พื้นที่โซเชียลมีเดียนอกจากใช้ติดต่อสื่อสารแล้ว ยังเป็นพื้นที่สีเทาหมิ่นเหม่ที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จุดประสงค์ บางครั้งคือการล่อลวงที่เราต้องรู้เท่าทัน
R U OK ชวน พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ว่าเราควรสอดส่องระมัดระวังการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร ผู้กระทำมีขั้นตอนอย่างไร และหากตกเป็นเหยื่อ เราขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรได้บ้าง
Sextortion คืออะไร
คำว่า Sextortion มาจากคำว่า Sex กับคำว่า Extortion ที่เป็นการบังคับ ข่มขู่ หรือกรรโชก เมื่อรวมกันแล้วจึงนิยามได้ว่า Sextortion คือการบังคับข่มขู่ในทางเพศ โดยที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาจเป็นการกระทำในลักษณะของการกรรโชก แบล็กเมล เพื่อจุดประสงค์ในเรื่องเงินหรือเพื่อผลิตสื่อทางเพศ ดังนั้นกระบวนการ Sextortion จึงไม่จำเป็นต้องมาเจอหน้ากัน และจะมีผลต่อเมื่อผู้ที่ถูกบังคับข่มขู่ยอมส่งมอบภาพ คลิป หรือสิ่งต่างๆ ตามฝ่ายซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าบอกให้ทำ จากนั้นภาพและคลิปต่างๆ เหล่านี้ก็จะถูกนำไปขายต่อในโลกออนไลน์ การกระทำนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะเป็นการค้าสื่อลามกอนาจาร แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ แต่กลับเป็นเรื่องที่เด็กมองว่าไม่ได้มีผลเสียอะไร
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ Sextortion
ในกระบวนการ Sextortion ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ สามารถเริ่มต้นได้ทั้งในสังคมความเป็นจริงและในสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นสังคมเสมือน โดยจะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อาศัยช่องว่างของโอกาสในการก่ออาชญากรรมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศที่เรียกว่า กลุ่มนักล่า หรือ Predator กับอีกประเภทคือนักติดตาม หรือ Stalker กลุ่มคนเหล่านี้อาจเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายเกี่ยวกับเรื่องทางเพศมาในอดีต จึงเกิดเป็นปมฝังใจจนต้องการหาเหยื่อมารับเคราะห์ กลุ่มนักล่านี้จะมีวิธีในการกระทำทางเพศกับเด็กที่เรียกว่า Grooming ซึ่งเป็นการเตรียมเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ในทางเพศ โดยอาจใช้การหลอกล่อใครบางคนให้เข้ามาสู่กระบวนการ ที่น่ากลัวคือวิธีนี้มีความแยบยลและเป็นขั้นเป็นตอนจนเหยื่อไม่สามารถรู้ตัวได้ ในขั้นแร นักล่าจะใช้วิธีเลือกเหยื่อผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย จากนั้นจะแฝงตัวเข้าไปเป็น FC หรือแฟนคลับของเหยื่อ เพื่อเข้าไปส่องว่ากิจกรรมในแต่ละวันของเหยื่อมีอะไรบ้าง และอาจจะไปโผล่ในสถานที่เดียวกับเหยื่อโดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว นักล่าจะคอยสังเกตว่าเหยื่อรู้สึกขาดอะไรในชีวิตจากการโพสต์ในพื้นที่โซเชียลมีเดีย จากนั้นก็จะเข้าไปเติมเต็มในส่วนนั้น และพยายามดึงเหยื่อออกมาจากสังคมปกติให้เข้ามาหาตัวเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในเชิงบวก จนสุดท้ายเกิดเป็นกระบวนการควบคุมขึ้นมา
Sextortion เกิดขึ้นในลักษณะใดได้บ้าง
ปัจจุบันนักล่ามักใช้วิธีการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ อาจเป็นการวิดีโอคอล ส่งภาพถ่าย หรือส่งข้อความสื่อสารกับเหยื่อ โดยจะมีคำคำหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังคำว่า Grooming นั่นก็คือการใช้วิธี Sexting ที่เกิดจากคำว่า Sex กับคำว่า Text ซึ่งเป็นการส่งข้อความไปชักชวนและกระตุ้นฝ่ายตรงข้ามให้มีกิจกรรมในเชิงทางเพศ เช่น การขอให้อีกฝ่ายเปิดสัดส่วนรูปร่างให้ดู โดยอาจแลกกับเงินหรือไอเท็มเกม เด็กมองว่าไม่ได้เสียหายอะไรจึงยอมทำตามง่ายๆ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก กระบวนการ Sextortion สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นที่มีผู้ล่าหรือผู้กระทำคนเดียว แต่มีเหยื่อหรือผู้เสียหายเกือบร้อยคน เพราะเขาใช้วิธีการกระจายภาพหรือคลิปออกไปในโซเชียลอย่างไม่มีจุดจบ
นอกจากนี้ยังมีในกรณีของแมวมองที่จัดหานักแสดงวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว แมวมองจะใช้วิธีคัดเลือกเด็กวัยรุ่นที่เข้ามาสมัครเป็นดารานักแสดง ส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปเป็นดารานักแสดงจริงๆ ในวงการ แต่ผู้สมัครที่เหลือเป็นหลักร้อยหลักพันคนจะกลายเป็นเมนูชั้นดีให้กับแมวมองที่เป็นนักล่า เพราะผู้สมัครทุกคนมีการกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวและติดรูปมาในใบสมัครอยู่แล้ว แมวมองจะทำการสร้างเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาเพื่อติดต่อกับเด็กกลุ่มนี้ และมีการล่อลวงให้มีการช่วยตัวเอง เมื่อได้คลิปมาก็จะรวบรวมเป็นเซตแล้วนำไปขาย อีกส่วนหนึ่งจะเป็นแมวมองที่เปิดเผยตัวตน กลุ่มนี้จะใช้วิธีส่งข้อความไปหาเด็กวัยรุ่นที่ตกจากการคัดเลือกให้มาพูดคุยกัน พ่อแม่ของเด็กก็ไม่สงสัยอะไรเพราะอยากให้ลูกได้เข้าวงการ เมื่อเด็กอยู่นอกสายตาผู้ปกครอง แมวมองก็จะหลอกล่อเด็กให้ไปที่คอนโดฯ ตัวเอง มีการเอาน้ำมาให้ดื่ม จากนั้นก็พาเด็กเข้าไปล่วงละเมิดทางเพศในห้อง และนำคลิปลับที่ตัวเองแสดงเองร่วมกับเหยื่อไปขายในกลุ่มที่นิยมคลิปลักษณะนี้
คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ ร้ายแรงกว่าที่คุณคิด
คำว่า ไม่เป็นไร แสดงถึงความไม่ตระหนัก เมื่อสังคมไม่ตระหนัก ผู้ที่เป็นเหยื่อจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างจริงจัง เกิดเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่เป็นปัญหาต่อเนื่องตามมา เพราะแผลในใจของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศถือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วฝังใจ ที่สำคัญมันเป็นบาดแผลในลักษณะ Complex Trauma ไม่ใช่ Single Trauma เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและมีการเผยแพร่ซ้ำๆ ในโลกออนไลน์ แม้ว่าเหตุการณ์ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะจบไปแล้ว แต่อาการนี้จะยังคงอยู่ในจิตใจของเขา จนอาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และหากคนคนนั้นมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอ และไม่ได้รับการบำบัดอย่างเหมาะสม เขาจะตกเข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ได้ง่ายมากๆ เช่น หันไปพึ่งสิ่งเสพติด จนนำไปสู่ปัญหาด้านอาชญากรรม หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เหยื่อในกระบวนการนี้จะต้องได้รับการเยียวยาโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเทรนนิ่งมาโดยเฉพาะอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
เราจะมีวิธีการอย่างไรในการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกไปสู่กระบวนการ Sextortion
การตระหนักคือการป้องกันที่ดีที่สุด เราต้องเริ่มตระหนักจากตัวเองก่อน ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ระมัดระวังการรับแอดเฟรนด์ในโซเชียลมีเดีย เมื่อเราตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในชีวิตประจำวันแล้ว ก็จะขยับไปสู่ครอบครัว ซึ่งผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ในบ้านเพื่อดูแลเด็กๆ ให้อยู่ในระยะสายตา เพราะถ้าเราไม่สร้างกฎขึ้นมาเลย มันก็จะไม่มีระเบียบ พ่อแม่จำเป็นต้องเปิดใจและเข้าใจในสภาพปัญหา เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันกับเด็ก จากนั้นก็ขยับไปในเชิงสังคม ซึ่งหมายถึงโรงเรียน เพื่อน และครู ในส่วนนี้ควรมีการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นโครงสร้างระหว่างสังคม ครอบครัว และตัวบุคคล โดยควรมีนโยบายป้องกันการล่วงละเมิดเด็กในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงรูปธรรมได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในกระบวนการ Sextortion สามารถขอการซัพพอร์ตจากบุคคลรอบข้างที่ไว้ใจได้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท เพื่อจะสามารถก้าวข้ามเหตุการณ์ยากๆ นี้ไปได้ เมื่อผู้ปกครองหรือคนรอบข้างเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว มันจะนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการไปแจ้งตำรวจ หรือสามารถอินบ็อกซ์ไปที่คณะทำงาน TICAC เพื่อสอบถามว่าเหตุการณ์ที่ตนเองเจอควรจะจัดการอย่างไร เพราะผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนหรือเทรนนิ่งมามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เหยื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและเยียวยาที่เหมาะสม จนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคม
สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host ดุจดาว วัฒนปกรณ์
The Guest พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
- เพราะหลายทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตจริงไม่มีอยู่ในห้องเรียน
- dtac Safe Internet มุ่งสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัว ให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์
- สร้าง ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ พื้นที่ฝึกทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตทั้งโลกจริงและในโลกออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้สื่อออนไลน์ เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยส่วนตัวและการล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ เฟกนิวส์ ไปจนถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เพื่อให้ยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การลด Bully และ Cyberbullying ได้ต่อไปในอนาคต
- ติดตาม ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ ได้ที่ http://learn.safeinternet.camp
- dtac Safe Internet ห่วงใยทุกประสบการณ์ออนไลน์ของทุกคน