×
SCB Omnibus Fund 2024

‘Love Me Tender’ ย้อนมองมหากาพย์ อีลอน มัสก์ และ Twitter เกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วความวุ่นวายนี้จะมีจุดสิ้นสุดไหม?

19.04.2022
  • LOADING...
Love Me Tender

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • 4 เมษายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ควักกระเป๋าเป็นเงิน 2,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการได้ถือครองหุ้น 9.2% ของ Twitter! ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทไปโดยปริยาย
  • ความพยายามของมัสก์ยังยกระดับขึ้นต่อเนื่อง หลังปฏิเสธที่จะนั่งเก้าอี้ในบอร์ดบริหารของ Twitter ที่จำกัดอยู่ที่ 11 ที่นั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ตำแหน่งดังกล่าวไม่เพียงพอต่อเจตนารมณ์ที่เขาหวังจะเปลี่ยนบริษัทแห่งนี้
  • มัสก์เดินหน้าประกาศความตั้งใจที่จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Twitter พาบริษัทออกจากการเป็นมหาชนกลับคืนสู่การเป็นเอกชน เพื่อผลักดันแนวคิด Free Speech ให้เกิดขึ้นจริง ด้าน Twitter ก็ไม่ยอมอ่อนข้อ งัดกลยุทธ์ยาพิษมาใช้เพื่อป้องกันการเข้าซื้อบริษัทของมหาเศรษฐีรายนี้

บนสังเวียนเทคโนโลยีและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ณ เวลานี้ คงจะไม่มีเรื่องไหน ประเด็นใดที่ร้อนแรงแซงหน้ามหากาพย์รักมาราธอนระหว่าง ‘อีลอน มัสก์’ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Twitter อีกแล้ว เพราะดูเหมือนว่าเรื่องราวของทั้งคู่ ยิ่งนานวันก็ยิ่งจะยกระดับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ถึงขนาดที่ว่า อภิมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกประจำปี 2022 ที่มีทรัพย์สินและความมั่งคั่งมากกว่า 219,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.38 ล้านล้านบาท ยอมทุ่มทรัพย์สินส่วนตัวในสัดส่วนราวๆ 20% หรือตีเป็นเงินกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นขันหมากไปสู่ขอ Twitter แต่ถูกสาวเจ้าปฏิเสธกลับมาแบบไม่ใยดี

 

คำถามที่สำคัญผุดขึ้นมามากมายเป็นพัลวัน มัสก์จะอยากได้ Twitter ไปทำไมกันแน่ สรุปแล้วนี่คือรักแท้หรือแค่แก้ขัด แล้วปุ่ม Edit ทวีตข้อความที่ทวีตออกไปแล้วจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? สำหรับใครหลายคนที่อาจจะยังตามไม่ทัน จับปลายต่อต้น ต่อภาพไม่ติด THE STANDARD WEALTH ไล่เรียงเหตุการณ์ทั้งหมด พร้อมมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่าความเป็นไปได้ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่

 

โดยเฉพาะคำถามที่ว่า หาก อีลอน มัสก์ กลายเป็นเจ้าของ Twitter โดยสมบูรณ์ มันจะนำเราไปสู่ ณ ยังหมุดหมายใด?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

‘ผลลัพธ์ของมันสำคัญอย่างยิ่งยวด โปรดเลือกอย่างระมัดระวัง!’ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นที่ตรงนี้

ไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะเราเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอทราบกัน (โดยเฉพาะเซียนเทรดคริปโต และนักเทรดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหลาย) ว่า อีลอน มัสก์ โปรดปรานและหมกหมุ่นอยู่กับการฝังตัวเอง แสดงออกซึ่งความเป็นตัวเองอย่างจริงใจอยู่บนแพลตฟอร์ม Twitter มากแค่ไหน (@elonmusk)

 

หากไม่นับตัวเลขผู้ติดตาม 82.4 ล้านรายที่มากพอจะทำให้เขากลายเป็นผู้ใช้งาน Twitter ที่มีผู้ติดตามสูงสุดในอันดับที่ 10 ของโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2022) กับความช่ำชองที่สิงสถิตตัวเอง ณ โลกนกฟ้าแห่งนี้มานานนับ 13 ปี เราคงจะพอได้เห็นกรณีที่มัสก์ใช้ Twitter จนเชี่ยวชาญและบ่อยครั้งก็มักจะตกเป็นเป้าโจมตีอยู่บ่อยๆ 

 

ทั้งกรณีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมต่างๆ การใช้งานเพื่อแจ้งข่าวคราวความคืบหน้าใหม่ๆ ของโปรเจ็กต์นวัตกรรมในบรรดาบริษัทที่เขาปลุกปั้น ไปจนถึงการปั่นหุ้น Tesla จนโดน ก.ล.ต.สหรัฐฯ แตะเบรก ปั่นเหรียญ Dogecoin และเหรียญอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้นักลงทุนหลายคนกุมขมับสลับกับชูมือดีใจมาแล้วนับต่อนับ

 

ไม่แปลกที่เขาจะอินกับ Twitter มากเป็นพิเศษจนถึงขั้นที่ต้องลุกขึ้นมาตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่าง!?

 

25 มีนาคม 2022 มัสก์ทวีตโพลสำรวจความคิดเห็นว่า “Free Speech หรือเสรีภาพการแสดงออกทางคำพูดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อประชาธิปไตยที่แท้ทรู เช่นนั้นแล้วพวกคุณคิดว่า Twitter ยึดมั่นต่อหลักการข้างต้นที่ระบุไว้มากน้อยแค่ไหน?”

 

 

 

ผลสำรวจดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 2 ล้านราย โดย 70.4% ลงความเห็นว่า ‘ไม่’ มีเพียง 29.6% เท่านั้นที่บอกว่า Twitter ทำได้จริง ทิ้งท้ายด้วยการที่มัสก์บอกใบ้เอาไว้ว่า “ผลลัพธ์ของการโหวตครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด ขอให้พวกคุณกดโหวตด้วยความระมัดระวัง”

 

สองวันถัดมา มัสก์ยังคงเดินหน้ายิงกระสุนลูกใหม่ใส่ Twitter ซ้ำแผลเดิมต่อเนื่อง โดยระบุว่า ในทางพฤตินัยแล้ว Twitter ควรจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะ แต่กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการยึดมั่นแนวคิด Free Speech ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพในประชาธิปไตย เรื่องนี้ควรจะต้องจัดการอย่างไรกันแน่ และยังระบุอีกด้วยว่า “หรือจะถึงเวลาของแพลตฟอร์มใหม่ได้แล้ว?”

 

 

 

ในเวลานั้น เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจะตีความและพากันเข้าใจไปว่า มัสก์ก็แค่บ่นพึมพำ แสดงความไม่พอใจต่อ Twitter ตามประสาเขาทั่วๆ ไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งถูกศาลตัดสินให้ถูกควบคุมการทวีตข้อความที่เกี่ยวข้องกับ Tesla โดยการทวีตข้อความใดๆ ก็ตามของมัสก์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Tesla จะต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงของ Tesla ก่อนจะเผยแพร่ข้อความออกไป โทษฐานที่เขาเคยทวีตข้อความเข้าข่ายการปั่นหุ้นเมื่อปี 2018

 

บวกกับการที่เขาได้ออกมาเปิดเผยว่า ดาวเทียม Starlink ของเขาได้รับคำสั่งจากบางรัฐบาลให้ปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งข่าวของรัสเซีย

 

เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุด ถ้ามัสก์ไม่พอใจ Twitter และประเด็น Free Speech จริง เขาก็แค่เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขึ้นมาใหม่ ตามการทึกทักของสื่อและการบอกใบ้ของเขาที่ว่า ‘New Platform Needed?’ คงไม่มีใครคาดคิดหรือกล้าผูกโยงไปถึงขั้นที่ว่า มัสก์จะเล่นใหญ่หอบเงินถุงเงินถังไปเทกโอเวอร์ Twitter เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบที่เขาอยากเห็นเป็นแน่

 

Game On! เข้าซื้อหุ้น 9.2% ของ Twitter 

4 เดือน 4 สำหรับผู้เขียนและใครอีกหลายคนน่าจะเป็นอีกหนึ่งเทศกาลช้อปออนไลน์ที่เผลอตัวปล่อยใจกด F จองจ่ายซื้อของกันรัวๆ แต่ในเวลาเดียวกันและในอีกหนึ่งซีกโลก อีลอน มัสก์ ได้ควักกระเป๋าเป็นเงิน 2,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 97,000 ล้านบาท แลกกับการได้ถือครองหุ้น 9.2% ของ Twitter! ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัทไปโดยปริยาย

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างไม่คาดฝัน ประการแรกคือ มูฟเมนต์ที่เกิดขึ้นของมัสก์กับการถือหุ้นจำนวน 73,486,938 หุ้นของ Twitter เป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ให้กับผู้คนอยู่พอสมควร

 

Love Me Tender

 

ประการถัดมา ทันทีที่มัสก์เข้าซื้อหุ้น 9.2% ของ Twitter ราคาหุ้นของบริษัท (TWTR) ก็พุ่งพรวดขึ้นบวกทันที ถ้าวัดจากภาพกราฟหุ้นด้านบนก็จะเห็นชัดเลยว่า เส้นกราฟพุ่งขึ้นแรงมาก ปิดตลาดในวันที่ 4 เมษายน 2022 ที่ +27% หรือด้วยราคา 49.97 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ในเวลาดังกล่าว แดน ไอฟส์ (Dan Ives) นักวิเคราะห์ผู้คร่ำหวอดจาก Wedbush อ่านสัญญาณการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ของมัสก์เอาไว้ว่า เป็นความพยายามที่จะแสดงท่าทีที่ดุดันมากขึ้นในการลงมือทำอะไรสักอย่างกับ Twitter เมื่อวัดจากทรรศนะและประเด็นมุมมองที่มัสก์มีต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ และแน่นอนว่าอาจจะมีแนวโน้มที่มัสก์จะเดินหน้าเข้าซื้อกิจการ Twitter อย่างจริงจัง

 

หลังเข้าถือหุ้น Twitter 9.2% แบบสะดวก รุ่งขึ้นมัสก์ไม่รอช้า เล่นกระแสต่อทันที โดยทวีตโพลสำรวจความเห็นผู้ใช้งาน Twitter ต่อว่า อยากให้ Twitter มีปุ่ม Edit สำหรับแก้ไขข้อความในทวีตที่ทวีตออกไปแล้วหรือไม่ โดยผลสำรวจดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 4 ล้านราย สูงกว่าผลสำรวจครั้งก่อนถึงเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มตระหนักรับรู้แล้วว่า เสียงของมัสก์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Twitter มีแรงเขย่าการตัดสินใจของบอร์ดบริหารมากเพียงใด

 

 

ก่อนที่ผลสำรวจจะปิดลง ด้วยบทสรุปที่มีผู้ลงคะแนนความเห็นว่าอยากให้ Twitter มีปุ่มแก้ไขทวีตสูงถึง 73.6% ราย สะท้อนให้เห็นถึงความหวังอันหนักอึ้งที่มวลมหาประชาชนบนโลก Twitter ฝากไว้บนบ่าของมัสก์ได้เป็นอย่างดี

 

แต่ในความเป็นจริง การที่มัสก์ซื้อหุ้นเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Twitter เพียงเพราะหวังแก้ปัญหาเรื่องปุ่ม Edit และ Free Speech จริงเหรอ หรืออันที่จริงเขามีนัยซ่อนเร้นที่มากกว่านั้น แล้วท่าทีการตอบโต้กลับของ Twitter ต่อประเด็นนี้จะออกมาในรูปแบบใด?

 

Elon vs. Twitter (บอร์ดบริหาร) หมัดต่อหมัด ทวีตต่อทวีตแบบถึงพริกถึงขิง!

ไม่นานนักหลังจากที่มัสก์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Twitter พารัก อักราวาล (Parag Agrawal) ซีอีโอของ Twitter ก็ออกมาทวีตข้อความแสดงความยินดีในการต้อนรับขับสู้ เชื้อเชิญมัสก์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Twitter และนั่งเก้าอี้ในบอร์ดบริหารของบริษัท

 

“ผมตื่นเต้นมากๆ ที่จะเปิดเผยให้ทุกคนได้ทราบว่า เรากำลังแต่งตั้งอีลอน มัสก์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทของเรา ตลอดการสนทนาพูดคุยกับอีลอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มันค่อนข้างชัดเจนเลยว่า เขาจะนำคุณค่ามาให้กับบอร์ดบริหารของเรามากเพียงใด…แน่นอนว่าในบอร์ดบริหาร การมีอีลอน มัสก์จะช่วยให้เราแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว” อักราวาลทวีตข้อความในวันที่ 5 เมษายน 

 

การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริษัท Twitter ซึ่งมีที่นั่งทั้งหมด 11 ตำแหน่งจะส่งผลให้มัสก์ไม่สามารถถือครองหุ้นได้มากกว่า 14.9% หรือดำเนินการเทกโอเวอร์บริษัทได้ตามกฎระเบียบของบริษัท และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

แต่ให้หลังได้เพียง 6 วัน ในวันที่ 11 เมษายน แม่ทัพของ Twitter ก็ต้องออกโรงโร่แถลงข่าวอีกครั้ง หลังจากที่มัสก์ได้ปัดตกโอกาสในการเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารของบริษัท Twitter ไปเป็นที่เรียบร้อยแบบไม่ใยดี โดยอักราวาลยืนยันว่า แม้มัสก์จะตัดสินใจเช่นนั้น แต่บอร์ดบริหารและ Twitter ก็ยังจะเปิดรับอินพุต ไอเดีย การเสนอความคิดเห็นจากมัสก์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของพวกเขาเสมอ แม้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะมีคลื่นแทรก หรือเสียงรบกวนใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม

 

ดูเหมือนว่ามัสก์จะเริ่มเอาจริง และจะไม่หยุดแค่ 9.2% ที่เขาถืออยู่ในมืออีกแล้ว

 

Love Me Tender

 

10 เมษายน อีลอน มัสก์ เริ่มพรั่งพรูไอเดียในการพลิกโฉมหน้า Twitter อีกครั้ง โดยเสนอทั้งความเห็นในการเพิ่มเครื่องหมายรับรองตัวตนผู้ใช้งานด้วยเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าให้กับผู้ที่สมัครใช้งานแพลตฟอร์มแบบพรีเมียมหรือ Twitter Blue (ให้บริการเฉพาะใน US, Canada, Australia และ New Zealand) 

 

ทั้งยังเสนอว่าสมาชิกพรีเมียมกลุ่มที่เสียค่าบริการ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนนี้จะต้องได้สิทธิพิเศษอื่นอีก เช่น ได้ใช้งานแพลตฟอร์มแบบไม่มีโฆษณามากวนใจ และลบทวีตที่ต้องการได้ก่อนที่ผู้ใช้งานคนอื่นๆ จะมองเห็น (ก่อนหน้านี้เคยมีการเกริ่นถึงฟีเจอร์ดังกล่าวอยู่บ้าง) และในฐานะ Dogefather เขายังเสนอให้ Twitter รับทางเลือกในการชำระเงินด้วย Dogecoin อีกต่างหาก

 

14 เมษายน 2022 มัสก์ขยับตัวอีกครั้งด้วยการทวีตข้อความ “ผมได้ยื่นข้อเสนอไปแล้ว” พร้อมแนบลิงก์เอกสารที่เขาได้แจ้งความจำนงในการเข้าซื้อหุ้นของ Twitter ในสัดส่วน 100% ต่อ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ที่ราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตามราคาตลาด ณ ช่วงเวลาดังกล่าวของ Twitter ซึ่งอยู่ที่ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

“ผมตัดสินใจเข้าลงทุนใน Twitter ด้วยเชื่อในศักยภาพของแพลตฟอร์มในการเป็นพื้นที่สำหรับ Free Speech ให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก ผมเชื่อว่าเสรีภาพทางความเห็นและคำพูดนับเป็นความจำเป็นของประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ที่ผมได้เข้าลงทุนใน Twitter ผมระลึกได้แล้วว่าบริษัทนี้ไม่อาจตอบสนองความจำเป็นทางสังคมที่ว่าได้หากยังอยู่ในรูปแบบเดิม Twitter จำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มจากบริษัทมหาชนสู่การเป็นบริษัทเอกชน

 

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจเสนอซื้อหุ้นของ Twitter ในสัดส่วน 100% หรือคิดเป็นเงิน 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งเป็นมูลค่าราคาที่สูงกว่า 54% ก่อนที่ผมจะเริ่มลงทุนใน Twitter และดีกว่า 38% ของราคาในวันที่สาธารณชนรับรู้ว่าผมได้เข้าลงทุนในบริษัทแห่งนี้

 

“ข้อเสนอของผมถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดและจะนับเป็นข้อเสนอสุดท้าย หากไม่ได้รับการตอบรับ ผมจะตัดสินใจทบทวนบทบาทของผมเองอีกครั้งในฐานะผู้ถือหุ้น” มัสก์ระบุในเอกสารแจ้งความประสงค์ที่ยื่นให้กับ ก.ล.ต. พิจารณาข้อเสนอ

 

หนึ่งในหลักฐานที่ตอกย้ำ ‘ความพยายามในการที่จะเปลี่ยน’ Twitter ด้วยการเปลี่ยนแปลงให้บริษัทนกฟ้าแห่งนี้กลายเป็นบริษัทเอกชน มากกว่าเป็นบริษัทมหาชนก็เพื่อที่จะทำให้มัสก์ถือสิทธิ์เด็ดขาดในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงบางอย่างของ Twitter ให้เข้าที่เข้าทางตามครรลองและความต้องการที่เขาอยากให้ Twitter เป็น 

 

ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นที่ในโลก Twitter ให้เปิดรับ Free Speech มากขึ้น เพิ่มฟีเจอร์การปรับแต่งแก้ไขข้อความ เปิดให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเป็น Open-source Algorithm และตั้งการ์ดสูงสำหรับทวีตข้อความที่เข้าข่ายกรณีผิดกฎหมาย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าหมากในครั้งนี้ที่มัสก์เลือกเดินจะง่ายดายไร้อุปสรรคขนาดนั้น เพราะฝั่ง Twitter เองก็ไม่ได้ยินดีที่จะตอบรับข้อเสนอของอภิมหาเศรษฐีแบบเต็มร้อย โดยทาง Twitter หลังจากที่ได้รับ Offer จากมัสก์ก็มักจะออกมาให้ความเห็น อัปเดตความคืบหน้าในทำนองที่ว่า ‘อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ’ อยู่เสมอ

 

“คณะกรรมการบริหารของ Twitter จะพิจารณาข้อเสนอที่ได้รับอย่างระมัดระวัง ละเอียดถี่ถ้วนเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อข้อเสนอด้วยความเชื่อที่ว่า การตัดสินใจของบอร์ดบริหารจะส่งผลดีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกราย” Twitter กล่าวผ่านแถลงการณ์

 

Love Me Tender

 

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน มัสก์เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยในงาน TED2022 ที่เขาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร มัสก์แสดงความเห็นแบบเปิดใจว่า เขาไม่ได้เข้าซื้อ Twitter ด้วยเหตุผลในด้านการลงทุน การคาดหวังกำไรเป็นที่ตั้ง แถมเขายังไม่อาจล่วงรู้ได้ด้วยซ้ำ ในบทสรุปสุดท้ายแล้ว เขาจะสามารถปิดดีลด้วยตัวเองได้หรือไม่ แต่ก็เตรียมใจยอมรับพร้อมแผนบีไว้เรียบร้อย

 

“บอกเลยว่านี่ไม่ใช่วิธีการทำเงิน มันก็แค่ตัวผมเองนั่นแหละที่มีความคิดอย่างแน่วแน่อยากจะมีแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ กับอนาคตของอารยธรรมของเรา ผมไม่แคร์เรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์หรอกนะ”

 

ทันใดนั้นเอง บอร์บริหาร Twitter ก็ได้ตอบโต้ดักสกัดการขยับตัวของมัสก์ด้วยกลยุทธ์การนำ ‘Poison Pill’ หรือแผนยาพิษมาใช้เป็นระยะเวลาหนึ่งปีไปจนถึงวันที่ 14 เมษายน 2023 หลังมีมติเป็นเอกฉันท์ในวันศุกร์ที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา

 

แผนยาพิษที่ว่านี้เปรียบเสมือนกลยุทธ์การตั้งรับขององค์กรในตลาดที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกซื้อกิจการ มีเป้าประสงค์ในการบล็อกผู้ที่จะเข้ามาซื้อกิจการของบริษัทในสัดส่วนที่มากกว่า 15% ของหุ้นสามัญทั้งหมด หรือมีความพยายามที่จะเข้าเทกโอเวอร์บริษัทด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตร

 

วิธีการที่ง่ายแต่ได้ผลคือการให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเก่า สามารถซื้อหุ้นออกใหม่เพิ่มเติมในราคาที่พ่วงมาพร้อมกับส่วนลดได้ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ผู้ที่จะเข้าเทกโอเวอร์บริษัทด้วยท่าที่ไม่เป็นมิตร (ในที่นี่ก็คืออีลอน มัสก์) ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะแม้ราคาหุ้นจะย่อตัวปรับลดลง แต่จำนวนหุ้นก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เจ้าตัวจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในการเข้าซื้อกิจการนั่นเอง

 

หลังบอร์ดบริหาร Twitter เคลื่อนไหวด้วยท่าทีดังกล่าว มัสก์ก็ไม่รอช้า ออกมาทวีตแสดงความเห็นเชิงขู่แบบอ้อมๆ โดยทันทีที่ แกรี แบล็ก (Gary Black) ผู้จัดการการลงทุนของกองทุน The Future Fund ออกมาทวีตข้อความว่า ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัท Twitter กว่า 11 รายได้รับค่าตอบแทนมหาศาลสูงเหยียบหลัก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มัสก์ก็สวนกลับทันควันว่า หากข้อเสนอของเขาได้รับการตอบรับ เขาจะลดค่าตอบแทนเพื่อประหยัดงบประมาณก้อนโตนี้ลงให้กลายเป็น 0 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีแน่นอน

 

 

ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการทวีตข้อความว่า “🎶 Love Me Tender 🎶” ซึ่งแม้จะมีความหมายแบบตรงตัวตามเนื้อเพลงของตำนานศิลปินผู้ล่วงลับ เอลวิส เพรสลีย์ ว่า “รักผมอย่างอ่อนโยน” แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจจะตีความได้เหมือนกันว่า เขาได้ยื่นข้อเสนอซื้อ (Tender Offer) กับทางผู้ถือหุ้น Twitter เป็นที่เรียบร้อย (ยังไม่มีการยืนยันว่ามัสก์ได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการไปแล้วหรือยัง)

 

เหรียญที่ออกได้มากกว่าหนึ่งหน้า บทสรุปส่งท้ายที่ยังไม่รู้จะลงเอยเช่นไร

กรณีของอีลอน มัสก์ที่เกิดขึ้นนี้ได้นำไปสู่ความเห็นที่เสียงแตกสองขั้วอย่างชัดเจน มีทั้งฝั่งที่สนับสนุนให้มัสก์เดินหน้าปิดดีล สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นกับ Twitter ให้ได้สำเร็จ กับอีกฝ่ายที่มองว่า Twitter ควรจะปฏิเสธข้อเสนอของมัสก์แบบไม่ใยดีให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

 

ทั้ง จิม แครเมอร์ (Jim Cramer) พิธีกรสายการเงินของช่อง CNBC ที่ออกมาค้านสุดตัว พร้อมระบุว่า บอร์ดบริหารทั้ง 11 รายของ Twitter ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว และควรจะปัดตกดีลของอีลอน มัสก์ทิ้งไปซะ

 

ตรงข้ามกับ ไบรอัน ซอสซี (Brian Sozzi) พิธีกรและบรรณาธิการใหญ่ของ Yahoo Finance ที่แสดงทรรศนะว่า Twitter ควรจะเลือกปิดดีลกับมัสก์ซะ เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเขาได้แสดงออกซึ่งความน่าผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง และถึงเวลาแล้วที่บริษัทควรจะอยู่ในมือของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เช่นมัสก์

 

ฟาก ฮาร์วีย์ พิตต์ (Harvey Pitt) ในฐานะอดีตประธาน ก.ล.ต.สหรัฐฯ ให้ความเห็นไว้ว่า หากเขาต้องเป็นผู้ประเมินบอร์ดบริหาร Twitter ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาไม่ลังเลที่จะให้เกรด F หรือสอบตกเลย โดยพิตต์ได้เน้นย้ำว่า บอร์ดบริหารควรจะเช็กให้ดีว่าข้อเสนอที่ยื่นเข้ามานั้นเป็นข้อเสนอจริงหรือเปล่า และก็ควรจะดำเนินการทำอะไรสักอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกราย เนื่องจากข้อเสนอด้วยราคาที่สูงเช่นนี้ ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นหรือพบเห็นได้บ่อยๆ

 

กระนั้นก็ดี พิตต์ไม่ลืมที่จะตำหนิมัสก์กับพฤติกรรมของมหาเศรษฐีรายนี้ที่มักจะโจมตี ก.ล.ต.สหรัฐฯ อยู่บ่อยๆ โดยระบุว่า มัสก์ควรจะเลิกทำตัวเป็นเด็กๆ และโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว เพราะเขามีศักยภาพที่ครบครัน แต่กลับแสดงออกไม่เหมาะสมกับท่าทีที่มีต่อ ก.ล.ต.

 

Love Me Tender

 

แดน ไอฟส์ มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยกระดับกลายเป็นเกมเดิมพันที่สูงระหว่างมัสก์และบอร์ดบริหาร Twitter เป็นที่เรียบร้อย โดยคาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ เราน่าจะได้เห็นท่าทีที่ชัดเจนขึ้นจากทั้งสองฝ่ายว่าเรื่องจะดำเนินไปในทิศทางใดกันแน่

 

อีกหนึ่งความเห็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ การที่ เซอร์มาร์ติน ซอร์เรลล์ นักธุรกิจชาวสหราชอาณาจักร ผู้ก่อตั้งอาณาจักรเอเจนซี WPP ออกมาบอกว่า สิ่งที่มัสก์ทำไม่ต่างอะไรจากการล่าแต้มสะสมถ้วย ซึ่งการไล่กว้านซื้อ Twitter ในฐานะแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้เขากุมอำนาจของการมีสื่ออยู่ในมือนั่นเอง

 

“ในมุมมองของผมนะ มันเหมือนกับที่มัสก์กำลังไล่ล่าถ้วยรางวัล เพราะการที่เขาได้ Twitter ไปจะทำให้เสียงของเขาแข็งแรงขึ้นอย่างรุนแรง ไม่ต่างอะไรจากการที่ เจฟฟ์ เบโซส์ (Amazon) และ มาร์ก เบนิออฟ (Salesforce) ทำกับ The Washington Post และ Time ตามลำดับ เพียงแต่อยู่ในบริบทของโลกในสื่อใหม่” ซอร์เรลล์กล่าว

 

ปิดท้ายด้วยบทสรุปแบบยังไม่สรุปของ The Verge ที่บอกว่าเหตุการณ์นี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการนั่งรถไฟเหาะที่ไม่รู้ว่าปลายทางจะไปหยุด ณ จุดใด เริ่มต้นตั้งแต่การที่มัสก์บอกว่า เขาจะซื้อหุ้น Twitter สักพักก็บอกว่าจะเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหาร แล้วเดี๋ยวก็เปลี่ยนใจไม่เอาแล้ว แต่จะซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นแทน สักพักก็บอกว่าจะซื้อทั้งบริษัทไปเลย! 

 

“พล็อตแบบนี้มันหักมุมยิ่งกว่าหนังของ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน และเชื่อเถอะ เรายังไม่ถึงครึ่งทางของบทสรุปเลยด้วยซ้ำ” แอนดรูว์ เจ. ฮอว์กินส์ (Andrew J. Hawkins) สรุปแบบติดตลกผ่านบทความใน The Verge 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังเร็วไปที่จะตัดจบฟันธงฉับว่า อนาคตของเจ้านกฟ้า Twitter จะไปหยุด ณ ยังจุดใดกันแน่ เพราะแม้แต่พนักงานของบริษัทเองก็ยังได้รับการแจ้งจากผู้บริหารให้เตรียมใจรอดูกันยาวๆ ด้วยซ้ำ

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ปลายทางจะเป็นมัสก์ที่ได้กุมบังเหียน Twitter เปลี่ยนแพลตฟอร์มแห่งนี้ให้กลายเป็นโลก Free Speech ตามความตั้งใจของเขา หรือบอร์ดบริหาร Twitter จะปิดประตูตายใส่ หันไปหานักลงทุนรายอื่นแทน อนาคตต่อจากนี้ของ Twitter ก็น่าจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป 

 

โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาคือ อีลอน มัสก์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูที่รัก พวกเขาก็ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการเดินหมากโต้กลับมากเป็นพิเศษ

 

ในตอนหนึ่งของบทเพลง Love Me Tender โดย เอลวิส เพรสลีย์ ที่มัสก์จงใจนำมาล้อกับ Tender Offer มีเนื้อร้องที่บอกเอาไว้ว่า 

 

“Tell me you are mine

I’ll be yours through all the years

’Till the end of time”

 

“บอกผมเถอะว่าคุณเป็นของผม 

เพราะผมจะเป็นของคุณตลอดไป

จนกว่าเวลาจะดับสูญ”

 

ดูกันยาวๆ เกมนี้ไม่ง่าย ไม่หมู เดือดแน่นอน!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising