×

สางคดีเหมืองทองอัครา ทำจริงหรือหาเสียง? เบญจาทวงสัญญารัฐบาลเศรษฐา อย่ามวยล้มต้มคนดู

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (4 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

 

เบญจา แสงจันทร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดการเหมืองทองอัครา ที่อนุญาโตตุลาการเลื่อนการชี้ขาดออกไปเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 โดยตั้งข้อสงสัยถึงการยกผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ทองคำให้แก่นายทุนต่างชาติ เหมืองทองอัคราเริ่มจากการที่รัฐบาลในปี 2543 เปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรีบริเวณรอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก 

 

โดยมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลียได้สัมปทาน และมอบหมายให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทลูก ดำเนินการ ซึ่งเหมืองทองดังกล่าวเปิดดำเนินการในปี 2544 ตรงกับรัฐบาลไทยรักไทย และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้เดินทางไปเปิดเหมืองเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 มีการเริ่มขุดเหมืองในปีเดียวกันนั้น และได้มีการยื่นขออาชญาบัตรสำรวจทองคำในปี 2546-2548 อีก 44 แปลง ในขณะที่ชาวบ้านโดยรอบต้องประสบปัญหามลภาวะต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

 

ต่อมาเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้นเพื่อขอสิทธิ์สำรวจ และได้รับประทานบัตรอีก 9 แปลง และผ่านไป 7 ปี เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 ส่งผลให้เหมืองถูกปิด แต่ชาวบ้านยังคงทนไม่ได้จากมลภาวะ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่สุ่มตรวจชาวบ้านในละแวกนั้นพบว่า ชาวบ้านรอบเหมืองมีสารเคมีปนเปื้อน สารโลหะหนัก และสารไซยาไนด์ ในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน 

 

นอกจากนั้นยังได้สั่งปิดเหมืองทองอัครา 30 วันตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ 2550 ซึ่งเท่ากับว่า สามารถใช้กฎหมายปกติได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เป็นข้ออ้าง แต่นั่นเป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี อยากควบคุมนายทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลในอดีต ที่มองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับตนเอง แต่เนื่องจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด เป็นนายทุนต่างชาติ จึงใช้วิธีเรียกคุยเจรจา แต่สุดท้ายก็ตกลงกันไม่ได้ จึงใช้ข้ออ้างนี้ในการปิดเหมืองทอง ทำให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดเหมืองทองดังกล่าว 

 

“ประชาชนอาจคิดว่า พล.อ. ประยุทธ์ นั้นสั่งปิดเหมืองทองอัคราเพราะใส่ใจประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีข้อร้องเรียนเดียวกันกลับไม่เคยถูกสั่งปิด พร้อมทั้งยังแต่งตั้งผู้ที่เพิ่งลาออกจากคณะกรรมการอิสระของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส เพียง 12 วัน มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผลักดันการสร้างเหมืองแร่โปแตชอย่างถูกกฎหมาย”

 

เบญจาระบุว่า เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เมื่อรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยนั้นยกตำแหน่งประธานคณะกรรมการแร่ฯ ให้กับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย นั่นจึงทำให้การที่พรรคเพื่อไทยเคยลั่นวาจาไว้ว่า “เมื่อไรที่ พล.อ. ประยุทธ์ หลุดอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะยื่นต่อองค์กรอิสระเพื่อดำเนินคดี…” นั่นเป็นความจริงหรือแค่เทคนิคที่ใช้ในการหาเสียง 

 

“เราจะเห็นร่องรอยความสัมพันธ์ของทุกรัฐบาลที่มีต่อนายทุนต่างชาติจากผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้ดิน ถึงขนาดที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนยอมลาออกราชการเพื่อไปทำงานกับเหมืองทองอัครา พวกเขาแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่สนใจผลกระทบต่อประชาชน เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ แต่เกี่ยวข้องกับทุกรัฐบาล และยังคงเป็นที่หมายปองของผู้มีอำนาจในทุกรัฐบาล”

 

เบญจากล่าวอีกว่า กระบวนการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ 4 ปีผ่านไปแล้วกลับยังไม่มีคำชี้ขาด ในขณะที่ข้อมูลจากคณะตัวแทนรัฐบาลไทยในคดีนี้แจ้งว่า บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด มีโอกาสในการแพ้คดีสูงมาก เนื่องจากเอกสารที่ใช้เป็นรายงานที่ตรวจพบว่ามีการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่หนึ่งของเหมืองทองคำ ทำให้การตกลงชี้ขาดเลื่อนออกไป ซึ่งระหว่างนั้นเป็นภายหลังจากการที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ในขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชุดทำงานและตัดข้อมูลจากพยานหลักฐานทั้งหมดออกไป และพบว่ามีการพยายามเจรจายกทรัพย์สินประเทศให้กับกระบวนการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนครั้งใหญ่ 

 

นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ระบุว่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประเคนสินแร่ให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ออกไปขายได้จำนวนกว่า 330 ล้านบาท และหลังจากเจรจาลงตัว ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ออกอาชญาบัตรพิเศษให้เหมืองแร่อัคราจำนวน 44 แปลง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 4 แสนไร่ ในระยะเวลา 5 ปี เพียงเพราะเป็นแปลงที่ค้างอนุมัติมาจากรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

 

ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม 2565 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ประกาศว่า รัฐบาลไทยต่ออายุประทานบัตรเหมือนแร่ทองคำออกไป 4 ปี และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า ผลคำชี้ขาดจะออกมาเป็นอย่างไรอยู่ที่อนุญาโตตุลาการตัดสิน หากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส มายื่นอะไรต่ออะไรแล้วพอใจเขาก็จะถอนเรื่อง ดังนั้นการเจรจาทุกวันนี้เป็นไปตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการที่ให้เวลาถึงสิ้นปี ดังนั้นในเดือนต่อมาสุริยะจึงบินไปออสเตรเลียเพื่อเจรจากับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการกลับไปคุยกันเพื่อประเคนดีลยักษ์ใหญ่ก่อนสั่งลาใช่หรือไม่ 

 

เบญจาได้ยกคำพูดของสุริยะถึงการเจรจากับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ในวันที่ย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทยว่า เรื่องทั้งหมดสามารถยุติได้โดยที่รัฐบาลจะไม่ถูกฟ้องร้อง และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่ไม่ต้องเสียค่าชดเชยใดๆ ซึ่งทางบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ยื่นฟ้องไป เรื่องนี้จบแล้ว ส่วนเรื่องที่ไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ตนไม่ได้ผลประโยชน์ในข้อตกลงต่างๆ แต่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยหลังจากนั้น 3 วัน เหมืองทองอัคราได้กลับมาเปิด และมีการชี้แจงว่า ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลไทยและกฎหมายไทย นี่คือพานยักษ์ใหญ่ที่กลับมาคืนชีพ โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน BOI ยกเว้นภาษีเงินได้และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร

 

“ผ่านมา 212 วัน เศรษฐามีอำนาจหรือยัง หรือถูกใครขี่คออยู่ และจะเอาอย่างไรกับการที่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านก่อน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้เป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของท่าน มีพฤติกรรมการเจรจาประเคนผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในชาติ และรัฐบาลนี้จะทำเพื่อใครหรือเพื่อนายทุน ดังนั้นอย่าปล่อยให้เรื่องที่พรรคเพื่อไทยขึงขังในวันนั้นต้องจบลงอย่างปาหี่และเป็นเพียงการใช้เทคนิคหาเสียงเท่านั้น อย่าปล่อยเรื่องมหากาพย์ให้เป็นมวยล้มต้มคนดู”

 

อย่างไรก็ตาม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นประท้วง และขอให้มีการอภิปรายรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากมีการเอ่ยชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่สามารถเข้ามาชี้แจงได้ หากจะกล่าวถึงความหลังให้กล่าวแบบพอประมาณ

 

นอกจากนี้ระหว่างการอภิปราย ได้มี สส. จากพรรคร่วมรัฐบาล ลุกขึ้นมาประท้วง เช่น นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ต้องมีความเป็นธรรมด้วยการใช้คำพูดว่า มีผู้ขี่คอท่านนายกฯ หากมีอะไรเด็ดๆ ให้พูดออกมาเลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising