×

25 สตาร์ทอัพ น่าจับตาและชี้ทิศทางอนาคต ปี 2018

22.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • องค์ประกอบสำคัญของสตาร์ทอัพที่จะดึงดูดนักลงทุนระดับโลก คือ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ สร้างสรรค์ความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด ต้นทุนที่ถูกลง และตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล

ปี 2017 เราได้เห็นระลอกการเปลี่ยนแปลงในวงการสตาร์ทอัพที่คาดไม่ถึง…

 

เริ่มจาก Uber ประสบมรสุมข่าวฉาวและปมปัญหาภายในองค์กรตลอดปี ทั้งยังขาดทุนติดต่อกันทุกไตรมาส ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอได้ตัดสินใจลาออก เหลือเพียงชื่อในคณะบอร์ดบริหาร

 

วิกฤตดังกล่าวส่งผลให้ตลาดการแข่งขันของ Ride-Sharing ระหว่าง Uber กับผู้ให้บริการที่ครองตลาดภูมิภาคปะทุเดือด ภาระใหญ่จึงตกอยู่กับ ดารา คอสราวชาฮี (Dara Khosrowshahi) ซีอีโอคนใหม่ว่าจะสามารถกอบกู้ความรุ่งโรจน์ของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกกลับคืนมาได้หรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงโปรเจกต์รถไร้คนขับของ Uber จะต้องถูกยุติลงด้วย

 

วิกฤตของ Uber ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก สตาร์ทอัพและนักลงทุนในซิลิคอนแวลลีย์เริ่มตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมองค์กรและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

 

ในทางกลับกัน Airbnb สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่แจ้งเกิดไล่เลี่ยกันกลับทำคะแนนได้ดีกว่า บริษัทประสบความสำเร็จจากการบรรลุข้อตกลงร่วมมือทางกฎหมายกับรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดที่เติบโตเร็ว ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาสเดียวกันปี 2016

 

ขณะที่สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเช่าของมือสองและผู้นำด้าน Wearable Tech เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง เช่น Jawbone ผู้พัฒนาสายรัดข้อมือออกกำลังอัจฉริยะ ไม่สามารถครองตลาดฟิตเนสแทร็กเกอร์ได้สำเร็จ แม้ว่าจะได้รับเงินทุนจาก VC ก็ตาม เว็บไซต์ CB Insights ถึงกับเรียกว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ล้มเหลวอันดับ 2 ในปี 2017

 

ข้างต้นคือบทสรุปสั้นๆ ของวงการสตาร์ทอัพในปี 2017 ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ายุคทองของสตาร์ทอัพได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยเฉพาะในซิลิคอนแวลลีย์

 

แต่ยุคทองของสตาร์ทอัพสิ้นสุดแล้วจริงหรือ?

 

เว็บไซต์ Business Insider อาจตอบว่า “ไม่จริง” หลังเผยว่ายังมีกลุ่มนักลงทุนและบริษัทด้านการลงทุนที่เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสเสมอสำหรับธุรกิจที่กำลังบุกเบิกนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่

 

นี่คือ 25 สตาร์ทอัพที่น่าจับตาในปี 2018

 

หมวด ‘ยานพาหนะ’

 

Photo: medium.com


1. DeepMap แผนที่อัจฉริยะสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ

ทำไมจึงน่าสนใจ: ปี 2018 การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไร้คนขับจะเข้มข้นกว่านี้แน่นอน รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ DeepMap สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแผนที่อัจฉริยะสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ ด้วยเทคโนโลยีภาพคมชัดระดับ HD การวิเคราะห์ข้อมูลและการระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ ทำให้รถยนต์อัตโนมัติขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย และคาดการณ์สภาพการจราจรบนท้องถนนได้

 

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ บริษัทนี้เกิดจากการรวมตัวของอดีตทีมงานพัฒนาแผนที่อัจฉริยะจากบริษัทชั้นนำของโลก ได้แก่ James Wu ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้าน Google Maps, Apple Maps และ Baidu Maps ก่อนผันตัวมาเปิดบริษัทควบตำแหน่งซีอีโอ ร่วมด้วย Mark Wheeler ประธานฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ Google และนักวิทยาศาสตร์อาวุโส Apple นอกจากนี้ยังได้ Wei Luo ผู้จัดการผลิตภัณฑ์คุมโปรเจกต์ดัง อาทิ Google Maps และ Google Earth มาเป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการ (COO) โดยมีบริษัททุนหนุนหลัง คือ Accel, Andreessen Horowitz และ GSR Ventures

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.deepmap.ai

 

Photo: aurora.tech

 

2. Aurora Innovation เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับจากอัจฉริยะของวงการ

ทำไมจึงน่าสนใจ: มาดูธุรกิจที่กำลังพัฒนาตัวรถยนต์อัตโนมัติกันบ้าง แม้ว่า Aurora Innovation จะเป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่ก่อตั้งในปี 2016 แต่ฝีมือไม่ธรรมดา เพราะสมาชิกทีมต่างก็เป็นยอดอัจฉริยะจากวงการรถยนต์ไร้คนขับ ได้แก่ Chris Urmson จาก Google, Sterling Anderson จาก Tesla และ Drew Bagnell แห่ง Uber โดยจับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ Audi เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 บริษัทได้รับใบอนุญาตทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักลงทุนและสำนักข่าวจึงมองว่า Aurora Innovation อาจเป็นม้ามืดที่วิ่งแซงหน้าบริษัทเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: aurora.tech

 

Photo: www.nauto.com

 

3. Nauto พิทักษ์ความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยกล้อง AI

ทำไมจึงน่าสนใจ: Stefan Heck ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านระบบขนส่งเดินทาง และอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ก่อตั้งบริษัท Nauto ที่พัฒนากล้องอัจฉริยะสำหรับติดตั้งในยานพาหนะ กล้องตัวนี้สามารถบันทึกภาพได้ทั้งด้านในและด้านนอกรถ ที่ล้ำกว่านั้นคือสามารถแจ้งเตือนอันตรายคนขับได้ทันที ด้วยเทคโนโลยี AI ที่มีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวและบันทึกพฤติกรรมของคนขับโดยเชื่อมต่อกับคลาวด์ พร้อมรายงานข้อมูลเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง กล้องนี้ยังช่วยวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และใช้เป็นหลักฐานในการเคลมประกันได้อีกด้วย บริษัทยังแง้มว่ามีแผนจะนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับในอนาคต คุณสมบัติครบขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่จะได้รับเงินระดมทุนก้อนโตจากบริษัทใหญ่อย่าง SoftBank และ Greylock ของ Reid Hoffman นักลงทุนชื่อดังและผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn เป็นจำนวนเงิน 173,900,000 เหรียญ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.nauto.com

 

หมวด ‘เทคโนโลยีสุดล้ำ’

 

Photo: www.relativityspace.com

 

4. Relativity Space ทะยานสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดพิมพ์สามมิติ

ทำไมจึงน่าสนใจ: ความสำเร็จของ SpaceX ทำให้วงการสำรวจอวกาศกลับมาคึกคักและเป็นฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับสตาร์ทอัพอีกต่อไป Relativity Space คือสตาร์ทอัพน้องใหม่ของ Tim Eillis กับ Jordan Noone สองวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและอวกาศที่มีประสบการณ์การทำงานที่ SpaceX และ Blue Origin มาก่อน ทั้งสองจึงรู้ดีว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตจรวดต้องใช้ต้นทุนมหาศาลก็คือ ‘คน’ นั่นเอง พวกเขาจึงต้องการประดิษฐ์จรวดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติขนาดยักษ์ โดยไม่ต้องพึ่งแรงงานคนในภาคการผลิตเลย คาดว่าจะประหยัดต้นทุนของการปล่อยจรวดจากปกติ 100 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 10 ล้านเหรียญต่อครั้ง ถ้าหากสำเร็จ นี่อาจเป็น Disruption ครั้งใหญ่ของวงการก็เป็นได้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.relativityspace.com

 

Photo: zumepizza.com

 

5. Zume Pizza หุ่นยนต์ทำพิซซ่า

ทำไมจึงน่าสนใจ: ต่อไปเราอาจจะได้กินพิซซ่าฝีมือของหุ่นยนต์กันบ้างแล้ว เพราะสตาร์ทอัพ Zume Pizza บริการเดลิเวอรีอาหารได้คิดค้นหุ่นยนต์สำหรับทำพิซซ่าแทนคน เมื่อได้รับออร์เดอร์ หุ่นยนต์ตัวนี้จะจัดการนวดแป้งและปาดซอสให้เสร็จสรรพพร้อมเข้าเตาอบ Julia Collins ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพรายนี้กล่าวว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยทำงานที่ต้องใช้แรงและเสี่ยงอันตราย เช่น การทำงานกับเตาอบที่อุณหภูมิสูงถึง 600 องศา นาน 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนพนักงานก็จะได้มีโอกาสฝึกทักษะอื่นๆ นอกจากเรื่องหุ่นยนต์แล้ว Zume Pizza ยังเลือกใช้เฉพาะวัตถุดิบปลอดภัยในท้องถิ่นและบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไอเดียของบริษัทนั้นโดดเด่นจนเข้าตา VC อย่าง Eurie Kim จนทำเงินระดมทุนได้ 48 ล้านเหรียญ และกลายเป็นตัวเต็งในสายตานักลงทุน เพราะหุ่นยนต์อาจช่วยให้แซงหน้าธุรกิจเชนใหญ่อย่าง Domino’s Pizza และ Pizza Hut ใครอยู่แถว Palo Alto สามารถลองสั่งมากินกันได้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: zumepizza.com

 

Photo: medium.com

 

6. Rigetti Computing ปฏิวัติโลกด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัม

ทำไมจึงน่าสนใจ: ในปี 2018 เราจะได้เห็นข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ควอนตัมกันบ่อยขึ้นแน่นอน เพราะเทคโนโลยีนี้จะช่วยเปิดโลกการศึกษาวิจัยของศาสตร์หลากแขนง ตั้งแต่ฟิสิกส์ เคมี ยาปฏิชีวนะ โลจิสติกส์ ไปจนถึงประสาทวิทยาศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ Rigetti Computing ของ Chad Rigetti คือสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองในสายนี้ บริษัทตั้งเป้าจะพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์ระดับควอนตัม ซึ่งทรงพลังกว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมากนัก เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพที่คิดการณ์ใหญ่เมื่อเทียบกับบริษัท Microsoft, IBM และ Google ซึ่งได้เปรียบทั้งในแง่สเกลและทรัพยากรกว่ากันมาก อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถกวาดเงินระดมทุนไปสูงถึง 69,500,000 เหรียญ แถมยังติดอันดับ 50 บริษัทที่ฉลาดเป็นกรดสุดๆ ประจำปี 2017 โดยสถาบัน MIT
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.rigetti.com และ www.linkedin.com/pulse/massive-disruption-quantum-computing-peter-diamandis

 

Photo: molekule.com

 

7. Molekule กรองอากาศให้สะอาดถึงระดับโมเลกุล

ทำไมจึงน่าสนใจ: Molekule ล้ำหน้ากว่าเครื่องกรองอากาศทั่วไปด้วยนาโนเทคโนโลยีที่มีพลังทำลายอนุภาคของฝุ่นและสิ่งสกปรก แทนการดักกรองและเก็บฝุ่นไว้ในเครื่องตามปกติ ด้วยดีไซน์สวยเฉียบ และเคลื่อนย้ายง่าย เครื่องกรองอากาศนี้จึงน่าจะครองใจคนในบ้านได้ไม่ยาก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: molekule.com

 

หมวด ‘บริหารจัดการธุรกิจ’

 

Photo: www.reflektive.com

 

8. Reflektive บริหารธุรกิจให้โตตามเป้า

ทำไมจึงน่าสนใจ: การทำงานในไตรมาสหน้าจะเป็นอย่างไร KPI โปรเจกต์หน้าจะทะลุเป้าหรือเปล่า ยกให้เป็นหน้าที่ของ Refleksive ซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ และฝ่าย HR ประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละโปรเจกต์ต่างๆ พร้อมฟีเจอร์จัดเก็บสถิติรายงานและรายงานฟีดแบ็กการทำงานแบบเรียลไทม์ เครื่องมือเหล่านี้น่าจะเหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้ยังนำไปใช้หาทางแก้ไขข้อบกพร่องการทำงานได้ตรงจุด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.reflektive.com

 

หมวด ‘การเงิน’

 

Photo: wikimedia commons

 

9. Ripple โอนเงินข้ามทวีปผ่านบล็อกเชน

ทำไมจึงน่าสนใจ: หากเอ่ยถึงฟินเทคที่มาแรงสุดในนาทีนี้ย่อมต้องมีชื่อ Ripple บริษัทสตาร์ทอัพของ Brad Garlinghouse อย่างแน่นอน จุดเด่นของ Ripple อยู่ตรงที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเครือข่ายการเงินที่แตกต่างกันทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รองรับหลายสกุลเงิน รวมทั้ง Bitcoin จากการตอบโจทย์ Pain Point ของการโอนเงินข้ามประเทศที่ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาหลายวัน ส่งผลให้สถาบันการเงินและธนาคารสนใจเชื่อมต่อกับระบบของ Ripple อาทิ Standard Chartered, Bank of America Merrill Lynch และ Mizuho Financial Group (MHFG) อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจาก Google Venture, IDG Capital, Accenture แถมยังมีสกุลเงินดิจิทัล XRP เช่นเดียวกับ Bitcoin และ Ethereum

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ripple.com

 

หมวด ‘ความปลอดภัย’

 

Photo: duo.com


10. Duo Security เพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยเป็น 2 เท่า

ทำไมจึงน่าสนใจ: ในยุคที่ข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าดั่งน้ำมัน ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง Duo เป็นสตาร์ทอัพบริการรักษาความปลอดภัยให้กับลูกค้าบนระบบคลาวด์ ทั้งบริษัทใหญ่ สตาร์ทอัพ และผู้ใช้งานทั่วไป อาทิ ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนถึง 2 ขั้นตอน (Two-Factor Authentication) บนโทรศัพท์มือถือ บริการตรวจสอบข้อมูลและระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มต่างๆ ของบริษัท ถึงจะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่บริษัทก็มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง Etsy, Facebook, Eventbrite และ Yelp เมื่อต้นปี 2017 เพิ่งได้ Josh Yavor อดีตหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยขององค์กรจาก Facebook มาร่วมงานอีกแรง นักลงทุนจึงพากันจับตามองอนาคตของสตาร์ทอัพรายนี้ต่อไป

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: duo.com

 

Photo: pindrop.com

 

11. Pindrop สกัดภัยคอลเซ็นเตอร์

ทำไมจึงน่าสนใจ: ปัญหากลโกงทางโทรศัพท์ของกลุ่มมิจฉาชีพนับเป็นช่องโหว่ใหญ่ของระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่หมดสิ้นไปง่ายๆ โดยเฉพาะยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปถึงขั้นที่ปลอมเสียงได้แนบเนียน ส่งผลให้หลายบริษัทต้องสูญเงินไปมหาศาล Pindrop จึงพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์วิเคราะห์เสียงและตรวจจับกลโกงของแก๊งมิจฉาชีพ แถมยังระบุได้ว่าสายเรียกเข้านั้นเป็นเสียงของคนจริงหรือเสียงปลอมจากคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันบริษัทได้รับความสนใจจากลูกค้าจากองค์กรและธุรกิจอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจรีเทล เทเลคอม ผู้ให้บริการทางการเงิน ไปจนถึงบริษัทประกันและหน่วยงานภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Somesh Dash นักลงทุนรายใหญ่จากบริษัท IVP ที่หนุนหลัง Dropbox และ Business Insider ร่วมด้วย Martin Casado นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและ VC ของ Andreessen Horowitz แห่งซิลิคอนแวลลีย์

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.pindrop.com

Photo: Signalsciences.com


12. Signal Sciences ป้องกันภัยเว็บและแอปพลิเคชันของธุรกิจ

ทำไมจึงน่าสนใจ: ผู้อยู่เบื้องหลังของสตาร์ทอัพดูแลรักษาความปลอดภัยรายนี้เป็นอดีตทีมงานจาก Etsy เว็บขายสินค้าทำมือและวินเทจชื่อดังที่ออกมาเปิดบริษัทรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ Signal Sciences เน้นป้องกันการโจมตีจากแฮกเกอร์ ครอบคลุมตั้งแต่เว็บไซต์ เว็บแอปพลิเคชัน โมบายล์แอปพลิเคชัน ไปจนถึง API ระบบสามารถระบุได้ว่าระบบส่วนที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ทำให้นักพัฒนาแอปฯ และทีมรักษาความปลอดภัยทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น จนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ารายใหญ่อย่าง Vimeo และ WeWork

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.signalsciences.com

 

Photo: justworks.com

 

13. Justworks ซอฟต์แวร์ HR อัจฉริยะ

ทำไมจึงน่าสนใจ: เรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้ประกอบการคงหนีไม่พ้นการจัดการเอกสาร โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยว Justworks เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการงานด้าน HR แบบครบวงจรสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ไม่ว่าจะทำบัญชีเงินเดือน สวัสดิการพนักงาน กำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทตามระเบียบกฎหมาย ไปจนถึงงานธุรการของบริษัท เมื่องานหลังบ้านเรียบร้อย ผู้ประกอบการก็จะมีเวลาบริหารธุรกิจเต็มที่ Justworks ถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์คนทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเพียง 2 คน ไปจนถึงบริษัทที่มีพนักงานหลักร้อย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.justworks.com

 

หมวด ‘Data Science/Data Visualization’

 

Photo:remix.com

 

14. Remix ออกแบบเมืองแห่งอนาคตด้วยข้อมูล

ทำไมจึงน่าสนใจ: สตาร์ทอัพสาย GovTech เจ้านี้ก่อตั้งโดย Daniel Getelman, Sam Hashemi, Tiffany Chu และ Danny Whalen ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับวางแผนพัฒนาระบบขนส่งในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ แพลตฟอร์มนี้จะแสดงข้อมูลภาพเกี่ยวกับเส้นทางและรูปแบบการสัญจรในเมือง โดยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดูระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ และอัตราความยากจน เรียกได้ว่าตอบโจทย์ยุคที่กระแสเมืองอัจฉริยะกำลังบูม ในช่วงกลางปี 2017 บริษัทระดมทุนได้มากถึง 10 ล้านเหรียญ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.remix.com

 

หมวด ‘กีฬา’

 

Photo: www.hudl.com

 

15. Hudl ผู้ช่วยโค้ชยุคดิจิทัล

ทำไมจึงน่าสนใจ: ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ต้องการระบบช่วยคิดวิเคราะห์ในการวางแผนธุรกิจ วงการกีฬาก็เช่นกัน Hudl เลยผุดไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บรรดานักกีฬาและโค้ชสามารถอัพโหลดและแชร์วิดีโอการซ้อมและการแข่งขันของนักกีฬา แล้วต่อยอดในการฝึกซ้อมและวางกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีนักกีฬาใช้งานกว่า 6 ล้านราย และกว่า 150,000 ทีม จากกีฬา 30 ประเภท สโมสรใหญ่อย่างแมนยูฯ ก็ไม่พลาด Hudl ยังติดอันดับ 50 บริษัทนวัตกรรมยอดเยี่ยมของโลกในปี 2016 ด้วยนะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.hudl.com

 

Photo: movewith.com

 

16. MoveWith ออกกำลังกายกับเทรนเนอร์ส่วนตัว

ทำไมจึงน่าสนใจ: ใครชอบออกกำลังกายที่บ้านหรือมองหาแอปพลิเคชันสำหรับออกกำลังกายอยู่ MoveWith อาจเป็นคำตอบ แอปฯ นี้ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวที่จะคอยอยู่ข้างๆ ตลอดการออกกำลัง ผ่านคลิปเสียงของโค้ชชื่อดัง มีหมวดกิจกรรมให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่วิ่ง ปั่นจักรยาน โยคะ นั่งสมาธิ ยืดกล้ามเนื้อ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาเข้าฟิตเนสเป็นประจำ แต่อยากรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังเอง ปัจจุบันบริษัทเติบโต 100% และติดอันดับแอปฯ ยอดนิยมใน App Store

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.movewith.com

 

Photo: smash.gg

 

17. Smash.gg ออร์แกไนเซอร์จัดทัวร์นาเมนต์-อีเวนต์วงการ E-Sports

ทำไมจึงน่าสนใจ: พูดถึงวงการกีฬาในโลกออฟไลน์กันไปแล้ว มาดูสาย E-Sports กันบ้างดีกว่า Smash.gg คือบริษัทซอฟต์แวร์ออกแบบเครื่องมือที่จะช่วยให้ออร์แกไนเซอร์สามารถจัดทัวร์นาเมนต์และอีเวนต์สำหรับเหล่าเกมเมอร์ และบริษัทผู้สนับสนุน แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า E-Sports ไม่นับเป็นกีฬา แต่อุตสาหกรรมนี้กลับเติบโตก้าวกระโดด เว็บไซต์ Forbes คาดว่าตลาด E-Sports จะมีมูลค่าสูงกว่า 1,500 ล้านเหรียญ ภายในปี 2020

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: smash.gg

 

หมวด ‘อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และบริการออนไลน์’

 

Photo: diaandco/instagram


18. Dia&Co ตอบโจทย์เสื้อผ้าและแฟชั่นสาวพลัสไซส์

ทำไมจึงน่าสนใจ: Dia&Co ไม่ใช่แค่เว็บขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับสาวพลัสไซส์เท่านั้น แต่จุดเด่นของร้านออนไลน์แห่งนี้คือ ทางร้านจะคัดสรรเสื้อผ้าจากข้อมูลรายละเอียดที่ลูกค้ากรอกแบบสอบถามผ่านเว็บเกี่ยวกับสไตล์และรสนิยมความชอบ แล้วจัดส่งเสื้อผ้า 5 กล่องไปให้เลือกลองเลือกช้อปกันถึงหน้าประตูบ้าน

 

Nadia Boujarwah ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเผยว่า พวกเธอไม่ต้องการโจมตีดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดสำหรับสาวพลัสไซส์ แต่อยากจะทำงานและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดนี้ร่วมกันมากกว่า Dai&Co พิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องของสไตล์ไม่ได้จำกัดที่รูปร่างอย่างแท้จริง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.dia.com

 

Photo: narvar.com

 

19. Narvar บริการจัดส่งและคืนสินค้าที่ช่วยให้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้อย่างอุ่นใจ

ทำไมจึงน่าสนใจ: ความนิยมของการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ส่งผลให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องโตตามไปด้วย Amit Sharma ชาวอินเดียผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจรีเทลและซัพพลายเชน ได้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Narvar ให้บริการติดตามการจัดส่งและคืนสินค้า เขาได้นำประสบการณ์การทำงานดูแลการขนส่งสินค้าทางเรือและบริการเดลิเวอรีให้กับบริษัท Apple และ Walmart มาต่อยอดในการออกแบบประสบการณ์หลังการขาย ให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจกับการช้อปปิ้งออนไลน์ ประสบการณ์ที่ดีหลังการซื้อขาย จนได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ดัง อีคอมเมิร์ซ และร้านค้าออนไลน์กว่า 400 ราย อาทิ Patagonia, Bonobos, Gap, Levi’s, Coach, Oakley, Crate&Barrel และ Sephora ปัจจุบันบริษัทเติบโตรวดเร็วจนมีสำนักงานด้วยกันถึง 3 สาขา คือ ซานฟรานซิสโก ลอนดอน และบังกาลอร์ ยอดระดมทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านเหรียญ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: corp.narvar.com

 

Photo: www.earny.co

 

20. Earny แจ้งเตือนและขอ Refund สินค้าลดราคา

ทำไมจึงน่าสนใจ: เคยไหม เห็นป้าย Sale ทีไรปวดใจทุกครั้ง เพราะเพิ่งสั่งซื้อออนไลน์ไป แต่วันรุ่งขึ้นดันลดราคา Earny คือสตาร์ทอัพที่ให้บริการแจ้งเตือนเมื่อสินค้าที่ซื้อไปราคาตกและขอคืนเงินส่วนต่างตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามปกติแล้วต้องยื่นเอกสารและใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ระบบจะคอยรายงานว่าสถานะการดำเนินเรื่องเป็นอย่างไร จะได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิตหรือเช็ก นอกจากนี้ยังคุ้มครองราคาสินค้าที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Price Protection) โดยระดมทุนไปได้ 2.5 ล้านเหรียญเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.earny.co

 

Photo: joinhandshake.com

 

21. Handshake เครือข่ายหางานสำหรับนักศึกษา

ทำไมจึงน่าสนใจ: ในปี 2014 Garrett Lord, Scott Ringwelski และ Ben Christensen นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิชิแกนเคยพลาดโอกาสสมัครงาน เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ไกลจากตัวเมือง ทั้งยังมีหิมะตกหนักทุกปี พวกเขาจึงจับมือกันสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับนักศึกษาและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยที่ต้องการหางานหรือฝึกงาน เหมือนกับเว็บไซต์ LinkedIn สำหรับนักศึกษานั่นเอง Handshake จะช่วยค้นหาและแนะนำตำแหน่งงานที่ตรงกับความสนใจ ทักษะ ที่อยู่อาศัย และประวัติการเสิร์ชของผู้ใช้งาน มีฟังก์ชันติดตามรายงานผล ปัจจุบัน Handshake ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีนักศึกษาใช้งานกว่า 6 ล้านรายจากสถาบันการศึกษากว่า 350 แห่งทีเดียว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.joinhandshake.com

 

Photo: www.periscopedata.com

 

22. Periscope Data จัดการข้อมูลด้วยเครื่องมือทรงพลัง

ทำไมจึงน่าสนใจ: Periscope Data ช่วยเปลี่ยนวิธีใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analytics ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน เพราะแอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมต่อกับคลังข้อมูลของบริษัทผู้ใช้งานบนระบบคลาวด์ เข้าถึงได้ง่าย นำข้อมูลดิบมาประมวลผลวิเคราะห์ตามคำสั่งได้ภายในไม่กี่วินาที เช่น ตรวจสอบที่มาของรายได้ของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งจำหน่าย แสดงผลรายได้แต่ละเดือน และจัดทำรายงานเสร็จสรรพ พร้อมกับอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้พนักงานประหยัดเวลาและสานต่องานได้เร็วขึ้น ที่สำคัญบริการของ Periscope Data ยังใช้ได้กับงานหลายประเภท เช่น วางแผนโมเดลธุรกิจ วิเคราะห์การเงิน บริหารการทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่วางแผนมาร์เก็ตติ้ง ความสามารถโดดเด่นของสองผู้ก่อตั้ง Harry Glaser อดีตพนักงาน Google และ Tom O’Neill อดีตพนักงาน Microsoft กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเหล่านักลงทุนและ Angel Investor ชั้นนำ เช่น Marissa Mayer อดีตซีอีโอ Yahoo และ Ethan Kurzweil แห่ง Bessemer VP

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.periscopedata.com

 

หมวด ‘สุขภาพและการแพทย์’

 

Photo: ubiome.com

 

23. uBiome ให้จุลินทรีย์ไขปริศนาของร่างกาย

ทำไมจึงน่าสนใจ: ร่างกายของเราประกอบไปด้วยเซลล์และสิ่งมีชีวิตมากมาย uBiome จึงต้องการสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านไมโครไบโอม หรือยีนของจุลินทรีย์ในร่างกาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ตรวจสุขภาพ ทดลอง วินิจฉัยโรค นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) ได้ร่วมกันก่อตั้งสตาร์ทอัพในปี 2012 และประสบความสำเร็จจากการระดมทุนเงินสูงกว่า 3.6 แสนเหรียญ เพื่อนำไปตั้งต้นธุรกิจและเริ่มผลิตอุปกรณ์ทดสอบไมโครไบโอมมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนและศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพอย่าง Y Combinator และ Andreessen Horowitz ตลอดจนถึงมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยจากหลายประเทศ บริษัทจะจัดส่งอุปกรณ์ทดสอบไปยังบ้านและให้ลูกค้าตรวจดูผลการทดสอบได้ทางแอปพลิเคชัน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับการตรวจสุขภาพและวินิจฉัยโรคในอนาคต เช่น โรควิตกกังวล โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ubiome.com

 

Photo: celmatix.com

 

24. Celmatix เทคโนโลยีเพื่อสุขภาวะของผู้หญิง

ทำไมจึงน่าสนใจ: หลังจาก ดร. Piraye Beim ตรวจพบภาวะไข่ตกผิดปกติตอนอายุ 32 ปี เธอจึงต้องการกระตุ้นให้ผู้หญิงหันมาดูแลสุขภาวะทางอนามัยเจริญพันธุ์กันมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ Celmatix สตาร์ทอัพสาย BioTech ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ Polaris ที่สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจาก Big Data ควบคู่กับการศึกษาจีโนม เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง ป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนวางแผนครอบครัวได้ นักลงทุน Kimmy Scotti จากบริษัท 8 VC เผยว่า สาเหตุที่เขาสนใจสตาร์ทอัพนี้เป็นเพราะเล็งเห็นแนวทางแก้ปัญหาใหญ่ของอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งมักจะถูกมองข้าม ขาดการเข้าถึงข้อมูล และเข้าใจยาก ด้วยเครื่องมือที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาวะของผู้หญิงทุกคน ปัจจุบันบริษัทได้รับเงินทุนราว 47.1 ล้านเหรียญ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่โดดเด่นเชิงนวัตกรรมแห่งปี 2017 โดย Fast Company
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: celmatix.com

 

Photo: www.mirareality.com

 

25. Mira Labs เชื่อมโลกเสมือนมาบรรจบกับโลกจริงผ่าน AR Headset

Mira Labs คือสตาร์ทอัพสุดเจ๋งที่ก่อตั้งโดย Ben Taft, Matt Stern และ Montana Reed สามนักศึกษาจากสถาบัน USC Jimmy Iovine and Andre Young Academy มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) พวกเขาได้คิดค้นอุปกรณ์สวมศีรษะที่สามารถสร้างสรรค์ภาพและคอนเทนต์ AR จากสมาร์ทโฟนในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าปกติ เมื่อสวมอุปกรณ์นี้ ผู้ใช้งานจะมองเห็นและเล่นกับภาพโฮโลแกรมได้ในโลกจริง นับเป็นเทคโนโลยีสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกจริงได้อย่างน่าทึ่ง Mira Labs ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Cyan Banister นักลงทุน Angel Investor ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของ Founder’s Fund บริษัทด้านการลงทุนในซานฟรานซิสโก ซึ่งเคยร่วมระดมทุนใน Niantic ผู้พัฒนาเกม Pokemon Go มาแล้ว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: www.mirareality.com

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising