมณ์ของผู้บริโภคที่ยังไม่ค่อยอยากจับจ่ายใช้สอยเท่าไหร่ในภาวะเช่นนี้

 

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพรวมของช่องทางเดลิเวอรีไม่ได้ตื่นเต้นเหมือนงวดแรก ที่มีกิจกรรมการตลาดจากแบรนด์ต่างๆ ที่ลด แลก แจก แถม กันเยอะมาก แต่รอบนี้ทุกร้านเงียบเหมือนกันหมด

 

“แบรนด์ใหญ่ทุกรายกระตุ้นด้วยโปรโมชันเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคมองว่ามีความคุ้มค่าหรือเปล่า ถ้ามีการแถมอะไรสัก 1 อย่าง จะค่อนข้างได้รับการตอบสนองที่ดี หรือลด 30-40% ตลอดจนถ้าซื้อถึงยอดที่กำหนดแล้วส่งฟรี ลูกค้าก็ให้ความสนใจเช่นกัน แต่ถ้าแบรนด์ไหนไม่เล่นโปรโมชัน จะค่อนข้างเหนื่อยพอสมควร แม้โปรดักส์จะดีแค่ไหนยอดก็ไม่กระเตื้อง”

 

แม่ทัพไมเนอร์ ฟู้ด ระบุว่า การทำโปรโมชันดังกล่าวไม่ได้กระตุ้นได้ดีเท่ากับงวดแรกๆ เพราะครั้งนี้ลูกค้ายังเดินทางไปที่ร้านในห้างสรรพสินค้าได้อยู่ สำหรับไมเนอร์ภาพรวมไม่ได้ดีกว่าปีที่แล้ว บางแบรนด์ดีขึ้น เช่น Sizzler ที่เติบโตขึ้นเยอะเพราะปีที่แล้วฐานยังต่ำ หรือ The Pizza Company ที่ขยายโปรโมชัน 1 แถม 1 ทำให้ยอดขายก็เติบโตเช่นเดียวกัน

 

สำหรับการกลับมาให้นั่งทานในร้านได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม พร้อมกับปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 6 จังหวัด ลดเหลือเพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ตลอดจนนั่งกินอาหารที่ร้านได้ไม่เกิน 25% เปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. และขายกลับบ้านไม่เกินเวลา 23.00 น. ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

 

แม้จะเปิดให้นั่งได้ 25% ของจำนวนที่นั่งในร้าน แต่ด้วยความรู้สึกของผู้บริโภคที่ยังไม่อยากจับจ่าย ด้วยต้องการประหยัดเงินในกระเป๋าของตัวเอง ตลอดจนความกังวลเรื่องโรคระบาดที่ครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้ผู้บริโภคยังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าห้างและไปนั่งกินที่ร้านอยู่ดี ทำให้ที่นั่งก็ไม่เต็มอยู่ดี

 

โดยในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มีอัตราการนั่งประมาณ 75% ของที่นั่งในร้าน ส่วนวันธรรมดาส่วนใหญ่ต่ำกว่า 50% สำหรับไมเนอร์เองบางร้านที่มองว่าเปิดไปก็ยังไม่คุ้มทุนก็จะปิดชั่วคราวไปก่อน โดยร้านที่ปิดนั้นมีสัดส่วนประมาณ 10% ด้วยกัน

 

“ช่วงวันที่ 1-26 พฤษภาคม ยอดขายของไมเนอร์ ฟู้ด เติบโตขึ้นประมาณ 10% แต่ยอดขายในสาขาเดิมลดลงประมาณ 5% ด้วยมีสาขาบางส่วนต้องปิดชั่วคราวไป”

 

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวหรือไม่นั้น ประพัฒน์ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนล้วนๆ ว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำมี 3 เรื่อง คือ

 

1. การจัดหาวิธีตรวจโควิด-19 ที่เร็วและมีประสิทธิภาพ หรือปรับราคาค่าตรวจให้ลดลง ตลอดจนเปิดจัดหาอุปกรณ์ที่สามารถตรวจเชื้อได้เอง

 

2. รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะทำให้คนไทยอยากฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยควรมีแผนที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถฉีดในสัดส่วน 70-75% ของประชากรให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

 

3. การทำนโยบายรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วให้ชัดเจน เพราะนักท่องเที่ยวคือหนึ่งในเส้นเลือดหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

 

ด้านการฉีดวัคซีนสำหรับพนักงานของไมเนอร์ ฟู้ดนั้น ได้ดำเนินการให้ความรู้และแนวทางการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานที่ให้บริการในร้าน รวมถึงพนักงานขับรถส่งอาหาร ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้พนักงานได้รับทราบข้อเท็จจริงและตระหนักถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีน

 

ในปัจจุบันไมเนอร์ ฟู้ด ได้เร่งรณรงค์ให้พนักงานทุกระดับฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุด โดยมีจังหวัดนำร่องที่พนักงานของไมเนอร์ ฟู้ด ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100% แล้วทุกแบรนด์ เช่น ในจังหวัดภูเก็ตและอำเภอเกาะสมุย

 

โดยพนักงานที่ได้รับวัคซีนแล้วจะได้เข็มกลัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกๆ คน และหากร้านได้รับวัคซีนครบ จะมีโปสเตอร์ติดหน้าร้านว่าพนักงานร้านนี้ 100% ได้รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยไม่ใช่แค่ตัวพนักงานเอง แต่ยังส่งผลถึงครอบครัวและชุมชนที่พนักงานอยู่อาศัยอีกด้วย

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X