×

4 แนวทางการเปลี่ยนแปลงที่อาจได้เห็นใน Twitter หลัง ‘อีลอน มัสก์’ เข้าซื้อนกฟ้ามาอยู่ในกรงของตัวเอง

26.04.2022
  • LOADING...
Twitter

บางครั้งเราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ในหัวของชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ นั้นกำลังคิดและวางแผนที่จะทำอะไรต่อไป โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ Twitter จะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังการใช้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทเข้าซื้อ และเปลี่ยน ‘แพลตฟอร์มนกฟ้า’ ที่เคยโบยบินเป็นบริษัทมหาชนมาอยู่ในกรงของตัวเอง

 

แต่ในช่วงหลายสัปดาห์และหลายเดือนที่ผ่านมา มัสก์ได้เผยไต๋ถึงทิศทางเกี่ยวกับสิ่งที่เขาจะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ Twitter ในการสัมภาษณ์ การยื่นเรื่องตามกฎข้อบังคับ และแน่นอนในบัญชี Twitter ของเขา

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

รายงานของ The New York Times ได้วิเคราะห์ออกมาเป็น 4 เส้นทางได้ดังนี้

 

  1. Free Speech และการควบคุมเนื้อหา – มัสก์มักแสดงความกังวลว่า การควบคุมเนื้อหาของ Twitter นั้นมากเกินไป และมีการเข้าแทรกแซงบนแพลตฟอร์มอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเขานั้นไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

 

มัสก์เคยแสดงความคิดเห็นในทวีตของตัวเองว่า “จากการที่โดยพฤตินัยแล้ว Twitter ให้บริการพื้นที่สาธารณะ แต่กลับล้มเหลวในการยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย”  

 

เขาต้องการให้ Twitter ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยคุณสมบัติใหม่ ทำให้อัลกอริทึมเป็นโอเพนซอร์ซเพื่อเพิ่มความไว้วางใจ เอาชนะสแปมบอต และรับรองความถูกต้องของมนุษย์ทุกคน

 

“Twitter มีศักยภาพมหาศาล ฉันตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทและผู้ใช้เพื่อปลดล็อกมัน” มัสก์กล่าว

 

ก่อนที่ข่าวการซื้อจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการ มัสก์ได้ออกมาทวีตว่า เขาหวังว่าแม้แต่ ‘นักวิจารณ์ที่แย่ที่สุด’ (Worst Critics) จะยังคงใช้แพลตฟอร์มนี้ต่อไป “เพราะนั่นคือสิ่งที่หมายถึงเสรีภาพในการแสดงออก”

 

  1. ทิศทางต่อทรัมป์ – มัสก์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะว่าเขาจะจัดการกับบัญชี Twitter ที่ถูกแบนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้อย่างไร

 

แต่จากความคิดเห็นโดยเสรีของเขาทำให้เกิดการคาดเดาว่า Twitter ภายใต้ความเป็นเจ้าของของเขาอาจคืนสถานะให้ทรัมป์ ซึ่งถูกระงับจากแพลตฟอร์มเมื่อปีที่แล้ว

 

อดีตประธานาธิบดีซึ่งเป็นที่รู้จักจากการที่เขามักออกมาทวีตวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และบางครั้งก็ใช้ประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ

 

แต่ล่าสุดทรัมป์ออกมายืนยันระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทาง Fox News ว่า ตนเองไม่มีความคิดที่จะหวนกลับไปใช้งานและเป็นสมาชิกของทวิตเตอร์อีกครั้ง แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้กู้คืนบัญชีกลับมาก็ตาม และจะเดินหน้าใช้งาน Truth สื่อสังคมออนไลน์ที่เจ้าตัวเลือกมาใช้งานแทนทวิตเตอร์ของตนที่ถูกแบนต่อไป

 

  1. อัลกอริทึม – บนเวที TED ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นานมานี้ มัสก์ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการที่จะทำให้อัลกอริทึมของบริษัทเป็นโมเดลโอเพนซอร์ซ (Open-Source Model) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เห็นโค้ดที่แสดงว่าโพสต์บางรายการปรากฏขึ้นในไทม์ไลน์อย่างไร

 

เขามองว่าวิธีดังกล่าวนั้นดีกว่า และจะช่วยลดความสงสัยต่อผู้ใช้งานกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม

 

  1. ความสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม – ก่อนหน้าที่จะเข้าซื้อ Twitter มัสก์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม

 

โดยแอ็กเคานต์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุด 10 อันดับแรก รวมถึงอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และดาราเพลงป๊อปอย่าง จัสติน บีเบอร์ และ เคที เพอร์รี มักไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก

 

“แอ็กเคานต์ส่วนใหญ่มักทวีตและโพสต์เนื้อหาน้อยมาก Twitter กำลังจะตายเหรอ?”

 

ดังนั้นหนึ่งในแผนหลังการเข้าซื้อคือตั้งเป้าที่จะกำจัดสแปมและบอตต่างๆ

 

พนักงานมองเรื่องนี้อย่างไร?

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งในคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘พนักงาน’ ซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนธุรกิจมีมุมมองต่อเรื่องการเข้าซื้อกิจการอย่างไรบ้าง?

 

รายงานจาก The Verge เผยถึงมุมมองของพนักงานบางส่วนที่มองว่า การที่ Twitter เป็นของชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก อาจทำให้แพลตฟอร์มสามารถปรับปรุงบริการต่างๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลต่อความคิดเห็นของผู้ถือหุ้น

 

ในแต่ทางกลับกันพนักงาน Twitter จำนวนมากได้รับค่าตอบแทนเป็น ‘หุ้นของ Twitter’ ซึ่งล่าสุดพวกเขาได้รับแจ้งว่า จะไม่ได้รับหุ้นอีกเมื่อบริษัทกลายเป็นบริษัทเอกชน

 

ข้อตกลงนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณหกเดือนในการปิดดีล ในระหว่างนี้พนักงานต่างคาดเดาว่า ‘พารัก อักราวาล’ ผู้เป็นแม่ทัพของ Twitter อาจตัดสินใจลาออก 

 

เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการโดยบอกแต่เพียงว่า “จะไม่มีการเลิกจ้างในระยะเวลาอันใกล้นี้” ในทางกลับกันพนักงานหลายคนก็คาดเดาว่า การจ้างพนักงานเพิ่มอาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้น 

 

แต่ท้ายที่สุดนี่ก็เป็นเพียงแต่ธุรกิจ Twitter มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานมานานแล้ว และอดีตผู้บริหารของ Twitter ได้เผยกับ The Verge ว่า ตอนนี้บริษัทมีโอกาสที่แท้จริงในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฐานะบริษัทเอกชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชายคนหนึ่งเท่านั้น 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ Twitter ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองในแบบที่ต้องการได้ ขณะที่ต้องรายงานรายได้รายประจำไตรมาส

 

ที่สุดแล้วไม่มีใครรู้ว่า การเปลี่ยนด้วยการนำ ‘นามสกุลมหาชน’ ที่พ่วงท้ายออกไป จะทำให้ Twitter ดีขึ้นหรือแย่ลง ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า มัสก์จะเปลี่ยน Twitter ให้เป็นอย่างไรในวันที่สถานะถูกเปลี่ยนเป็นบริษัทส่วนตัวแล้ว

 

ภาพ: Maja Hitij / Getty Images

อ้างอิง:

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising