×

‘19 กรกฎา วันฌาปนกิจ ส.ว.’ มวลชนส่งเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน เตรียมนัดชุมนุมถี่ขึ้น แสดงพลังทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2023
  • LOADING...
19 กรกฎา

วันนี้ (19 กรกฎาคม) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยเครือข่าย นัดมวลชนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยใช้ชื่อว่า ‘19 กรกฎา วันฌาปนกิจ ส.ว.’ 

 

เวลา 16.20 น. หยก เยาวชน อายุ 15 ปี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และกลุ่มทะลุวังบางส่วน ได้ปีนขึ้นไปบนส่วนของฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโบกธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม ขณะที่มวลชนเริ่มเดินทางมารวมตัวที่บริเวณเกาะกลางของวงเวียน และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเขียนข้อความสะท้อนถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงบนกระดาษ และมีแกนนำบางส่วนสลับขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียง

 

เวลา 16.59 น. กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมนำแผงรั้วมากีดขวางบริเวณรอบวงเวียนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ให้กลุ่มมวลชนที่เหลือได้มานั่งฟังการปราศรัยของแกนนำที่สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนเวที

 

เวลา 17.16 น. ธัชพงศ์ แกดำ ขึ้นเวทีปราศรัยแจ้งกับผู้ชุมนุม ว่าที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่ 2 หลังการประกาศมวลชนได้ส่งเสียงโห่และแสดงความไม่พอใจ และมีบางส่วนที่นำป้ายผ้าระบุข้อความว่า ‘นายกฯ พิธาฉันทมติประชาชน’ ผูกไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

นอกจากนี้ในการชุมนุมมีการแจกใบปลิวการชุมนุมครั้งถัดไปของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย’ โดยนัดเดินขบวนรอบจัตุรัสปทุมวัน ต่อเนื่องสยามสแควร์ มาบุญครอง พารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ จุดประสงค์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ปักหมุดหยุดเผด็จการ หนุนรัฐบาลเสียงประชาชน ในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566

 

เวลา 19.30 น. พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุม

 

พริษฐ์กล่าวว่า วันนี้หลักๆ ก็ถือว่ามาสังเกตการณ์ มาพูดคุยกับประชาชนถึงความรู้สึกที่เขามีหลังจากการลงมติของการประชุมรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ทั้งวันที่ 13 และ 19 กรกฎาคม มาขอบคุณประชาชนที่ให้ใจ

 

ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุของการมารวมตัวกันวันนี้เป็นปฏิกิริยาต่อผลการลงมติของรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ส่วนตัวขออธิบายว่าการลงมติทั้ง 2 วันดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะเป็นความพยายามที่จะคืนความปกติให้กับสังคม ซึ่งวันที่ 13 กรกฎาคม พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตให้กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้การโหวตไม่ได้เป็นการโหวตให้เพราะความชื่นชอบในตัวพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่ขอให้เคารพเสียงของประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนจากการเลือกตั้งทั้ง 40 ล้านเสียง จนกลายมาเป็นผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน

 

พริษฐ์กล่าวต่อว่า การโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้รับความไว้วางใจ จนสามารถรวบรวมเสียงได้กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยตามปกติ

 

วันนี้ในการอภิปรายในสภา เกี่ยวข้องกับการตีความข้อบังคับซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าหลักการสำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธาโดยส่วนตัว แต่เราต้องยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง และการตีความต้องสอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ

 

ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีการอภิปรายชัดเจนที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยตามมติของที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ เพราะมองว่ามันไม่ได้อยู่บนฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นเหตุผลทางกฎหมายเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ว่าทำไมไม่ควรจะตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ เข้าญัตติทั่วไปอยู่ในข้อบังคับข้อที่ 41

 

“ผมยืนยันมาตลอดว่าการลงมติวันที่ 13 กรกฎาคม คือเราต้องเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ผมย้ำว่าเราต้องโหวตให้พิธาเพื่อเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่เคารพเสียงของประชาชนที่เลือกพิธาและพรรคก้าวไกล หรือประชาชนที่โหวต 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนเคารพเสียงของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้ง”

 

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ฉะนั้นแล้วการเคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. ก็คือการเคารพเสียงของประชาชน เป็นหลักการที่เรายืนยันมาตลอด ทั้งนี้ คนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนอยากเห็นการเมืองเดินหน้าด้วยกติกาประชาธิปไตย 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นต่อไปจะมีการหารือให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พริษฐ์ระบุว่า ในส่วนนี้ก็ขอให้เป็นการหารือของพรรคในลำดับต่อไป

 

ยังไงก็ตาม การเมืองไทยขณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยปกติ ไม่ว่าจะเป็นการให้ ส.ว. เคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. เคารพเสียงข้างมากของประชาชน การที่พรรคก้าวไกลพยายามอภิปรายคัดค้านให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ถูกจำกัดด้วยข้อบังคับข้อที่ 41 ทั้งหมดล้วนเป็นการพยายามคืนความปกติให้สังคมไทย

 

เวลา 19.50 น. อานนท์ นำภา ปราศรัยช่วงหนึ่งระบุว่า คนรุ่นใหม่ลงถนนครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลายคนปรามาสว่า ลงถนนแล้วได้อะไร โดยเฉพาะปี 2563 ก็สามารถเปลี่ยนประเทศได้ โดยใช้ถนนราชดำเนินเป็นจุดตั้งต้น ตนจึงถือว่าวันนี้ถือเป็นวันแรก เป็นวันตั้งต้นในการชุมนุมให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

 

“เรากำลังถูกผลักและถูกให้ต่อสู้เผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่ครองอำนาจในประเทศนี้ เขาเหยียบเราให้จมดิน แต่เราคือเมล็ดพืช ยิ่งเหยียบยิ่งงอกงาม จาก 80 กว่าเสียงอนาคตใหม่ มาวันนี้ ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 ปีนี้ได้ 14 ล้านเสียง อีก 4 ปีได้ 20 ล้านเสียงแน่นอน หากทำลายพิธาได้ อีก 4 ปีเจอ รังสิมันต์ โรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียว”

 

อานนท์ยังปราศรัยอีกว่า จะเลือกพรรคไหนกันก็ไม่ว่า แต่พรรคที่จะหยุดเผด็จการได้คือพรรคเพื่อไทย ดังนั้นขอให้พรรคเพื่อไทยตั้งหลักให้มั่น อย่าทรยศประชาชนเด็ดขาด ถ้าจะไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้นึกถึงหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ให้นึกถึงหน้า เนวิน ชิดชอบ ถ้าจะไปจับมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นึกถึงคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

วันนี้ถือเป็นวันแรกที่ลงถนน หลังจากนี้จะนัดกันให้บ่อยขึ้น เพื่อให้มวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาชุมนุมนอนกันที่ถนนราชดำเนินแห่งนี้ และขอให้เตรียมรองเท้าไว้ วันไหนพร้อมจะเดินไปทำเนียบรัฐบาลอย่างแน่นอน และขออย่าดูถูกประชาชน เพราะความอดทนมีข้อจำกัด คนที่มารวมกันที่นี่ก็เพราะข้อจำกัดสิ้นสุดแล้วทำให้การต่อสู้เริ่มต้นขึ้น และยืนยันว่าการชุมนุมปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และหลังจากนี้จะมีการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างแน่นอน และเมื่อใดที่คนมารวมกันเป็นแสนเผด็จการอยู่ไม่ได้แน่นอน

 

เวลา 20.00 น. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถือโอกาสนี้มาเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ออกมาให้กำลังใจตั้งแต่ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา และที่มารวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

 

ตนมาดูความปกติเรียบร้อยและการจัดการของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม ยอมรับว่าดีใจที่อย่างน้อยวันนี้เราได้พื้นที่นี้กลับคืนมา ก็คือลานวงกลมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อสมัยการชุมนุมต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็จะเห็นว่ามีการนำกระถางต้นไม้มาวางเต็มไปหมดในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้กลับมาเป็นพื้นที่ของประชาชน พื้นที่ชุมนุมที่ปลอดภัย

 

อมรัตน์กล่าวต่อว่า เท่าที่ดูสถานการณ์ตอนนี้การชุมนุมถือว่าเรียบร้อยดี ทราบว่าพี่น้องประชาชนสมัยนี้มีส่วนร่วมทางการเมืองสูง มีความตื่นตัว สนใจติดตามการประชุมสภา ตนเห็นใจพี่น้องมวลชนที่เลือกตั้งเสร็จแล้วก็ยังต้องออกมาปกป้องเสียงตัวเอง

 

ไม่น่าเชื่อว่าผู้มีอำนาจเหนือการเลือกตั้งจะใช้วิธีแบบนี้ องค์กรอิสระด้วย โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่เปิดโอกาสให้พิธาได้เข้าไปชี้แจงแสดงเหตุผลแต่กลับส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเลย จากนี้ก็ต้องหาช่องทางทางกฎหมายในการดำเนินการกับ กกต. การกระทำขององค์กรอิสระเหล่านี้ได้เปิดเปลือยสังคมการเมืองไทย ประชาชนได้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ชัดเจนที่สุดแล้ว ไม่มีประเทศใดที่ผลการเลือกตั้งพรรคที่ได้อันดับ 1 รวมเสียงข้างมากได้ถึง 312 เสียงจะไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยข้อกล่าวหาแบบนี้

 

อมรัตน์กล่าวว่า เมื่อสักครู่ที่แยกมาจากพิธา ทำให้เห็นว่าคุณพิธามีภาวะผู้นำมาก เป็นคนที่น่าเลื่อมใส เพราะสถานการณ์ที่คับขันแบบนี้เราได้เห็นพิธาวางท่าทีที่ให้กำลังใจพวกเราและลูกพรรค และฝากให้กำลังใจพี่น้องมวลชนที่มาลุ้นมาให้กำลังใจ พิธาเหมาะที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองในยุคนี้มากๆ

 

สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของการชุมนุม คือการอ่านแถลงการณ์จากแกนนำเครือข่ายต่างๆ ระบุ 3 ข้อเรียกร้องต่อ ส.ว. และพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ว่า เนื่องด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีได้จบสิ้นไป ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ส.ว. พยายามใช้ทุกวิถีทางในการทำลายความฝันของประชาชนและหักหาญเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องดังนี้ 

 

  1. ส.ว. ต้องไม่ขัดขวางและปฏิบัติตามเจตจำนงของประชาชน ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. โดยทันที

 

  1. พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 8 พรรค ต้องธำรงความสามัคคีอย่างเหนียวแน่น จับมือร่วมกันเป็นปึกแผ่นในการร่วมรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมั่นคง

 

  1. พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทั้ง 8 พรรคต้องยึดมั่นในสัจจะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่ลดระดับสัญญาทางนโยบายใดๆ ที่ให้ไว้กับประชาชนแม้แต่ข้อเดียว เพราะเห็นว่าไม่อาจทนทานการดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีต่อประชาธิปไตยได้อีกต่อไป จึงขอเชิญชวนคนทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกันใช้สิทธิเสรีภาพในการขับเคลื่อนเรียกร้องต่อ ส.ว. และพรรคการเมือง เพื่อให้เจตจำนงของประชาชนได้รับการเคารพและนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง

 

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทำการวางดอกไม้จันทน์และเผาโลงศพเชิงสัญลักษณ์ ตามชื่อกิจกรรม ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับจุดพลุส่งท้ายกิจกรรม ก่อนยุติการชุมนุมในเวลา 22.30 น.

 

19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา 19 กรกฎา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising