นี่คือส่วนหนึ่งของบรรดาประเทศที่เกิดการปฏิวัติ/รัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จมากที่สุด นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 (ปี ค.ศ. 1901-ปัจจุบัน) โดยประเทศในลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยผ่านการปฏิวัติ/รัฐประหารโดยกองทัพมานับครั้งไม่ถ้วน จึงไม่น่าแปลกใจที่ถ้าหากจะเริ่มนับการทำรัฐประหารตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ประเทศอย่างโบลิเวียและปารากวัย จะยังคงมีสถิติยึดอำนาจสำเร็จมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีบทเรียนที่ได้รับจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ และทราบดีว่า เผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาอีกต่อไป
การรัฐประหารโดยกองทัพครั้งล่าสุด เกิดขึ้นที่เมียนมาในวันนี้ (2021) หลัง พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมาได้เป็นผู้นำรัฐประหารเข้ารักษาอำนาจรัฐบาลแล้ว และได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมแต่งตั้ง พล.อ. อู มิน ส่วย รองประธานาธิบดีได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ขึ้นรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมาชั่วคราว
โดยโฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ยืนยันว่า กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัว ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพลเรือนอีกหลายคนไว้ในกรุงเนปิดอว์ สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตถูกตัดการติดต่อสื่อสาร ก่อนที่จะทำการยึดอำนาจ และออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยอ้างว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมาไม่โปร่งใส กองทัพจึงจำเป็นจะต้องยึดอำนาจและปกป้องรัฐธรรมนูญ นับเป็นการกลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งของรัฐบาลทหาร ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
กองทัพเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเมียนมาตั้งแต่ปี 1958 ก่อนที่กองทัพเมียนมา นำโดยนายพล เนวินจะก่อการรัฐประหารอย่างเป็นทางการในปี 1962 ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอู้นุ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นระบอบเผด็จการทหารที่กัดกร่อนสังคมเมียนมาอยู่นานหลายทศวรรษ
ขณะที่ไทยทำรัฐประหารสำเร็จมากถึง 13 ครั้ง มากที่สุดในย่านอาเซียน โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2014 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำรัฐประหาร และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ตามมาด้วยซีเรีย อัฟกานิสถาน รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ที่เกิดการปฏิวัติ/รัฐประหารบ่อยครั้งตลอดศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ย้อนอ่าน ‘บทเรียนจากการเมืองลาติน เมื่อเผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบสุดท้าย’ ได้ที่ https://thestandard.co/military-dictatorship-lessons-from-latin-america/
- ชมภาพ ‘จับตารัฐประหารในเมียนมา หลังกองทัพควบคุมตัวออง ซาน ซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล’ ได้ที่ https://thestandard.co/myanmar-leader-aung-san-suu-kyi-detained-2/
- อ่าน ‘กองทัพเมียนมายึดอำนาจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี หลังคุมตัว ออง ซาน ซูจี นักวิชาการไทยชี้ การกระชับอำนาจเกิดขึ้นหลังกองทัพเกิดความแตกแยก’ ได้ที่ https://thestandard.co/myanmar-leader-aung-san-suu-kyi-detained-3/
- อ่าน ‘เปิดไทม์ไลน์กองทัพเมียนมายึดอำนาจ-คุมตัว ออง ซาน ซูจี และผู้นำรัฐบาล ท่ามกลางวิกฤตการเมือง’ ได้ที่ https://thestandard.co/timeline-myanmar-leader-aung-san-suu-kyi-detained/
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์