×

ไขข้อสงสัย รวม 32 Q&A มาตรการ ‘Easy e-Receipt’ กรมสรรพากรตอบเอง!

22.12.2023
  • LOADING...
Easy e-Receipt

รวมข้อสงสัยมาตรการ ‘Easy E-Receipt’ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี สำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น

 

1. มาตรการ Easy e-Receipt เป็นการให้สิทธิประโยชน์อะไร

 

ตอบ: ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่าย เป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ โดยจะต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร 

 

2. ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ Easy e-Receipt คือใคร

 

ตอบ:บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล 

 

3. การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างไร

 

ตอบ: 1. กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่าย เป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

 

ทั้งนี้ e-Tax Invoice รวม e-Tax Invoice by Time Stamp ด้วย และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

  1. หลักเกณฑ์

2.1 ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง

2.1.1 ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2.1.2 ค่าซื้อยาสูบ

2.1.3 ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

2.1.4 ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

2.1.5 ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

2.1.6 ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 1. เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ

2.1.7 ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

 

2.2 ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) โดยต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

 

2.2.1 ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

2.2.2 ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

2.2.3 ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

 

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการตามข้อ 2.2.1-2.2.3 จากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัว
ผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

 

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิโดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และหลักฐานประกอบการใช้สิทธิ เป็นต้น

 

4. ค่าซื้ออาหารในโรงแรมสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ หากโรงแรมสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ของค่าซื้ออาหารได้

 

5. ค่าซ่อมรถสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

 

6. ค่าซ่อมรถสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

 

7. การซื้อทองรูปพรรณสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

 

8. ค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ หากเป็นการใช้แพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

 

9. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้

 

10. กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาวที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือมีระยะเวลาสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการภายในวันที่ 
1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

11. กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น

 

12. ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้

 

1.1 ค่าซื้อประกันชีวิตไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้พิจารณาใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิตตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 47 (1) (ง)) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ข้อ 2 (61) ไม่เกิน 100,000 บาท

 

1.2 ค่าซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้

 

13. การซื้อทองคำแท่งสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากทองคำแท่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้

 

14. ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้

 

15. ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการสามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้ แต่หากนำบัตรเพื่อแลกรับบริการไปแลกรับบริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้

 

16. ค่าซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift Voucher) ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Voucher) สำหรับค่าซื้ออาหารของโรงแรม บัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรของขวัญ / บัตรเติมเงิน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรของขวัญ / เติมเงิน ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้ แต่หากนำบัตรของขวัญ / บัตรเติมเงิน ไปแลกซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม -
15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้

 

17. ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร และแตกต่างจากใบกำกับภาษีและใบรับในรูปแบบกระดาษอย่างไร

 

ตอบ: e-Tax Invoice & e-Receipt คือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และได้ลงลายมือชื่อโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ซึ่งประชาชนไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีและจัดส่งให้กรมสรรพากรในการเข้าร่วมมาตรการ โดยสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าหน้าที่จะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีก หากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแล้ว

 

18. ต้องใช้หลักฐานใดในการใช้สิทธิหักลดหย่อน

 

ตอบ: หลักฐานที่ใช้คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice &
e-Receipt) ของกรมสรรพากร (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) 

 

เว้นแต่สินค้าหรือบริการที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีหลักฐานใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย ได้แก่

 

  1. หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  2. บริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  3. สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

 

19. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อน หมายถึงอะไร

 

ตอบ: ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

 

  1. คำว่า ‘ใบกำกับภาษี’ ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
  7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด หรือสำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ

 

ทั้งนี้ e-Tax Invoice ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดด้วย

 

20. ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไข สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่

 

ตอบ: หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้

 

21. กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรมหรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ หากเป็นค่าที่พักโรงแรมหรือค่าบริการนำเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

 

22. ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันให้ใช้ที่อยู่ใด

 

ตอบ: จะใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

 

23. กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะสามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม่

 

ตอบ: ได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 50,000 บาท 

 

24. กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการครั้งเดียว (มีใบกำกับภาษี 1 ใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการชำระค่าบริการนั้นสูงกว่า 50,000 บาท สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิได้หรือไม่

 

ตอบ: สามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ แต่จะได้รับสิทธิ 50,000 บาท

 

25. ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหลายคนสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวไปหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่

 

ตอบ: ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว

 

26. กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะหักลดหย่อนอย่างไร

 

ตอบ: สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าซื้อสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ แม้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

  1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  3. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

 

27. ประชาชนสามารถขอ e-Tax Invoice จากผู้ประกอบการได้อย่างไร

 

ตอบ: หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติสามารถแจ้งความประสงค์ต่อผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

 

28. สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice ได้ที่ใด

 

ตอบ: สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่ https://etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู ‘ผู้ได้รับอนุมัติ’ ซึ่งจะแสดงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ 

 

ในกรณีร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice by Time Stamp สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่ https://www.rd.go.th/27659.html โดยกดไปที่เมนู ‘รายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ’

 

29. ผู้ประกอบการสามารถสมัคร e-Tax Invoice ได้อย่างไร

 

ตอบ: ผู้ประกอบการสามารถสมัคร e-Tax Invoice ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่ https://etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู ‘ลงทะเบียนสำหรับผู้ใช้บริการครั้งแรก’ หลังจากนั้นผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอ
บ.อ.01 และยืนยันตัวตนด้วยลายมือชื่อดิจิทัลผ่านโปรแกรมลงทะเบียนและลงลายมือชื่อดิจิทัล (Ultimate Sign & Viewer) โดยไม่ต้องนำส่งเอกสารให้กรมสรรพากรพิจารณา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาวิธีการจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th และกดไปที่ เมนูสนับสนุน > คำแนะนำ / คู่มือการใช้งาน

 

ผู้ประกอบการที่ต้องการสมัคร e-Tax Invoice by Time Stamp ควรเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/27659.html โดยกดไปที่เมนู ‘ยื่นคำขออนุมัติ’ เพื่อกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและพิมพ์เอกสาร ก.อ. 01

 

30. ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างไรจากการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice

 

ตอบ: ร้านค้ามีต้นทุนการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง เพราะ e-Tax Invoice มีต้นทุนต่ำกว่ากระดาษและกรมสรรพากรยังให้หักรายจ่ายการลงทุนและค่าใช้บริการระบบ e-Tax Invoice ได้ 2 เท่าอีกด้วยตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 766)
พ.ศ. 2566

 

31. ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรจากการรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice

 

ตอบ: ประชาชนที่ได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice จะไม่ต้องขอใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษจากผู้ประกอบการอีก เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้จากระบบ e-Tax Invoice ทำให้ประชาชนไม่ต้องเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษในการยื่นแบบภาษี นอกจากนี้การได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice จะให้การตรวจคืนภาษีเร็วขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระบบแล้ว เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจึงสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

32. ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้จำนวนกี่ราย และประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้จากที่ใด

 

ตอบ: ปัจจุบัน (ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2566) มีผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้จำนวน 2,499 ราย และผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice by Time Stamp ได้จำนวน 1,730 ราย โดยประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ที่ https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered#top และสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice by Time Stamp ได้ที่ https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising