×

ย้อนรอย 134 ปี ขบวนรถไฟ Orient Express ความหรูหรา สงคราม สายลับ นวนิยาย และฆาตกรรม

04.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดิ โอเรียนท์เอกซ์เพรส (The Orient Express) คือขบวนรถไฟที่ดำเนินการเดินรถโดยบริษัท Compagnie Internationale des Wagons-Lits สัญชาติอังกฤษที่ตั้งใจปฏิวัติการเดินทางโดยรถไฟให้มีความสะดวกสบาย หรูหรา และปลอดภัย โดยเปิดบริการเดินรถในเส้นทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
  • “ผ้าปูโต๊ะและผ้ากันเปื้อนสีขาวสะอาดสะอ้านถูกพับและประดิดประดอยอย่างกรุยกราย ทั้งยังมีคริสตัลระยิบระยับประดับตกแต่ง ตัดกับสีแดงทับทิมของขวดไวน์แดง” คือคำกล่าวของอองรี ออปเปอร์ เดอ โบลวิตซ์ (Henri Opper de Blowitz) หนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้ร่วมทริปในการเดินทางแรกถึงบรรยากาศในโบกี้สำหรับรับประทานอาหาร
  • ‘Murder On the Orient Express’ หรือในชื่อไทย ‘ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอกซ์เพรส’ ของเจ้าแม่นิยายสืบสวนฆาตกรรม อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) คือนิยายที่เธอเขียนขึ้นขณะติดแหง็กอยู่บนรถไฟขบวนนี้ท่ามกลางพายุหิมะในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศตุรกีถึง 5 วัน
  • ในช่วงใกล้สิ้นสุดให้บริการ รถไฟขบวนนี้มีผู้โดยสารเป็นแรงงานข้ามชาติและพวกฮิปปี้ ไม่มีขบวนสำหรับเสิร์ฟอาหาร และผู้โดยสารต้องเตรียมอาหารไปเป็นเสบียงเองให้เพียงพอตลอด 68 ชั่วโมงของการเดินทาง

     “มันจะมีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นระหว่างที่รถไฟกำลังแล่นอยู่หรือไม่ ผมก็ไม่รู้นะ แต่เราขึ้นชื่อเรื่องนี้เป็นอย่างดีเชียว”

     ถ้อยความกึ่งยิงกึ่งผ่านนี่คือคำพูดของมิเชล ร็อคคา (Michele Rocca) ผู้จัดการรถไฟขบวนชื่อกระฉ่อนโลก ‘The Orient Express’ (ซึ่งปัจจุบันคือเส้นทาง Venice Simplon-Orient-Express) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษด้วยอารมณ์ขัน ขบวนรถไฟนี้เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของการเดินทางโลก เป็นทั้งนวัตกรรมที่เชื่อมต่อทวีปยุโรปตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน เป็นทั้งความหรูหรามีระดับของการเดินทาง เป็นทั้งเครื่องมือหนึ่งที่นานาประเทศในยุโรปใช้เป็นเครื่องมือกันชนในยามสงคราม หรือแม้กระทั่งเป็นฉากหลังของนวนิยายฆาตกรรมอันโด่งดัง!

     นี่เรากำลังพูดถึงขบวนรถไฟจริงๆ หรือ? เราขอตอบว่า “ใช่” และในโอกาสที่รถไฟขบวนนี้มีอายุครบรอบ 134 ปีในวันนี้ (4 ตุลาคม) เราจึงอยากพาคุณย้อนไปรู้จักระบบขนส่งทางรางที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ทั้งความประณีตสวยงาม การเดินทางที่ยาวนาน และเรื่องลับๆ มากมายที่ซ่อนไว้ระหว่างไม้หมอน

 

 

     The Orient Express คือขบวนรถไฟที่ดำเนินการเดินรถโดยบริษัท Compagnie Internationale des Wagons-Lits สัญชาติอังกฤษที่ตั้งใจปฏิวัติการเดินทางโดยรถไฟให้มีความสะดวกสบาย หรูหรา และปลอดภัย โดยเปิดบริการเดินรถในเส้นทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สู่เมืองคอนสแตนติโนเปิล หรือกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปัจจุบัน ซึ่งการก่อสร้างรางและให้บริการเดินรถไฟขบวนนี้ก็เพื่อลดทอนการเดินทางจากเมืองใหญ่ในยุโรปตะวันตกสู่เมืองในโซนยุโรปตะวันออก เพราะในสมัยนั้นนักเดินทางจำเป็นต้องใช้วิธีการต่อรถไฟหลายขบวนด้วยกันเพื่อไปยังจุดหมาย

 

 

     โอเรียนท์เอกซ์เพรส จึงเกิดขึ้นมาเพื่อลดข้อจำกัดและร่นระยะเวลาเดินทางลงในรูปแบบของรถไฟสายยาวที่เดินทางจากหัวเมืองใหญ่สู่หัวเมืองใหญ่ กล่าวคือมีระยะทางกว่า 1,243 ไมล์ หรือราว 2,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 68 ชั่วโมง โดยเส้นทางดั้งเดิมนั้นเริ่มต้นที่ปารีสไปยังเมืองกิอูรกุย (Giurgiu) ประเทศโรมาเนีย ตรงสู่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมืองเบลเกรด เมืองหลวงประเทศเซอร์เบีย ก่อนจะสิ้นสุดการเดินทางที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี (หรือ ‘สตัมบูล’ ในนิยายของอกาธา คริสตี้) ซึ่งเป็นเมืองท่าของทะเลดำ การเลือกจุดหมายปลายทางเป็นที่นั่นก็เพื่อสำหรับให้ผู้เดินทางต่อเรือเพื่อข้ามไปยังดินแดนอื่นๆ ใกล้เคียงได้ โดยในวันแรกที่เปิดให้บริการ (4 ตุลาคม 1883) มีผู้ร่วมขบวนปฐมฤกษ์ของโอเรียนท์เอกซ์เพรส จำนวนเพียง 30 คน อันประกอบด้วยเจ้าของบริษัทเดินรถ นักการทูต และสื่อมวลชน

 

 

     “ผ้าปูโต๊ะและผ้ากันเปื้อนสีขาวสะอาดสะอ้านถูกพับและประดิดประดอยอย่างกรุยกราย ทั้งยังมีคริสตัลระยิบระยับประดับตกแต่ง ตัดกับสีแดงทับทิมของขวดไวน์แดง ประกายเงินของขวดแชมเปญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรยากาศตู้ทานอาหารนี้ราวกับโลกภายนอกและภายในถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง”

     คำกล่าวของอองรี ออปเปอร์ เดอ โบลวิตซ์ (Henri Opper de Blowitz) หนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้ร่วมทริปในการเดินทางแรกกล่าวเช่นนั้นถึงบรรยากาศในโบกี้สำหรับทานอาหาร ซึ่งจากคำกล่าวนี้เองที่ทำให้เราพอเห็นภาพความหรูหราและความสะดวกสบายของการเดินทางโดยขบวนรถไฟนี้ รวมไปถึงมีการพูดถึงมื้ออาหารบนขบวนนี้ว่า ‘Variety and Sophisticated’ กล่าวคือ มีความหลากหลายและพิถีพิถัน ซึ่งเป็นภาพแทนของความมั่งคั่งของชาวยุโรปในยุคนั้น

 

 

     การเดินทางจากปารีสไปสู่อิสตันบูลโดยโอเรียนท์เอกซ์เพรสนั้นย่นเวลาลงไปได้มาก ซึ่งน้อยกว่าการเดินทางโดยเรือ แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงด้วยบริการเหนือระดับ หากนำค่าตั๋วรถไฟในตอนนั้นมาแปลงค่าเงิน เท่ากับว่าคุณต้องจ่ายถึง 1,750 ยูโรเพื่อทริปนี้ คิดเป็นเงินไทยกลมๆ ก็แค่เพียง 68,600 บาทเท่านั้น! จึงไม่แปลกใจหากว่ามีนักลงทุน นักการทูต หรือศิลปินเลือกไปเปิดตลาดใหม่ๆ หรือพบปะเรื่องการบ้านการเมืองในจุดหมายปลายทางอย่างเมืองคอนสแตนติโนเปิลกันมากขึ้น ซึ่งที่นั่นเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทั้งชาวตุรกีเอง ชาวกรีก ชาวแอลบาเนียน หรือแม้แต่ชาวยิว จนต้องเรียกว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของการเดินทางที่รถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรส มีส่วนทำให้เกิดการเชื่อมโยงยุโรปไว้ด้วยกัน

     แต่แล้วทุกอย่างก็หยุดชะงักลง เมื่อโอเรียนท์เอกซ์เพรสระงับการให้บริการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเนื่องจากการประกาศสงครามระหว่างประเทศออสเตรียและประเทศเซอร์เบีย ในช่วงนั้นเองที่ทำให้เกิด ‘รถไฟสายใหม่’ ที่เป็นเสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ เมื่อประเทศเยอรมนีประกาศการเดินขบวนรถไฟสุดหรูหรานี้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินงานของประเทศตัวเองในชื่อ ‘Simplon-Orient-Express’ ขบวนรถไฟที่ออกแบบภายในด้วยศิลปะแบบอาร์ตเดโคอันเลื่องชื่อ มอบความหรูหราเฉกเช่นเดียวกับขบวนเดิมที่ในขณะนั้นเปลี่ยนปลายทางจากเดิมคือเมืองคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองบูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศโรมาเนียเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาระหว่างประเทศ

 

 

     Simplon-Orient-Express นั้นเปลี่ยนมาใช้เส้นทางที่ผ่านอุโมงค์ Simplon ลอดใต้เทือกเขาแอลป์ มุ่งผ่านประเทศอิตาลี ยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย กรีซ ก่อนจะไปจบเส้นทางที่ตุรกีเช่นเดิม และเมื่อสิ้นสุดสงครามในปี 1918 สนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้ระบุให้ประเทศเยอรมนีได้รับสัมปทานในการเดินรถเส้นทาง ‘ปารีส-คอนสแตนติโนเปิล’ รับช่วงต่อจากขบวนโอเรียนท์เอกซ์เพรสเดิมอีกถึง 10 ปี และเส้นทางใหม่นี้เองที่ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายที่น่าค้นหา เพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางยอดฮิตเส้นใหม่ของนักเดินทาง นักการทูต และศิลปินแล้ว ดูเหมือนว่าขบวน Simplon-Orient-Express นี้จะมีเสน่ห์ดึงดูดให้สายลับและฆาตกรมาใช้บริการอีกด้วย!

 

 

     “ฆาตกรอยู่กับเรา…ตอนนี้ บนรถไฟขบวนนี้…”

     หากเราพูดถึงชื่อเสียงของ ‘The Orient Express’ คุณอาจจะเคยได้ยินมาจากชื่อของนวนิยายขายดีระดับโลกอย่าง ‘Murder On the Orient Express’ หรือในชื่อไทย ‘ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอกซ์เพรส’ ของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ราชินีแห่งนิยายอาชญากรรม ที่ถูกนำไปดัดแปลงหรือภาพยนตร์ชื่อเดียวกันซึ่งรีเมกกันมาหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ปี 1974 จนถึงเวอร์ชันล่าสุดที่กำลังจะเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ (เวอร์ชันนี้มีทั้งจอห์นนี เดปป์ และจูดี เดนช์ เข้าฉายในบ้านเรา 24 พฤศจิกายนนี้) ซึ่งความน่าตื่นเต้นมันอยู่ตรงที่ไม่ใช่แค่นวนิยายฆาตกรรมสุดลึกลับที่เกิดขึ้นบนรถไฟ แต่มันกลับเกิดขึ้นจริงๆ และเกิดหลังจากนิยายวางขาย!

 

 

     อย่างที่บอกว่าขบวนรถไฟที่สวยงามขบวนใหม่นี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลากหลายอาชีพที่มีกำลังทรัพย์ และ อกาธา คริสตี้ ก็เป็นหนึ่งในผู้โดยสารของขบวนนี้ในช่วงปี 1929 โดยเธอต้องติดแหง็กอยู่บนรถไฟท่ามกลางพายุหิมะในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศตุรกีถึง 5 วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เองที่บันดาลใจเธอให้เขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวนที่พูดถึงนักสืบ ‘แอร์กูล ปัวโรต์’ ที่ต้องสืบหาฆาตกรตัวจริงจากกลุ่มผู้โดยสารกับเหตุการณ์ฆาตกรรมบนรถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรส โดยใช้ประเทศยูโกสลาเวียเป็นพื้นหลัง หนังสือของเธอตีพิมพ์ออกขายในปี 1934 ก่อนที่ปีต่อมาจะเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมขึ้นจริงๆ บนขบวนรถไฟราวกับในนิยายของเธอ

     ในปี 1935 บนขบวนรถไฟ Simplon-Orient-Express ได้เกิดเหตุการณ์ชิงทรัพย์และฆาตกรรมหญิงร่ำรวยชาวโรมาเนีย เธอถูกขโมยของและจับโยนลงจากหน้าต่างรถไฟ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นอย่างอุกฉกรรจ์

 

 

     ในช่วงสงครามเย็น โอเรียนท์เอกซ์เพรสก็มีบทบาทเป็นตัวประกอบในหลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งในขณะที่ภาวะทางการเมืองมีความวุ่นวาย การโดยสารรถไฟขบวนนี้ก็ดูจะไม่ต่อเนื่องและสะดวกสบายเช่นเคย เพราะเกิดข้อกำหนดในเรื่องการผ่านข้ามแดนที่เคร่งครัดและรัดกุมมากกว่าปกติในบางประเทศอย่างเช่น ประเทศบัลแกเรียที่ปฏิเสธให้รถไฟขบวนนี้ผ่านประเทศเนื่องจากปัญหาระหว่างตนและประเทศเพื่อนบ้าน

     รวมไปถึงเหตุการณ์อันน่าฉงนเมื่อพลเรือเอกชาวอเมริกันนามว่า ยูจีน ไซมอน คาร์ป (Eugene Simon Karpe) ตกจากรถไฟด้วยสาเหตุอันเป็นปริศนาในบริเวณอุโมงค์รถไฟหนึ่งในประเทศออสเตรีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเชื่อมโยงกับเรื่องสงครามเย็นก็เพราะยูจีนได้โดยสารรถไฟขบวนนี้ไปพร้อมๆ กระเป๋าเอกสารที่ข้างในเก็บเอกสารเกี่ยวกับกระบวนการสอดแนมหรือสายลับในยุโรปตะวันออกเอาไว้

     นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างของนักเรียนชาวโรมาเนียที่เขาสารภาพว่าเขาได้กระทำการฆาตกรรมผู้โดยสารสองคนบนรถไฟขบวนนี้อันเป็นคำสั่งของ ‘องค์กรต่างชาติ’ ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง?

 

 

     “ฆาตกรตัวจริงก็ โอเรียนท์เอกซ์เพรส นั่นแหละ”

     นี่คือข้อความติและเสนอข้อคิดเห็นที่รุนแรงจากพอล เธอโรซ์ (Paul Theroux) นักเขียนบทความเชิงท่องเที่ยวเมื่อเขาได้ใช้บริการโอเรียนท์เอกซ์เพรสอีกครั้ง ซึ่งช่างแตกต่างกับความคิดเห็นที่สรรเสริญบริการเหนือระดับในช่วงเปิดบริการใหม่ๆ มากนัก ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร โดยส่วนใหญ่ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงไปของบริบททางการเมือง รวมไปถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้โดยสาร

     ขบวนรถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรสเดิมที่เคยโชติช่วงด้วยความหรูหราและสะดวกสบายกลับกลายเป็นเพียงขบวนรถไฟธรรมดาความเร็วต่ำที่ชื่อ Direct Orient Express โดยในช่วงใกล้สิ้นสุดให้บริการ รถไฟขบวนนี้มีผู้โดยสารเป็นแรงงานข้ามชาติและพวกฮิปปี้ ไม่มีขบวนสำหรับเสิร์ฟอาหาร และผู้โดยสารต้องเตรียมอาหารไปเป็นเสบียงเองให้เพียงพอตลอด 68 ชั่วโมงของการเดินทาง ก่อนที่ในปี 2009 ขบวนรถไฟโอเรียนท์เอกซ์เพรสจะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนโลก เพราะการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง

 

     “พวกเขาไม่รู้เลยว่าพวกเขากำลังโดยสารขบวนที่ผ่านหน้าประวัติศาสตร์อะไรมาบ้าง พวกเขาเพียงแค่ขึ้นขบวนและลงขบวนไปอย่างไม่แยแส”

     คือถ้อยความส่งท้ายที่หวานขมจากนักข่าวชาวอังกฤษ โรบิน แมกคี (Robin McKie) ที่เดินทางไปเฝ้ามองการมาถึงของโอเรียนท์เอกซ์เพรสขบวนสุดท้ายที่กรุงเวียนนา และอดีตความรุ่งเรืองที่ปฏิวัติการเดินทางก็กลายเป็นเพียงความทรงจำที่ทั้งสวยงามและรุนแรงในเวลาเดียวกัน

 

อ้างอิง:

FYI
  • กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ของบัลแกเรียเคยขังตัวเองไว้ในห้องน้ำของขบวนโอเรียนท์เอกซ์เพรส เหตุเพราะเกรงกลัวว่าจะถูกลอบปลงพระชนม์จากนักฆ่า
  • ตู้นอนของโอเรียนท์เอกซ์เพรสปัจจุบันถูกนำไปปรับปรุงและนำความวินเทจของตู้เหล่านั้นมาเป็นจุดขายภายใต้เส้นทางการเดินรถที่ชื่อ Venice Simplon-Orient-Express ซึ่งเดินทางจากลอนดอนสู่เวนิสด้วยบริการรูปแบบเดิมทั้งหมด
  • ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รถไฟขบวน Simplon-Orient-Express ถูกเคยนำไปเป็นห้องประชุมเคลื่อนที่สำหรับฝ่ายพันธมิตร
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising