Brad J. Bushman จาก The Ohio State University ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเรื่องอารมณ์ กล่าวว่าการระบายความโกรธเป็น “สิ่งที่แย่ที่สุดที่คุณสามารถทำได้” เพราะเปรียบเสมือนการ “เติมเชื้อไฟ” ให้อารมณ์ลุกโชนมากขึ้น แม้ในอดีตนักจิตวิทยาจะเชื่อในทฤษฎีการปลดปล่อยอารมณ์ที่ว่าการระบายความรู้สึกด้านลบออกมาดีกว่าการเก็บกด แต่งานวิจัยในปัจจุบันกลับแสดงให้เห็นว่ายิ่งระบาย ยิ่งโกรธ ยิ่งก้าวร้าว
เชื่อว่าเมื่อหลายคนเผชิญกับความโกรธและความหงุดหงิดก็คงอยากระบายความรู้สึกที่มีกับคนรอบข้าง การเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสีย บ่นถึงงานที่น่ารำคาญ หรือคำพูดที่ไม่น่าฟัง มักให้ความรู้สึกโล่งอกในทันที แต่นักวิจัยกลับพบว่าการระบายอารมณ์อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ แล้วถ้าการระบายอารมณ์ไม่ใช่ทางรอด แล้ววิธีไหนกันล่ะที่จะดีต่อสุขภาพจิตใจของเรา?
เราควรทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความโกรธหรือความหงุดหงิด
คำตอบอยู่ที่การจัดการอารมณ์อย่างสร้างสรรค์ การทำสมาธิ โยคะ และการหายใจลึกๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความโกรธได้ดีกว่าการระบาย นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว การมองสถานการณ์ในแง่บวก การยอมรับ และการมองเห็นอารมณ์ขันในเหตุการณ์ต่างๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าคนที่ใช้วิธีเหล่านี้มีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่เลือกระบายอารมณ์
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกด้านลบจะเป็นสิ่งต้องห้ามเสมอไป การปรึกษานักบำบัดเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ หรือการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรม ถือเป็นการใช้การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคือการเลือกคนที่จะพูดคุยด้วย งานวิจัยพบว่าการระบายกับคนที่ไว้ใจและรู้วิธีรับฟังที่เหมาะสมจะให้ผลดีกว่าการระบายกับทุกคนที่เราพบเจอ
รู้จักเทคนิค ‘แมลงวันบนกำแพง’
เทคนิคที่น่าสนใจอีกอย่างคือการมองสถานการณ์แบบ ‘แมลงวันบนกำแพง’ หรือการสมมติว่าเราเป็นคนนอกที่มองเหตุการณ์นั้นๆ วิธีนี้ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมและลดอารมณ์ร้อนลงได้ บางครั้งการพยายามไม่คิดถึงเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดก็เป็นวิธีที่ได้ผล โดยเฉพาะกับคนที่มีแนวโน้มจะครุ่นคิดซ้ำๆ
จำไว้ว่าแม้การระบายอารมณ์จะให้ความรู้สึกดีในระยะสั้น แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการความโกรธหรือความหงุดหงิด การฝึกสติ การหายใจ และการมองหามุมมองใหม่ๆ อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการรักษาสมดุลทางอารมณ์ของเรา
อ้างอิง: