พอดแคสต์รายการ Super Productive เดินทางมาถึงเอพิโสดสุดท้ายในซีซันแรก รวิศ หาญอุตสาหะ รวมทุกคำถามจากแฟนรายการ ทั้งเรื่องกิจวัตรประจำวัน การทำงาน การแก้ปัญหา และอื่นๆ อีกมาก พร้อมคำตอบที่สามารถนำไปปรับใช้จริง
Q: คุณรวิศตื่นเช้ามาก (ประมาณตี 4) อยากรู้ว่านอนกี่โมงและนอนวันละกี่ชั่วโมง
A: โชคดีที่ทุกวันนี้ลูกมานอนกับผม เด็กๆ ต้องหลับเร็ว ทำให้ผมต้องนอนพร้อมพวกเขาในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม โดยมีเทคนิคคือ ผมทำ Fasting ไม่ได้กินข้าวเย็น จึงมีเวลาไปจัดแจงธุระส่วนตัวอื่นๆ พอประมาณ 2 ทุ่มก็เริ่มเตรียมตัวเข้านอน
หลายคนอาจโอดโอยต่อว่า โห มันดูเนิร์ดมากเลยนะ การนอน 3 ทุ่มเป็นไปไม่ได้หรอก ปกติเวลานี้บางคนเพิ่งเริ่มดูซีรีส์ตอนแรกด้วยซ้ำ
ผมจึงต้องเสริมต่อว่า อีกประเด็นสำคัญของการนอน ถ้าคุณอยากจะนอนเร็ว คุณต้องนอนเร็วทุกวัน ไม่เช่นนั้นนาฬิกาชีวิตจะรวน และควรนอนอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง โดยต้องไม่ลืมว่าชั่วโมงในการนอนไม่สำคัญเท่าคุณภาพในการนอนครับ
Q: ในแต่ละคืน ผมฝันเยอะมาก แทบไม่เคยเข้าขั้นหลับลึกเลย ขอคำแนะนำหน่อยว่าควรทำอย่างไรให้ Productive กว่านี้ดีครับ
A: ผมเองก็ฝันบ้างเป็นบางคืน มันเหมือนมีเรื่องคิดอยู่เลยเก็บไปฝัน เปรียบเหมือนไฟที่ปิดสวิตช์ได้ไม่สนิท ยังหรี่ๆ อยู่ วิธีหนึ่งที่ผมทำแล้วเวิร์กมากคือการนั่งสมาธิครับ
ผมอยากให้คิดว่าการนั่งสมาธิคือการเสริมความ Productive ครับ หลายคนพอพูดถึงเรื่องนี้อาจโยงเข้าเรื่องศาสนาทันที ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ ทุกศาสนาสอนเรื่องการทำสมาธิมาตั้งนานแล้ว หรือแม้แต่คนที่ไม่คิดเรื่องศาสนาก็ทำเรื่องนี้เป็นปกติ ดังนั้นการไปฟิตเนสทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่การนั่งสมาธิทำให้สมองแข็งแรงและการพักผ่อนดีขึ้นครับ
Q: อยากได้คลิปยืดเหยียดก่อนนอนตามที่คุณรวิศเคยแนะนำไปใน Super Productive EP.1 ครับ
A: เสิร์ชคำว่า ‘Sleeping Yoga’ เลยครับ ดีมาก มันจะเป็นการโยคะเพื่อทำให้คนหลับดีขึ้น
Q: การ Fasting 16/8 ควรทำทุกวันไหม
A: ทวนอีกครั้ง Fasting 16/8 คือการกิน 8 ชั่วโมงและอดอีก 16 ชั่วโมง สมมติคุณเริ่มกินข้าวมื้อแรกตอน 09.00 น. คุณจะกินมื้อสุดท้ายได้ก่อน 17.00 น. หลังจากนั้นจะกินได้แค่น้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่มีแคลอรี 0% ซึ่งควรทำทุกวันครับ ยกเว้นแต่ว่าบางคนที่อดอาหารในระยะเวลาที่นานขึ้น เช่น 20/4 กินแค่ 4 ชั่วโมง ที่เหลืออดยาว แบบนั้นอาจเว้นวันได้ครับ
ทั้งนี้ผมขอย้ำอีกทีว่า Fasting เป็นวิถีชีวิต เอาที่คุณทำไหว อย่าทำแบบที่ไม่มีความสุข อย่าปล่อยให้ร่างกายทรมาน ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกแบบนั้น ลองหาวิธีอื่นที่เหมาะสมกับตัวเองดูดีกว่าครับ
Q: ถ้าอยากปรึกษาหมอเกี่ยวกับการ Fasting ควรไปแผนกไหนดี
A: จริงๆ ตอนที่ผมปรึกษา ผมไปหาคุณหมอที่ตรวจร่างกายอยู่ในแผนกอายุกรรมครับ คุณหมอจะเช็กให้หลายเรื่อง เช่น ตรวจความดันว่าเราเหมาะไหมที่จะเริ่มทำ Fasting แต่บางทีอาจจะต้องเริ่มทำก่อน บางคนเริ่มทำแล้วความดันตกก็ทำต่อไม่ได้
เท่าที่ผมอ่านรีเสิร์ชมา พบว่าถ้าในกรณีที่มีปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่า ยังหาสาเหตุไม่เจอแน่ชัด ผมเลยอยากแนะนำว่าถ้าเป็นผู้หญิงก่อนเริ่มทำไปหาคุณหมอก่อนจะแน่นอนกว่าครับ
Q: ถ้าช่วงเช้าประมาณตี 4 ของผมคือการอ่านหนังสือแทนการออกกำลังกาย ช่วง 6 โมงเย็นถึงทุ่มตรง ผมไปออกกำลังกายแทนได้ไหมครับ
A: ทำได้ครับ ถ้าเสิร์ชดูคำถามเกี่ยวกับการออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นดีกว่ากัน คุณจะพบหลักฐานที่สนับสนุนได้ทั้ง 2 เรื่องเลย ผมจึงมีข้อสรุปกับตัวเองว่าออกตอนไหนก็ได้ ขอให้ได้ออกเถอะ แต่ปัญหาหนึ่งที่คนออกกำลังกายตอนเย็นมักเจอคือเรื่องนอนไม่หลับ มันจึงเป็นสาเหตุที่คนต้องออกกำลังกายตอนเช้า
Q: แนะนำหูฟังแบบ Noise Canceling ให้หน่อยครับ
A: ผมขอไม่พูดเจาะจงยี่ห้อ แต่อยากให้พิจารณาจากราคาที่เหมาะสม มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น และอยากให้เลือกหูฟังที่ใส่สบาย เพราะหูฟังประเภทนี้ถ้าใส่ไม่สบาย จะไม่มีใครอยากใส่ เพราะมันเจ็บ ดังนั้นอย่าลืมเน้นเรื่องนี้เวลาดูรีวิว และถ้าเป็นไปได้ อาจลองใส่ดูก่อนที่ร้านจะดีที่สุดครับ
ข้อดีอย่างหนึ่งของหูฟังประเภทนี้คือ เวลาเดินทาง สมมติว่าคุณต้องขึ้นเครื่องบินที่มีเสียงดังหรือมีเด็กร้องไห้รบกวน หูฟังนี้จะช่วยชีวิตคุณได้มากครับ ที่สำคัญมันพกพาง่าย สะดวก มีขนาดเล็ก ต่างจากหูฟังครอบหูที่มีขนาดใหญ่กว่าครับ
Q: อาชีพซัพพอร์ต ทุกงานคืองานแทรก ไม่รู้จะแพลนตารางงานใส่ Time Boxing อย่างไรดี ขอคำแนะนำหน่อยครับ #พยายามต่อไป
A: ที่บริษัทศรีจันทร์ แผนกไอทีซัพพอร์ต เวลาพนักงานมีปัญหาเกี่ยวกับไอที จะไม่ให้พวกเขาเดินตรงไปขอความช่วยเหลือทันที แต่จะต้องทำไอทีรีเควสต์เข้าไปก่อน และเดี๋ยวพนักงานไอทีจะจัดลำดับความสำคัญเอง นอกจากว่าเป็นเรื่องด่วนจริงๆ ก็สามารถเดินไปขอหัวหน้าแผนกไอทีให้ช่วยจัดพนักงานมาทำก่อนได้
ลองนำระบบนี้ไปเสนอหัวหน้าดูครับ ชื่อระบบว่า Ticketing ครับ
Q: การประชุมควรอยู่ในงานประเภทไหนของ Time Boxing
A: อยู่ได้หลายประเภทครับ ผมว่าการประชุมส่วนใหญ่อยู่ในงานแอดมิน คือการประชุมเกินครึ่ง จริงๆ แล้วไม่ต้องประชุมก็ได้ ถึงแม้การประชุมที่ Productive ก็มี แต่ไม่ควรมีใครใช้การประชุมเป็นงานหลักครับ
Q: แนะนำเครื่องมือสำหรับทำ Time Boxing ของนักศึกษาหน่อยครับ ใช้เครื่องมือพวก Task Management แล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ
A: จริงๆ แล้วการทำ Time Boxing ไม่ต้องสนใจเรื่องเครื่องมือมากนัก ผมเชื่อว่าเครื่องมือก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่สำคัญคือความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสิ่งนี้ ผมว่านักศึกษาน่าจะเข้าใจเรื่องการจัดสรรเวลาได้ดีอยู่แล้ว เพราะนักศึกษาอยู่กับเดดไลน์ การทำ Time Boxing คือการมีเดดไลน์เยอะๆ นั่นเอง
ยกตัวอย่างการทำธีสิส มันมีงานที่ต้องทำหลายส่วน เช่น หาข้อมูล ออกไปสัมภาษณ์ เขียนรายงาน การทำ Time Boxing คือการแบ่งว่าคุณจะทำงานส่วนไหนเป็นเวลากี่ชั่วโมง แล้วพยายามทำงานให้มันอยู่ในส่วนนั้นให้ได้
Q: ตอนสัมภาษณ์งาน ถ้าตอบไปว่าอยากได้ความรู้ โดยที่ทักษะเรายังไม่แข็งแรงพอ เขาจะรับไหมคะ จนแอบคิดไปว่าต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอดหรือเปล่า คิดว่าหลายคนน่าจะเจอปัญหานี้เหมือนกันค่ะ
A: ถ้าพูดถึงคำว่าทักษะ ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง Hard Skill หรือทักษะที่สามารถฝึกได้ เช่น ภาษาหรือตัวเลข ผมว่าสมัยนี้คนดูเรื่องทัศนคติก่อน เพราะทักษะเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ แปลว่าถ้าให้เลือกระหว่างสองคน คนแรกทัศนคติไม่ดีแต่ทักษะดี อีกคนทัศนคติดีแต่ทักษะยังไม่ค่อยดี เลือกคนที่ 2 ดีกว่าครับ เพราะทัศนคติสำคัญกว่าทักษะ
ที่สำคัญ ห้ามโกหก เพราะเขาสามารถจับคุณได้ ถ้าคุณโกหกและได้งาน สุดท้ายไม่ผ่านโปร มันเจ็บปวดกว่านะครับ ถ้าเขาต้องการคนที่ทำงานได้ทันทีก็อาจไม่เหมาะกับคุณ แต่หากเป็นงานที่คุณสามารถพัฒนาทักษะไปด้วยได้ โดยมีทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้ คุณจะได้งานที่เหมาะสมครับ
Q: Career Path จะนำไปปรับกับธุรกิจส่วนตัวได้อย่างไร
A: ถ้าใช้คำว่า Career Path อาจดูทางการไปสักเล็กน้อย แต่เรียกง่ายๆ มันคือที่ที่คุณอยากไปในแต่ละช่วงของชีวิต ตอนที่ผมอายุ 30 กับตอนนี้ก็มีความต้องการต่างกันไป ตอน 30 ผมต้องการความอิสระ อยากเดินทางให้มาก คิดจะทำงานตอนไหนก็ทำ พอ 40 คุณมีครอบครัว อาจต้องการความมั่นคงมากขึ้น ทำงานให้เป็นเวลา
ฉะนั้นคำว่า Career Path ไม่ได้เกี่ยวกับแค่คนทำงานในบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับทุกคน แม้แต่คนที่ไม่ทำงาน คุณแม่อยู่ที่บ้านก็สามารถมี Career Path ได้ คุณอยากดูแลลูกอย่างไร แต่ละขั้นของชีวิตอยากไปอยู่จุดไหนในการดูแลลูก คุณสามารถวางเป้าหมายเองได้ครับ
Q: อยากให้เล่าถึงเรื่อง Risk Management หน่อยครับ
A: Risk Management คือการเข้าใจเรื่องความเสี่ยง หมายความว่าเราต้องไม่ดูแค่เรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว แต่ต้องสามารถเอา ‘ผลตอบแทน’ กับ ‘ความเสี่ยง’ มาคิดอยู่ในสเกลเดียวกันได้
สมมติถ้าคุณมี 2 โปรเจกต์ งานแรกมีผลตอบแทนเท่ากับ 100 มีค่าความเสี่ยงแฟกเตอร์อยู่ที่ 0.6 งานที่ 2 มีผลตอบแทนเท่ากับ 200 มีค่าความเสี่ยงแฟกเตอร์อยู่ที่ 0.8 คุณต้องรู้วิธีการว่าควรจะเลือกอันไหนดี นั่นคือ Risk Management
Q: มีหนังสือเกี่ยวกับ Coaching แนะนำไหมครับ
A: ส่วนตัวผมชอบหนังสือตระกูล Harvard Business Review ที่สุด เพราะเขาเป็นหนังสือเล่มเล็กที่บอกชื่อสถานการณ์ต่างๆ อยู่บนปก เช่น การเมืองในออฟฟิศ การขึ้นเงินเดือน การให้ฟีดแบ็ก คุณสามารถหยิบเล่มที่ตรงกับความต้องการและนำมาปรับใช้ได้ทันทีเลยครับ
Q: ถ้ามีกำหนดเวลาให้คนในที่ประชุมพูด มีหลักการเลือกอย่างไรว่าควรให้ใครพูดต่อหรือต้องตัดบท และถ้าต้องตัดบทจริงๆ จะตัดบทอย่างไรให้มีมารยาทครับ
A: ทันทีที่เรื่องออกนอกหัวข้อการประชุม นั่นเท่ากับว่าต้องตัดบทได้แล้ว หรือถ้าเรื่องยังอยู่ในหัวข้อแต่มันเริ่มลงรายละเอียดยิบย่อย คนคุยกันเองอยู่แค่สองคน คนอื่นเริ่มเล่นมือถือแล้ว ก็ควรตัดบทเช่นกัน
ผมขอย้ำอีกครั้งว่าการประชุมมีมูลค่าแพงมาก บางคนอาจกำลังจะพูดเข้าเรื่อง แต่ใช้เวลาเกริ่นนานมาก ทำให้เสียเวลาสำคัญในการประชุม แบบนี้ควรพูดนอกรอบเพื่อให้เขาเข้าใจสถานการณ์และลองปรับการพูดอีกครั้งครับ
Q: อยากทราบวิธีการประเมินผลครับ หลายครั้งเรามีวัตถุประสงค์ที่มีความนามธรรมสูงมาก เราประเมินผลออกมาได้อย่างไร บ่อยครั้งที่เรานำคำถามไปใช้มากมายในการประเมิน แต่ผู้ประเมินผลหลายคนไม่ชอบคำถามยาวขนาดนั้น มันค่อนข้างใช้เวลา พอจะแนะนำวิธีการประเมินผลที่ Productive ได้ไหมครับ
A: คำถามนี้เป็นเรื่องที่คนตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด และผมกล้าตอบได้เลยว่ายังไม่มีระบบที่สมบูรณ์แบบ เพราะคนเรามีระบบความคิดที่ซับซ้อนมาก บางครั้งเรายังไม่ค่อยเข้าใจตัวเองเลย เราจะเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร แต่การประเมินผลที่ดีควรจะมีลักษณะดังนี้
1. ทำให้คนที่ถูกประเมินรู้ว่าความคาดหวังของบริษัทต่อเขาคือเรื่องอะไร
2. มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
3. ทำอย่างไรก็ได้ให้เอาความลำเอียง หรืออคติออกไปจากแบบประเมินได้มากที่สุด
Q: เป็นหัวหน้ามือใหม่ ที่ต้องเป็นคนกลางระหว่างลูกน้อง 2 คนที่มีปัญหากันเรื่องส่วนตัว จนทำงานกันไม่ได้ ควรวางตัวอย่างไรดีคะ
A: จริงๆ ไม่ต้องหัวหน้ามือใหม่ แค่หัวหน้ามือเก่าก็เครียดมากแล้วครับ ผมเองเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้หลายครั้ง ลองมาแล้วหลายวิธี ส่วนตัวมีความเชื่อว่าเราต้องหาให้เจอก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร บางครั้งเราอาจคิดไปเองว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาเรื่องงาน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ บางทีมันอาจลึกซึ้งกว่านั้น อาจเป็นเรื่องความแตกต่างทางความคิดหรือทางนิสัย หลังจากเข้าใจแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการแก้ปัญหารายบุคคล
ลูกน้องทุกคนมีวิธีรับมือและแก้ปัญหาต่างกัน มันไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวและแก้ปัญหาทุกคนพร้อมกันได้ ผมกล้ารับรองว่าคุณมีลูกน้อง 10 คน ก็ต้องรับมือ 10 แบบครับ
Q: ผมอายุ 27 ปี ทำงานเอเจนซี รู้สึกว่าเงินแต่ละเดือนไม่พอใช้ อยากทำธุรกิจออนไลน์เสริม แต่งานที่ทำอยู่ก็เอาเวลาชีวิตไปเยอะมาก ผมควรบริหารเวลาอย่างไรดีครับ
A: พี่หนุ่ม The Money Coach เคยพูดไว้ว่า เราสามารถบริหารจัดการเงินให้มีอิสรภาพได้ ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และภาระของเรา ซึ่งมันสามารถปรับได้เสมอ
ส่วนเรื่องการหารายได้เสริม ข้อดีของมันคือคุณสามารถเลือกได้ว่าจะทำตอนไหน ถ้างานประจำยุ่งมากและไม่เป็นเวลา ควรหางานเสริมที่เหมาะสมกับตารางเวลาทำงานแบบนี้ เช่น งานที่ขายสมอง ลงโปรไฟล์รับออกแบบโลโก้ในเว็บไซต์ ทำเฉพาะเวลาที่จัดสรรได้
ส่วนตัวผมเชียร์ให้ทุกคนมีงานที่ 2 นะครับ เพราะนอกจากมันจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เราแล้ว มันยังเพิ่มทักษะบางอย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนได้อีกด้วยครับ
Q: ไม่เก่งเรื่องตัวเลข จะสามารถทำธุรกิจได้ไหมครับ
A: ได้ครับ แต่คำว่า ‘ไม่เก่ง’ ในที่นี้ เรื่องบวกลบคูณหาร คุณยังต้องเข้าใจนะครับ เงินมาทางไหน ไปทางไหน ต้องเข้าใจพื้นฐานเอาไว้ อย่างที่ผมได้พูดในเอพิโสดเกี่ยวกับเรื่องตัวเลขในชีวิตประจำวัน เราต้องเจอตัวเลขทุกครั้งที่เดินออกจากบ้าน เช่นเดียวกับเรื่องเงิน เราต้องรู้ว่าอันไหนถูก อันไหนแพง อันไหนราคาสูง อันไหนราคาต่ำ ทุกแบบมีข้อแตกต่างกันหมดเลย ดังนั้นเราต้องศึกษาไว้ให้ดีครับ
สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host รวิศ หาญอุตสาหะ
Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์