×

ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ทำตามกันได้จริงหรือ? รู้จัก Survivorship Bias เพื่อก้าวข้ามอคติของความสำเร็จ

07.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins Read
  • ก่อนที่คุณจะเชื่อคำเเนะนำของบุคคลที่ประสบความสำเร็จพวกนี้เเบบปักใจ ควรทำความรู้จักกับอคติทางด้านความคิดตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า Survivorship Bias
  • Survivorship Bias เป็นอคติทางความคิด เกี่ยวกับสถิติของการอยู่รอด ซึ่งอคตินี้มาจากการที่คนเรามักจะให้ความสำคัญมากเกินไปกับคนที่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์อะไรสักอย่าง เเละเเทบจะไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยกับคนที่ไม่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์นั้นๆ
  • Survivorship Bias ยังอธิบายอีกด้วยว่าเวลาที่เราฟังคนที่ประสบความสำเร็จมาพูดถึงเคล็ดลับของความสำเร็จของพวกเขานั้น เรามักจะคิดว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากความพยายามเเละความสามารถเพียงเเค่อย่างเดียว

     “คุณสามารถที่จะประสบความสำเร็จเหมือนๆ กับที่ผมประสบความสำเร็จในชีวิตของผมได้ ถ้าคุณทำทุกอย่างตามผมอย่างนี้ เเละอย่างนี้ เเละ…”
     ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนก็คงจะเคยพบเคยเจอบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจหรือทางด้านการเงินก็ตาม มาพูดออกสื่อต่างๆ นานาถึง ‘เคล็ดลับ’ ของความสำเร็จของตัวเอง เเถมยังให้คำเเนะนำต่างๆ นานากับพวกเราด้วยว่า ถ้าคุณทำตามเคล็ดลับพวกนี้ คุณเองก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกันกับเขา
     ฟังดูดีใช่ไหมครับ เพราะไม่ว่าใครก็อยากจะรวย อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือเเค่อยากจะมีความสุขในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
     เเต่ก่อนที่คุณจะเชื่อคำเเนะนำของบุคคลที่ประสบความสำเร็จพวกนี้เเบบปักใจ ก่อนที่คุณจะยอมจ่ายเงินที่คุณหามาด้วยตัวของคุณเองเพื่อเข้าไปฟังสัมมนาของบุคคลเหล่านี้ ผมอยากให้คุณทราบอคติทางด้านความคิดตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า  Survivorship Bias

Survivorship Bias คืออะไร
     Survivorship Bias เป็นอคติทางความคิด หรือจะเรียกว่าความเข้าใจผิดๆ ก็ได้ เกี่ยวกับสถิติของการอยู่รอด ซึ่งอคตินี้มาจากการที่คนเรามักจะให้ความสำคัญมากเกินไปกับคนที่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์อะไรสักอย่าง เเละเเทบจะไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยกับคนที่ไม่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยเหตุผลเพียงเเค่ว่าเรามักจะไม่ค่อยเจอคนที่ไม่ประสบความสำเร็จตามสื่อได้ง่ายๆ
     ยกตัวอย่างเช่น บิล เกตส์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถ้าเรามองไปยังคุณสมบัติของทั้งสองคนนี้เราอาจจะสรุป (อย่างผิดๆ) ได้ว่า การเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเเล้วออกมาทำสตาร์ทอัพของตัวเอง ขอเเค่ตัวเองมีไอเดียดีๆ ก็สามารถจะอยู่รอดเเละประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
     ซึ่งการที่เราไม่สามารถมองเห็นคนอื่นๆ ที่อาจจะมีไอเดียดีๆ เหมือนกับทั้งสองคนนี้ ที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อเพื่อออกมาทำสตาร์ทอัพเหมือนกัน เเต่อาจเป็นด้วยสาเหตุที่พวกเขาโชคไม่ดีหรือไม่มีเงินพอที่จะช่วยธุรกิจของเขาให้เจริญเติบโตเท่าที่ควร ทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่งดังได้ ทำให้พวกเรามีความคิดที่เกินความเป็นจริงว่า “การประสบความสำเร็จในชีวิตนี้มันไม่ยากมาก ขอเเค่ทำตามพี่บิลกับพี่มาร์กก็พอ” ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะอันตรายพอสมควร เพราะความคิดนี้ไม่ได้นำเอาความเฟลของคนอื่นๆ เข้ามาอยู่ในความคิดของเราด้วย
     Survivorship Bias ยังอธิบายอีกด้วยว่าเวลาที่เราฟังคนที่ประสบความสำเร็จมาพูดถึงเคล็ดลับของความสำเร็จของพวกเขานั้น เรามักจะคิดว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากความพยายามเเละความสามารถเพียงเเค่อย่างเดียว

     เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้น ‘โชค’ หรือ luck เองก็มีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้คนบางคนที่มีความสามารถน้อยประสบความสำเร็จ เเละในทางกลับกันโชคก็มีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้คนบางคนที่มีความสามารถสูง มีความพยายามสูง ไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำเช่นเดียวกัน

     พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราไม่สามารถมองเห็นถึงความโชคร้ายของคนที่เก่งเเต่เฟล บวกกันกับการที่เราไม่อยากจะได้ยินว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้นเขามาถึงจุดนี้ได้เพราะความโชคดีเสียส่วนใหญ่ คนเราจึงให้น้ำหนักกับสิ่งที่เราอยากจะเชื่อมากเสียจนเกินไป นั่นก็คือเราอาจจะปักใจเชื่อไปเลยว่า “เพียงเเค่เราทำตามคำสอนของคนที่ประสบความสำเร็จพวกนี้ — เเค่มีความพยายามอย่างเดียว (ซึ่งเป็นเเค่สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ ส่วนโชคนั้นเป็นอะไรที่เราควบคุมได้ยากมากกว่ากันเยอะ) — เราก็จะประสบกับความสำเร็จเหมือนๆ กันกับเขาได้”
     เราสามารถนำเอา Survivorship Bias นี้มาอธิบายปรากฏการณ์อื่นๆ นอกจากคนที่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในวงการการวิจัยนั้น คนที่เป็นบรรณาธิการของวารสารวิชาการมักจะรับผลงานที่มีผลที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัด (positive results) เเละมักจะไม่รับตีพิมพ์ผลงานที่ ‘ไม่มีผล’ จะรายงาน (คือทำวิจัยไปเเล้วเเต่ผลออกมาไม่ตรงตามที่คาดเอาไว้ หรือ negative results นั่นเอง — นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า publication bias) คนเราจึงมักจะให้ความสำคัญกับผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์มากเสียจนเกินไป เเละก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่านักวิจัยรุ่นหลังไม่สามารถ replicate หรือหาผลที่เหมือนๆ กันจากการทำวิจัยซ้ำกับผลงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์ไปเเล้ว
     เพราะฉะนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเชื่อ ‘เคล็ดลับของความสำเร็จ’ ของใครสักคนหนึ่งล่ะก็ ลองทำการวิจัยดูก่อนนะครับว่ามีสักกี่คนที่เคยทำตามเคล็ดลับของความสำเร็จนั้นเเล้วเฟลบ้าง อย่าไปมองเเค่ ‘success stories’ เพียงเเค่อย่างเดียว  

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

อ่านเพิ่มเติม

  • Michael Shermer (2014-08-19). ‘How the Survivor Bias Distorts Reality’. Scientific American
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X