รถไฟคลาสสิกที่ไม่ต้องมีกระเป๋าเดินทางก็ขึ้นได้
ยุคสมัยเปลี่ยน การเดินทางไปยังพื้นที่ไกลๆ ก็ถูกย่นระยะเวลาด้วยเครื่องบินและทางหลวง จากที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งเกือบครึ่งค่อนวัน กลายเป็นไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง หรือข้ามวันข้ามคืน บินลัดฟ้าแค่ไม่กี่อึดใจ เท้าก็แตะปลายทางเสียแล้ว แม้การเดินทางโดยรถไฟจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบิน ด้วยระยะเวลาที่ใช้เดินทางนั้นสั้นลง ความสะดวกสบายของที่นั่งและบริการ และราคาที่ย่อมเยาลงกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในความฉึกฉักของรถไฟนั้นมีเสน่ห์ซ่อนอยู่ เป็นการเดินทางที่อนุญาตให้เราดื่มด่ำไปกับบรรยากาศระหว่างทางที่เคลื่อนผ่านอย่างช้าๆ สลับกับความทรงจำ บทสนทนา และความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่สถานีหนึ่งและออกจากสถานีหนึ่ง
คืนนี้เราขอพาทุกคนไปขึ้นรถไฟสายตะวันออกแบบไม่ต้องเตรียมตัวให้มากความ ทิ้งกระเป๋าเดินทางไว้ที่บ้าน แล้วมุ่งสู่เส้นทางอาหารแห่งบูรพทิศที่ร้านอาหารไทยตะวันออกและอีสาน ผ่านมุมมองและรสมือคนตะวันออก ณ Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar (บูรพา อีสเทิร์น คิวซีน แอนด์ บาร์) ที่ซอยสุขุมวิท 11
เรื่องราวของหญิงสาวผู้ออกเดินทางโดยรถไฟสายบูรพา
บูรพา คือ เรื่องราวของหญิงสาวที่เดินทางโดยรถไฟสายบูรพา และจดบันทึกสิ่งที่พบเจอระหว่างการเดินทางไปทั่วภูมิภาคตะวันออก และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจานอาหารให้คนภูมิภาคอื่นได้รับรู้เพิ่มขึ้น จากที่ศรีตราดได้นำเสนอรสชาติอาหารภาคตะวันออกผ่านวัตถุดิบจาก 7 จังหวัด มาครั้งนี้ บูรพาได้ขยายพรมแดนและวัตถุดิบอาหารให้ก้าวไกลยิ่งกว่าเดิม จาก 7 เป็น 27 จังหวัด พร้อมด้วยเมนูอาหารน่าสนใจที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันแล้ว แต่ที่นี่จะนำเสนอผ่านมุมมองคนภาคตะวันออกที่มีต่ออาหารภูมิภาคตะวันออกทั้งหมด ซึ่งรวมอาหารภาคอีสานเข้าไปด้วย
ย่อส่วนรถไฟมาไว้ที่ซอยสุขุมวิท 11
The Vibe
จากตึกแถวพาณิชย์คูหาเล็กๆ ในซอยสุขุมวิท 11 ที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องราตรีทั้งไทยและต่างชาติ บูรพาได้เลือกที่จะลงหลักปักฐานและมีเป้าหมายเป็นจุดหมายปลายทางของอาหารไทยตะวันออกบนถนนแห่งนี้ เพื่อเปิดประสบการณ์อาหารไทยให้ทั้งคนไทยเองและชาวต่างชาติได้เข้าใจว่า อาหารไทยมีมากกว่าที่คิด และภูมิภาคของอาหารที่ถูกหลงลืมก็มีความน่าสนใจและรสเด็ดไม่แพ้ส้มตำ ต้มยำ แกงเขียวหวาน มัสมั่น หรือผัดไทย
ผสมผสานความคลาสสิกย้อนยุคและโมเดิร์นเข้าด้วยกันที่บริเวณบาร์
บูรพาตกแต่งด้วยธีมรถไฟย้อนยุค ให้บรรยากาศของตู้รถไฟหรูหราที่ชนชั้นสูงยุโรปใช้เดินทางในช่วงปี 1930-1960 ผสมผสานความอาร์ตเดโคและสีแพนโทนนกยูงอันประกอบด้วย น้ำเงิน-ทอง ม่วง-แดง และเขียว-ทอง เป็นสีหลักในแต่ละชั้น บูรพาชั้นล่างสุดออกแบบให้คล้ายเลานจ์และบาร์คลาสสิกไร้กาลเวลา ที่รองรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งระหว่างที่รอขึ้นขบวนรถ แนะนำให้แวะจิบค็อกเทลสักแก้ว แล้วค่อยขึ้นไปชั้นบนเพื่อรับประทานมื้อเย็น หรือจะดินเนอร์ให้เสร็จ แล้วลงมาดื่มสักแก้วปิดท้ายก่อนลงจากขบวนรถไฟสายบูรพาก็เข้าที
เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสอง นี่คือตู้รถไฟชั้นธุรกิจที่ตกแต่งได้ดีงามจนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่เราอยู่ในสุขุมวิทหรือกำลังเดินทางบน Orient Express กันแน่ โต๊ะที่นั่งถูกจัดสรรตามแบบตู้รถไฟเป๊ะ ทั้งเบาะหนังมันวาวหรูหรา พร้อมด้วยหน้าต่าง โคมไฟ ข้าวของเครื่องใช้ และบรรยากาศที่ขาดแค่เสียงเอี๊ยดอ๊าดของล้อเหล็กกระทบกับรางและไม้หมอนเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ชั้นสามยังมีพื้นที่รองรับเหล่านักเดินทางผู้พกท้องมาฝากครัวที่นี่เช่นกัน เรียกได้ว่า มาบูรพาแล้วได้ทั้งความอร่อยและได้ประสบการณ์แปลกใหม่
บรรยากาศลึกลับราวกับหลุดไปอยู่ในหนังสือของ อกาธา คริสตี้!
The Concept
ถึงจุดนี้อาจเกิดความสงสัยว่า อาหารของบูรพาต่างกับร้านศรีตราดที่ประสบความเร็จไปก่อนหน้าอย่างไร คำตอบคือ ที่ศรีตราดมุ่งเน้นการนำเสนออาหารตะวันออกผ่านวัตถุดิบหลักจาก 7 จังหวัดในภูมิภาค ในขณะที่บูรพาได้ขยายพรมแดนอาหารตะวันออกให้กว้างไกลกว่าเดิมเป็นทั้งหมด 27 จังหวัด ทำให้มีวัตถุดิบ รสชาติ และลูกเล่นที่แปลกใหม่กว่าร้านผู้พี่อย่างศรีตราด อีกทั้งยังมีเมนูคุ้นลิ้นจากแถบอีสานที่บูรพาจะมาปัดฝุ่นและตีความรสชาติกันใหม่ตามความเข้าใจและมุมมองที่คนตะวันออกมีต่ออาหารอีสาน ส่วนเครื่องจิ้ม พริกแกง และซอส ทางร้านทำขึ้นเอง และตั้งใจที่จะใช้วัตถุดิบทุกอย่างให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
อาหารทั้ง 27 จังหวัด ย่อส่วนมาสู่ขบวนรถไฟแห่งความอร่อย
หากสังเกตรสชาติอาหารไทยแต่ละภูมิภาค เราอาจจำแนกคร่าวๆ ได้ว่า อาหารเหนือส่วนใหญ่มีความแห้ง เค็ม และมัน ส่วนอาหารอีสานนั้นครบเครื่องความเค็ม เปรี้ยว และเผ็ด และตั้งข้อสังเกตได้ว่า แทบจะไม่ค่อยมีการใช้น้ำตาลในอาหารมากสักเท่าไร สำหรับภาคกลางมักจะมีรสกลม มีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด และขม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ส่วนอาหารใต้ แน่นอนว่า เน้นเค็มและเผ็ดเป็นซิกเนเจอร์ แล้วอาหารตะวันออกล่ะ มีโปรไฟล์รสชาติไปทางไหน ก็คงตอบได้ว่า อาหารตะวันออกมีโปรไฟล์รสชาติระหว่างภาคกลางกับใต้ มีความติดหวาน และจำแนกอาหารตะวันออกเป็นอีก 3 ประเภทย่อยๆ ได้แก่ 1. ใช้อาหารทะเล 2. ใช้สมุนไพร และ 3. ใช้ผลไม้
หมกหม้อไก่ไข่อ่อน
The Dishes
ระหว่างที่รอขบวนรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานี ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างด้วยการนั่งเฉยๆ สั่ง สำรับทานเล่น (350 บาท) มากินกรุบกริบกันเสียก่อน ในถาดมีข้าวเหนียว ไส้กรอกอีสานที่เน้นข้าวเยอะและมันหมูรสเปรี้ยว เนื้อแดดเดียวส่วนหางตะเข้ติดมัน จิ้มกับซอสพริก 3 ชนิด ที่ร้านทำเอง และมีน้ำพริกหมูชะมวง ต่อยอดไอเดียมาจากแกงหมูชะมวง ลดทอนให้มาอยู่ในรูปแบบน้ำพริกถ้วยเล็ก กินตัดรสชาติของทานเล่นอย่างอื่น
แพกุ้งฝอยทอดกรอบและอาจาด (150 บาท) เราแทบจะไม่เห็นของขบเคี้ยวอย่างแพกุ้งในชีวิตประจำวันแล้ว จำได้ลางๆ เมื่อวัยเด็กที่ได้กินเป็นประจำทุกคร้ังเมื่อได้ไปทะเล กุ้งฝอยผสมพริกแกงรสเข้มชุบแป้งทอด ราดอาจาดโฮมเมดที่ได้จากการกรองน้ำพริกที่ไว้ทำซอสพริกอีกทีหนึ่ง
ยำแหนมข้าวทอดแมงกะพรุน สำรับทานเล่น และแพกุ้งฝอยทอดกรอบและอาจาด
ยำแหนม หนึ่งในอาหารข้างทางที่บูรพาหยิบยกมาอัปเกรดให้ดียิ่งขึ้น ยำแหนมข้าวทอดแมงกะพรุน (220 บาท) น้ำพริกกุ้งมะพร้าวคลุกข้าวเก่าเย็นๆ แล้วทอด เมื่อได้ท่ีแล้วจึงมายำกับแหนม และไม่ใส่หนังหมู แต่ใช้แมงกะพรุนน้ำมันงามาเพิ่มความกรุบแทน และแน่นอนว่า ยำแหนมจานนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเมนูโปรดของเราไปแล้ว
ในที่สุดก็ถึงเวลาสั่งกับข้าวกับปลามากินกันสักที เราเลือก ปลาหมึกผัดวุ้นเส้นกะปิ (200 บาท) หมึกกล้วยผัดวุ้นเส้น เพิ่มความเข้มข้นจัดจ้านของรสชาติด้วยกะปิเกาะช้างที่ทำจากเคยอ่อน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ได้รสกลมกล่อมกำลังดี แถมมีกลิ่นทะเลติดปลายจมูกนิดๆ ด้วยนะ
ต้มแซ่บเนื้อใบชะมวง (สอบถามราคาจากทางร้าน) อีกหนึ่งเมนูที่ผสมผสานระหว่างต้มแซ่บกับต้มชะมวงได้อย่างลงตัว เนื้อเอ็นแก้วคัดอย่างดีใส่เครื่องเคราตั้งไฟต้มตามแบบฉบับต้มแซ่บ แต่เพิ่มใบชะมวงเข้ามา และตัดมะนาวออกไป เมนูนี้ตั้งใจนำเสนอมิติใหม่ของรสเปรี้ยวในอาหารไทยที่ไม่ได้มีแค่มะนาวหรือมะขามเพียงเท่านั้น ตักซุปซดคล่องคอ แก้เลี่ยน ล้างรสชาติที่คงค้างในปาก และดีต่อสุขภาพในถ้วยเดียว
ปลาหมึกผัดวุ้นเส้นกะปิ และหมกหม้อไก่ไข่อ่อน
หมกหม้อไก่ไข่อ่อน (250 บาท) อาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยพืชผักสมุนไพรทั้ง ผักชีลาว ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบกระวาน โดยนำเครื่องเคราสมุนไพรนึ่งพร้อมไก่และไข่อ่อนที่ไม่ได้หากินได้บ่อย ตั้งน้ำไว้ด้านบน เพื่อให้ความร้อนของไอน้ำมาทำให้หมกไก่สุก และน้ำไก่กับน้ำสมุนไพรซึมออกมาและซึมกลับจนเข้าเนื้อ
ข้าวหยำกะปิ อาหารของชาวประมง
อาหารจานเดียวก็มีเช่นกัน ลองสั่ง ข้าวหยำปิ (250 บาท) ไอเดียมาจากอาหารชาวประมงที่นิยมรับประทานเวลาออกเรือ ข้าวผัดกะปิเกาะช้าง มาพร้อมเครื่องเคียงซีฟู้ดแห้ง ประกอบด้วยปลาอินทรีหวาน หอยแมลงภู่ตากแห้ง และกุ้งหวาน และสามเกลอต้มกะทิถ้วยเล็กไว้กินตัดรสเผ็ด
หลังจากกินข้าวกันเสร็จ แก้เผ็ดด้วยของหวานจากผลไม้ เรื่องกล้วยๆ (250 บาท) ในตะกร้าหาบเร่ประกอบด้วย กล้วยปิ้งราดน้ำตาลอ้อยเคี่ยว กล้วยไข่เชื่อมน้ำตาลอ้อยผสมน้ำตาลทรายแดง ราดกะทิสด และหนุมานคลุกฝุ่น หรือกล้วยน้ำว้าต้ม คลุกเคล้าด้วยมะพร้าวขูด เกลือ น้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลอ้อย หรือจะเป็น จาวตาลเชื่อมในน้ำกะทิ (100 บาท) กินกับข้าวเหนียวมูนและมะพร้าวขูด เหมาะกับคนที่ไม่กินหวานจัด
ขบวนขนมหวานภาคตะวันออกของทางร้าน
แต่ครั้นจะเป็นร้านอาหารไทยตะวันออกก็ต้องมีผลไม้ตะวันออกมาทำของหวานด้วย และเราก็ไม่อยากให้คุณพลาด ไอศกรีมกะทิสดดอกเกลือทะเลน้ำตาลมะพร้าวและทุเรียนเชื่อม (150 บาท) ไอศกรีมกะทิสดผสมเกลือทะเล โรยถั่วลิสง ครบรสหวาน มัน และเค็ม แล้วโปะด้วยทุเรียนเชื่อม แต่อย่าเพิ่งตกใจล่ะ เพราะทุเรียนเชื่อมเขาใช้ทุเรียนดิบเชื่อมน้ำตาลทรายแดงกับน้ำตาลอ้อย กินพร้อมไอศกรีมเข้าคู่กันที่สุด
What You Should Know:
- ขึ้นรถไฟสถานีบูรพาแล้ว ครั้งหน้าลองไปต่อกันที่ ศรีตราด ร้านอาหารไทยพื้นบ้านจากภาคตะวันออก ที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 33
- ที่นั่งชั้นสองมักจะเต็มตลอด เราแนะนำให้โทร.จองล่วงหน้าดีที่สุด
- สามารถจอดรถได้ที่โครงการด้านข้าง คิดค่าจอดเป็นชั่วโมง หรือจะเป็นลานจอดรถฝั่งตรงข้ามร้าน คิดค่าจอดแบบเหมาจ่าย 100 บาท ตลอดทั้งคืน
Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar by Sri Trat
Open: วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 18.00-01.00 น.
Address: ซอยสุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ
Budget: 500-1,000 บาท
Contact: โทร. 0 2012 1423
Website: www.facebook.com/BurapaEasternThai
Map:
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล