×

‘4 ปีกราดยิงโคราช’ สังคมไทยไปถึงไหน เฉยชาความรุนแรง-เพื่อนร่วมงานฟางเส้นสุดท้าย

08.02.2024
  • LOADING...
4 ปีกราดยิงโคราช

นับเป็นเวลา 4 ปีแล้วจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้คนในสังคมได้ ‘ตื่นกลัว’ ภัยที่เกิดจากผู้ประกอบอาชีพใกล้ชิดกับอาวุธยุทโธปกรณ์ และ ‘ตระหนักรู้’ วิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด

 

กราดยิงโคราช เป็นบทเรียนที่สังคมร่วมถอดส่วนประกอบของเหตุการณ์สูญเสียครั้งนี้มาตลอด เรารู้แล้วว่าใครทำ ทำไปทำไม ทำกับใคร แต่จนถึงวันนี้เราได้เรียนรู้วิธียับยั้งความรุนแรงอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่

 

THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ถึงต้นน้ำวิธีการรับมือและเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่กำลังประสบปัญหาด้านจิตใจ ตัวเรา และเพื่อนเรา เมื่อเขาต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

 

เพื่อนร่วมงานคือฟางเส้นสุดท้าย

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิงโคราชปี 2563 ว่าแม้จะผ่านมาแล้ว 4 ปี แต่ดูเหมือนความรุนแรงในสังคมไม่มีท่าทีจะลดลง เพราะหลังจากนั้นเรายังเห็นว่าเกิดเหตุกราดยิงอีกหลายครั้ง

 

เราทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่าตัวผู้ก่อเหตุกรณีโคราชมีความเครียดจากที่ทำงาน แต่ ณ วันนี้เราไม่ได้คิดว่าเรื่องนั้นจะเป็นสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้เขาตัดสินใจก่อเหตุทำร้ายคนอื่น เพราะปัจจุบันคนที่เครียดจากการทำงานมีอยู่จำนวนมาก ฉะนั้นนอกจากเครียดจากที่ทำงานแล้ว คาดว่าผู้ก่อเหตุอาจมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เข้ามาสนับสนุน

 

แต่ทั้งนี้หากคนหนึ่งมีความเครียดจากที่ทำงาน การที่ได้มีเพื่อนร่วมงานที่สามารถสังเกตเพื่อนที่ทำงานด้วยกันได้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เพื่อนสามารถช่วยแก้ได้

 

ดร.นพ.วรตม์ อธิบายว่า การช่วยเหลือใครสักคนต้องเริ่มต้นจากการมอง ทางกรมสุขภาพจิตใช้หลักการ ‘Look Listen Link’ หรือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง

 

“ถ้าเราไม่ตั้งใจมอง ไม่ดูว่าคนรอบข้างในที่ทำงานเรามีความเครียด เราจะไม่มีทางมองเห็นถึงความผิดปกติบางอย่าง” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

 

การจะมองเห็นว่าผิดปกติได้เราต้องเคยมองเขาในตอนที่ปกติก่อน เช่น เดิมเพื่อนคนนั้นอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายทุกคน กินข้าวกับเพื่อน ชอบออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนนี้คือเราสังเกตเห็นว่าเป็นภาวะปกติ

 

ถ้าวันหนึ่งที่เพื่อนดูมีความผิดปกติ เช่น กลายเป็นคนก้าวร้าว เก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ยอมกินข้าวกับใคร ไม่ดูแลตัวเอง พูดแปลกๆ หรือมีพฤติกรรม เช่น ดื่มเหล้ามากขึ้น ใช้บุหรี่จากที่ไม่เคยใช้ เรื่องพวกนี้เป็นสัญญาณที่เราบอกได้ว่าเพื่อนคนนั้นมีความผิดปกติ

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ขั้นต่อมาคือใส่ใจรับฟังเมื่อเราเห็นแล้วว่าผิดปกติ หากเรามองเพียงอย่างเดียว ตัวเพื่อนคนนั้นก็ไม่สามารถมีอาการดีขึ้นได้ เราต้องเข้าไปพูดคุยถามไถ่ว่าเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งเราอาจจะมองถูกหรือมองไม่ถูกก็ได้ แต่นั่นเป็นส่วนที่แสดงความใส่ใจ แสดงความเป็นห่วงในสิ่งที่เขากำลังเปลี่ยนแปลงไป

 

“มีอะไรที่พอช่วยได้ไหม?” “มีอะไรที่อยากเล่าไหม?” เราสามารถถามเขาได้ แต่ถ้าสุดท้ายตัวเขาไม่อยากเล่าแม้เราที่เป็นคนถามอาจจะรู้สึกเสียหน้าเล็กน้อยแต่ขอให้คิดว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเราตั้งต้นพูดด้วยความเป็นห่วง

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า การได้เข้าไปรับฟังตนเชื่อว่ามากกว่าครึ่งของผู้ที่กำลังมีปัญหาในใจเมื่อเขาสามารถพูดระบายออกมาได้เขาก็จะรู้สึกได้ว่าโลกใบนี้ยังมีฟาง มีสายใยที่ช่วยเชื่อมโยงตัวเขากับโลกใบนี้อยู่ เพราะการที่คนคนหนึ่งทำร้ายร่างกายตัวเองหรือทำร้ายร่างกายคนอื่น ส่วนหนึ่งพวกเขาไม่รู้สึกว่ามีอะไรเชื่อมโยงเขากับโลกใบนี้แล้ว

 

“การที่ไปบอกเขาว่ายังมีเราที่เป็นห่วง ยังมองเห็นตัวตนเขาอยู่ ยังมีเราที่อยากช่วยเหลือเขา มันทำให้ฟางเส้นสุดท้ายไม่ขาด เขาก็จะเลือกที่จะไม่ทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงกับใคร” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

 

และขั้นสุดท้าย ส่งต่อเชื่อมโยง การที่ผู้ที่มีปัญหาได้ระบาย บางทีเรื่องในใจมันก็เบาแล้ว แต่คนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ดีขึ้นเพราะเขามีปัญหาอื่นๆ หรือแม้แต่ปัญหาจิตเวชที่ต้องถูกส่งต่อเชื่อมโยงไปสู่ระบบการรักษา ไปสู่ครอบครัว

 

ขั้นนี้เราย้อนกลับไปที่ครอบครัวต้องถามว่าเคยได้เห็นปัญหานี้ไหมว่าคนนี้กำลังมีโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เราสามารถแนะนำเขาไปสู่การรักษาทางการแพทย์ได้ แต่จะแนะนำได้ถึงขั้นนี้เราและเขาต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อน แต่หากไม่ได้สนิทเชื่อใจกัน การที่เราเดินไปบอกให้เขารักษาตัวเขาก็จะรู้สึกไม่ดีได้

 

คนไทยจัดการกับความเครียดเก่ง

 

ดร.นพ.วรตม์ ระบุว่า ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความเครียดและภาวะการเจ็บป่วยด้านจิตใจผ่านระบบ MENTAL HEALTH CHECK IN ที่เว็บไซต์วัดใจ (https://xn--82cx0dxb9e.com/)

 

ซึ่งเป็นระบบเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้ประชาชนเข้ามาทำแบบประเมินในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 มีผู้มาทำแบบทดสอบประมาณ 4,500,000 ครั้ง

 

ผลพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ที่เข้ามาทำแบบทดสอบมีความเครียด 9-10% ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอายุช่วงต่ำกว่า 20 ปี เป็นวัยที่มีความเครียดค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนช่วงวัยอื่นถึง 3 เท่า

 

ทั้งนี้ ห้วงสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป คนก็มีความเครียดแตกต่างกัน เช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด อัตราความเครียดพุ่งสูงขึ้น 3-4 เท่า ช่วงมาตรการล็อกดาวน์ คนไม่สามารถออกไปไหนได้ ความเครียดก็กระโดดสูงกลับขึ้นไป แต่ช่วงที่สถานการณ์ทุกอย่างดี อย่างเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ทุกคนมีความสุข ความเครียดก็ลดลง

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า จากการจัดเก็บข้อมูลสถิติ ความเครียดสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ไม่ใช่ว่าตลอดทั้งปีค่าเฉลี่ยผู้ที่มีความเครียดจะอยู่ที่ 10% คงที่ เพราะในบางช่วงเวลาค่าระดับความเครียดลดลงไปที่ 3% หรือ 4% ได้ หรือบางช่วงที่สถานการณ์รุนแรงก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% แต่ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

 

“คนไทยมีศักยภาพในการจัดการความเครียดของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 2-3 สัปดาห์ก็สามารถกลับมาอยู่ในระดับที่ปกติได้” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

 

ดร.นพ.วรตม์ อธิบายว่า คนไทยมีลักษณะครอบครัวเป็นแบบครอบครัวขยาย สังคมมีความผูกพันมากกว่าเมื่อเทียบกับหลายชาติ การพูดคุยการสื่อสารในครอบครัวเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนหนึ่งคนสามารถจัดการความเครียดได้

 

ส่วนความสัมพันธ์ในที่ร่วมงานของสังคมไทยถือว่าค่อนข้างดี ด้วยความที่คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส เรื่องการแข่งขันแม้จะมีสูง แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ถือว่าไทยมีการแข่งขันต่ำกว่า

 

เครียดบ้างให้ไม่ขี้เกียจ

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ความเครียดแต่ละคนมีนิยามไม่เหมือนกัน บางคนเครียดเป็นอารมณ์ บางคนหงุดหงิด กังวล กลัว ก็เรียกว่าความเครียด แต่บางคนบอกว่าความเครียดของฉันคือความคิดเวลาที่คิดวนๆ คิดซ้ำๆ หรือคิดไม่ออก ขณะที่บางคนก็บอกว่าความเครียดคือพฤติกรรม เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดมากขึ้น

 

ฉะนั้นแล้วความเครียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่านิยามแบบไหน แต่โดยรวมแล้วการมีความเครียดไม่ใช่เรื่องแย่ แต่สิ่งที่แย่คือความเครียดที่มากเกินไป อยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้ การที่ไม่เครียดเลยก็แย่ เพราะจะทำให้เราเป็นคนขี้เกียจ ไม่สามารถสร้างศักยภาพได้ พันธุกรรมมนุษย์สร้างให้เราต้องเครียด แต่ต้องอยู่ในระดับตรงกลางพอดี

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า สิ่งนี้เรียกว่า Survival Instinct หรือสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ถูกสร้างมาแล้วหลายแสนปี เช่น หากเครียดมากเกินไปในการออกจากถ้ำเพื่อไปล่าสิ่งมีชีวิต สุดท้ายกลัวจนไม่ได้ออกไปก็จะอดตายในถ้ำ แต่หากเครียดน้อยไป  เมื่อออกไปล่าสัตว์ไม่ระวังตัวก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน

 

เมื่อถามว่าแบบไหนคืออยู่ในขั้นป่วยสุขภาพจิต ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า เราสามารถพิจารณาได้จากฟังก์ชันซึ่งมี 3 ด้าน ฟังก์ชันการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิต เช่น สอบตก การเรียนแย่ ทำงานแย่ ใช้เวลาเท่าเดิมแต่ทำงานได้ไม่เท่าเดิม สิ่งนี้คือการสะท้อนว่าฟังก์ชันนี้มีปัญหา

 

ฟังก์ชันความสัมพันธ์ เดิมกินข้าวกับเพื่อน รับโทรศัพท์เพื่อน ต่อมาเก็บตัว บอกเลิกกับเพื่อนกับแฟน ถือว่าสูญเสียศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์

 

และสุดท้าย ฟังก์ชันในการดูแลตัวเอง เช่น การทำความสะอาดตัวเอง การจัดระเบียบที่อยู่

 

“ศักยภาพทั้ง 3 ด้านนี้ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งผิดปกติไป เป็นสัญญาณว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ส่วนจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่นำไปสู่การสูญเสียฟังก์ชัน” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

 

สื่อสะท้อนความเฉยชาต่อความรุนแรง

 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ตามทฤษฎี ‘สื่อ’ มีอิทธิพลทั้งการสนับสนุนความรุนแรงและการลดความรุนแรง ทั้งนี้ สื่อจะนำเสนอข่าวก็ต่อเมื่อมีประชาชนสนใจ รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญและคนในวงกว้างยังไม่เฉยชาต่อเหตุการณ์นั้น

 

สิ่งหนึ่งที่ตนอยากให้พิจารณาว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยคือเหตุกราดยิงที่โคราช สื่อนำเสนอประมาณ 2 เดือน เหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ จังหวัดหนองบัวลำภู สื่อนำเสนอข่าวประมาณ 5 สัปดาห์ และเหตุล่าสุดที่ศูนย์การค้ากลางเมือง สื่อนำเสนอข่าวอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์

 

“ถ้าเราพิจารณาจะเห็นว่าการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นสั้นลงเรื่อยๆ เพราะประชาชนเริ่มเฉยชากับความรุนแรง” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

 

ดร.นพ.วรตม์ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่สื่อว่าเรากำลังนำเสนอข่าวให้คนรู้สึกเฉยชากับความรุนแรงเหล่านี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้เราก็ไม่สามารถไปโทษสื่อว่าความรุนแรงทั้งหมดเกิดจากสื่อได้ เพราะทุกวันนี้ทุกคนเองก็คือสื่อ ถ้าไม่มีใครส่งต่อ ไม่มีใครผลิตซ้ำ มันก็ไม่มีทางที่เนื้อหาพวกนี้จะถูกส่งต่อไปในวงกว้างได้ในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising