×

89 YEARS OF THE KING OF KINGS

โดย
31.10.2017
  • LOADING...

     ในหนึ่งชีวิต คนคนหนึ่งจะรับผิดชอบทำงานได้มากที่สุดขนาดไหน และศาสตร์กี่แขนงที่เราจะสามารถเรียนรู้จนเชี่ยวชาญ

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์มีพระราชดำริอันเป็นที่มาของ

โครงการพัฒนามากกว่า 4,000 โครงการ ขณะที่ทรงสนพระราชหฤทัยในศาสตร์หลากหลาย และทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญ

ทั้งในด้านวิทยาการและความรู้ ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ จนพระองค์ทรงได้รับการขนามพระนามว่าเป็นเอกอัครศิลปิน และทรงใช้ความรอบรู้ทั้งหมดพัฒนาออกมาให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมหลากหลายรูปแบบอย่างที่เราได้ประจักษ์

นับจากวันที่เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 19 พรรษา จนถึงวันที่เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม 2559

นี่คือช่วงเวลา 70 ทศวรรษที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็น

แก่พสกนิกรทั่วหล้า THE STANDARD ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ด้วยการย้อนกลับไปยัง 89 ปีที่ผ่านมา เพื่อจดจำช่วงเวลาสำคัญแต่ละปีในชีวิตของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

 

1

 

     พระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุน-สงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. ​2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังมีพระประสูติกาลได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมงดี ทูลกระหม่อมพ่อก็ทรงรีบส่งโทรเลขแจ้งข่าวถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระอิสริยยศในขณะนั้น) พระราชมารดา และขอพระราชทานนามแก่พระโอรส

 

“ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง

ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

 

     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพระองค์ใหม่ว่า ‘ภูมิพลอดุลเดช’ (เดิมสะกดว่าอดุลเดช ต่อมาสะกดว่าอดุลยเดช ซึ่งกลายเป็นแบบที่เขียนมาจนปัจจุบัน)

     เมื่อครั้งยังเป็นเจ้านายเล็กๆ พระวรวงศ์เธอ-พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่หลายครั้ง ทั้งทรงสูญเสียสมเด็จพระราชบิดา ต้องทรงโยกย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทรงศึกษาต่อและทรงเจริญวัยที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่พระองค์ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ทั้งการสนับสนุนให้พระโอรสและพระธิดาอยู่กับธรรมชาติ จนเป็นที่มาของความสนพระราชหฤทัยในด้านการกั้นน้ำสร้างเขื่อนและการชลประทาน ตลอดจนเรื่องความมีวินัย ประหยัดอดออม และที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ทำให้เมืองไทยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก และห่วงใยทุกข์สุขของพสกนิกรมาตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์

 

1

พ.ศ. 2471

 

     สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) หม่อมสังวาลย์ พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดา เสด็จนิวัตประเทศสยาม ในเดือนธันวาคม

 

7

พ.ศ. 2477

     วันที่ 2 มีนาคม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

 

10

 

 

     ในทศวรรษที่ 2 ของพระชนมชีพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็ยังทรงประสบความผันแปรอย่างใหญ่หลวง เมื่อต้องเสด็จฯ เถลิงถวัลยราชสมบัติทั้งที่พระชนมายุยังไม่เต็ม 19 พรรษาดี หลังจากทรงจัดการพระราชพิธีต่างๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่เสด็จสวรรคตโดยกะทันหันเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็เสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนิราศร้างแผ่นดินไทยไปอีกวาระหนึ่ง พระองค์ทรงได้ยินใคร
คนหนึ่งในหมู่ฝูงชนที่มาเฝ้าส่งเสด็จ ตะโกนขึ้นมาด้วยความโทมนัสว่า “อย่าทิ้งประชาชน” มีพระราชดำรัสตอบในพระราชหฤทัยทันทีว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”

 

“อดคิดถึงพี่ไม่ได้แม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่า ฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”

พระราชปรารภของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ในบทความเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าบินไปสืบกรณีสวรรคต ที่สวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์

ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2491 (ข้าพเจ้าในที่นี้หมายถึงพระพินิจชนคดี)

 

19

พ.ศ. 2489

 

     รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้า-น้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

 

20

     แม้จะเริ่มต้นทศวรรษที่ 3 ของพระชนมชีพด้วยข่าวอันน่าหวาดหวั่น เนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หากแต่ในเวลาต่อมา ก็ทรงมอบความปีติหลั่งรินสู่ใจคนไทยด้วยข่าวการหมั้นหมายกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ตามมาด้วยพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ทรงพระราชทานปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คนไทยได้อุ่นใจ แผ่นดินไทยได้รับการพัฒนาใต้พระบรมโพธิสมภารนับแต่นั้นมา

 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

22

พ.ศ. 2492

 

     ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ณ พระตำหนักที่ประทับเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์​  พระราชทานพระธำมรงค์เพชรหนามเตยรูปหัวใจ ซึ่งเคยเป็นพระธำมรงค์ที่สมเด็จพระบรมราชชนกใช้หมั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี

 

24

พ.ศ. 2494

 

     เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร

 

30

     สถานการณ์ของประเทศไทยช่วงต้นรัชกาล ราษฎรยังคงทุกข์ยากและมีชีวิตที่แร้นแค้นโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร ปัจจัยสี่ด้านการดำรงชีวิตขาดแคลนไปเสียสิ้น ทั้งขาดโอกาส เจ็บป่วย ยากจน พระราชกรณียกิจในช่วงนี้จึงมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญ จะเห็นได้จากที่ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ที่จำเป็นต่อปากท้องและสุขภาพของประชาชน ทั้งการพระราชทานพันธุ์ปลาเพื่อให้เป็นอาหารโปรตีนที่ราคาถูกแก่คนไทย  ทั้งการก่อตั้งโรงพยาบาล รวมถึงทรงจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ถือเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตพื้นฐานให้แข็งแรงในเบื้องต้นก่อน เพื่อเตรียมคนให้พร้อมในการรับการพัฒนาด้านอื่นต่อไป

 

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้”

พระราชดำรัสในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505

 

     ในทศวรรษนี้ เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภูมิภาค เมื่อปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ของพสกนิกรเริ่มคลี่คลาย ก็ทรงหันมาดำเนินงานพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่มีมากมาย ตั้งแต่บนยอดดอยจรดชายฝั่ง

     ในขณะเดียวกัน ก็ทรงต้องเสด็จฯ เยือนต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกานานกว่าครึ่งปี ทั้งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และทรงจับตาดูสถานการณ์โลก รวมถึงท่าทีต่างๆ ที่มหาอำนาจมีต่อกันในยุคสงครามเย็น ผลจากการเสด็จประพาสต่างแดนครั้งนั้น ก็ทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกอย่างภาคภูมิ

 

33

พ.ศ. 2503

 

     ทรงเริ่มต้นการเสด็จฯ​ เยือนอเมริกาและยุโรปรวม 14 ประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 จนถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2504 รวมทั้งสิ้น 7 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยเสด็จด้ว

 

40

 

 

     หลังจากเสด็จประพาสต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้เวลาในช่วงทศวรรษนี้ทุ่มเทพระวรกายเพื่อทรงงานในประเทศ โดยมิได้เสด็จประพาสต่างบ้านต่างเมืองอีกเลย นอกจากเสด็จฯ เยือนประเทศแคนาดาอีกครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. 2510

     มีโครงการในพระราชดำริเกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ ในปี พ.ศ. 2517 พระองค์มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรก ก่อนจะได้รับการน้อมนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางหลัง พ.ศ. 2540

 

“การกีฬานั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง ให้มีความสามารถในกีฬาของตน เพื่อจะพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันและได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่งขัน ก็จะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา”

ตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 5  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

 

40

พ.ศ. 2510

     ทรงชนะเลิศเหรียญทอง การแข่งขันเรือใบ กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม

 

42

พ.ศ. 2512

 

 

     โครงการฝนหลวงดำเนินการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกวันที่ 1-2 กันยายน หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ หลังจากพระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการและศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2489

 

50

     นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงสถาปนาสมเด็จพระเทพฯ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกที่ทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘สยามบรมราชกุมารี’ แห่งราชวงศ์จักรี ในช่วงทศวรรษนี้โครงการสำคัญจากแนวพระราชดำริมีออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการจากทฤษฎีแกล้งดิน

 

“ทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้มีกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้ง ทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกัน”

พระราชดำรัส วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2524 อันเป็นที่มาของโครงการแกล้งดิน ตามแนวพระราชดำริ

 

50

พ.ศ. 2520

 

 

     วันที่ 5 ธันวาคม ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล-อดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สยามบรมราชกุมารี’ แห่งราชวงศ์จักรี

 

54

พ.ศ. 2524

 

 

     เสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดนราธิวาส (อันเป็นที่มาของภาพทรงนั่งพิงรถยนต์พระที่นั่งที่จอดบนสะพาน) และมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น

 

60

     ในช่วงวัยที่คนปกติจะเกษียณจากการทำงาน พ่อของแผ่นดินยังทรงงานหนักไม่เปลี่ยนแปลง  หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้เสด็จเยือนประเทศไหนอีกเลย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทรงเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และนับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ ในช่วงปลายทศวรรษนี้มีการจัดพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เฉลิมฉลองเนื่องในวาระที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

 

“แล้วก็ใครจะชนะ  ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ”

พระบรมราชาธิบาย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แก่ตัวแทนทั้งสองฝ่ายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

 

60

พ.ศ. 2530

 

     1 มกราคม พระราชทาน ส.ค.ส. โดยการปรุแถบโทรพิมพ์ ลงรหัสส่วนพระองค์ว่า กส.9 ปรุ 311430 ธค 2529. ทรงทดลองใช้โปรแกรมฟอนทาสติก(Fontasitc) ในคอมพิวเตอร์ สร้างตัวอักษรไทยและโรมัน รูปแบบและขนาดต่างๆ

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงให้การต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ณ พระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. 2534

 

69

พ.ศ. 2539

     พระราชพิธีกาญจนาภิเษก เฉลิมฉลองเนื่องในวาระที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

 

70

     ขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการเงิน ‘ต้มยำกุ้ง’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสมาก่อนหน้านี้หลายทศวรรษ ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางพัฒนาสู่ความยั่งยืน

     ในปลายทศวรรษ รัฐบาลจัดพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีพระราชอาคันตุกะคือ สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี มกุฎราชกุมาร และผู้แทนพระประมุขจาก 25 ราชวงศ์ทั่วโลก

 

“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพออยู่พอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองไว้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง”

ตอนหนึ่งในพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

 

72

พ.ศ. 2542

 

     พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม

 

75

พ.ศ. 2545

 

 

     26 พฤศจิกายน พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง วางจำหน่ายเป็นวันแรก

 

80

     ในช่วง 10 ปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีเหตุการณ์สำคัญที่ปวงชนชาวไทยต้องน้อมรำลึกถึงไปตราบชั่วชีวิต เช่น พ.ศ. 2550 เป็นปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเป็นปีที่มีการเฉลิมพระเกียรติตลอดทั้งปี หลังจากนั้น ก็มีช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จฯ ประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราชบ่อยครั้ง แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังพระราชทานแนวคิดแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ และยังมีโครงการในพระราชดำริที่สำคัญอีกจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ก่อนที่ปวงชนชาวไทยจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เป็นความวิปโยคทั่วทั้งแผ่นดินในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559

 

“ความมั่นคงของประเทศชาตินั้น จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยประชาชนในชาติอยู่ดีมีสุข ไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้น การสิ่งใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน ทุกคน ทุกฝ่าย จึงต้องถือเป็นหน้าที่ จะต้องร่วมมือกัน ปฏิบัติแก้ไขให้เต็มกำลัง”

พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน  วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

 

84

พ.ศ. 2554

 

 

     5 ธันวาคม งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จ-พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการเสด็จออก ณ มุขเด็จ เป็นครั้งสุดท้าย โดยมีการติดตั้งพระวิสูตรบนมุขเด็จ และเลื่อนพระราชอาสน์ออกสู่มุขเด็จเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีครั้งนั้น มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ข้อสำคัญจะต้องไม่ขัดแย้งแตกแยกกัน อาจจะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ”

 

87

พ.ศ. 2557

 

 

     3 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช

 

89

พ.ศ. 2559

 

 

     13 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช เวลา 15.52 น. สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองสิริราชสมบัติได้ 70 ปี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising