×

กองทัพเมียนมายึดอำนาจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี หลังคุมตัว ออง ซาน ซูจี นักวิชาการไทยชี้ การกระชับอำนาจเกิดขึ้นหลังกองทัพเกิดความแตกแยก

01.02.2021
  • LOADING...
ออง ซาน ซูจี

BBC รายงานอ้างสำนักข่าวเมียวดี ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของกองทัพเมียนมาว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารักษาอำนาจรัฐบาลแล้ว และล่าสุดเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยระบุกรอบเวลา 1 ปี ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่สร้างความวิตกให้กับนานาชาติ

 

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเมียนมา เปิดเผยว่า ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (ผู้นำทางพฤตินัย) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาหลายคนถูกกองทัพควบคุมตัวในกรุงเนปิดอว์ช่วงเช้าวันนี้  

 

เมียว ยุ้นต์ โฆษก NLD เปิดเผยว่า นอกจาก ออง ซาน ซูจี แล้ว ประธานาธิบดีวิน มินต์ และรัฐมนตรีหลายคนก็ถูกควบคุมตัวโดยทหารด้วย และยืนยันว่ากองทัพได้เข้าควบคุมเมืองหลวงไว้แล้ว

 

หลังการยึดอำนาจ เมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ขณะที่ พลเอก อู มิน ส่วย รองประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ ได้ขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว โดย มิน ส่วย ถือเป็นพันธมิตรคนสำคัญของ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา

 

BBC รายงานด้วยว่า ระบบสื่อสารทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในเมียนมาถูกตัดขาดด้วย โดยเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กระทรวงข่าวสารประกาศว่าไม่สามารถออกอากาศรายการวิทยุและโทรทัศน์ของเมียนมา (MRTV) ได้ตามปกติ เนื่องจากปัญหาในการสื่อสาร

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลังกองทัพอ้างว่ามีการทุจริตเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่ง NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยทางกองทัพได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนความผิดปกติดังกล่าว ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทหารอาจเข้ายึดอำนาจ แม้ว่านายทหารอาวุโสจะออกมาปฏิเสธข่าวลือนี้ และยืนยันว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

 

แถลงการณ์จากกองทัพระบุว่า การควบคุมตัวคณะผู้นำรัฐบาลครั้งนี้เกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง หลังพบความผิดปกติในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป

 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการไทยจากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า วิกฤตการเมืองในเมียนมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ในกองทัพเองไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก โดยหลายปีก่อนหน้านี้พรรค NLD และกองทัพเมียนมาต่างก็หวังพึ่งพาซึ่งกันและกัน

 

ดร.ปิติ ชี้ว่า ภูมิทัศน์การเมืองในเมียนมาเปลี่ยนไปมาก โดยในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีนว่าด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลังเมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่องชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานที่ติดชายแดนจีน ทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง

 

ขณะที่อีกด้านของพรมแดนทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮีนจา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวลเช่นกัน 

 

ส่วนในกลุ่มกองทัพเอง ก็ขาดความเป็นเอกภาพระหว่างกลุ่มผู้นำทหารอาวุโสกับกลุ่มรุ่นใหม่ โดยในอดีตสองกลุ่มอาจอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจากอินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ รวมถึงกรณีรัฐบาลได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิด-19 จากอินเดีย ส่งผลให้ดุลอำนาจและการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คืออินเดียเสียสมดุล นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง NLD และกองทัพก็เสียสมดุลด้วย เพราะกองทัพมีความแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทกับจีน), กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น และกลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน

 

ดร.ปิติ ระบุต่อไปว่า เมื่อช่วงกลางปีของปีที่แล้ว นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย ก็เพิ่งจะแต่งตั้งนายทหารรุ่นใหม่ให้มีตำแหน่งระดับนายพล และมีหน้าที่คุมกำลังและคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะตำแหน่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ ตำแหน่งของเขียวสวาร์ลิน ซึ่งถือเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดในกองทัพเพียง 49 ปี และยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 35 ซึ่งถือว่าเด็กมาก และเป็นการแต่งตั้งข้ามหัวรุ่นพี่จำนวนมาก เพราะตำแหน่งในระดับนี้ปกติน่าจะเป็นตำแหน่งของนายพลที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ไม่ใช่ข้ามมารุ่น 35 แต่แน่นอนว่า เขียวสวาร์ลินคือเด็กสร้างของมิน อ่อง ลาย ที่จะทำให้เขาแน่ใจว่าหลังจากที่เขาเกษียณอายุ เขาจะไม่ถูกตาม ‘เช็กบิล’ ดังนั้นเราจึงเห็นรอยร้าวชัดเจนในกองทัพ

 

และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาเคลื่อนไหวมักจะเกิดขึ้น เช่น หลังเหตุการณ์ 8/8/88 ทหารฝ่ายเนวินถูกโค่นโดยฝ่ายตาน ฉ่วย หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่าง โซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง

 

และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย ก็กำลังจะเกษียณอายุในเดือนกรกฎาคมนี้ “ดังนั้นการที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำก็ต้องรีบทำตอนนี้”

 

ภาพ: Roslan RAHMAN / AFP

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising