×

บทเรียนจากการเมืองลาติน เมื่อเผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

20.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ระบบทหารไม่ใช่สิ่งใหม่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ระบบนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในภูมิภาคนี้ทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่อาณาจักรชนเผ่าโบราณอย่างมายา อินคา และแอซเทค จนถึงต้นศตวรรษที่ 21
  • กระแสคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1917 มีเป้าหมายคือ ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาจึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีองค์ประกอบสำคัญที่เสริมสร้างแนวความคอมมิวนิสต์
  • รัฐบาลเผด็จการทหารในลาตินอเมริกาใช้ความหวาดกลัว นโยบายเศรษฐกิจและแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมและให้ตนอยู่ในอำนาจได้ยาวนานขึ้น
  • การทำรัฐประหารในบราซิลปี 1964 และความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ เป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์เผด็จการทหารในภูมิภาคลาตินอเมริกา
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเผด็จการกล่าวว่า “สังคมไทยจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม คุณก็จะเจอระบบทหารเข้าไปแทรกอยู่ในทุกบริบท ระบบการต่อรองนี้ก็จะเคลื่อนตามเป็นเงาตลอดเวลา”

     เมื่อพูดถึง ‘ภูมิภาคลาตินอเมริกา’ หลายคนคงจะนึกถึงการประกวดนางงาม วัฒนธรรมชนเผ่าโบราณ การท่องเที่ยวแนวผจญภัย การก่ออาชญากรรม หรือแม้แต่การค้ายาเสพติด หลายคนคงอาจจะยังไม่รู้ว่า ภูมิภาคแห่งนี้ครั้งหนึ่งเกือบทุกประเทศล้วนเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ภูมิภาคที่มีระบอบเผด็จการทหารแข็งแกร่งที่สุดในโลก’ และในปัจจุบันก็ไม่หลงเหลือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารอยู่เลย เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดภูมิภาคที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่เผด็จการทหารทรงพลังที่สุด ทำไมระบอบนี้ถึงล่มสลายลงจนหมด? และเราจะสามารถเรียนรู้อะไรจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์นี้ได้บ้าง?

     THE STANDARD จะพาคุณไปร่วมค้นหาคำตอบเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา ผ่านการพูดคุยกับ อ.ดร. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมลาตินอเมริกา รวมถึงประวัติศาสตร์โลกอเมริกัน

 

Photo: STR/AFP

 

จุดเริ่มต้นของเผด็จการ: ระบบทหารไม่ใช่สิ่งใหม่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

     อ.ดร. เชาวฤทธิ์ พูดถึงจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ระบบทหารฝังรากลึกในภูมิภาคนี้ แล้วพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นระบอบเผด็จการทหาร เกิดเป็นเทรนด์ที่ทำให้หลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้เลือกใช้ระบอบนี้ในการปกครองประเทศ อ.ดร. เชาวฤทธิ์ชี้ว่า ระบบทหารในลาตินเกี่ยวพันกับการปกครองในอดีต สมัยที่ดินแดนแถบนี้ยังคงเป็นอาณาจักรของชนเผ่าพื้นเมืองโบราณอย่าง มายา อินคา และแอซเทค ที่มีความจำเป็นในการใช้ระบบทหารในการควบคุมดูแลอาณาจักรของตนเอง “ระบบทหารจึงไม่ใช่สิ่งใหม่ในลาตินอเมริกา”

     เมื่อดินแดนต่างๆ เหล่านี้ถูกยึดครองและตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสเปน ประเทศเหล่านี้ก็ใช้ระบบทหารเข้าไปควบคุมดูแลกำลังคน และคอยทำสงครามกับดินแดนอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศเจ้าอาณานิคม ระบบทหารเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมลาตินอเมริกาทุกยุคทุกสมัย

     พอดินแดนเหล่านี้ประกาศเอกราชก็เกิด ‘ระบบเจ้าพ่อ (Caudillo)’ ขึ้นในประเทศเกิดใหม่ เจ้าพ่อคนไหนมีอำนาจมากที่สุด ก็จะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและใช้ระบบทหารในการจัดระบบระเบียบสังคม เจ้าพ่อเหล่านี้มักจะเคยเป็นทหารมาก่อน ผ่านการรบในศึกสงคราม มีบารมีในการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ และจะผันตัวเองกลายเป็นผู้นำเผด็จการในที่สุด เช่น Santa Anna (เม็กซิโก), Anastasio Somoza García (นิการากัว), Porfirio Díaz (เม็กซิโก), Rafael Carrera (กัวเตมาลา) เป็นต้น

     ในศตวรรษที่ 19 ช่วงที่ลาตินอเมริกาประกาศเอกราช ผู้นำเผด็จการหรือระบบทหารเหล่านี้จะมองว่าศัตรูที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติ (Outsider) จึงมีการสู้รบกับชาติอื่นๆ เพื่อป้องกันพรมแดนของตน เกิดเป็นสงครามครั้งสำคัญ เช่น สงครามแปซิฟิก (โบลิเวียและเปรู รบกับชิลี) สงครามสามพันธมิตร (บราซิล อาร์เจนตินา และอุรุกวัย รบกับปารากวัย) เป็นต้น นี่คือระบบทหารที่อยู่มาได้อย่างยาวนานเรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20

 

Photo: AFP

 

ผู้นำประชานิยมและการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสหรัฐฯ

     ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 1929 ทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกามีการเปลี่ยนแปลง หลายประเทศเริ่มมองหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากการครอบงำของสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในด้านการค้าและการลงทุน แทนที่อังกฤษและได้ครอบครองอาณานิคมของสเปนอย่าง คิวบา เปอร์โตริโก และฟิลิปปินส์ รวมทั้งคลองปานามา      

     หลายประเทศในลาตินเริ่มหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมของตัวเอง และเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจาก ‘การเน้นส่งออกและนำเข้า’ มาเป็น ‘นโยบายผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า หรือ ISI (Import-Substitution Industrialization)’ โดยเน้นให้ภาครัฐมีบทบาทนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและลงทุนภายในประเทศ พยายามพึ่งพาตัวเองทางด้านเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หรือประเทศในยุโรป ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้สินค้าภายในประเทศขายได้ และทำให้นโยบาย ISI อยู่ได้นานยิ่งขึ้น

     อ.ดร.เชาวฤทธิ์ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้จะเกิดผู้นำทางการเมืองที่มีวาทศิลป์ที่สามารถดึงดูดแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้เป็นฐานเสียงของตัวเองได้อย่าง Juan Peron (อาร์เจนตินา), Vargas (บราซิล) และ Cardenas (เม็กซิโก) คนเหล่านี้สามารถเชื่อมผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอย่างพวกแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่มีพลังในทางการเมืองแต่กลับถูกเพิกเฉย มีการใช้นโยบายประชานิยมที่ยึดโยงอยู่กับตัวผู้นำ

     “นโยบายประชานิยมเหล่านี้ ไปเพิ่มอำนาจให้กับ mass หรือกลุ่มคนที่ถูกเพิกเฉยในสังคมก่อนหน้านี้ ประกอบกับกระแสคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1917 มีเป้าหมายคือ ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ลาตินอเมริกาจึงเป็นภูมิภาคที่มีองค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างแนวความคิดนี้ เพราะภูมิภาคนี้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุด ภูมิภาคนี้จึงน่าสนใจมากโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง”

     เข้าสู่ยุคสงครามเย็น หลายประเทศในลาตินอเมริการู้สึกผิดหวัง หลังจากที่ถูกสหรัฐฯ มองข้ามและหันไปให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรปในการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม และป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ผ่านแผนการมาร์แชลและความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งๆ ที่ประเทศในลาตินกลุ่มนี้ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ตลอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พอสบโอกาส คอมมิวนิสต์จึงเริ่มเข้าแทรกซึมภูมิภาคนี้

     สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือคิวบาจนสามารถประกาศเอกราชจากสเปนได้สำเร็จในปี 1898 และยังสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารของ Fulgencio Batista ให้ปกครองคิวบา เพราะสหรัฐฯ ในนามผู้นำโลกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในช่วงสงครามเย็น จะไม่ยอมให้ประเทศในแถบนี้เป็นคอมมิวนิสต์เด็ดขาด จึงยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ทุกๆ รัฐบาล แม้แต่รัฐบาลเผด็จการทหาร ตราบเท่าที่คุณไม่ใช่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Batista ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน มีการเซนเซอร์สื่อ ส่งผลให้ชาวคิวบาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การปฏิวัติคิวบาในปี 1959 เพื่อโค่นล้มเผด็จการทหาร Batista ที่ดำเนินนโยบายอิงแอบอยู่กับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Fidel Castro และ Che Guevara และเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์

     การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในคิวบาเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับสหรัฐฯ เพราะคิวบาอยู่ห่างจากแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ถึง 100 ไมล์ เป็นเรื่องตลกร้ายที่สหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นภัยคอมมิวนิสต์ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก แต่ท้ายที่สุดกลับปล่อยให้ภูมิภาคที่เปรียบเสมือนเป็นสวนหลังบ้านของตัวเองกลายเป็นคอมมิวนิสต์

     “สหรัฐฯ มองว่า ผู้นำประเภทที่ให้ความช่วยเหลือคนยากคนจน ผู้นำประชานิยมพวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะคนกลุ่มนี้ไปเพิ่มอำนาจให้กับคนเล็กคนน้อย ทำให้พวกคนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาต่อต้านชนชั้นนำในสังคม”

     ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นกระแสโต้กลับ เกิดกบฏเอียงซ้าย กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยขึ้นในหลายๆ ประเทศในลาติน ทำให้สหรัฐฯ สนับสนุนระบอบเผด็จการทหารให้ขึ้นมา โดยเฉพาะเผด็จการทหารในบราซิล (1964) ที่ขึ้นมามีอำนาจในลักษณะยกแผง แทนที่จะเป็นรายบุคคลเช่นในอดีต

 

Photo: AFP

 

รัฐประหารในบราซิล (1964) และ Brazilian Miracle (1970): ต้นแบบเทรนด์เผด็จการทหารในลาติน

     ภายหลังรัฐประหารในบราซิล เผด็จการทหารขึ้นมามีอำนาจและใช้นโยบายเศรษฐกิจ ISI พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ จีดีพีของประเทศสูงขึ้นมาก ประเทศอื่นๆ ก็เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ เห็นว่าทหารพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศมีความก้าวหน้าและเจริญเติบโตอย่างมาก ทำให้ทศวรรษ 1970 กลายเป็นยุคทองของเศรษฐกิจบราซิล (Brazilian Miracle) ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ทั้งตัวอย่างของความสำเร็จและกระแสคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ผลักดันให้หลายๆ ประเทศในลาตินกลายเป็นเผด็จการทหารตามบราซิล เช่น อาร์เจนตินา โบลิเวีย กายอานา เป็นต้น และเกิดเป็นเทรนด์เผด็จการทหารกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาค

     เผด็จการทหารใช้ ‘ความกลัว’ เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม ใช้กำลังและความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่าง ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ ‘นโยบายเศรษฐกิจ’ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของเผด็จการ เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต สังคมก็จะให้การยอมรับและลดกระแสต่อต้าน แม้พื้นที่ทางการเมืองจะถูกปิด ทำให้เผด็จการรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจต่อไป นอกจากนี้ ‘แรงสนับสนุนจากภายนอกประเทศ’ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้เผด็จการในลาตินอเมริกาอยู่ในอำนาจยาวนานมากยิ่งขึ้น

     นานวันเข้า ด้วยบริบทแวดล้อมแบบนี้ จะทำให้ประชาชนมีความเฉยชาในทางการเมือง และรู้สึกว่าความสงบเรียบร้อยนี้ก็ดีอยู่แล้ว โดยไม่สนใจรูปแบบหรือระบอบการปกครอง ถึงแม้ว่าจะเป็นเผด็จการทหารที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของเราในหลายๆ ด้านก็ตาม

 

Photo: STR/AFP

 

และแล้ว…เผด็จการทหารในลาตินก็ล่มสลาย

     การใช้นโยบายเศรษฐกิจ ISI มีประสิทธิภาพเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ท้ายที่สุดประเทศในลาตินอเมริกาก็ยังต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรที่มีราคาสูง ทำให้ขาดดุลการค้า ชี้ให้เห็นว่า เผด็จการทหารเลือกดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจผิดพลาด นโยบายเศรษฐกิจ ISI ทำให้ความต้องการภายในประเทศมีจำกัด เมื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศหมดแล้ว ก็จะต้องหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า แต่สินค้าที่มีก็ด้อยคุณภาพ จนขายไม่ได้อยู่ดี นอกจากนี้นโยบายนี้ยังทำให้ ‘ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ ของแต่ละประเทศลดลงอีกด้วย

     “นโยบาย ISI ไม่ได้เน้นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของแต่ละประเทศ ทุกประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ไม่เน้นการส่งออก อีกทั้งยังตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากต่างชาติที่ผลิตได้ดีกว่าและสามารถขายได้ในราคาถูกกว่า เพื่อให้เกิดการอุดหนุนสินค้าภายในประเทศแทน ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่มีประสิทธิภาพและสินค้าไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะส่งออก

     “ทุกๆ ประเทศต่างใช้นโยบายนี้เหมือนกันหมด ต่างคนต่างผลิตของเหมือนๆ กัน แทนที่แต่ละประเทศจะผลิตหรือส่งออกสินค้าที่ตนเองถนัดหรือมีความได้เปรียบ และนำเข้าสินค้าที่ตนไม่มีความถนัดในการผลิต นโยบาย ISI นี้ไปทำลายความสามารถหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ในลาตินมีอยู่หรือแข่งขันได้ จนเกิดสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ”

     วิกฤต Oil Price Shock ในปี 1973 ที่โอเปกขึ้นราคาน้ำมัน เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ และประเทศยุโรปที่สนับสนุนอิสราเอล ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ประเทศในลาตินส่วนใหญ่ต่างกู้เงินจากธนาคารที่กลุ่มประเทศโอเปกนำกำไรที่ได้จาการค้าน้ำมันไปฝาก เรียกว่า Petro Dollars ทำให้มีลักษณะเหมือนงูกินหาง กู้เงินเขามาเพื่อซื้อสินค้าเขา ทำให้หนี้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเกิดวิกฤต Oil Price Shock อีกครั้งในปี 1979 เนื่องจากเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน น้ำมันราคาพุ่งสูงขึ้นอีก ประเทศทั้งหลายในลาตินก็เจอปัญหาแบบเดิมอีก

     จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่เผด็จการทหารเริ่มขึ้นมาในปี 1964 เศรษฐกิจดีขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ต่อมาอัตราการเจริญเติบโตลดลงเรื่อยๆ อัตราเงินเฟ้อในลาตินอเมริกาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สหรัฐฯ จึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 1981 เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่จึงนำเงินไปฝากและลดการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจชะลอตัวลง ประเทศลาตินที่เคยกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศในลาตินไม่มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและประกาศพักชำระหนี้ในที่สุด ทำให้ทศวรรษ 1980 กลายเป็นทศวรรษแห่งการถดถอย (Lost Decade) และเกิด ‘วิกฤตหนี้ในลาตินอเมริกา’

     ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมถึงการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนภายในประเทศอย่างรุนแรง เพราะมุมมองในการรับรู้ของกองทัพมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มองว่าศัตรูที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติ กลายมาเป็น ประชาชนพลเมืองของประเทศที่คิดต่าง จึงเกิดกบฎและกระแสต่อต้านลุกฮือขึ้นเป็นระยะ พร้อมทั้งกระแสภัยคอมมิวนิสต์ที่เจือจางลงปลายยุคสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯ ลดการแทรกแซง เพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา ท้ายที่สุดเผด็จการทหารอยู่ไม่ได้ จึงค่อยๆ ทยอยลงจากอำนาจและสลายตัวไปจากภูมิภาคนี้จนถึงปัจจุบัน

 

Photo: DANIEL GARCIA/AFP

 

บทเรียนจากเผด็จการทหารในลาติน ที่คนไทยควรรู้

     อ.ดร. เชาวฤทธิ์ ชี้ให้เห็นถึงลักษณะเด่นประการหนึ่งของการเมืองลาตินอเมริกาคือ ก่อนที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน ประสานรอยร้าวในสังคม (Reconciliation) ทุกฝ่ายจะมานั่งคุยกันเพื่อค้นหาความจริง (Truth) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน และคนที่ทำผิดต้องได้รับโทษ นอกจากนี้พวกเขายังสามารถยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร เพื่อให้ผู้นำเผด็จการทั้งหลายได้รับโทษทางกฎหมายสำหรับความผิดที่เกิดขึ้น เช่น นายพล Pinochet (ชิลี) ที่ต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ฐานความผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นต้น      

     ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ แรงกดดันระหว่างประเทศ ทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐอื่นๆ ตัวแสดงนี้มีบทบาทและอิทธิพลค่อนข้างสูงต่อประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น ถ้าเกิดรัฐประหารในปารากวัย ลาตินจะมีแรงขับนี้เกิดขึ้น ผู้นำเผด็จการในปารากวัยจะถูกแรงขับให้ออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศทันที หรือถูกกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ นั่นสะท้อนถึงการไม่ได้รับการยอมรับในสังคมโลก

     บทเรียนที่เลวร้ายในช่วงที่ระบอบเผด็จการทหารขึ้นปกครองประเทศ ถูกฝังลึกอยู่ในการรับรู้ของผู้คนภายในภูมิภาคนี้ คนลาตินตระหนักดีว่า การมีทหารขึ้นมาบริหารประเทศ ไม่ฟังก์ชัน และไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย อีกทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้มาตรการความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ทุกประเทศในลาตินอเมริกาจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเป็นเผด็จการ พอเกิดวิกฤตครั้งใหม่ ระบบทหาร กองทัพหรือผู้นำเผด็จการ ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้คนในภูมิภาคนี้นึกถึงอีกต่อไป คนกลุ่มนี้จึงมีความชอบธรรมน้อยมากในการที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจในการบริหารประเทศอีกในปัจจุบัน

 

Photo: DANIEL GARCIA/AFP

 

     “สหรัฐสนับสนุนเผด็จการทหารทั้งหมด ก็เพื่อสกัดกั้นภัยคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อกระแสคอมมิวนิสต์หายไปก็ตัวใครตัวมัน ตอนรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่ในอำนาจ คุณก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง บริหารเศรษฐกิจพลาด ตอนนี้คุณขายคอมมิวนิสต์ไม่ได้แล้ว แล้วคุณจะขึ้นมาบอกว่า ทำเพื่อความสงบสุขอะไรหรือ”

     สิ่งที่ประเทศลาตินให้ความสนใจภายหลังจากระยะเปลี่ยนผ่านของเผด็จการทหารสิ้นสุดลงคือ การพยายามตอบคำถามต่อไปนี้ เช่น จะจัดการกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร เพราะเผด็จการกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ การจัดสรรอำนาจใหม่ในทางการเมืองเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ที่ทางของระบบทหารจะเป็นอย่างไรในอนาคต รวมถึงจะจัดการกับมรดกของเผด็จการที่หลงเหลือไว้ในสังคมอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

     อ.ดร. เชาวฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ถึงประเด็นที่เผด็จการทหารในเมืองไทยยังคงฟังก์ชัน (ทำงาน) อยู่ในขณะนี้ เพราะบริบทของสังคมการเมืองไทยและลาตินอเมริกามีจุดต่างหลักๆ ในแง่ของผู้เล่นทางการเมือง ในภูมิภาคลาติน มีเพียงทหารกับประชาชน แต่ในสังคมไทย ระบบทหารยึดโยงอยู่กับอำนาจนำ การเกี่ยวโยงนี้สร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นมามีอำนาจของกองทัพ นอกจากนี้ยังกล่าวถึง ‘เงาสลัว’ ที่จะยังคงปกคลุมอนาคตของการเมืองไทยต่อไป แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง (ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) ในปีหน้า

     “ในลาตินอเมริกามีแค่ทหารกับประชาชน ตอนนี้ระบบทหารไม่มีสิทธิ ระบบการเมืองการเลือกตั้งก็เดินไปข้างหน้า เมื่อไรก็ตามที่ทหารจะขึ้นมา จะมีคนถามเสมอว่า คุณมีเหตุผลอะไร? และอะไรที่แตกต่างกันระหว่างภูมิภาคลาตินกับไทย ก็ต้องมานั่งดูบริบททางการเมืองและผู้เล่นทางการเมือง คุณก็จะได้คำตอบว่า ทำไมเผด็จการทหารในประเทศนี้ยังคงฟังก์ชันอยู่ และทำไมเราถึงเดินหน้าไปสู่กระบวนการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งอย่างภูมิภาคลาตินไม่ได้

    “สังคมไทยต่อไปนี้จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ระบบการเลือกตั้งควรจะทำหน้าที่ แต่รัฐธรรมนูญกลับถูกดองเค็มและมีทหารเข้าไปนั่งในนั้นเต็มไปหมด ถึงเราจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม คุณก็จะเจอระบบทหารเข้าไปแทรกอยู่ตลอดเวลา ระบบการต่อรองนี้ก็จะเคลื่อนตามเป็นเงาสลัวตลอดเวลา”

     แม้ระบอบประชาธิปไตยจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ภายใต้ระบอบนี้ เสียงของคุณมีพลัง เสียงของคุณมีความหมาย นั่นหมายถึง คุณมีอำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล แตกต่างจากเผด็จการ ที่ต่อให้คุณตะโกนจนสุดเสียง เสียงของคุณก็ไม่มีวันเดินทางไปถึง…

     หรือวันนี้ ‘เผด็จการทหาร’ จะไม่ใช่คำตอบ?

FYI

เผด็จการคืออะไร? มีรูปแบบใดบ้าง?

     ระบอบเผด็จการ เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว หรือพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว เช่น เผด็จการทหาร (Military Dictatorship) เผด็จการฟาสซิสต์ (Facism) เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นต้น

     เผด็จการส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการรุนแรงหรือทำการปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยผู้นำเผด็จการส่วนใหญ่จะพยายามออกแบบและใช้วิธีการต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจนี้ไว้ พร้อมทั้งขยายฐานอำนาจให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองให้กับกลุ่มญาติมิตร เพื่อนสนิทหรือพรรคพวกของตน เป็นต้น

     “เผด็จการมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเฉดสี ขึ้นอยู่ที่ว่าจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ใคร แม้กระทั่งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดก็อาจจะกลายเป็นเผด็จการได้ ถ้าเขาสามารถรวบอำนาจและก้าวข้ามการตรวจเช็กจากหน่วยทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมได้ และอาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาอยู่ในอำนาจได้ยาวนานยิ่งขึ้น

     “ถ้าพูดถึงเผด็จการ ส่วนมากเราจะมองแค่เผด็จการทหาร แต่เราลืมมองไปว่า ระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นเผด็จการเหมือนกัน”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising