×

‘เราจะทำตามสัญญา’ 7 ปีรัฐบาลประยุทธ์ 7 คำสัญญา ทำได้แค่ไหน?

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2021
  • LOADING...
7 ปีรัฐบาลประยุทธ์

วันนี้ (22 พฤษภาคม) เป็นวันครบรอบ 7 ปีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากจุดเริ่มต้นในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับปฏิบัติการฉีกรัฐธรรมนูญและเข้ายึดครองอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นผู้นำการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์

 

ถ้ายังจำกันได้ ภายหลังจากการรัฐประหารเพียง 15 วัน คณะ คสช. ก็ปล่อยเพลงที่แต่งโดย พล.อ. ประยุทธ์ อย่าง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ออกมาในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นับเป็นผลงานแรกของคณะ คสช. ภายหลังเข้ายึดอำนาจ พร้อมเนื้อเพลงที่ในเวลาต่อมาถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ

 

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา”

 

เรามาย้อนดูกัน ว่า 7 ปีที่ผ่านมานี้ พล.อ. ประยุทธ์ ลั่นคำสัญญาใดไว้บ้าง

 

 

คำสัญญาจากเนื้อเพลงที่ พ.อ. กฤษดา สาริกา ผู้บังคับการกองดุริยางค์ทหารบก ระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ แต่งโดยใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น ท่อนสำคัญคือ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งครั้งแรกที่ได้ยินนั้นหลายคนก็ตีความไปว่า คสช. และคณะคงอยู่ในอำนาจไม่นาน แต่กลายเป็นว่าหลังจากฟังเพลงนี้ซ้ำๆ ไปหนึ่งปี ล่วงเข้าไปปีที่สองและสาม ประชาชนคนฟังก็เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า ที่บอกว่าไม่นานนั้น แท้จริงแล้วการดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องใช้เวลาเท่าใดกันแน่

 

วันนี้ล่วงผ่านมาแล้วร่วม 7 ปี หากเด็กคนใดที่เกิดในปี 2557 ถึงตอนนี้ก็คงอายุครบ 7 ขวบ และเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็น่าจะตอบคำถามได้ว่า ‘สัญญา’ แรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ มอบให้คนไทยอย่างการจะใช้เวลา ‘ไม่นาน’ นั้นทำได้จริงตามที่อ้างไว้หรือไม่

 

 

การประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้าพบและหารือกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (เวลานั้น) โดยมีช่วงหนึ่งที่อาเบะได้แสดงความหวังว่า ผู้นำรัฐบาลทหารไทยจะเร่งฟื้นการปกครองโดยพลเรือน 

 

พล.อ. ประยุทธ์ ได้ตอบไปว่า ตนเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสั้นๆ และอีกไม่นานร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเสร็จสิ้น คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปีหน้า หรือคือต้นปี 2559

 

อย่างไรก็ตาม เกิดการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในเดือนมิถุนายน 2558 โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่าจนประชาชนได้ลงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 รวมแล้วห่างจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ลั่นคำสัญญาไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นนานสามปี

 

 

ในรายการ ‘ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ วันที่ 28 ตุลาคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของตนตลอดสองปีที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ว่า ที่ผ่านมาได้เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข การดูแลตนเองขั้นต้น เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ และประเด็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลนี้ได้พยายามมาโดยตลอดที่จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นการเติบโตที่กระจายสู่ทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

 

ทั้งนี้ จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มกระจายตัวไปสู่เศรษฐกิจภาคเอกชนมากกว่าเดิม จากนโยบายการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ 

 

 

เดือนพฤศจิกายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีจำนวน 18 ตำแหน่ง ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5 ซึ่งมีชื่อของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย เข้ามานั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

 

ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องปฏิเสธต่อสื่อว่าไม่มีดีลพิเศษใดๆ กับพรรคขนาดกลางทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ย้ำว่าวันนี้ไม่มีพรรค เป้าหมายเดียวคือทำเพื่อประชาชน

 

ทั้งนี้ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้ง 250 ส.ว. ประโยคนี้ของ พล.อ. ประยุทธ์ ก็ถูกกังขาจากสื่อมวลชนและประชาชนอีกครั้งว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ดีลกับใครไว้จริงๆ หรือ ตลอดจนเงื่อนไขในการเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คนนั้นก็ยังเป็นที่ตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ในฐานะที่เป็นกลไกหลักที่ถูกมองว่าช่วยสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ และ คสช. ด้วย

 

 

เนื่องในวันเกษตรกร ประจำปี 2561 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวคำปราศรัยโดยมีใจความสำคัญว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ภายใต้แนวคิดศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และพยายามให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็น สามารถลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต

 

ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนปี 2561 จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในช่วง 4 ปีนับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศนั้น พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ระดับ 126.60 ซึ่งปรับตัวลดลง เท่ากับว่าเกษตรกรขายสินค้าได้ถูกลง ทั้งยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญจนผลผลิตลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และมีการให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับระบบการบริหารจัดการน้ำ และการผลิตการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย

 

 

พล.อ. ประยุทธ์ อ่านคำแถลงนโยบายรัฐบาลซึ่งมีทั้งหมด 80 หน้า และแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก มีนโยบายหลัก 12 ข้อ และนโยบายเร่งด่วนอีก 12 ข้อ ใจความสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลนั้นจะเน้นการสร้างคนยุคใหม่ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยี

 

ข้อเท็จจริงคือ ในอีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อมีกลุ่มเยาวชนรวมตัวกันเพื่อประท้วงรัฐบาล โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือการให้ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐบาลลาออก แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ทั้งมีเยาวชนจำนวนมากที่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ถูกตั้งข้อหาหรือถูกจับกุมด้วย

 

 

ช่วงปี 2563 นั้นเกิดภาวะที่โควิด-19 ระบาดมายังไทยและทั่วโลกแล้ว รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ พยายามตั้งรับด้วยมาตรการหลายอย่าง รวมทั้งการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มทำให้เกิดการแพร่ระบาด 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกันยายนปลายปีที่ผ่านมาหลังประชุมครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาตนได้รับทราบสถานการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด และลงท้ายว่า “หลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 5-6 ปี ผมถือว่ามีคุณค่ากับตัวผม และผมคิดว่าจะทำตัวให้มีคุณค่ากับบ้านเมืองของเรา กับประชาชนของเรา เพียงแต่ขอความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมืองของเรา เรื่องอื่นๆ ช่วงนี้ขอให้ผ่านพ้นไปก่อน”

 

ล่วงมาถึงปี 2564 นี้ ประชาชนยังคงตั้งคำถามกับการบริหารจัดการและรับมือกับโรคระบาด มิหนำซ้ำยังดูว่าสถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2563 เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสตลอดจนมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ทยอยเข้ามา 

 

ทำให้เกิดคำถามว่า ที่ พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่าจะใช้บทเรียนที่ผ่านมาตลอดหลายปีนั้นมาปรับใช้ทำได้จริงหรือไม่ เพราะลำพังแค่เอาบทเรียนจากการรับมือจากโรคระบาดของตัวเองในปี 2563 มาปรับปรุงแก้ไขในปี 2564 ก็ดูจะยังทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก โดยเฉพาะหากวัดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising